ตั้งให้เราเป็นเว็บแรกที่คุณเลือก เก็บเราไว้เป็นเว็บโปรด
สมัครสมาชิก ได้มากกว่าที่คุณคิด เข้าสู่ระบบ
ดู: 5411
ตอบกลับ: 25
สั่งพิมพ์ ก่อนหน้า ถัดไป

พระองค์ที่ ๗ : สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระปรมานุชิตชิโนรส

[คัดลอกลิงก์]


พระประวัติและปฏิปทา
สมเด็จพระสังฆราชพระองค์ที่ ๗ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์
สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระปรมานุชิตชิโนรส
(พระองค์เจ้าวาสุกรี สุวณฺณรํสี)
พุทธศักราช ๒๓๙๔-๒๓๙๖


วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม ราชวรมหาวิหาร
แขวงพระบรมมหาราชวัง เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร


หัวข้อ

•        พระประวัติในเบื้องต้น
•        ทรงบรรพชาและอุปสมบท
•        อธิบดีสงฆ์วัดพระเชตุพน รูปที่ ๒
•        เจ้านายพระองค์แรกที่ทรงดำรงสมณศักดิ์
•        ทรงเป็นเจ้าคณะกลาง
•        การพระราชพิธีมหาสมณุตมาภิเษก
•        พระอัจฉริยภาพในทางพระศาสนาและวรรณกรรม
•        รัตนกวีศรีรัตนโกสินทร์
•        พระอวสานกาล
•        การสถาปนาสมเด็จพระมหาสมณเจ้า
•        ประกาศสถาปนาสมเด็จพระมหาสมณเจ้า
•        พระเกียรติคุณประกาศ
•        ประวัติและความสำคัญของวัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม
2#
 เจ้าของ| โพสต์ 2014-6-6 12:04 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
พระประวัติในเบื้องต้น

สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระปรมานุชิตชิโนรส
ทรงเป็นเจ้านายพระองค์แรกที่ทรงได้รับสถาปนาให้ดำรงตำแหน่ง
สมเด็จพระสังฆราช องค์พระประมุขแห่งคณะสงฆ์ไทย
นับเป็นการเริ่มต้นศักราชใหม่ในการปกครองของคณะสงฆ์ไทย
เพราะแต่ก่อนมานับแต่ยุคต้นแห่งกรุงรัตนโกสินทร์
ย้อนไปจนถึงยุคกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี
ไม่ปรากฏว่ามีเจ้านายพระองค์ใด แม้ทรงผนวชอยู่จนตลอดพระชนมชีพ
ได้รับการสถาปนาในตำแหน่งที่ สมเด็จพระสังฆราช
เพราะฉะนั้น พระประวัติและพระเกียรติคุณของ
สมเด็จฯ กรมพระปรมานุชิตชิโนรส จึงเป็นเรื่องที่น่าศึกษาเป็นอย่างยิ่ง

สมเด็จฯ กรมพระปรมานุชิตชิโนรส ทรงเป็นพระราชโอรส องค์ที่ ๒๘
ใน พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช รัชกาลที่ ๑
และ เจ้าจอมมารดาจุ้ย (ธิดาพระราชาเศรษฐี เป็น ‘พระสนมโท’
ต่อมาได้เลื่อนเป็น “ท้าวทรงกันดาล” ซึ่งเป็นตำแหน่งผู้รักษาการคลังใน
เป็นที่ไว้วางพระราชหฤทัยในพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๓)
ประสูติเมื่อวันที่ ๓๑ ธันวาคม พุทธศักราช ๒๓๓๓
ตรงกับวันเสาร์ ขึ้น ๕ ค่ำ เดือนอ้าย ปีจอ ทศก จุลศักราช ๑๑๕๒
ได้รับพระราชทานนามว่า “พระองค์เจ้าวาสุกรี”


