ตั้งให้เราเป็นเว็บแรกที่คุณเลือก เก็บเราไว้เป็นเว็บโปรด
สมัครสมาชิก ได้มากกว่าที่คุณคิด เข้าสู่ระบบ
ดู: 4110
ตอบกลับ: 6
สั่งพิมพ์ ก่อนหน้า ถัดไป

ประเพณีขึ้นเขาพนมรุ้ง

[คัดลอกลิงก์]
ชาวบ้านในเขตจังหวัดบุรีรัมย์ และใกล้เคียง เชื่อกันว่าในชั่วชีวิตของตนต้องขึ้นเขาพนมรุ้ง   เพื่อที่ไปนมัสการสิ่งศักดิ์สิทธิ์บนเขาพนมรุ้ง ซึ่งมีปราสาทหินเขาพนมรุ้งเป็นที่สถิตของเทพเจ้า             และสิ่งศักดิ์สิทธิ์เท่านั้น ฉะนั้นผู้เฒ่าผู้แก่มักจะเรียกร้องให้บุตรหลานพาขึ้นเขาพนมรุ้ง เพื่อนมัสการ       สิ่งศักดิ์สิทธิ์อย่างน้อย 1 ครั้ง ในชั่วชีวิตของตน ความเชื่อดังกล่าวนี้ริเริ่มมีมาแต่ครั้งใดไม่ปรากฏ แต่พบว่า      ชาวบ้านที่อยู่ในละแวกใกล้เคียงได้ยึดถือปฏิบัติกันสืบต่อมา ผ่านคนรุ่นหนึ่งสู่อีกคนรุ่นหนึ่ง จนถือกันเป็นประเพณีว่าชาวบ้านในละแวกใกล้เคียงต้องขึ้นเขาพนมรุ้ง นมัสการสิ่งศักดิ์สิทธิ์อันสิงสถิตอยู่ที่ปราสาทหินทุกคน ไม่ว่าจะเป็นคนจน คนร่ำรวยต้องหาโอกาสให้ได้
ฉะนั้นในอดีต ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา ก่อนพุทธศักราช 2481  หลังจากฤดูเก็บเกี่ยวเสร็จแล้ว ชาวบ้านจะเตรียมตัวพร้อมเสบียงอาหารที่เดินทางไกลไปยังเขาพนมรุ้งส่วนใหญ่ มักจะนัดแนะเพื่อนบ้านญาติพี่น้องไปพร้อม ๆ กันเป็นกองเกวียนขนาดใหญ่ หรือถ้าเป็นคหบดี ค่อนข้างมีฐานะ จะเดินทางโดยระแทะ เป็นเกวียนขนาดเล็กที่มีการตกแต่งอย่างงดงาม เป็นการแสดงฐานะของผู้เป็นเจ้าของด้วย เดินทางรอนแรมกันไปหลายวันตามระยะทางใกล้หรือไกลจากหมู่บ้านของเขา การขึ้นเขาพนมรุ้งในสมัยแรก ๆ นั้น เป็นลักษณะต่างคนต่างไป และไปพบกันที่เขาพนมรุ้ง บางกลุ่มเดินทางขึ้นเขา ขณะที่บางกลุ่มเดินลงเขาเพื่อกลับยังเคหะสถาน ตลอดฤดูแล้งระหว่างเดือน 3  ถึงเดือน 5  ซึ่งเป็นระยะเวลาที่ว่างจากงานไร่ นา  แต่กระนั้นก็ตามชาวบ้านในละแวกจังหวัดบุรีรัมย์และใกล้เคียงได้เรียนรู้ว่า ในวันเดือน 5  ขึ้น 15 ค่ำนั้น เป็นวันที่พระอาทิตย์ขึ้นส่องแสงผ่านประตูทุกช่องทั้ง  15 ช่องตามแนวทิศตะวันออก-ตะวันตกของปราสาทพนมรุ้ง และในเย็นวันขึ้น  15 ค่ำ  เดือน 5   พระจันทร์จะขึ้นตรงกับช่องประตูทุกช่อง         เช่นเดียวกัน

“ในกรณีดังกล่าวอธิบายได้ว่า สถาปนิกหรือช่างก่อสร้างชาวขอมโบราณมีความรอบรู้             เรื่องดาราศาสตร์มาก และได้วางผังปราสาทโดยวางให้ตรงตามทิศตะวันออก-ตะวันตก โดยกำหนดเอาวันที่พระอาทิตย์ส่องแสงตั้งฉากกับพื้นโลกในบริเวณประเทศไทย นั้นคือ พระอาทิตย์จะส่องแสงตั้งฉากกับพื้นโลกเวลาเที่ยงตรง (คนยืนกลางแจ้งจะไม่มีเงา) วันที่พระอาทิตย์ส่องแสงตั้งฉากกับพื้นโลกคือ วันขึ้น 15 ค่ำ  เดือน 5  ในพุทธศตวรรษที่ 15-16  (แต่ปัจจุบัน พระอาทิตย์ได้ทำมุมเอียงไปบ้างแล้วตามวงโคจรของโลก  พระอาทิตย์ พระจันทร์ ได้ทำมุมเปลี่ยนไปตามระบบสุริยจักรวล”

