ตั้งให้เราเป็นเว็บแรกที่คุณเลือก เก็บเราไว้เป็นเว็บโปรด
สมัครสมาชิก ได้มากกว่าที่คุณคิด เข้าสู่ระบบ
ดู: 3340
ตอบกลับ: 6
สั่งพิมพ์ ก่อนหน้า ถัดไป

โคตรภูญาณ

[คัดลอกลิงก์]
แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย Sornpraram เมื่อ 2013-12-2 07:23

โคตรภูญาณ




เมื่อถึงโคตรภูญาณการที่จะเข้าไปถึงพระนิพพานได้นั้นแม้จะมีแม่น้ำหรือมหาสมุทรขวางหน้าอยู่ก็ตาม ไม่มีปัญหาอันใด ไม่ต้องข้ามเรือข้ามแพหรอก ธรรมพาข้ามไปเอง นิมิตที่เห็นนั้นเป็นเพียงสมมติ มีนิมิตขึ้นให้เราเห็นเป็นห้วงมหรรณพหรือเป็นห้วงที่กั้นขวางเรา ถ้าเป็นคนไม่สะอาดคือยังมี ราคะ โทสะ โมหะ อยู่ ยังละไม่ได้หมดสิ้นแล้วมันก็เข้าไปนิพพานไม่ได้ จะถึงพระนิพานได้ต้องสะอาดที่สุด

ตัวนิพพาน เป็นภาษามคธ มาจากภาษาสันสกฤตว่า ‘นิรวาณ’ ‘นิร’ แปลว่า นำออกให้สิ้นเชิง
‘วาณะ’ แปลว่า กิเลส คือนำกิเลสออกให้หมดจากจิตโดยสิ้นเชิงแล้วก็ถึงพระนิพพาน
ถึงพระนิพพานแล้วก็มีแต่ความว่าง ไม่มีสุข...ไม่มีทุกข์...ไม่มีอะไรทั้งสิ้น

ธรรมที่จะไปถึงพระนิพพานนี้มีลักษณะคือเมื่อไปถึงโคตรภูแล้วกายจะหยุดนิ่ง ถ้ามรรคของเราเป็นอริยมรรคดังที่แสดงไว้แล้วว่า ศีลดีที่สุด สมาธิดีที่สุด มีปัญญาดีที่สุด คือ..

ศีล สมาธิและปัญญารวมตัวกันเป็นมรรคสมังคี


  คือทั้ง ๓ ฝ่าย สมดุลกันมีกำลังเท่าเทียมกันเป็นอริยมรรค เป็นทางที่จะนำไปสู่มรรคผลนิพพานได้
ที่เป็นไปไม่ได้ก็เนื่องจากว่าเป็นผู้มีศีลสกปรก ถ้าเป็นกิเลสหยาบภายนอก จะผิดศีลกายกับวาจา
ถ้ามีกิเลสหยาบอย่างกลางยังมี ราคะ โทสะ โมหะ อิจฉา ริษยา อวดดี อวดรู้ อวดเก่ง มีมานะ
หรือถือตัวถือตนอยู่ ถ้ายังมีกิเลสละเอียดเหลืออยู่ก็ยังไปไม่ได้ แม้จะสามารถปฏิบัติไปให้ถึงได้
แต่จะเข้าพระนิพพานไม่ได้ ถ้าจะเข้าได้แล้ว เรานั่งอยู่เฉยๆ อย่าน้อมจิตไปข้างหน้า
และอย่านึกไปข้างหลัง ถ้าเรานึกเราว่าอยากจะเข้าพระนิพพานนั่นไม่สำเร็จ


ตัวที่นึกว่าอยากจะเข้าอยากจะถึงพระนิพพานนั่นคือตัวภวตัณหาเป็นกิเลส


ให้นั่งอยู่เฉยๆ นานสัก ๑๐ นาที ๒๐ นาที ๓๐ นาที หากเข้าได้มันจะเข้าไปเอง หากเข้าไม่ได้คือไม่มีอะไรก็ถอยออกมา เราต้องสำรวจว่าเรา บกพร่องอันใด โดยมากจะเป็นเรื่องศีล ไม่ใช่เรื่องอื่น ถ้าศีลของเราดีแล้ว จะไม่มีปัญหาอะไร ก็กิเลสอย่างกลางที่อยู่ที่จิตคือ..