สมเด็จพระอริยวงษญาณ สมเด็จพระสังฆราช (ศุข)
พระอุปัชฌาย์ในคราวทรงบรรพชาและอุปสมบท


3#
 เจ้าของ| โพสต์ 2014-6-6 12:04 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
ทรงบรรพชาและอุปสมบท  

พ.ศ. ๒๓๔๕ ทรงผนวชเป็นสามเณร แต่เมื่อพระชนมายุ ๑๒ พรรษา
โดยทรงผนวชเป็นหางนาค กับพระองค์เจ้าชายฉัตร (กรมหมื่นสุรินทรรักษ์)
ในคราวที่สมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระอนุรักษ์เทเวศร์ กรมพระราชวังบวรสถานพิมุข
(กรมพระวังหลัง) ทรงผนวชเป็นพระภิกษุ
เมื่อวันขึ้น ๘ ค่ำ เดือน ๘ พ.ศ. ๒๓๔๕ ณ พระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม
โดยมี สมเด็จพระสังฆราช (ศุข) วัดมหาธาตุ เป็นพระอุปัชฌาย์
เมื่อทรงผนวชแล้วก็ได้เสด็จไปประทับ ณ วัดพระเชตุพน

ทรงศึกษาเล่าเรียนหนังสือไทยและภาษาบาลี ตลอดทั้งวิธีลงยันต์เลขไสย
อยู่ใน สำนักสมเด็จพระพนรัตน ผู้เป็นอธิบดีสงฆ์วัดพระเชตุพนในขณะนั้น
ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญทางอักษรสมัยและเวทย์มนต์ยิ่งนัก
โดยเฉพาะภาษาบาลีนั้น สมเด็จพระพนรัตนรอบรู้แตกฉานมาก
ได้รจนาหนังสือเป็นภาษาบาลีหรือภาษามคธไว้ ๓ เรื่องคือ  
สังคีติยวงศ์ พงศาวดารการสังคายนา ๑
จุลยุทธการวงศ์ พงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ๑
มหายุทธการวงศ์ พงศาวดารมอญเรื่องราชาธิราช ๑

กล่าวกันว่า ตำรับตำราพิชัยสงครามและพระคัมภีร์ต่างๆ
ในสมัยกรุงศรีอยุธยาซึ่งอยู่กับสมเด็จพระพนรัตน วัดป่าแก้ว
ก็ตกมาอยู่ที่วัดพระเชตุพนแห่งนี้ด้วย
ฉะนั้น สมเด็จฯ กรมพระปรมานุชิตชิโนรส
คงจักได้ทรงศึกษาเล่าเรียนตำรับตำราต่างๆ ดังกล่าวเหล่านี้
จึงได้ทรงมีพระปรีชาสามารถทั้งทางด้านคดีโลกและคดีธรรม
ดังเป็นที่ประจักษ์จากผลงานอันเป็นบทพระนิพนธ์เรื่องต่างๆ มากมาย

สามเณรพระองค์เจ้าวาสุกรี ประทับจำพรรษาและศึกษาอยู่ในวัดพระเชตุพน
จนสิ้นสมัยรัชกาลที่ ๑ ขณะนั้นพระชนม์ได้ ๑๙ พรรษา ก็ไม่ทรงสึก
เนื่องจากอายุยังไม่ครบผนวชเป็นพระภิกษุ จึงทรงเป็นสามเณรต่อไป
จนถึงรัชกาลพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ ๒  
จึงได้ทรงผนวชเป็นพระภิกษุ เมื่อปีมะแม พ.ศ. ๒๓๕๔
โดยมี สมเด็จพระสังฆราช (ศุข) วัดมหาธาตุ เป็นพระอุปัชฌาย์
และ สมเด็จพระพนรัตน วัดพระเชตุพน เป็นพระกรรมวาจาจารย์
ทรงได้รับพระนามฉายาว่า “สุวณฺณรํสี” เป็นพระราชาคณะและอธิบดีสงฆ์
4#
 เจ้าของ| โพสต์ 2014-6-6 12:05 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้