ฉะนั้นจึงพบว่าชาวบ้านจะนิยมขึ้นเขาพนมรุ้งในวันเดือน 5 ขึ้น 15 ค่ำ หรือในวันใกล้เคียง       เพื่อจะได้เห็นสิ่งมหัศจรรย์ดังกล่าวด้วย ครั้นมีผู้คนไปนมัสการสิ่งศักดิ์สิทธิ์ในวันดังกล่าวจำนวนมาก        จึงมีผู้ริเริ่มทำบุญกุศลจัดงานนมัสการพระพุทธบาทจำลอง ปิดทองพระพุทธรูป แต่กระนั้นก็ตามยังไม่ได้จัดทำบุญกันสม่ำเสมอทุกปี

ประเพณีขึ้นเขาพนมรุ้งได้กระทำกันอย่างสม่ำเสมอ น่าจะนับได้ตั้งแต่ปี พ.ศ.2481  เป็นต้นมา โดยมีพระภาสธรรมญาณ  วัดท่าประสิทธิ์ จังหวัดสุรินทร์ ซึ่งท่านมักจะไปธุดงค์ที่เขาพนมรุ้งเป็นประจำทุกปี เพื่อปฏิบัติธรรมวิปัสสนากรรมฐาน ท่านเห็นว่ามีผู้คนชาวไทย-ลาว ชาวเขมร และไทยเบิ้ง มักจะขึ้นเขาพนมรุ้งมาบำเพ็ญกุศลในวันเวลาดังกล่าวจำนวนมาก ประกอบกับท่านได้เห็นตัวอย่างชาวสุรินทร์ได้มีประเพณีขึ้นเขาพนมสวาย ในวันแรม 1 ค่ำ เดือน 5  เพื่อปิดทองนมัสการสิ่งศักดิ์สิทธิ์ รอยพระพุทธบาทจำลอง ท่านจึงจัดประชุมชาวบ้านบุ ตำบลจระเข้มาก อำเภอประโคนชัย จังหวัดบุรีรัมย์ ซึ่งเป็นหมู่บ้านที่อยู่ใกล้เคียงเขาพนมรุ้ง ช่วยกันถากถางตกแต่งสถานที่บริเวณลานหน้าปราสาทเขาพนมรุ้ง เพื่อจัดงานบุญงานกุศลอันเป็นส่วนหนึ่งของประเพณีขึ้นเขาพนมรุ้ง โดยจัดงานนมัสการและปิดทองรอยพระพุทธบาทจำลอง

2#
 เจ้าของ| โพสต์ 2015-8-26 15:22 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
รอยพระพุทธบาทจำลองที่เขาพนมรุ้ง

จำคำบอกเล่าของ นายกวน สอดทรัพย์  อายุ 62 ปี  บ้านเลขที่ 16  ตำบลหนองแวง                 อำเภอละหานทราย จังหวัดบุรีรัมย์ และผู้เฒ่าผู้แก่อีกหลายท่าน เล่าว่า

รอยพระพุทธบาทจำลอง  มีประดิษฐานอยู่ในปรางค์องค์น้อยมาเป็นเวลานานแล้ว ประมาณกว่า 100 ปี โดยมีปู่ย่าตายายเล่าต่อ ๆ กันมาว่า หลวงประดิษฐ์ (นามเดิมหลวงปู่มา)  เป็นกำนันบ้านตาเป๊ก อำเภอนางรอง จังหวัดบุรีรัมย์ ต่อมาได้บวชเป็นเจ้าอาวาสวัดอัมภาราม (เทิ่งอนุสรณ์)  หลวงปู่มาเป็นผู้นำรอยพระพุทธบาทจำลองมาประดิษฐานที่ปรางค์องค์น้อย บนเขาพนมรุ้ง พร้อมกับรอยพระพุทธบาทจำลองที่ประดิษฐานอยู่ภูอังคาร

รศ.ดร. ม.ร.ง.สุริยวุฒิ  สุขสวัสดิ์ (2536 : 388)  ได้กล่าวไว้ในหนังสือปราสาทพนมรุ้ง            ศาสนบรรพตที่งดงามที่สุดในประเทศไทย โดยได้กล่าวไว้ในภาคผนวก : ลำดับเหตุการณ์สำคัญเกี่ยวกับปราสาทเขาพนมรุ้ง และทับหลังนารายณ์บรรทมสินธุ์ มีเหตุการณ์สำคัญที่บันทึกถึง “รอยพระพุทธบาทจำลอง”   ดังต่อไปนี้

“พุทธศักราช 2437  ได้มีการประดิษฐานรอยพระพุทธบาทสมัยหลัง ภายใน “ปรางค์น้อย”       ทางมุมทิศตะวันตกเฉียงใต้ของปราสาทประธาน และเป็นที่สักการะของประชาชนในแถบนั้นตลอดมา”