ราคะ ได้แก่ ความรัก ความใคร่ ความชอบ ในสิ่งต่างๆ ยังติดค้างจิตเราอยู่

หรือไม่ก็ โทสะ คือยังเป็นผู้ที่ฉุนเฉียววู่วาม ชอบทำอะไรตามแต่อำเภอใจ

ไม่ยอมฟังไม่ยอมปฏิบัติตามครูอาจารย์ เช่นดูหมิ่นครูบาอาจารย์

ดูหมิ่น พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ หรือพูดล้อเล่นพระธรรม

โดยพอใจธรรมะอันใดก็เอามากล่าวด้วยความคะนอง ให้แผลงไปจากความ

หมายบัญญัติไว้ อย่างนี้ก็เป็นผู้ไม่เคารพในพระธรรม การที่ไม่เคารพใน

ครูบาอาจารย์ผู้สอนธรรมก็เช่นเดียวกัน ต่อหน้าว่าเคารพลับหลังพูดนินทา

ครูบาอาจารย์ตำหนินั่นตำหนินี่ เพราะกิเลสมันสอนให้ว่า ไม่รู้จักกิเลส

อย่างนี้แล้วความไม่สะอาดแห่งจิตมีอยู่ เมื่อความไม่สะอาดแห่งจิตมีอยู่ยัง

ข้องอยู่ด้วยสิ่งหนึ่งสิ่งใด หรือยังต้องการสิ่งใดสิ่งหนึ่งแล้ว ธรรมที่จะสัมปยุต

ตรงนี้หรือธรรมที่จะรวมก็ไม่รวมให้ ถ้าหมดกิเลสแล้วธรรมก็จะรวมให้



ตามลักษณะของการรวมคือ...

จะมีปีติเกิดขึ้นเรียกว่าผรณาปีติ คือซาบซ่านตั้งแต่เท้าขึ้นมาทั้งตัวขึ้นมาสู่หัว วูบๆ แล้วรู้สึกซ่าๆ ผิวกายขึ้นมาถึงศีรษะของเรา แล้วรู้สึกว่าหนักบนหัวของเราเหมือนกับทูนอะไรไว้ตอนนี้มันขึ้นทีหนึ่ง เดี๋ยวขึ้นอีกครั้งหนึ่งอีก ครั้งที่สองยิ่งหนักมากขึ้นไปอีก หนักเหลือเกินจนในหัวของเรานี่กะโหลกศีรษะรู้สึกดังเหมือนกับกร็อบแกร็บๆๆ แทบทนไม่ไหว ขึ้นวูบที่สามอีก แล้วก็ที่จิตมันบอกว่า ตาย อ้อ...คนตายอย่างนี้เอง รู้อย่างนี้...

2#
 เจ้าของ| โพสต์ 2013-12-2 07:05 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
ที่แสดงมายังบกพร่องอีกนิดหนึ่ง คือ..

ก่อนที่จะถึงโคตรภูนี้ ขันธ์ ๕ ของเรามันเริ่มดับแล้ว รูปดับ เวทนาดับ สัญญาดับ สังขารดับ วิญญาณดับ ดับหมด ดับให้เห็น...เมื่อขึ้นวูบๆๆ ให้เรายอมว่าตาย คือไม่กลัวตาย ให้เข้าใจไว้อย่างนี้ ถ้ากลัวตายข้ามไม่ได้ เพราะไปดิบๆ ไม่ได้พระนิพพานต้องตายไปถึงจะไปได้ คือขันธ์ ๕ ดับ เมื่อเรายอมว่าเราตายเท่านั้น ไอ้ที่มันหนักอยู่เหมือนกับทูนก้อนหินใหญ่ๆ ไว้บนหัวนั่นจะเลื่อนลงมาทางต้นคอสองข้าง ลงมาหนักอยู่ที่ก้นข้างบนโปร่งสบายแล้วก็จ้าแจ้งสว่างทั่วไปหมด เราก็รู้เองว่านี่พระนิพพาน แล้วก็การที่จะเป็นพระอรหันต์ได้นี่ต้องละสังโยชน์ได้ สังโยชน์มี ๑๐ แต่ก่อนที่จะละสังโยชน์จะต้องตรวจขันธ์ ๕ ก่อนว่าดับหรือยัง เมื่อตรวจขันธ์ ๕ ว่าดับแล้ว จึงตรวจอริยสัจ ๔ หลายๆ เที่ยว