พระพุทธเทวปฏิมากร พระประธานในพระอุโบสถวัดพระเชตุพนฯ


อธิบดีสงฆ์วัดพระเชตุพน รูปที่ ๒

เมื่อทรงผนวชเป็นภิกษุได้ ๓ พรรษา ในระหว่างพรรษาที่ ๓ นั้น
สมเด็จพระพนรัตน  เจ้าอาวาสวัดพระเชตุพน ผู้เป็นพระอาจารย์ถึงแก่มรณภาพ
ครั้นออกพรรษาแล้ว พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ ๒
เสด็จฯ ไปพระราชทานผ้าพระกฐิน จึงทรงตั้งให้เป็นพระราชาคณะ
และให้ครองพระกฐิน และโปรดเกล้าฯ ให้ครองวัดพระเชตุพนในวันนั้น

จึงทรงเป็นเจ้าอาวาสวัดพระเชตุพน ตั้งแต่ทรงผนวชได้เพียง ๓ พรรษา
นับเป็นอธิบดีสงฆ์วัดพระเชตุพน รูปที่ ๒
และต่อมาก็ทรงสถาปนาเป็น กรมหมื่นนุชิตชิโนรส ศรีสุคตขัติยวงศ์
ทรงสมณศักดิ์เสมอพระราชาคณะสามัญ

5#
 เจ้าของ| โพสต์ 2014-6-6 12:05 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
เจ้านายพระองค์แรกที่ทรงดำรงสมณศักดิ์

การที่พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ทรงโปรดเกล้าฯ สถาปนา
พระเจ้าน้องยาเธอพระองค์เจ้าวาสุกรี เป็นพระราชาคณะครองวัดพระเชตุพนนั้น
เป็นการเริ่มธรรมเนียมอย่างใหม่ขึ้นในทางการปกครองคณะสงฆ์
คือเจ้านายทรงรับสมณศักดิ์
นับเป็นเหตุการณ์สำคัญครั้งหนึ่งในคณะสงฆ์ไทย
เพราะก่อให้เกิดผลดีตามมาในภายหลัง
แก่คณะสงฆ์และชาติบ้านเมืองเป็นอเนกประการ

ก่อนสมัยรัชกาลที่ ๒ ย้อนไปจนถึงสมัยกรุงศรีอยุธยา
ไม่เคยปรากฏว่ามีเจ้านายที่ทรงผนวชได้รับพระราชทานสมณศักดิ์
หรือมีตำแหน่งหน้าที่ทางการคณะสงฆ์เลย
พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยได้ทรงริเริ่มประเพณีนี้ขึ้นเป็นครั้งแรก
และ สมเด็จฯ กรมพระปรมานุชิตชิโนรส ทรงเป็นเจ้านายพระองค์แรก
ที่ได้รับแต่งตั้งให้ดำรงสมณศักดิ์และดำรงตำแหน่งทางการคณะสงฆ์
นับแต่นั้นมา เจ้านายที่ทรงผนวชอยู่ก็ได้รับพระราชทานสมณศักดิ์
และดำรงตำแหน่งหน้าที่ทางการคณะสงฆ์ที่สำคัญๆ ต่อเนื่องกันมาเป็นจำนวนมาก

จะเห็นได้ว่า การที่พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย
ทรงพระราชดำริเริ่มประเพณีตั้งเจ้านายให้ดำรงสมณศักดิ์ขึ้นในคณะสงฆ์นั้น
ก่อให้เกิดผลดีแก่พระศาสนาและชาติบ้านเมืองหลายประการ กล่าวคือ

- เป็นทางให้เจ้านายทรงนิยมในการทรงผนวชอยู่นานๆ มากขึ้น
เพราะเห็นทางที่จะเจริญในทางพระศาสนา
และมีโอกาสที่จะทรงบำเพ็ญประโยชน์แก่พระศาสนาและชาติบ้านเมือง
ในทางที่ทรงพระปรีชาสามารถได้อย่างกว้างขวาง