ต่อมาในปี พ.ศ. 2481  ท่านพระโอภาสธรรมญาณได้เป็นผู้นำกำหนดให้มีงานบุญประจำปี ประเพณีขึ้นเขาพนมรุ้ง ในวันขึ้น 15 ค่ำ วันเพ็ญ และแรม 1 ค่ำ เดือน 5  (วันขึ้นเขาจริง คือ วันเพ็ญเดือน 5 ของทุกปี) มีประชาชนเป็นจำนวนมากเดินทางมาทำบุญปิดทองนมัสการรอยพระพุทธบาทจำลอง  และชมความงดงามของปราสาทพนมรุ้ง

ในปี พ.ศ. 2514  กรมศิลปากรได้เริ่มโครงการบูรณะปราสาทหินเขาพนมรุ้ง ในแต่ละปีเมื่อถึงวันประเพณีขึ้นเขา ชาวบ้านเป็นจำนวนมากเดินทางขึ้นเขาเพื่อปิดทองรอยพระพุทธบาทจำลอง                    ซึ่งประดิษฐานอยู่ในปรางค์องค์น้อย ศรัทธาของชาวบ้านนับหมื่นคน นอกจากจะปิดทองรอยพระพุทธบาทจำลองแล้ว ยังปิดทองบริเวณภายนอกปรางค์องค์น้อยอีกด้วย

ภายหลังทางเจ้าหน้าที่กรมศิลปากร ฝ่ายบูรณะปราสาทพนมรุ้ง ได้นำรอยพระพุทธบาทจำลองย้ายลงมาที่ลานด้านหน้าปราสาทในวันเพ็ญ เดือน 5  ของทุกปี เพื่อให้ประชาชนผู้มีจิตศรัทธาได้นมัสการปิดทองรอยพระพุทธบาทจำลอง และต่อมาเห็นว่าการเคลื่อนย้ายรอยพระพุทธบาทจำลองขึ้น ๆ ลง ๆ ทุกปี  ไม่เป็นการสะดวกนัก จึงได้มอบหมายให้ทางวัดพนมรุ้งเป็นผู้ดูแลและจัดตั้งที่ประดิษฐาน     ชั่วคราวบริเวณด้านข้างทางซ้ายมือก่อนขึ้นสะพานนาคราช

ประชาชนทั่ว ๆ ไป มีความเลื่อมใสศรัทธาและเชื่อกันว่าบริเวณเขาพนมรุ้งทั้งในอดีตและปัจจุบันเป็นดินแดนที่มีความศักดิ์สิทธิ์ เป็นที่สถิตของทวยเทพเทพาอารักษ์ ผู้พิทักษ์ปราสาทพนมรุ้งจากคำบอกเล่าสืบทอดกันของคนเฒ่าคนแก่

เรื่องความเชื่อในวันขึ้นเขาพนมรุ้ง ซึ่งตรงกับวันเพ็ญ เดือน 5 ของทุกปี ประชาชนทุกคนที่มาบำเพ็ญบุญที่เขาพนมรุ้งด้วยแรงศรัทธา จะต้องมีจิตใจงดงาม สำรวมทั้งกาย วาจา ใจ ประพฤติปฏิบัติตนแต่ในสิ่งที่ดีงาม พูดจาสุภาพอ่อนโยน มีสัมมาคาระต่อผู้ใหญ่ จะไม่ก่อเหตุ ทะเลาะวิวาท ตีรันฟันแทง หรือฉกชิงวิ่งราว เป็นอันขาด มิฉะนั้นจะเกิดเหตุอาเพศอย่างรุนแรง เช่น เกิดลมพายุจัด ฝนตก และเกิด      ฟ้าผ่า ทำให้ผู้คนได้รับอันตราย ตื่นตระหนกตกใจ โดยเฉพาะบุคคลที่ก่อเหตุมักจะมีอันเป็นไปจนถึง           แก่ชีวิต
3#
 เจ้าของ| โพสต์ 2015-8-26 15:33 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
ขบวนเสด็จของพระนางภูปตินทรลักษมีเทวีในประเพณีขึ้นเขาพนมรุ้ง
วันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 5 ของทุกปี ประชาชนชาวจังหวัดบุรีรัมย์ และจังหวัดใกล้เคียงเป็นจำนวนมาก นิยมเดินทางมาร่วมในประเพณีขึ้นเขาพนมรุ้ง ดินแดนแห่งความศักดิ์สิทธิ์ สถานที่ตั้งปราสาทพนมรุ้ง ที่สถิตขององค์พระศิวะมหาเทพ ในลัทธิไศวนิกาย และเหล่าทวยเทพ สิ่งศักดิ์สิทธิ์ทั้งมวลที่           ปกปักษ์รักษาศาสนสถานแห่งนี้