การตรวจอริยสัจ ๔ ให้ตรวจไปตามลำดับ

คือ ทุกข์ -ความไม่สบายกายไม่สบายใจที่นั่งอยู่นี่มีหรือเปล่า ไม่มี กายสบาย ไม่มีทุกข์อะไร
แล้วในตอนนี้ ใจก็สบายรู้สึกปลอดโปร่ง...สมุทัย-เหตุให้ทุกข์เกิด คือ ตัณหา ๓ ได้แก่ กามตัณหา, ภวตัณหา, วิภวตัณหา, เรามีหรือไม่ เมื่อไม่มีแล้วที่ดับนี้คืออะไร ก็เพราะเราละมันดับหมด ที่เราทำวิปัสสนาละมันดับหมด ทุกข์กายทุกข์ใจละดับหมดแล้ว ที่เราพบจ้านี้คืออะไร คือ นิโรธ คือดับได้หมดแล้ว ดับทุกข์หรือดับกิเลสได้หมดแล้วก็เป็นนิโรธ ที่เราเข้าถึงนิโรธก็คือเข้าถึงนิพพานนั่นเอง นั่นมาจากอะไร มาจากเราเจริญ มรรค จึงทำให้เรารักษาศีลได้ดี เราทำสมาธิทำฌานได้ดี แล้วเรามีปัญญาละกิเลสได้ทั้งหมด เมื่อตรวจอริยสัจ ๔ แล้วเช่นนี้


ก็ตรวจสังโยชน์ ๑๐ ดูว่าเราละอะไรได้อีก


๑. ละสักกายทิฏฐิ...คือไม่ติดในตัวในตนแล้ว ไม่เสียดายแล้ว ซึ่งตัวตน ไม่เอาแล้ว

๒. ละวิจิกิจฉา...ไม่มีความสงสัยในศีลในธรรมใดๆ ทั้งสิ้น

๓. ละสีลัพพตปรามาส...เราก็ไม่ได้เล่นลูบคลำอยู่กับศีลแล้ว ไม่ใช่วันหนึ่งต่อศีล ๒ หน วันหนึ่งแสดงอาบัติ ๓ หน
ไม่ใช่อย่างนั้น ไม่มีแล้ว ไม่เป็นสีลัพพตะเมื่อนับถือพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์แล้วสิ่งอื่นเลิกไหว้กัน เลิกนับถือ

๔. ละราคะ...ละได้ไหม ราคะละได้หมด ไม่มีความรักความใคร่ใดๆ ทั้งสิ้น

๕. ละโทสะ...ตัวที่ ๕ ละได้ไหม ถ้าละได้ ๓ ตัวต้นคือ สักกายทิฏฐิ วิจิกิจฉา สีลัพพตปรามาส ได้ พระโสดา
ถ้าละได้ ๓ ตัวต้นนี้แล้วละราคะ ละโทสะได้อีกครึ่งหนึ่งก็ได้ พระสกทาคามี ถ้าละได้ ๕ ตัว คือ ละ ๓ ตัวต้น
และละราคะ ละโทสะ ได้เด็ดขาดก็ได้ พระอนาคามี ทีนี้ละสังโยชน์เบื้องปลายได้อีก ๕ ตัว ได้ไหม? ซึ่งมี


๖. ละรูปราคะ...คือรูปต่างๆ ที่สวยงามหรือไม่สวยตลอดถึงรูปฌานก็ต้องละได้ด้วย


๗. ละอรูปราคะ...คือสิ่งที่ไม่มีรูป เช่น กลิ่นนี่ไม่มีรูป เสียงนี่ไม่มีรูปเราละได้ไหม เสียงดีเสียงชั่วก็ละได้ทั้งสิ้น
กลิ่นดีกลิ่นชั่วละได้ทั้งสิ้น แล้วก็ละอรูปฌานได้ด้วย...ผู้ที่ทำอรูปฌานเป็น