- เป็นทางนำบุคลากรที่มีคุณภาพเข้ามาสู่วงการพระศาสนาและคณะสงฆ์
ทำให้วงการพระศาสนาและคณะสงฆ์มีโอกาสพัฒนาให้เจริญก้าวหน้าได้รวดเร็ว
และกว้างขวางยิ่งขึ้น เพราะเจ้านายย่อมทรงไว้ซึ่งพระชาติวุฒิและ
พระคุณวุฒิที่ทรงได้รับการฝึกฝนอบรมมาเป็นอย่างดีจากราชสกุล
เมื่อเข้ามาทรงผนวชอยู่ในพระพุทธศาสนา
ย่อมเป็นบุคลากรที่มีคุณภาพของพระพุทธศาสนา
เลยก่อให้เกิดการสร้างสรรค์สิ่งอันเป็นคุณประโยชน์แก่พระศาสนา
และชาติบ้านเมืองเป็นอเนกประการ

- เอื้ออำนวยต่อความสำเร็จในการดำเนินกิจการทางพระศาสนาและคณะสงฆ์
เพราะเจ้านายย่อมเป็นที่เคารพและศรัทธาของประชาชน
ฉะนั้นกิจการในทางพระศาสนาและคณะสงฆ์ที่ดำริและดำเนินการ
โดยมีเจ้านายย่อมเป็นที่ทรงพร้อมด้วย พระชาติวุฒิ พระคุณวุฒิ และพระอิสริยยศ
เป็นผู้นำย่อมเป็นที่ศรัทธาและไว้วางใจของคนทั่วไป
จึงไม่เป็นการยากที่จะกระทำการนั้นๆ ให้บรรลุเป้าหมายหรือประสบความสำเร็จ
ดังเป็นที่ปรากฏในประวัติการณ์ของพระพุทธศาสนาและคณะสงฆ์ของไทยตลอดมา
6#
 เจ้าของ| โพสต์ 2014-6-6 12:06 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้

พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ ๒


ทรงเป็นเจ้าคณะกลาง


ในสมัยรัชกาลที่ ๓ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงโปรดเกล้าฯ
ให้รวมวัดในแขวงกรุงเทพฯ ขึ้นเป็นคณะหนึ่ง เรียกว่า คณะกลาง
แล้วโปรดเกล้าฯ สถาปนา สมเด็จฯ กรมพระปรมานุชิตชิโนรส
ขณะทรงดำรงพระอิสริยยศเป็นกรมหมื่นนุชิตชิโนรส
ให้ดำรงสมณศักดิ์เสมอเจ้าคณะรอง และทรงตั้งเป็นเจ้าคณะกลาง
ทรงดำรงตำแหน่ง เจ้าคณะกลาง
บังคับบัญชาวัดทั้งปวงในกรุงเทพฯ จนตลอดสิ้นรัชกาลที่ ๓
7#
 เจ้าของ| โพสต์ 2014-6-6 12:06 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้

พัดยศสำหรับพระสมณศักดิ์ที่
สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระปรมานุชิตชิโนรส



การพระราชพิธีมหาสมณุตมาภิเษก

ครั้นเมื่อพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๓
เสด็จสวรรคตเมื่อวันที่ ๒ เมษายน พุทธศักราช ๒๓๙๔
สมเด็จพระอนุชาธิราช เจ้าฟ้ามงกุฎสมมติเทววงศ์
ซึ่งทรงผนวชอยู่ และทรงครองวัดบวรนิเวศวิหาร
ก็ได้รับการอันเชิญเสด็จเถลิงถวัลย์ราชย์ มไหสวริยสืบมหันตมหิศรราชวงศ์
ดำรงสิริราชสมบัติเป็นรัชกาลที่ ๔ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์
มีพระปรมาภิไธยว่า พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว

