ตั้งให้เราเป็นเว็บแรกที่คุณเลือก เก็บเราไว้เป็นเว็บโปรด
สมัครสมาชิก ได้มากกว่าที่คุณคิด เข้าสู่ระบบ
ดู: 1591
ตอบกลับ: 2
สั่งพิมพ์ ก่อนหน้า ถัดไป

ญาณ ๑๖

[คัดลอกลิงก์]
เป็นการรวบรวมลำดับญาณขึ้นในภายหลังโดยพระอรรถกถาจารย์ เพื่อเป็นการจำแนกให้เห็นลำดับญาณหรือภูมิรู้ภูมิธรรมทางปัญญาที่เกิดขึ้น,   ในญาณทั้ง๑๖นี้ มีเพียงมรรคญาณ และผลญาณเท่านั้นที่เป็นญาณขั้นโลกุตระ  คือ เหนือหรือพ้นจากทางโลก จึงหลุดพ้นหรือจางคลายจากทุกข์ตามมรรค,ตามผลนั้นๆ    ส่วนที่เหลือยังจัดเป็นขั้นโลกียะทั้งสิ้น,  นักปฏิบัติไม่ต้องปฏิบัติตามเป็นลำดับขั้น   เป็นเพียงแค่การแสดงภูมิญาณในวิปัสสนาญาณต่างๆที่เกิดขึ้นเพียงเท่านั้น  เพื่อให้เป็นเพียงเครื่องรู้  เครื่องระลึก เครื่องเตือนสติ ในการปฏิบัติว่าดำเนินไปอย่างถูกต้องแนวทางการวิปัสสนา กล่าวคือ เพื่อพิจารณาการปฏิบัติว่าเป็นไปเพื่อส่งเสริมหรือสั่งสมให้เกิดวิปัสสนาญาณต่างๆเหล่านี้ หรือไม่,   อันญาณต่างๆเหล่านี้ล้วนจักเกิดขึ้นเองตามเหตุปัจจัยจากความรู้เข้าใจอันแจ่มแจ้งและการปฏิบัติเท่านั้น   จึงยังให้เกิดญาณ ที่หมายถึง การรู้เข้าใจอย่างแจ่มแจ้งตามความเป็นจริงนั้นๆ ด้วยปัญญาจักขุ ที่หมายถึงปัญญานั่นเอง  กล่าวคือ ไม่เห็นเป็นไปตามความเชื่อหรือความอยากความยึดของตนเอง แต่เห็นเป็นไปหรือเข้าใจอย่างถูกต้องตามความเป็นจริงของสิ่ง(ธรรม)นั้นๆด้วยปัญญา
        ส่วนวิปัสสนาญาณนั้น  เป็นการจำแนกแตกธรรม ที่จัดแสดงเน้นว่าญาณใดในโสฬสญาณทั้ง ๑๖ ข้างต้น ที่จัดเป็นการปฏิบัติวิปัสสนาหรือการปฏิบัติหรือวิธีการเรืองปัญญาในการดับทุกข์   ซึ่งได้จำแนกออกเป็น ๙  กล่าวคือ ข้อ ๔- ๑๒ ในโสฬสญาณนั่นเอง
โสฬสญาณ  หรือญาณ ๑๖
ญาณ  ๑๖  ญาณที่เกิดแก่ผู้บำเพ็ญวิปัสสนาจนถึงจุดหมาย   คือมรรคผลนิพพาน ๑๖ อย่าง คือ
       ๑.  
นามรูปปริจเฉทญาณ ญาณกำหนดแยกนามรูป คือปัญญากำหนดรู้เข้าใจในนามและรูป
       ๒.  
(นามรูป) ปัจจัยปริคคหญาณ ญาณกำหนดจับปัจจัยแห่งนามรูป คือปัญญากำหนดรู้ทั้งในนามและรูปว่าล้วนเกิดแต่เหตุปัจจัย
       ๓.  
สัมมสนญาณ ญาณพิจารณานามรูปโดยไตรลักษณ์
       ๔.  - ๑๒.
ตรงกับวิปัสสนาญาณ ๙
       ๑๓.  
โคตรภูญาณ ญาณครอบโคตรคือหัวต่อที่ข้ามพ้นภาวะปุถุชน
       ๑๔.  
มรรคญาณ(มัคคญาณ) ญาณในอริยมรรค  เช่น โสดาปัตติมรรค
       ๑๕.
ผลญาณ ญาณในอริยผล เช่น โสดาปัตติผล เป็นพระโสดาบัน
       ๑๖.
ปัจจเวกขณญาณ  ญาณที่พิจารณาทบทวน
       ญาณ  ๑๖ นี้เรียกเลียนคำบาลีว่า โสฬสญาณ หรือ เรียกกึ่งไทยว่า ญาณโสฬส