๘. ละมานะ...มานะคือความถือตัวถือตน ถือชาติว่าเราเกิดในตระกูลผู้ดีไม่ใช่ตระกูลต่ำ เราไม่ถือว่าตระกูลไหน
เป็นมนุษย์เหมือนกันหมด นี่เป็นตัวมานะ ถือความรู้ว่ามีความรู้มาก มีความรู้สูงกว่าผู้อื่นนี่ก็เหมือนกัน
ถือชั้นวรรณะว่าเป็นกษัตริย์ ว่าเป็นแพศย์ ว่าเป็นศูทร อะไรก็ตามนี่ก็เหมือนกัน ถ้าไม่มียึดถืออะไรแล้วก็หมดตัวมานะ


๙. ละอุทธัจจะ...คือความฟุ้งซ่าน ตัวที่ ๙ มักฟุ้งซ่าน การฟุ้งซาน เช่น อยากพูด อยากสอน อยากทำอะไร
ไม่หยุดไม่นิ่ง เป็นคนหยุดนิ่งไม่ได้ พบใครก็อยากสอน ชอบตั้งตนเป็นศาสดา


เมื่อละได้ ๙ ตัวนี้ ตัวที่ ๑๐ คือ อวิชชา เป็นตัวไม่รู้ เมื่อละได้ ๙ ตัวมันรู้หมด ตัวอวิชชาไม่ต้องละอะไร มันดับตัวเอง


สังโยชน์มันจะขึ้นทั้ง ๑๐ ตัว เมื่อขึ้นทั้ง ๑๐ ตัวนี้แล้ว


ความเป็นพระอรหันต์ก็ได้กับผู้นั้น แต่จะเป็นสมุจเฉทหรือไม่

ต้องใช้เวลารักษาธรรมนั้นอยู่ให้ได้ ๔๙ วัน คือจิตไม่กลับไปกลับมา
จิตผ่องใสสะอาดอยู่เช่นนั้นตลอด ๔๙ วัน


เช่นเดียวกับองค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้าที่เมื่อพระองค์ตรัสรู้แล้วเป็นพระอรหันต์แล้ว
พระองค์ได้เสวยวิมุตติสุขคือเสวยความหลุดพ้นของพระองค์ที่โคนต้นโพธิ์ ๗ วัน
ที่โคนหว้า โคนไทร โคนจิก และอื่นๆ อีก พักอยู่ที่ละ ๗ วัน รวม ๗ แห่ง ๔๙ วัน

จิตไม่คืนคลายแล้ว ละสังโยชน์นั้นคงอยู่ตามเดิม ข้างนอกละได้เข้าไปข้างในก็ยังละได้
เพราะสัจธรรมเป็นของจริง นี่คือความหมดกิเลสอันสิ้นเชิง ..


ผู้ใดถึงธรรมละสังโยชน์ ๑๐ ได้แล้ว การมาเวียนว่ายตายเกิดไม่มีอีก
ถ้าเราได้ในชาตินี้ชาติต่อไปเราก็ไม่มีอีก เรียกว่าถึงพระนิพพาน

3#
 เจ้าของ| โพสต์ 2013-12-2 07:17 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
ก็มีเพียงเท่านี้ธรรมะ แต่นั่นแหละการที่แสดงธรรมเพียงชั่วโมงหนึ่งจะให้ละเอียดถี่ถ้วนทุกอย่างนั้นมันไม่พอกับเวลา ธรรมทั้งหมดมีความละเอียดมีความซับซ้อนมาก ในขณะที่ปฏิบัติอยู่มีนิมิตต่างๆ ที่ไม่ได้แสดงไว้ในนี้มาก


นิมิตที่บอกให้ก็มี...นิมิตเปรียบเทียบก็มี

เป็นปริศนาก็มี ต้องตีให้แตก


ที่อาจารย์เคยพบมา เมื่ออยู่ระหว่างสัมมาสมาธิมรรคกับอเนญชธรรมว่า...

