ในการปิดทองพอกพระพุทธรูปนั้น
พบว่าเป็นธรรมเนียมปฏิบัติที่พบเห็นทั่วไปในหมู่ชนชาติไทย
ทั้งในอาณาจักรล้านนา และกลุ่มคนไทยอื่นๆ เช่น ในอาณาจักรสุโขทัย
พบข้อความที่เกี่ยวกับวัสดุที่ใช้ในการก่อสร้างพระพุทธรูป
ใน จารึกนายศรีโยธาออกบวช พ.ศ. ๒๐๗๑ พบที่วัดโบสถ์ อำเภอเมือง จังหวัดสุโขทัย
ในจารึก จารึกพอกคำพระเจ้าตนหลวง พ.ศ. ๒๐๓๙ (ชร.๒)
วัดศรีสุทธาวาส อำเภอเวียงป่าเป้า จังหวัดเชียงราย
กล่าวถึงพญาแก้ว (พ.ศ. ๒๐๓๘-๒๐๖๘) พร้อมด้วยพระราชมารดา
ทรงถวายทองคำปิดพระพุทธรูปเป็นทาน
และในการสร้างพระปฏิมาทองคำองค์ใหญ่ด้วยเนื้อทองบริสุทธิ์
ประดิษฐานอยู่หน้าพระประธานในวิหารวัดสวนดอกเมื่อปี พ.ศ. ๒๐๕๔ ในรัชสมัยพญาแก้ว
เป็นพระพุทธรูปนั่งสมาธิ มีส่วนสูงเท่าความสูงของพระมหากษัตริย์ขณะทรงยืน
ทรงโปรดให้ตีทองคำเป็นแผ่นแล้วจึงนำไปบุ ไม่ใช่หล่อเป็นแท่งทั้งองค์
ต่อมาในสมัยที่อาณาจักรล้านนาตกเป็นประเทศราชของพม่า (พ.ศ. ๒๑๐๑-๒๓๑๗)
ธรรมเนียมการสร้างพระพุทธรูปถวายก็ยังคงได้รับการสนับสนุนจากผู้ปกครองเจ้าเมืองของพม่า
พบว่ายังมีการสร้างพระพุทธรูป ลงรักปิดทองกันอยู่ตามวัดต่างๆ เป็นจำนวนมาก
และต่อเนื่องมาถึงสมัยที่อาณาจักรล้านนา
ตกเป็นเป็นเมืองประเทศราชแห่งอาณาจักรสยาม (พ.ศ. ๒๓๑๗-๒๔๔๒)
ซึ่งอยู่ภายใต้อำนาจการปกครองของตระกูลเจ้าเจ็ดตน
ในสมัยนี้ได้มีการทำนุบำรุงพระศาสนา ปฏิสังขรณ์วัดสำคัญๆ
ตั้งสมณศักดิ์พระภิกษุตามขนบธรรมเนียมประเพณีเดิม
พบว่ายังมีธรรมเนียมการลงชาดหรคุณปิดทองพระพุทธรูปที่ทำด้วยวัสดุจำพวกไม้
ตามวัดต่างๆ ในอาณาจักรล้านนา ดังเช่น พระพุทธรูปไม้ ลงรักปิดทอง
วัดพระธาตุลำปางหลวง จังหวัดลำปาง สกุลช่างลำปาง
สร้างเมื่อปี พ.ศ. ๒๓๙๘ มีข้อความที่กล่าวถึงการสร้างพระพุทธรูป
แล้วลงรัก ชาดหรคุณ ปิดทอง ในคำจารึกฐานพระพุทธรูป
ความตอนหนึ่งว่า
“...จุลศักราชได้ ๑๒๑๗ ตัว เถาะฉนำ กัมโพชพิสัย
เสด็จเข้ามาในเหมันตฤดู กัตติกามาส ศุกลปักษ์ ปุณณมี โสรวาร
ไทยภาษาว่าปีดับเหม้า เดือนยี่เพ็ง เม็งวัน ๗ ไทยดับไส้
อุบาสกอุบาสิกา มูลสัทธาเจ้าธรรมเสนาเป็นเค้าเป็นประธาน
แลภริยาลูกเต้า แลแม่ภริยาชื่อนางคำสุก
ได้สร้างพุทธรูปเจ้าองค์นี้ไว้ ใส่รักหางแดงแสงเรืองเรื่อ
เพื่อไว้หื้อเป็น (ที่) ไหว้แก่หมู่คนแลเทวดาตราบเสี้ยง ๕,๐๐๐ วัสสา
นิพพานปจจโย โหตุ เม นิจจํ ธุวํ แดเทอะ...”
|