ท่านพระโอภาสธรรมญาณ ได้เป็นผู้กำหนดให้มีงานบุญประเพณีขึ้นเขาพนมรุ้งตั้งแต่                  ปีพุทธศักราช 2481  และในปี พ.ศ. 2534  จังหวัดบุรีรัมย์ ได้ร่วมกับกรมศิลปากรและการท่องเที่ยว          แห่งประเทศไทย ได้จัดประเพณีขึ้นเขาพนมรุ้งสืบทอดงานประเพณีเดิมให้มีความยิ่งใหญ่ตระการตา        เพื่อพัฒนาและส่งเสริมการท่องเที่ยวทางวัฒนธรรมจังหวัดบุรีรัมย์ โดยนำข้อสันนิษฐานเกี่ยวกับกษัตริย์      ผู้สร้างปราสาทพนมรุ้งมาเรียงร้อยเป็นเรื่องราวจำลองภาพขบวนเสด็จของพระนางภูปตินทรลักษมีเทวี ซึ่งเดินทางมาจากเมืองพระนครหลวง (ประเทศกัมพูชา) มายังเทวาลัยพนมรุ้ง ซึ่งนอกจากข้าทาสบริวารผู้ติดตามขบวนขบวนมาด้วย เพื่อถวายเทวสักการะแด่เทพเจ้าผู้พิทักษ์ทั้งสิบแห่งจักรวาล   และ   พระนางภูปตินทรลักษมีเทวี ผู้เป็นพระมารดาให้จัดหาพาะและวัวนมอีกอย่างละ 100 ตัว เพื่อถวายแด่   มหาฤๅษีนเรนทราทิตย์

เสียงเป่าเขาสัตว์ดังก้องกังวานไปทั่วขุนเขา ท่ามกลางความเงียบสงบบนดินแดนแห่งความศักดิ์สิทธิ์ ขบวนเทพพาหนะทั้ง 10 ซึ่งประดิษฐ์ตกแต่งอย่างสวยงามต่างเคลื่อนเข้าสู่ทางเดินระหว่างช่องเสานางเรียง ตลอดทางจนถึงบันไดนาคราช ระหว่างทางที่ขบวนเสด็จผ่าน มีหญิงสาวยืนโปรยดอกไม้               เพื่อต้อนรับขบวนเสด็จของพระนางภูปตินธรลักษมีเทวี
4#
 เจ้าของ| โพสต์ 2015-8-26 15:35 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
ขบวนแห่เทพพาหนะทั้ง 10 ทิศ  ประกอบด้วย
  • ขบวนที่ 1        หงส์             พาหนะของพระพรหม  เป็นเทพเจ้าประจำทิศเบื้องบน
  • ขบวนที่ 2        ช้าง             พาหนะของพระอินทร์  เป็นเทพเจ้าประจำทิศตะวันออก
  • ขบวนที่ 3        วัว             พาหนะของพระอิสาน  เป็นเทพเจ้าประจำทิศตะวันอกเฉียงเหนือ
  • ขบวนที่ 4        แรด             พาหนะของพระอัคนี  เป็นเทพเจ้าประจำทิศตะวันออกเฉียงใต้
  • ขบวนที่ 5        คชสีห์             พาหนะของพระกุเวร  เป็นเทพเจ้าประจำทิศเหนือ
  • ขบวนที่ 6        นกยูง             พาหนะของพระขันธกุมาร  เป็นเทพเจ้าประจำทิศใต้
  • ขบวนที่ 7        นาค             พาหนะของพระวิรุณ  เป็นเทพเจ้าประจำทิศตะวันตก
  • ขบวนที่ 8        ม้า             พาหนะของพระพาย  เป็นเทพเจ้าประจำทิศตะวันตกเฉียงเหนือ
  • ขบวนที่ 9        รากษส             พาหนะของพระนิรฤติ  เป็นเทพเจ้าประจำทิศตะวันตกเฉียงใต้
  • ขบวนที่ 10        กระบือ             พาหนะของพระยม  เป็นเทพเจ้าประจำทิศเบื้องล่าง
ขบวนแห่เทพเจ้าประจำทิศทั้ง 10 ขบวนเรียงตามลำดับ โดยในแต่ละขบวนมีข้าทาส บริวารหญิง ชาย จำนวนมากมาย ร่วมในขบวนแห่เพื่ออัญเชิญเครื่องบูชาสักการะเทพเจ้าแต่ละทิศ  ผู้ร่วมขบวนแห่แต่งกายด้วยชุดพื้นเมืองที่ดูละม้ายคล้ายกับที่ปรากฏอยู่ในภาพจำหลักที่ปราสาทพนมรุ้ง เป็นภาพที่งดงามด้วยสีสันตระการตายิ่ง เพียบพร้อมและอุดมสมบูรณ์ด้วยเครื่องราชสักการะบูชาครบถ้วน