ได้ขึ้นหัวรถจักรไอน้ำ แล้วก็ขับรถจักรนั้นไป ไม่มีใคร ตัวคนเดียว แล้วก็ไอ้รถจักรไอน้ำก็ไม่เคยขับ แต่ก็ขับไปได้ รู้วิธีเปิดไอว่าอย่างไร อย่างไรมันก็มีฟืนมีไฟของมันอยู่พร้อมแล้ว ขับพอขยับคันโยกรถก็เคลื่อนที่ เราโยกให้มากเข้าคันโยกตรงนั้นก็ต่ำเข้า รถไฟก็วิ่งเต็มที่ พอวิ่งเต็มที่ก็เห็นที่สะพานช่องน้ำขาดอยู่ เมื่อขาดอยู่จิตก็นึกว่าขับให้เร็วเข้ามันก็กระโจนข้ามพ้นไปได้ รถไฟก็ข้ามพ้นไปจริงๆ ไปพบทางเหมือนกับทางตันพบภูเขาขวางอยู่ข้างหน้า แต่เห็นรางรถไฟมันตรงภูเขาเข้าไป ภูเขาก็ภูเขาขับตรงไปที่ภูเขานั่นแหละ ตอนสุดท้ายรถไฟมันก็ผ่านทะลุภูเขาออกไปฝั่งโน้น หมดสิ้นทาง


ภูเขาคือฝั่งกั้นพระนิพพานนั่นเอง นี่นิมิตที่เห็น แล้วเมื่อได้ธรรมขั้นนี้ นิมิตอีกอย่างหนึ่งคือ...เห็นเทียนไข ๔ เล่ม ตั้งอยู่ที่ชั้นตามลำดับขึ้นไป ตั้งแต่ชั้นต่ำขึ้นไป ๔ ชั้น เล่มที่ ๔ อยู่ชั้นสูง เห็นเทียนเล่มที่ ๑ ลุกรุ่งโรจน์อยู่แล้วก็ดับไปเหลือแต่ก้น เล่มที่ ๒ ก็ดับไป เล่มที่ ๓ ก็ดับไป เล่มที่ ๔ ยังเหลืออยู่ครึ่งเล่ม พอดูๆไปก็ดับไป ดับหมดทั้ง ๔ เล่ม เมื่อเทียนดับหมดทั้ง ๔ เล่ม เราก็ผ่านธรรมทั้ง ๔ ขั้นได้ เมื่อผ่านได้แล้วก่อนที่เราจะออกจากนั่งกรรมฐานก็จะเห็นเทียนชัย

เทียนชัยนี้จะเกิดขึ้นเมื่อเราละสังโยชน์ได้แล้ว ๗ วัน เห็นเทียนชัยเล่มโตมากเกือบเท่าแขนตั้งอยู่ตรงหน้า ยาวประมาณแขนหนึ่ง เห็นมีไส้แต่ยังไม่จุด พอเราเพ่งไปถึงไส้ประเดี๋ยวก็เกิดไฟจุดขึ้นเองที่ไส้เทียน แล้วก็ลุกจ้า แจ้งโร่ แล้วก็ดับพรึบลงเดี๋ยวนั้น ตัวรู้เราก็รู้ทันทีว่าที่เทียนชัยลุกโพลงขึ้นแล้วดับไปนี้...การปฏิบัติธรรมทั้งหลาย ย่อมเป็นการจบสิ้นไปแค่นี้เอง แล้วก็เมื่อถอยออกมาก็ได้ยินเสียงดังก้องกังวานทีเดียวว่า

“ธรรมทั้งหมดนี้ไม่มีใครเข้าได้เข้าถึงทั้งนั้นแหละ”

เป็นอย่างนี้เสียงนั้นคือใคร ไม่ใช่เทวดา เป็นเสียงภายในของธรรมนั่นเอง

เสียงของเรานั่นเอง เสียงของความรู้สึกของเรานั่นเอง ที่เรียกว่า

‘ปัจจัตตัง’ ก็คือตัวเรารู้ด้วยตนเอง เราปฏิบัติธรรมอะไรได้เราก็รู้ด้วยตนเอง

ไม่ใช่ไปถามผู้อื่นแล้วเขาถามว่าอย่างนั้นๆ แล้วก็เรียกว่าเรารู้...อย่างนั้น

เรียกว่ายังไม่รู้ ใช่ว่าผู้ที่ถามเขารู้ธรรมดี นอกจากจะถามพระอรหันต์

ท่านต้องตอบได้แน่ ถ้ายังต้องถามเขาอยู่ก็หมายความว่ายังไม่รู้


ให้เราทุกๆ คนบรรดาศิษย์ทั้งหลาย ทั้งเป็นภิกษุ สามเณร อุบาสก อุบาสิกา พึงตั้งจิต ตั้งใจในการปฏิบัติตามคำสั่งสอนของพระองค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้าด้วยความจริงใจ...


