1. “นักษัตรชวด” เป็นรูปหนู สถิตใน “ราศีกรกฏ” ธาตุน้ำ เรือนเกษตรดาวจันทร์ เป็นรูปปู 2. “นักษัตรฉลู” เป็นรูปวัว สถิตใน “ราศีมิถุนา” ธาตุลม เรือนเกษตรดาวพุธ เป็นรูปคนคู่ชายหญิง 3. “นักษัตรขาล” เป็นรูปเสือ สถิตใน “ราศีพฤษภา” ธาตุดิน เรือนเกษตรดาวศุกร์ เป็นรูปวัว 4. “นักษัตรเถาะ” เป็นรูปกระต่าย สถิตใน “ราศีเมษา” ธาตุไฟ เรือนเกษตรดาวอังคาร เป็นรูปแพะแกะ 5. “นักษัตรมะโรง” เป็นรูปพระยานาค สถิตใน “ราศีมีนา” ธาตุน้ำ เรือนเกษตรดาวพฤหัสบดี เป็นรูปปลา 6. “นักษัตรมะเส็ง” เป็นรูปงูเล็ก สถิตใน “ราศีกุมภา” ธาตุลม เรือนเกษตรดาวราหู เป็นรูปคนโทน้ำทิพย์ 7. “นักษัตรมะเมีย” เป็นรูปม้า สถิตใน “ราศีมังกร” ธาตุดิน เรือนเกษตรดาวเสาร์ เป็นรูปมังกร 8. “นักษัตรมะแม” เป็นรูปแพะ สถิตใน “ราศีธนู” ธาตุไฟ เรือนเกษตรดาวพฤหัสบดี เป็นรูปคนยิงธนู 9. “นักษัตรวอก” เป็นรูปลิง สถิตใน “ราศีพิจิก” ธาตุน้ำ เรือนเกษตรดาวอังคาร เป็นรูปลิง 10. “นักษัตรระกา” เป็นรูปไก่ สถิตใน “ราศีตุลา” ธาตุลม เรือนเกษตรดาวศุกร์ เป็นรูปคันชั่ง 11. “นักษัตรจอ” เป็นรูปสุนัข สถิตใน “ราศีกันยา” ธาตุดิน เรือนเกษตรดาวพุธ เป็นรูปหญิงงาม 12.“นักษัตรกุน” เป็นรูปสุกร สถิตใน “ราศีสิงหา” ธาตุไฟ เรือนเกษตรดาวอาทิตย์ เป็นรูปสิงโต สาเหตุที่โหราจารย์ชาวอารยันค้นพบความแตกต่างระหว่างกลุ่มดาวฤกษ์ “ดาว 12 นักษัตร” ซึ่งเป็น “ดาวประจำปี” และ “ดาวฤกษ์ประจำราศี” ซึ่งเป็น “ดาวประจำเดือน” สันนิษฐานว่ามาจาก ความพยายามเฝ้าติดตามศึกษาความเคลื่อนไหวของดวงดาวที่โคจรไปในท้องฟ้า ซึ่งเป็นรูปทรงกลม เรียกว่า “รูปทรงกลมฟ้า” หรือ “จักรราศี” โดยสังเกตจากการโคจรของ ดวงอาทิตย์ เคลื่อนที่ไปประมาณวันละ 1 องศา คิดคำนวณเวลากลางวันได้ในราว 12 ชั่วโมง เวลากลางคืน 12 ชั่วโมง รวมเวลา 1 วันเป็น 24 ชั่วโมง จึงแบ่งวงกลมแห่งจักรราศีออกเป็น 12 ส่วน แต่ละส่วนเรียกว่า “ราศี” โดยตั้งชื่อราศีไปตามลักษณะของรูปกลุ่มดาวฤกษ์ที่ปรากฏให้เห็นตามจินตนาการเป็น “กลุ่มดาวฤกษ์ประจำราศี” หรือ “ดาวฤกษ์ประจำเดือน” จำนวน 12 เดือน แต่เมื่อ ดวงอาทิตย์ โคจรไปได้ 360 องศา หรือ 1 รอบวงกลมแห่งจักรราศีแล้ว ปรากฏว่าเวลากลางวันและเวลากลางคืนยังไม่เท่ากัน คือเวลากลางวันอาจยาวเกินไป หรือเวลากลางคืนยังยาวเกินไป ต้องรอคอยให้วันเวลาล่วงไปกว่า 365 วันคือ ดวงอาทิตย์โคจรไปใน ราศีเมษายน