ถัดจากขบวนเทพพาหนะ ทั้ง  10  ขบวน เป็นขบวนเสด็จของพระนางภูปตินทรลักษมีเทวี เคลื่อนขบวนมาโดยราชยาน พร้อมด้วยนางจริยา นางสนองพระโอษฐ์ ราชยาน ซึ่งมีชายฉกรรจ์ล่ำสันแบกหามเคลื่อนไปอย่างช้า ๆ งดงามด้วยริ้วธงทิวประจำขบวน พร้อมเหล่าเครื่องประดับยศพริ้วไสวมีความอลังการดุจกาลเวลาในอดีตที่เทวาลัยพนมรุ้งมีความเจริญรุ่งเรืองสูงสุด คลาคล่ำไปด้วยผู้ศรัทธาในองค์พระศิวะมหาเทพ ซึ่งได้รับความนับถือสูงสุดในศาสนฮินดู ลัทธิไศวนิกาย แห่งปราสาทพนมรุ้ง จังหวัดบุรีรัมย์
5#
 เจ้าของ| โพสต์ 2015-8-26 15:35 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
ประวัติและที่มาของขบวนเสด็จพระนางภูปตินทรลักษมีเทวี
สุรินทร์  คล้ายจินดา (2534 : 6 – 7 และ 12 – 15) ได้กล่าวไว้ในบทการแสดงแสง – เสียง            ชุด “มหาเทวปราสาทพนมรุ้ง”  เนื่องในโอกาสพิธีเปิดอุทธยานประวัติศาสตร์ปราสาทพนมรุ้ง            โดยอำนวยการสร้างและจัดแสดงโดยจังหวัดบุรีรัมย์ กรมศิลปากร และการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย           ได้กล่าวถึงที่มาของขบวนเสด็จพระนางภูปตินทรลักษมีเทวีไว้ในฉากที่ 2 :  อดีตสมัย

บทสนทนาระหว่าง องค์เรนทรทิตย์ กับ หิรัณยะ

คำบรรยาย
“หิรัณยะ  บุตรแห่งเรา พวกเราสายเลือดมหิธร มีความเชื่อมั่นยิ่งนักในมหิทธานุภาพแห่ง        องค์ศิวะมหาเทพ จึงสร้างเทวาลัยเพื่อบูชาพระองค์ไว้บนยอดเขา หิรัณยะ  เจ้าจดจำศิวะราตรีในปีนั้นได้หรือไม่”

-        ให้ผู้แสดงจัดขบวนแห่ประทีปโคมไฟ แต่ยังไม่จุดโคมไฟ จัดขบวนในความมืด เมื่อปรากฏร่างองค์อินทราทิตย์ที่สะพานนาคราช
-        เมื่อเริ่มคำบรรยาย “เมื่อเจ้าอายุ  7 ขวบ ... จึงจุดประทีปโคมไฟ แล้วเคลื่อนขบวนมายัง       หน้าปราสาท

คำบรรยาย
“หิรัณยะ  เมื่อเจ้าอายุ 7 ขวบ  ศิวะราตรีของปีนั้น พระแม่เจ้าภูปตินทรลักษมีเสด็จมาบวงสรวงองค์ศิวะมหาเทพ แล้วถวายเทพพาหนะ ขบวนแห่เทพพาหนะ ประดับธงทิวหลากสี ผู้คนมากมายระดมประโคมเครื่องเสียงก้องกังวานไปทั้งภูผา กลางแสงเจิดจ้าของดวงตะวัน”

โดยได้กล่าวถึงตัวละคร และอุปกรณ์การแสดงในขบวนเสด็จของพระนางภูปตินทรลักษมีเทวี  ไว้ดังต่อไปนี้

ฉากที่ 2  อดีตสมัย  

ตัวละคร

1.        พระนางภูปตินทรลักษมี
2.        แม่นางสุรภี สาวพรหมจารีย์ผู้รำบวงสรวง
3.        ทหารหญิง  16  คน
4.        คหบดี 15-20 คน
5.        พนักงานแบกเสลี่ยงผลไม้บวงสรวง 12 คน
6.        คนรับใช้ 20 คน (ชายหรือหญิงให้เป็นคู่)
7.        นางสนม (หรือผู้ติดตามประเภท 2)
8.        พราหมณ์ 3 คน (จากแรก 3 และเพิ่มอีก 1 คน)
9.        พราหมณ์ 4 คน
10.        นักดนตรี 5 คน

อุปกรณ์การแสดง

1.        ฉัตรดอกไม้ไหว 4 ฉัตร (ทหารหญิง 4 คน)
2.        กลด 2 คัน (ทหารหญิง 2 คน)
3.        คบเพลิง 12 อัน (คนรับใช้ 12 คน)
4.        เสลี่ยงผลไม้ 3 เสลี่ยง (ทหารชาย 12 คน)
5.        พานพนมดอกไม้ 4 พาน (ทหารหญิง 4 คน)
6.        ระฆัง (ธิเบต) นำขบวน (พราหมณ์ 1 คน)
7.        ผ้าขาวปูลาดพระบาท (ยาว 40 เมตร) พร้อมแท่งเหล็กขนาด 6 หุน ยาวเท่งละ 120 เซนติเมตร  24 แท่ง  (ทหารชาย 2 คน)
8.        เชิงเทียน (ปักเทียน 5 เล่ม)  2 เชิง (ทหารชาย 2 คน)
9.        กระถางธูป (ขนาดปาก 10 นิ้ว)  (ทหารชาย  1 คน)
10.        โคมช่อ (ช่อละ 6 โคม) 2 ช่อ (ทหารหญิง 2 คน)
11.        อาวุธ (ดาบ, หอก, โล่)  4 ชุด  (ทหารหญิง 4 คน)
12.        โต๊ะหมู่ 1 ชุด
13.        ตั่งนั่ง 1 ตัว
14.        พัดโบก  2  พัด (จากฉากที่ 3)
15.        เทริด (ของนางรำ)  พร้อมด้วยพานรอง
16.        พวงมาลัยดอกดาวเรือง 1 พวงใหญ่, ดอกมะลิ 1 พวง