อย่าคิดประทุษร้ายพระศาสนาด้วยเหตุหนึ่งเหตุใด การทำความยุ่งยากใดๆ

ให้กับหมู่คณะหรือกับใครๆ ก็ตามย่อมเป็นการทำลายซึ่งพระศาสนาทั้งสิ้น

ยิ่งมาทำความกระทบกระเทือนใจให้กับครูบาอาจารย์ด้วยแล้วยิ่งหนักมาก

เพราะเจตนาของครูบาอาจารย์ที่สอนพวกเรานี้สอนเพื่อความหลุดพ้น

ไม่ได้สอนครึ่งๆ กลางๆ ด้วยจิตใจที่มีศรัทธาแท้จึงมุ่งหวังที่จะสอนศิษย์

ทุกคนให้เป็นผู้หลุดพ้นให้เป็นผู้หมดจากกิเลสเครื่องเศร้าหมองทั้งหลาย

ไม่ใช่สอนครึ่งๆ กลางๆ หรือ งูๆ ปลาๆ แต่ว่า...

ศิษย์บางคนที่ยังมีพยศอยู่ ยังมีทิฏฐิมานะอยู่

พึงทำลายทิฏฐิมานะของตนเสียให้สิ้น

อย่าคิดหาเรื่องที่เป็นอัปมงคล อย่าคิดสร้างเรื่อง

ที่เป็นความเดือดร้อนแก่ผู้หนึ่งผู้ใดและตนเอง

อย่าทำความกระทบกระเทือนให้แก่ผู้ใด

ให้เราเป็นผู้ที่มีความสันโดษมักน้อยมีความพอใจ

ในสิ่งที่มีอยู่ที่ได้อยู่ อย่าทะเยอทะยานในสิ่งที่ไม่มีไม่ได้

แล้วก็อย่าคลุกคลีกันด้วยหมู่คณะ ต่างองค์ต่างคนต่างอยู่

ต่างปฏิบัติตามกิจของตนที่เคยปฏิบัติอย่าเป็นผู้เกียจคร้าน

เห็นแก่หลับแก่นอน ตรงกับธรรมะที่ว่า ‘โภชเนมัตตัญญญุตา’

รู้จักกินอาหารแต่พอสมควรไม่มากไม่น้อยจนเกินไป

‘ชาคริยานุโยค’ หมั่นประกอบความเพียร

ไม่เห็นแก่หลับแก่นอนมากนัก นี่คือทางที่ไปพระนิพพาน

นี่เป็นจรณะ ๑๕ อยู่ในจรณะ ๑๕

4#
 เจ้าของ| โพสต์ 2013-12-2 07:20 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
โดยมากพอเจ้าเกลอกิเลสขึ้นมาแล้วก็ตามหลังเจ้ากิเลสต้อยๆ ทีเดียว ขาดสติ ขาดความสำนึก มันจึงทำให้ความยุ่งยากในหมู่คณะเกิดขึ้น ทำให้ความแตกร้าวในหมู่คณะมีจุดรอยร้าวขึ้น เป็นผู้ที่ไม่รักสำนัก ไม่รักธรรมะ ไม่เคารพพระรัตนตรัย เป็นการทำลายพระศาสนาทั้งสิ้น ฉะนั้นในการบวชการเรียนจะมาบวชสักเท่าใดก็ตาม ให้มุ่งกอบโกยเอาบุญนำติดตนกลับไปบ้าน อย่าได้โกยเอาบาปไปเป็นอันขาด เพื่อพี่น้องพ่อแม่จะได้มีความภูมิใจในความเรียบร้อยของเรา