ได้ประมาณ 13 องศา เวลากลางวันและเวลากลางคืนจะเท่ากันพอดี นับจากจุดที่วันเวลาในโลกเท่ากันพอดี “ฤดูกาล” ในโลกจะเริ่มต้นเปลี่ยนแปลง เช่น จากจุด 0 องศาในราศีเมษ เป็นช่วงเริ่มต้น “ฤดูฝน” เวลากลางวันจะเริ่มสั้นลงไปเรื่อยๆ ในขณะเดียวกัน เวลากลางคืนจะยาวมากขึ้น จนกระทั่งดวงอาทิตย์โคจรไปได้ 15 องศา ในราศีตุลาคม เวลากลางวันและเวลากลางคืนจะเท่ากันพอดีอีกครั้งหนึ่ง เป็นช่วงเวลาเปลี่ยนแปลงเข้าสู่ “ฤดูหนาว” เมื่อลากเส้นจากกึ่งกลางราศีเมษายนตรงไปยังกึ่งกลางราศีตุลาคม เป็นเส้นแบ่งครึ่งวงกลมในรูปแนวตั้ง เส้นผ่าศูนย์กลางนั้นจึงเป็นแกนกลางของวงกลมแห่งจักรราศี จึงทำให้รู้แน่นอนว่าดวงอาทิตย์โคจรไปในรูปวงรีเกินรัศมี 360 องศา จำต้องเป็น ขยาย “รูปวงกลมแห่งจักรราศี” ให้ถูกต้องตามความเป็นจริงสอดคล้องกับการโคจรของดวงอาทิตย์ ซึ่งมีจุดเริ่มต้น ณ. 0 องศา ในราศีเมษายน ไปสิ้นสุด 360 องศา ณ. 0 องศา ในราศีเมษายนดังเดิม โดยเพิ่มวันเวลาในบางราศีให้มากขึ้นเป็น 31 วันบ้าง ลดวันเวลาในบางราศีลงให้เหลือ 27 วันบ้าง 29 วันบ้าง เมื่อดวงอาทิตย์โคจรไปได้ 365.25636042 วัน ถือว่าเป็นวันที่ ดวงอาทิตย์โคจรไปได้ 1 รอบจักรราศี เรียกว่า “1 ปีสุริยาตร” จึงกำหนดให้จุดบรรจบที่ 0 องศาในราศีเมษายน ซึ่งเป็นวันครบรอบปีสุริยาตร เป็นจุดสำคัญในวันสิ้นสุดปีเก่าและเป็นจุดเริ่มต้นปีใหม่ โหราจารย์เรียกจุดสำคัญนั้นว่า “สงกรานต์” แปลว่า เวลาที่พระอาทิตย์ทอแสงขึ้นที่จุด 0 องศาในราศีเมษายน และกำลังจะโคจรผ่านจุดนั้นไป ตรงจุดบรรจบที่ 0 องศาในราศีเมษายนของทุกวันครบรอบปี คิดคำนวณการโคจรของดวงอาทิตย์นับได้ 365 วัน 6 ชั่วโมง 9 นาที 9.5 วินาที นอกจาเกิดปรากฏการณ์มหัศจรรย์ของธรรมชาติหลายประการดังกล่าวแล้ว ยังบังเกิดปรากฏการณ์อันน่าพิศวงขึ้นอีกอย่างหนึ่งก็คือ ทุกครั้งที่เป็นวันเวลาสิ้นสุดปีเก่ากำลังจะเริ่มต้นปีใหม่นั้น ตรงกับการเปลี่ยนแปลงของ “ดาว 12 นักษัตร” จากดาวนักษัตรหนึ่งไปยังอีกดาวนักษัตรหนึ่งอย่างบังเอิญที่สุดทุกครั้ง โหราจารย์จึงกำหนดให้นับการโคจรของดวงอาทิตย์ที่โคจรครบรอบจักรราศี หรือ “1 ปีสุริยาตร” ว่าเป็น “1 ปีนักษัตร” ด้วยเหตุนี้ “ดาว 12 นักษัตร” จึงกลายเป็น “นามปี” ซึ่งมีอยู่แต่เฉพาะในวิชาโหราศาสตร์ไทยเรียกกันว่า “ปีนักษัตร” พลตำรวจโท สรรเพชญ ธรรมาธิกุล
(สรรเพชญ ธรรมาธิกุล)
4 มิถุนายน 2551 |