ในปลายรัชกาลที่ ๓ ปีระกา พุทธศักราช ๒๓๙๒ นั้น
สมเด็จพระอริยวงษญาณ สมเด็จพระสังฆราช (นาค)
สมเด็จพระสังฆราชพระองค์ที่ ๖ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ สิ้นพระชนม์
พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระราชดำริ
ที่จะทรงตั้ง พระพิมลธรรม (อู่) วัดสุทัศน์ เป็นสมเด็จพระสังฆราช
จนโปรดเกล้าฯ ให้อาลักษณ์ร่างนามที่จะทรงตั้ง และลงวัน เดือน ปี
ที่จะทรงตั้งไว้เรียบร้อยแล้ว ก็พอทรงพระประชวรและเสด็จสวรรคต
หลังวันที่กำหนดจะทรงตั้งไว้นั้นเพียงวันเดียว

ครั้นพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติ
จึงโปรดเกล้าฯ สถาปนาเลื่อนพระอิสริยยศ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหมื่นนุชิตชิโนรส
ขึ้นเป็น กรมสมเด็จพระปรมานุชิตชิโนรส
และทรงสถาปนาสมณศักดิ์ขึ้นเป็น
สมเด็จพระมหาสังฆปริณายกทั่วพระราชอาณาเขต
นับเป็นสมเด็จพระสังฆราชพระองค์ที่ ๗ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์

โปรดเกล้าฯ ให้จัดตั้งพระราชพิธีมหาสมณุตมาภิเษกที่วัดพระเชตุพน
มีทั้งพิธีสงฆ์และพิธีพราหมณ์ คล้ายกับพระราชพิธีบวรราชาภิเษก
เมื่อวันศุกร์ เดือน ๙ ขึ้น ๔ ค่ำ ปีกุน พ.ศ. ๒๓๙๔ นั้นเป็น
พระราชพิธีมหาสมณุตมาภิเษกที่เกิดมีขึ้นเป็นครั้งแรกในประวัติการณ์ของคณะสงฆ์ไทย
และ สมเด็จฯ กรมพระปรมานุชิตชิโนรส ก็ทรงเป็นเจ้านายพระองค์แรก
ที่ทรงได้รับมหาสมณุตมาภิเษกเป็นที่สมเด็จพระสังฆราช ดังความที่ปรากฏนี้
8#
 เจ้าของ| โพสต์ 2014-6-6 12:08 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้

พระรูปหล่อสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระปรมานุชิตชิโนรส
(พระองค์เจ้าวาสุกรี สุวณฺณรํสี)  



“ศรีศยุภมัสดุ อดีตกาลพระพุทธศักราช  
ชไมยสหัสสสังวัจฉรไตรสตาธฤกจตุนวุติสังวัจฉร
ปัตยุบันกาลสุกรสังวัจฉรสาวนมาศ  สุกกปักษ์จตุรสติดฤศถี สุกรวารปริเฉทกำหนด
พระยาทสมเด็จพระปรมนทร มหามกุฏสุทธสมมตเทพยพงศ์ วงศาดิศวรกระษัตริย์
วรขัติยราชนิกโรดม จาตุรันตบรมมหาจักรพรรดิราชสังกาศ อุภโตสุชาติ
สังสุทธเคราหณี จักรีบรมนารถ อดิศวรราชรามวรางกูร สุจริตมูลสุสาธิต
อุกฤษฐวิบูลย์  บูรพาดูลย์กฤษฎาภินิหาร สุภาธิการรังสฤษดิธัญญลักษณวิจิตร
โสภาคยสรรพางค์ มหาชโนตมางคประนตบาทบงกชยุคล ประสิทธิผลสรรพศุภผลอุดม
บรมสุขุมาลมหาบุรุษยรัตน์  ศึกษาพิพัฒน์สรรพโกศล  สุวิสุทธวิมลศุภศีลสมาจาร
เพ็ชรญาณประภาไพโรจน์ อเนกโกฏิสาธุคุณ วิบุลยสันดาน ทิพยเทพาวตาร
ไพศาลเกียรติคุณ อดุลยพิเศษ สรรพเทเวศศรานุรักษ์ เอกอรรคมหาบุรุษ
สุตพุทธมหากระวี ตรีปิฏกาทิโกศล วิมลปรีชา มหาอุดมบัณฑิตย์ สุนทรวิจิตรปฏิภาณ
บริบรูณ์คุณสารสยามาทิโลกยดิลก มหาปริวารนายกอนันต์ มหันตวรฤทธิเดช
สรรพวิเศษศิรินทร  มหาชนนิกรสโมสรสมมติ ประสิทธิวรยศมโหดมบรมราชสมบัติ
นพปฏลเสวตรฉัตราดิฉัตร ศิริรัตโนปลักษณมหาบรมราชาภิเศกาภิสิต
สรรพทศทิศวิชิตไชยสกลมไหสวริย มหาสวามินทร์
มเหศวรมหินทรมหารามาธิราชวโรดม บรมนารถชาติอาชาวไศรย
พุทธาทิไตรรัตนสรณารักษ์อุกฤษฐศักดิอรรคนเรศราธิบดี เมตตากรุณาสีตลหฤทัย
อโนปมัยบุญการ สกลไพศาลมหารัษฎาธิเบนทร์  
ปรเมทรธรรมิกมหาราชาธิราช บรมนารถบพิตร

พระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จถวัลยราชสมบัติในกรุงเทพมหานคร
อมรรัตนโกสินทร์มหินทรายุทธยา มหาดิลกภพนพรัตนราชธานีบุรีรมย์  
อุดมราชนิเวศน์มหาสถาน ได้ประดิษฐดำรงมาเป็นมหานครอันใหญ่
เปนที่ศุขเกษมสมบรูณ์ด้วยสรรพโภคัยมไหยสุริยสมบัติ
เพียบพูลด้วยชนคณานิกรบรรสัษย์ คือบุรุษยรัตนราชวงศานุวงศ์ เสนามาตยามนตรี
กระวีชาติราชปโรหิต เป็นที่ไปมานานาค้าขายแห่งประเทศพานิช  
วิจิตรด้วยวิกัยภัณฑ์สรรพพัสดุล้วนวิเศษ เป็นที่รื่นเริงบันเทิงจิตร
แห่งชาวนานาประเทศนิคมชนบท  ปรากฏด้วยมหาชน อันเจริญขึ้น
ด้วยความฉลาดในหัตถกรรมต่างๆ  แลชำนาญในการช่างสรรพกิจทุกประการ

เจริญขึ้นด้วยหมู่นิกรโยธาทวยหาญ เป็นประเทศที่ประดิษฐานพระบวรพุทธศาสนา  
ประดับด้วยเรือนพระปฏิมาอุโบสถาคาระเสนาศน์ วิจิตรด้วยสุวรรณหิรัญมาศ
เปนที่เจริญความเลื่อมใสแห่งมหาชน ซึ่งเป็นมาได้ดังนี้ สำเร็จได้ด้วยอำนาจบารมี
พระเดชานุภาพ วิริยะปรีชาวิจารณกิจ แห่งสมเด็จพระบรมนารถบพิตร
ซึ่งทรงสถิตย์เป็นปฐม คือองค์สมเด็จพระบรมไอยกาธิราช ที่ได้ทรงพระนามตามประกาศ
ด้วยพระนามแห่งพระมโหทิฐปฏิมาว่า พระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกเป็นเดิมมา