การเข้ามาอยู่ที่วัดมาบวชเรียน ก็คือการเข้ามหาวิทยาลัยเพื่อ

ขัดเกลาความหยาบช้าเลวทรามของเรา

ไม่ใช่เข้ามาเพื่อสะสมเอาความเลวกลับไปให้มากขึ้น


ถึงอุบาสกอุบาสิกาก็เช่นกัน การเข้ามารับธรรมปฏิบัติธรรมแล้ว

อย่าได้ไปกระทำความเดือดเนื้อร้อนใจให้กับผู้หนึ่งผู้ใด

จงรู้จักรักหมู่รักคณะให้สมานสามัคคีมีความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่

ช่วยเหลือซึ่งกันและกันในกิจการต่างๆ ที่สามารถจะช่วยได้

อย่าไปข่มเหงให้เขาเชื่อบังคับให้เขาเชื่อ แล้วอีกอย่างหนึ่ง


ธรรมะหรือตัวอาจารย์เองก็เช่นเดียวกัน

ขอให้ศิษย์ทุกคนอย่านำไปยกย่องให้มันเลยเถิด

ให้พูดแต่ตามความเป็นจริงที่พบที่เห็นที่รู้

เคยได้ยินเข้าหูบ่อยๆว่าบางคนเอาไปพูดเลอเลิศเกินไป

  ให้เราพูดตามความเป็นจริง





หากใครไม่เชื่อในธรรมะก็อย่าไปบังคับเขา

คนเราสร้างบุญสร้างบาปมาไม่เหมือนกัน หรือที่เรียกว่ามีบุญวาสนาไม่เท่ากัน คนที่มีวาสนาก็ฟังธรรมได้เข้าใจ เกรงกลัวบาปละอายต่อบาป คนที่มีกุศลน้อย บุญน้อยก็คิดจะลองดีต่อบาปคิดจะทำบาป และก็ลงมือทำบาป นี่เป็นเช่นนี้ ถ้ามิฉะนั้นกฎแห่งการเวียนว่ายตายเกิดก็ไม่มีแก่เขา การที่เขากระทำเช่นนั้นก็เพื่อจะต้องเวียนว่ายตายเกิดอยู่ในวัฏสงสารไม่มีจบสิ้น โดยที่ไม่รู้จักธรรมที่ตัดกระแส


ผู้ที่ประมาทโดยมากมักมีความคิดเห็นว่า นรกไม่มีจริงสวรรค์ไม่มีจริง เป็นเช่นนี้เพราะอะไรเพราะความมืดมัวของตนมีโมหะอวิชชาเข้าครอบงำ ดวงตาแห่งจิตไม่สว่าง แล้วเมื่อมาพบธรรมที่ถูกต้องแท้จริง ก็ยังไม่พยายามที่จะฝึกฝนอบรมเตือนตนให้จิตใจสว่างขึ้นอีก จึงเป็นบุรุษผู้อาภัพหรือเป็นบุรุษที่มืดบอด เกิดมามืดแล้วก็ยังจะพามืดไปอีก ไม่เป็นมนุษย์ที่แท้จริง มนุษย์ที่แท้จริงนั้นต้องมีปัญญา ให้เราคิดว่าเราทุกคนที่เกิดมานี้โดยมากมืดมา ถ้าไม่มืดมาไม่อยู่ที่ยากจนที่ลำบากหรอก

ฉะนั้น..

ได้มาพบพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าแล้ว ได้มาพบพระสงฆ์ผู้ทำการสั่งสอนธรรมอันแท้จริงแล้ว เราควรจะพาความสว่างไป ควรจะทรมานทิฏฐิมานะของตนเสีย ให้ดับให้หมดให้สิ้น อย่าเพาะอย่าเลี้ยงเอาไว้ทำลายตัวเรา อย่าให้ชักนำเราลงไปลงนรก ลงไปสู่อบายภูมิในภูมิต่างๆ เช่น สัตว์เดรัจฉาน เปรต อสุรกาย สัตว์นรก ซึ่งมีอยู่ ๔ ภูมิ ถ้าเราไม่กลัวเกรงต่อบาปกรรมแล้ว อาจารย์ก็คิดว่าไม่จำเป็นจะต้องสอนอะไรอีก เมื่อใครอยากจะลงก็ลงไปเถอะนรก แต่อย่ามาทำความเดือดร้อนให้กับวัดวาอารามในหมู่คณะของเราก็แล้วกัน