การจัดแสดงแสง-เสียง ชุด “มหาเทวปราสาทพนมรุ้ง” ได้บรรยายภาพขบวนเสด็จพระนาง          ภูปตินทรลักษมีเทวี ในพิธีพวงสรวงองค์ศิวะมหาเทพ และถวายเทพพาหนะมีความงดงามตระการตา  และให้ความรู้สึกย้อนรำลึกถึงภาพเหตุการณ์ในอดีตได้อย่างงดงามน่าประทับใจยิ่ง ในเรื่องราวที่ผ่านระยะเวลานับพันปี โดยสุรินทร์  คล้ายจินดา ได้เขียนบทการแสดงแสง-เสียง เหตุการณ์ซึ่งเป็นที่มาของขบวนเสด็จพระนางภูปตินทรลักษมีเทวี ในประเพณีขึ้นเขาพนมรุ้ง เพื่อให้ผู้ที่สนใจได้ศึกษา มีบท           การแสดงในหน้า 13-15 ดังต่อไปนี้

คำบรรยาย
“ครั้นรัตติกาลพาความมืดมาห่อคลุมขุนเขา เบื้องบนโน้นกลางห้วงเวหาหาว ดวงดาวระยิบ        ระยิบ กระพริบ เต็มแผ่นฟ้า เบื้องล่างนั้นเล่าแสงประทีปในขบวนเสด็จของพระแม่เจ้าก็ดุจเดียวกับ           แสงดาวเบื้องบน ลอยเลื่อนเคลื่อนขึ้นมายังเบื้องหน้ามหาเทวลัย

-        เสียงครางระฆัง
-        เสียงนกกลางคืนร้อง บินข้ามศีรษะ
-        เสียงดวงวิญญาณ, เพลง

การแสดง
-        ขบวนพระแม่เจ้าฯ เคลื่อนขึ้นมายังหน้าปราสาท
-        พราหมณ์ 2 คน (จากฉากที่ 2)  พาคนออกมาจัดที่ทางเตรียมรับเครื่องบวงสรวง
-        นำหน้าขบวนด้วยพราหมณ์ ครางระฆัง
-        ขบวนขึ้นมาถึงหน้าปราสาท พนักงานจัดเครื่องบวงสรวง พระแม่เจ้าฯ กระทำสักการะ แล้วไปประทับที่ตั่ง เครื่องประดับขบวน (ฉัตรดอกไม้ไหว, โคมช่อ, พัดโบก, กลด,          คบเพลิง) ยืนประดับฉาก เชิญพานเทริด และพานพวงมาลัยมายังพระแม่เจ้า แม่นางสุรภีนั่งที่มุมหนึ่งแล้วคลานเข้ามากราบพระแม่เจ้าฯ พระแม้เจ้ามอบเทริด พนักงานช่วยจัดเทริดสวมศีรษะแม่นางฯ  มอบพวงมาลัยดอกดาวเรือง แม่นางรับก้มกราบ คลานออกมา สักการะถวายพวงมาลัยฯ ดนตรีบรรเลง  เริ่มบวงสรวง

คำบรรยาย
“ครานั้นแม่นางสุรภี สาวพรหมจารย์ เป็นผู้ร่ายรำถวายสักการะแด่พระศิวะมหาเทพ นางนั้น          มีวงพักตร์งามผ่องใสดุจพระจันทร์วันเพ็ญ เรือนร่างเอวองค์ทรวดทรงทั่วสารพางค์ไม่มีใครเปรียบได้ ลีลาเยื้องย้ายร่างก็ดุจเทพประทานมา ท่านยังจำได้มั้ย ประภูวิษัยวานน”

-        การรำบวงสรวง  3  นาที
-        เมื่อรำจบ แม่นางสุรภีกราบที่แท่นเครื่องบวงสรวง
-        พระแม่เจ้าฯ รับพวงมาลัยดอกมะลิ ลุกขึ้นเดินขึ้นไปบนสะพานนาค พราหมณ์เดินนำโปรยดอกดาวเรือง พระแม่เจ้าฯ ไปหยุดอยู่กลางสะพานนาค แล้วแสดงท่าตามคำบรรยาย
-        เพลง
-        แสงสีเหลืองที่สะพานนาค, ที่รูปโยคี, ปล่อยควันในปราสาท

