อานุภาพบารมีแห่งพระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวร: ปราสาทบันทายฉมาร์
รูปสลักนูนต่ำสำคัญบริเวณผนังระเบียงคดชั้นนอกทิศตะวันตกเฉียงของปราสาทบันทายฉมาร์ แสดงให้เห็นคติ “วัชรยาน” หรือผู้บูชาพระโลเกศวร ผู้ทรงอานุภาพเหนือโลกและจักรวาล ที่มีเหล่า“ยิดัม” คติแห่ง “ตันตระยาน” เหล่าผู้ปกป้องพระศาสนาผู้เหี้ยมหาญชาญชัยเหนืออวิชชาและเทพเจ้าฮินดู พระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวร มีความหมายว่า “พระโพธิสัตว์ที่ยิ่งใหญ่ ผู้เพ่งมองโลก” เป็นกายที่แบ่งภาคออกมาจากพระธยานิพุทธเจ้าอมิตาภะ อันเป็นพระพุทธเจ้าในโลกปัจจับันตามความเชื่อแบบมหายาน พระอวโลกิเตศวรโพธิสัตว์ พระมหาธยานิโพธิสัตว์แห่งความเมตตากรุณา ในวัฒนธรรมพุทธศาสนาแบบเนวาร์ของเนปาล เรียกพระนามพระองค์ว่า “พระโลเกศวร” - พระผู้เป็นใหญ่แห่งโลก หรือ “มหากรุณิกา” (พระผู้ทรงพระมหากรุณา) ทรงปรากฏพระองค์ได้ถึง 108 ปาง ตามตำนานที่เล่าขานกันสืบมา ครั้งหนึ่ง พระอวโลกิเตศวรโพธิสัตว์ทรงตั้งพระมหาปณิธานอันยิ่งใหญ่ที่จะนำสรรพสัตว์ทั้งหลายให้พ้นจากสังสารวัฏทุกข์ก่อนที่พระองค์เองจะบรรลุความตรัสรู้ แต่เมื่อทรงแลเห็นว่าสรรพสัตว์ที่พระองค์ทรงช่วยไว้ได้นั้น ช่างน้อยแสนน้อยเหลือเกินเมื่อเทียบกับสรรพสัตว์ที่ยังคงหลงเวียนว่ายในความทุกข์ ความโทมนัสนั้นทำให้พระเศียรและพระวรกายของพระองค์แตกทำลายเป็นเสี่ยงๆ พระอมิตาภะพุทธเจ้าทอดพระเนตรเห็นเช่นนั้น จึงได้เสด็จมาสู่พระผู้ช่วยของพระองค์ ทรงเนรมิตพระวรกายที่แตกออกเป็นเสี่ยง ๆ นั้นกลับขึ้นใหม่ ให้เป็นพระวรกายอันทรงพละกำลังมากยิ่งกว่าเดิม มีสิบเอ็ดพระเศียรและหนึ่งพันพระกร เพื่อจะได้ทอดพระเนตรอันเปี่ยมด้วยกรุณาแลดูสรรพสัตว์ทั้งหลายได้ทั่วทุกทิศ และสามารถช่วยเหลือสรรพสัตว์เหล่านั้นได้ทันท่วงทีด้วยพระกรทั้งพันนั้น ตำนานหนึ่งเล่าว่า น้ำพระเนตรแห่งความโทมนัสของพระโลเกศวรจะไหลรวมเป็นทะเลสาบสองแห่ง แล้วพระโพธิสัตว์ตาราเขียวและพระโพธิสัตว์ตาราขาวก็ทรงถือกำเนิดจากดอกบัวอันผุดขึ้นจากทะเลสาบทั้งสองนั้น
|