9#
 เจ้าของ| โพสต์ 2014-6-6 12:08 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
ส่วนกรมหมื่นนุชิตชิโนรสเล่า ก็เป็นพระบรมวงศ์ผู้ใหญ่ในแผ่นดินสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
พระองค์นั้น  แลได้ทรงพระผนวชรับพระธุระฝ่ายพระบวรพระพุทธศาสนามาช้านาน
ทรงพระปรีชาญาณฉลาดรอบรู้ในพุทธศาสน์ราชสาตร
แบบอย่างโบราณราชประเพณีต่างๆ แลในทางปฏิสันฐารปราไส
แล้วมีพระหฤทัยโอบอ้อมอารี เป็นที่สนิทเสน่หาแห่งพระบรมวงศานุวงศ์ทั่วไป  
แลได้เปนครูอาจารย์ครุถานิยบุทคลแห่งราชสกุลวงษ์มหาชนเป็นอันมาก

ควรที่จะเปนประธานาธิบดี มีอิศริยยศยิ่งกว่าบรรดาคณะนิกรสงฆ์
คามวาสีอรัญวาสีปักษ์ใต้ฝ่ายหนือทั้งปวง  เมื่อบุรุษย์รัตนอันล้ำเลิศประเสริฐดังนี้มีอยู่
ก็มิได้ควรที่จะยกย่องพระราชาคณะองค์ใดองค์หนึ่ง แม้ถึงจะมีสติปัญญาวิทยาคุณ
ที่มีตระกูลเป็นอย่างอื่น ให้มีอิศริยยศถานานุศักดิ์ยิ่งกว่า
จึงมีพระบรมราชโองการมาร  พระบัณฑูรสุรสิงหนารทดำรังสั่งให้สถาปนา
พระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมหมื่นนุชิตชิโนรส เปน

กรมสมเด็จพระปรมานุชิตชิโนรส ศรีสุคตขัติยวงศ์
บรมพงศาธิบดีจักรีบรมนารถปฐมพันธุมหาราชวรังกูร
ปรเมทรนเรนทรสูรสัมมาภาธิสักกาโรดมสถาน อริยสมศีลจารพิเศษมหาวิมล
มงคลธรรมเจดียุตมุตวาทีสุวิรมนุญ อดุลยคุณคณาธาร
มโหฬารเมตตาภิธยาไศรย ไตรปิฏกกลาโกศล เบญจปฎลเสวตรฉัตร
ศิริรัตโนปลักษณะมหาสมณุตมาภิเศกาภิสิต ปรมุกฤษฐสมณศักดิธำรง
มหาสงฆปรินายก พุทธศาสนดิลกโลกุตมมหาบัณฑิตย์
สุนทรวิจิตรปฏิภาณ ไวยัติญาณมหากระวี พุทธาทิศรีรัตนไตรยคุณารักษ์
เอกอรรคมหาอนาคาริยรัตน์ สยามาทิโลกยปดิพัทธพุทธบริสัษยเนตร
สมณคณินทราธิเบศร์สกลพุทธจักโรปการกิจ
สฤษดิศุภการมหาปาโมกขประธานวโรดม บรมนารถบพิตร  

เสด็จสถิตย์ ณ วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม ราชวรมหาวิหาร
พระอารามหลวง กรุงเทพมหานครอมรรัตนโกสินทร มหินทรายุทธยา มหาดิลกภพ
นพรัตนราชธานีบุรีรมย์ อุดมราชนิเวศน์มหาสถาน ทฤฆายุสมศิริสวัสดิฯ”
*


สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส  
(พระองค์เจ้ามนุษยนาคมานพ มนุสฺสนาโค)

10#
 เจ้าของ| โพสต์ 2014-6-6 12:08 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
กล่าวกันว่า เหตุที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว  
มิได้ทรงตั้ง พระพิมลธรรม (อู่) เป็นสมเด็จพระสังฆราช
ตามพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวนั้น
ก็คงเนื่องมาจากพระราชประเพณีนิยมที่มีมาแต่โบราณกาล
ดังที่ สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส
ได้ทรงอธิบายเหตุการณ์ดังกล่าวนี้ไว้ ความว่า