อาจารย์ขออนุโมทนาสาธุต่อทุกๆ คนที่มีเจตนาดี รักษาตัวดี ในการที่จะกระทำความดี อาจารย์ไม่พึงประสงค์ผู้ที่คิดชั่วและกระทำความชั่วอยู่เป็นเนืองนิตย์โดยไม่ยอมละนิสัย รู้สึกสลดใจเศร้าใจแทนเพราะบอกแล้วว่านรกนั้นประตูมันไม่มีเวลาลง แต่เวลาจะขึ้นจากนรกมันมีประตูล้อมรอบด้วยเหล็ก ออกไม่ได้ แล้วนรกนี้ไม่มีหลังคา จำไว้ไม่มีหลังคา มีแต่กำแพงล้อมรอบ มีแต่ไฟ ข้างในขุมนรกอะไรๆ ก็เป็นไฟทั้งสิ้น ใครอยากจะลงไปก็ลงไป บอกให้อย่างนี้เพราะเห็นมาอย่างนี้ นี่เป็นสัจธรรม


ฉะนั้น เมื่อใครจะลุแก่อำนาจจิตใจอะไรๆ ลงไปแล้ว พึงนึกถึงคำสั่งสอนของอาจารย์ว่า วันนั้นคืนนั้นอาจารย์ได้ว่าพร่ำสอนเรื่องนรก...เรื่องนิพพาน...เรื่องสวรรค์ นี่พึงจำเอาไว้ อะไรเป็นความดีจงทำสิ่งนั้น อะไรเป็นความชั่วจงละสิ่งนั้น อะไรพูดชั่วจงละสิ่งนั้น สิ่งที่พูดดีจงพูดสิ่งนั้น อย่าเอาดิรัจฉานกถา คือคำพูดที่ไม่เป็นเรื่องราวมาพูดมาคุยกัน ไม่เป็นสาระไม่เป็นประโยชน์ ทำให้เกิดความคึกคะนองขึ้นมา จิตคะนอง ปากคะนอง กายคะนอง เดี๋ยวก็ทำผิดอย่างนั้นอย่างนี้คือศีลนั่นเอง


เราพึงสำรวมระมัดระวังมีปาติโมกข์สังวรคือรักษาศีล ๒๒๗ ให้ดี

มีอินทรีย์สังวรด้วยคือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ พึงสังวรให้มาก

แล้วเราก็จะเป็นผู้สงบได้เอง ผู้ใดไม่สังวรไม่คอยระมัดระวัง

ไม่ละ ปล่อยใจปล่อยกายให้เลยเถิดไปตามอำนาจของกิเลส

กิเลสมันก็เพาะมากขึ้นเรื่อย มันก็ชั่วขึ้นเรื่อย มันก็กระด้างขึ้นเรื่อย

มันอยากลองดีเรื่อย



ให้คิดว่าครั้งสมัยสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า

พระเทวทัตเป็นถึงบุตรกษัตริย์

เป็นพี่ชายของพระชายาพิมพาของพระสิทธัตถะ



แต่ทำไมยังลงนรก?


ก็เพราะความเย่อหยิ่ง ความอวดดี

ความมีทิฏฐิมานะนั่นเอง...




พระอาจารย์สรวง ปริสุทฺโธ วัดถ้ำขวัญเมือง ต.นาโพธิ์ อ.สวี จ.ชุมพร ๑๕ สิงหาคม ๒๕๑๘


ที่มา..http://www.sil5.net/index.asp?co ... D2%B3+&keyword=
  ขอบคุณครับ
6#
 เจ้าของ| โพสต์ 2019-6-13 05:46 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
ขออภัย! คุณไม่ได้รับสิทธิ์ในการดำเนินการในส่วนนี้ กรุณาเลือกอย่างใดอย่างหนึ่ง ลงชื่อเข้าใช้ | ลงทะเบียน

รายละเอียดเครดิต

ตอบกระทู้ ขึ้นไปด้านบน ไปที่หน้ารายการกระทู้