คำบรรยาย
“ที่นั่น บนสะพานนาคราชนั้น พราหมณ์โปรยดอกดาวเรืองสีเหลืองสว่างราวกับปูลาดด้วย ทองคำ พระแม่เจ้าประทับยืนอยู่เหนือดอกไม้ เงยพระพักตร์ เพ่งสายพระเนตรไปที่หมาโยคี ยกพระหัตถ์ทั้งสองประคองมาลัยมะลิกระพุ่มพนม พลางย่อพระองค์ลงคุกเข่าพระโอษฐเปล่งพระสุรเสียง โอม นมัศ ศิวายะ”

-        เมื่อพระแม่เจ้าทรุดกายลงนั่ง, ผู้แสดงอื่น ๆ หมอบกราบ
-        พราหมณ์มาเชิญเสด็จเข้าในปราสาท
-        ผู้แสดงอื่น ๆ เข้าที่ประตูด้านข้าง
-        เมื่อพระแม่เจ้าเสด็จเข้าไปแล้ว แสงภายนอกปิดมืดลง ให้ผู้แสดงช่วยเก็บอุปกรณ์              เข้าปราสาทไปด้วย

คำบรรยาย
“พราหมณ์ปุโรหิต  นำเสด็จผ่านโคปุระ”
-        ปล่อยควันในปราสาท
-        แสงสีเหลืองฉายที่ปรางค์ประธาน

คำบรรยาย
“ภายในปรางค์ประธาน องค์สุวรรณลิงคัม ประดิษฐานอยู่เหนือพระแท่นโยนิโทรณะ ท่ามกลางหมอกควันของกำยานเผา หอมกรุ่นมาจากมุมทั้งสี่ ในห้องครรภคฤห เครื่องสังเวย ทั้งนม เนย น้ำผึ้ง        น้ำจันทร์ ข้าวสาร ข้าวสุก  วางอยู่เรียงราย พิธีกรรมศักดิ์สิทธิ์เริ่มขึ้นเมื่อโรยดินเทศลงเหนือสุวรรณลิงคัม แล้วราดรดด้วยน้ำบริสุทธิ์จากกุณโฑทองคำ น้ำเปลี่ยนเป็นสีแดงเมื่อผ่านดินเทศแล้วไหลไปตามโสมสูตรสู่ภายนอก พิธีบวงสรวงมหาเทพและพระแม่อุมาเทวีสัมฤทธิ์ผล”

-        เสียงราดน้ำ
-        เสียงสังข์  บัณเฑาะว์  สวดมนต์
-        แสงสีน้ำเงินทั้งหมด
-        เสียงลมพัด
-        เพลงอารมณ์โศกเศร้า (ตุม-มุง)

คำบรรยาย
“ตั้งแต่ศิวะราตรีปีนั้น พระแม่เจ้า จากไป ไม่กลับมาอีก พระแม่เจ้าคงเสด็จส่งศานติ ความสงบนิรันดร”
6#
 เจ้าของ| โพสต์ 2015-8-26 15:36 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
พระนางภูปตินทรลักษมีเทวี
อำไพ  คำโท (2527 : 93, 95) ได้กล่าวไว้ในหนังสือสมบัติอีสานใต้ ครั้งที่ 3 ในเรื่อง ศิลาจารึกภาษาขอม ปราสาทหินเขาพนมรุ้ง   โดยได้กล่าวถึง ศิลาจารึกปราสาทพนมรุ้ง จังหวัดบุรีรัมย์. จารึกด้วยภาษาสันสกฤต ปรากฏอยู่ด้านที่ 1  บทที่ 8 บรรทัดที่ 15-16  มีข้อความในศิลาจารึก และคำแปลที่กล่าวถึงพระนางภูปตินทรลักษมีเทวี  ดังต่อไปนี้

        บทที่ 8
        (บรรทัดที่ 15) ภูภฺฤทฺภวานฺยภวา ภุวิ  ภูปตนฺทฺรลกษฺมีรฺ วภูว ภูวนภิมตา ภวฺานี
(บรรทัดที่ 16) ศฺรีสูรฺยยปิตฺรนุภาวา จตุรนฺ นเรนฺทฺรา ทิตฺยาภิทํ (ต) มฺ อสุฤชชฺ ชคทินฺทุวิมฺวมฺ

คำแปลบทที่ 8
ภูปตนทรลักษมี ถือกำเนิดในราชสกุลวงศ์ นางได้รับความนับถือจากบุคคลทั้งหลายว่าเป็นอวตาร (ภวานี) เป็นผู้ประกอบด้วยคุณลักษณะแห่งพระบิดา คือ พระเจ้าสูรย (วรมัน) นางได้ให้กำเนิดแก่ นเรนทราทิตย์ ผู้คล่องแคล่ว และเปรียบเสมือนดวงจันทร์ สำหรับผู้ที่ยังมีชีวิตอยู่         

หลักฐานข้อมูลทางประวัติศาสตร์ ที่ปรากฏในศิลาจารึกปราสาทพนมรุ้ง ได้มีการศึกษาโดยนักวิชาการผู้เชี่ยวชาญด้านประวัติศาสตร์ โบราณคดี หลายท่าน อาทิ ศาสตราจารย์ ยอร์ช เซเดย์, สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา สยามบรมราชกุมารี, ศาสตราจารย์หม่อมเจ้าสุภัทรดิศ ดิศกุล, ศาสตาจารย์มานิตย์ วัลลิโภดม, รศ.ดร.ม.ร.ว.สุริยวุฒิ สุขสวัสดิ์, คุณอำไพ คำโท เป็นต้น         