พระเถระที่จะทรงตั้งเป็นสมเด็จพระสังฆราชและสมเด็จพระราชาคณะนั้น
ก็เฉพาะผู้ทรงคุณสมบัติพิเศษ คือ เป็นพระอุปัชฌายะ เป็นพระอาจารย์
เป็นที่ทรงนับถือเหมือนอย่างพระอุปัชฌายะ หรือพระอาจารย์
หรือเป็นผู้ใหญ่ผู้เฒ่ามีอายุแก่กว่าพระชนมพรรษาจึงถึงต่างปูนกัน

สมเด็จฯ กรมพระปรมานุชิตชิโนรส ทรงมีความเกี่ยวข้องกับ
พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวหลายประการ กล่าวคือ
ในทางพระราชวงศ์ก็ทรงเป็นพระเจ้าอา ในทางวัยวุฒิก็ทรงเจริญพระชนมายุกว่า
๑๔ พรรษา ในทางความสัมพันธ์ส่วนพระองค์ ก็ทรงเป็นพระอาจารย์ กล่าวคือ
พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงศึกษาอักขรวิธีและพระพุทธวจนะ
ตลอดถึงวิชาการคดีโลกอื่นๆ ในสำนักสมเด็จฯ กรมพระปรมานุชิตชิโนรส

ฉะนั้น พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯ จึงทรงเคารพนับถือมากมา
แต่ครั้งยังทรงผนวชอยู่ เป็นที่ทรงปรึกษาในเหตุการณ์สำคัญๆ เสมอ
เช่นเมื่อครั้งทรงผนวชใหม่ๆ ในปลายรัชกาลที่ ๒ หลังจากผนวชได้เพียง ๑๕ วัน
พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย พระบรมชนกนาถก็เสด็จสวรรคต
ตามราชนีติประเพณี พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
ควรจะได้เสวยราชสมบัติสืบต่อจากพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย
เพราะทรงอยู่ในฐานะองค์รัชทายาทแต่ขณะนั้นยังทรงพระเยาว์
และทรงผนวชเป็นพระภิกษุอยู่ เสนาบดีและพระบรมวงศานุวงศ์ส่วนมาก

จึงเห็นว่าควรถวายราชสมบัติแด่พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว
ซึ่งเป็นพระโอรสผู้ใหญ่และทรงเจริญพระชนมายุกว่า
พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวถึง ๑๗ พรรษา
ฉะนั้น หลังจากสมเด็จพระบรมชนกนาถเสด็จสวรรคตเมื่อถูกกราบทูลถามว่า
จะทรงปรารถนาราชสมบัติหรือจะทรงผนวชอยู่ต่อไป
พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงไปทูลปรึกษา
สมเด็จฯ กรมพระปรมานุชิตชิโนรส ซึ่งขณะนั้นทรงเป็น
กรมหมื่นนุชิตชิโนรส (พระชนมายุ ๓๔ พรรษา)
กับทั้งสมเด็จพระกรมพระยาเดชาดิศร ขณะนั้นทรงเป็นกรมหมื่นเดชอดิศร
ซึ่งเป็นที่ทรงคารพนับถือมากทั้งสองพระองค์
และทั้งสองพระองค์ได้ตรัสแนะนำว่า
ไม่ใช่เวลาควรปรารถนาราชสมบัติ

พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
จึงได้ทรงผนวชอยู่ต่อมาจนตลอดรัชกาลที่ ๓ พระราชดำรัสแนะนำของ
สมเด็จฯ กรมพระปรมานุชิตชิโนรส ครั้งนี้นับว่าก่อให้เกิดผลดีแก่
พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวและชาติบ้านเมืองเป็นอเนกอนันต์

ขออภัย! คุณไม่ได้รับสิทธิ์ในการดำเนินการในส่วนนี้ กรุณาเลือกอย่างใดอย่างหนึ่ง ลงชื่อเข้าใช้ | ลงทะเบียน

รายละเอียดเครดิต

ตอบกระทู้ ขึ้นไปด้านบน ไปที่หน้ารายการกระทู้