หลักฐานที่ปรากฏในศิลาจารึก ปราสาทพนมรุ้ง จังหวัดบุรีรัมย์ ได้กล่าวแสดงถึงผู้สืบเชื้อสายราชวงศ์กษัตริย์ ผู้ครองราชย์เมืองพระนคร (ในประเทศกัมพูชา ปัจจุบัน) มีความสัมพันธ์กับองค์นเรนทราทิตย์ ผู้ทรงสละความเป็นราชตระกูลมาบำเพ็ญพรตเป็นโยคี ณ เขาพนมรุ้ง บทที่ 8 บรรทัดที่ 15-16 ระบุให้สันนิษฐานได้ว่า

        พระนางภูปตินทรลักษมีเทวี  เป็นพระธิดาของกษัตริย์สูรยาวรมันที่ 2 ซึ่งครองราชย์ที่เมือง        พระนคร ในระหว่างปี พ.ศ. 1655-1695          และ องค์นเรนทราทิตย์ เป็นพระโอรสขงพระนางภูปตินทรลักษมีเทวี  ซึ่งต่อมาองค์นเรนทราทิตย์ ได้ทรงสละความเป็นราชตระกูลมาบำเพ็ญพรตเป็นโยคี โดยมีพระโอรสองค์หนึ่ง คือ เจ้าชายหิรัณยะ ซึ่งมีหลักฐานทางประวัติศาสตร์สันนิษฐานว่าเจ้าชายหิรัณยะ คือ ผู้สร้างศิลาจารึกปราสาทพนมรุ้ง หลักที่ 120

อำไพ  คำโท  ได้กล่าวถึง ศิลาจารึกปราสาทพนมรุ้งด้านที่ 4 บทที่ 27 บรรทัดที่ 6-8 มีข้อความในศิลาจารึก และคำแปลที่กล่าวถึง  องค์นเรนทราทิตย์  และหิรัณยะ  ดังต่อไปนี้

บทที่ 28
(บรรทัดที่ 5)        ( ศิ )  ษฺยสฺ สุตศฺ  จ สุปิตุสฺ  สุคุโรรฺ  นเรนฺทฺรา
(บรรทัดที่ 6) ทิตฺยสย  โส  ยมฺ  อุทิโต  วรุณารุกกว
(บรรทัดที่ 7) วิงฺศตยตีตวยสา  สเมติษฺฐิปตฺ  ตทฺ
(บรรทัดที่ 8) หิรณฺยชนกํ  ส  หิรณยนามา

คำแปลบทที่ 28
ศิษย์และบุตรของนเรนทราทิตย์  ผู้เป็นบิดาที่ที่และอาจารย์ที่ดี เขาได้ถือกำเนิดมาดั่งดวงอาทิตย์ จากมหาสมุทร... และเมื่อเขาอายุพ้น 20 ปี  เขาก็ได้ให้ช่างสร้างประติมากรรมรูปอันนี้เป็นรูปแห่งบิดาของเขา  หล่อขึ้นด้วยทอง  เขาผู้นี้นามว่า หิรัณยะ

จากหลักฐานที่ปรากฏในศิลาจารึกพนมรุ้ง ทำให้เป็นข้อมูลสันนิษฐานได้ว่า เจ้าชายหิรัณญะ          ผู้สืบสายราชวงศ์  มหิธรปุระ  เป็นกษัตริย์ผู้ทรงสร้างอาณาจักรที่เคยมีความเจริญรุ่งเรืองในอดีตนับพันปีในอาณาจักร หรือแคว้นอันเป็นที่ตั้งของปราสาทหินเขาพนมรุ้ง ปราสาทหินเมืองต่ำ ซึ่งปัจจุบันได้กลายเป็นดินแดนอันสงบสุขที่มีความโดดเด่น งดงามสูงส่งทางวัฒนธรรม ประวัติศาสตร์ และโบราณคดี         มอบไว้เป็นมรดกอันล้ำค่าให้รุ่นลูกรุ่นหลานชาวจังหวัดบุรีรัมย์ ซึ่งมีกลุ่มชนที่อาศัยอยู่อย่างต่อเนื่องมาโดยตลอดในดินแดนที่เคยปกครองโดยกษัตริย์ราชวงศ์มหิธรปุระแห่งเมืองพนมรุ้ง
7#
 เจ้าของ| โพสต์ 2015-8-26 15:38 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
ขออภัย! คุณไม่ได้รับสิทธิ์ในการดำเนินการในส่วนนี้ กรุณาเลือกอย่างใดอย่างหนึ่ง ลงชื่อเข้าใช้ | ลงทะเบียน

รายละเอียดเครดิต

ตอบกระทู้ ขึ้นไปด้านบน ไปที่หน้ารายการกระทู้