วิปัสสนาญาณ  ญาณที่นับเข้าในวิปัสสนาหรือญาณที่จัดเป็นวิปัสสนามี  ๙ อย่าง คือ
       ๑.
อุทยัพพยานุปัสสนาญาณ  ญาณตามเห็นความเกิดและความดับแห่งนามรูป
       ๒.  
ภังคานุปัสสนาญาณ ญาณตามเห็นจำเพาะความดับเด่นขึ้นมา
       ๓.  
ภยตูปัฏฐานญาณ ญาณอันมองเห็นสังขารปรากฏเป็นของน่ากลัว
       ๔.  
อาทีนวานุปัสสนาญาณ ญาณคำนึงเห็นโทษ
       ๕.
นิพพิทานุปัสสนาญาณ ญาณคำนึงเห็นด้วยความหน่าย
       ๖.
มุจจิตุกัมยตาญาณ  ญาณหยั่งรู้อันให้ใคร่จะพ้นไปเสีย
       ๗.  
ปฏิสังขานุปัสสนาญาณ ญาณอันพิจารณาทบทวนเพื่อจะหาทาง
       ๘.  
สังขารุเปกขาญาณ ญาณอันเป็นไปโดยความเป็นกลางต่อสังขาร
       ๙.  
สัจจานุโลมิกญาณ ญาณเป็นไปโดยควรแก่การหยั่งรู้อริยสัจจ์
2#
 เจ้าของ| โพสต์ 2015-3-27 20:39 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
ดังมีรายละเอียดพอสังเขปดังนี้
        ๑.  นามรูปปริจเฉทญาณ หรือ สังขารปริเฉท  ญาณหรือความรู้ความเข้าใจในรูปและนาม คือแยกออกด้วยความเข้าใจว่าสิ่งใดเป็นรูปธรรม อันสัมผัสได้ด้วยอายตนะทั้ง๕ อันมี ตา หู จมูก ลิ้น  กาย    สิ่งใดเป็นนามธรรม  อันเพียงสัมผัสได้ด้วยใจอย่างถูกต้อง    เหล่านี้เป็นความเข้าใจขั้นพื้นฐานในการพิจารณาธรรมให้เข้าใจยิ่งๆขึ้นไป  (เป็นการเห็นด้วยปัญญาว่า สักแต่ว่า นาม กับ รูป ไม่มีตัวตนแท้จริง)  -  เรียกง่ายๆว่าเห็น  นาม รูป
        ๒.  นามรูปปัจจัยปริคคหญาณ หรือ สัมมาทัสสนะ  ญาณที่เข้าใจในเหตุปัจจัย คือรู้เข้าใจว่านามและรูปว่าล้วนเกิดแต่เหตุปัจจัย  พระอรรถกถาจารย์ในภายหลังๆเรียกว่าเป็น "จูฬโสดาบัน" คือพระโสดาบันน้อย  ที่ถือว่าเป็นผู้มีคติหรือความก้าวหน้าอย่างแน่นอนในพระศาสนา (เห็นด้วยปัญญาว่า  สิ่งทั้งหลายสักแต่ว่าเกิดแต่เหตุปัจจัย)  -  เห็นความเป็นเหตุเป็นปัจจัยกันจึงเกิดขึ้น
        ๓.  สัมมสนญาณ  ญาณพิจารณา  พิจารณาเห็นการเกิด  การตั้งอยู่อย่างแปรปรวน การดับไป คือเห็นด้วยปัญญา(ปัญญาจักขุ)ใน ความไม่เที่ยง,แปรปรวนและดับไปทั้งหลายตามแนวทางพระไตรลักษณ์นั่นเอง  (เห็นด้วยปัญญาว่า สิ่งทั้งหลายสักแต่ว่า ล้วนไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตาไม่เป็นแก่นแกนแท้จริง)   -  เห็นพระไตรลักษณ์
        ๔.  อุทยัพพยญาณ (อุทยัพพยานุปัสสนาญาณ - เรียกแบบ วิปัสสนาญาณ) ญาณอันเห็นการเกิดดับของขันธ์  ๕ หรือเบญจขันธ์ หรือการเห็นการเกิดดับของรูปและนามนั่นเอง   คือพิจารณาจนเห็นตามความเป็นจริงในการการเกิดขึ้นและดับไปของขันธ์ ๕ จนเห็นได้ด้วยปัญญา(ปัญญาจักขุ)ในปัจจุบันจิตหรือปัจจุบันธรรมคือในขณะที่เกิดและค่อยๆดับสลายลงไป (เห็นและเข้าใจสภาวะธรรมดังกล่าวในแง่ปรมัตถ์ เช่นเห็นสังขารขันธ์ความคิดที่ผุดว่าเพราะสังขารนี้จึงเป็นทุกข์  ไม่ใช่รายละเอียดปลีกย่อยของความคิดนั้นๆ   และไม่ปรุงแต่งต่อในสิ่งที่เห็นนั้นๆด้วยถ้อยคิดใดๆ  ดังการปฏิบัติในสติปัฏฐาน  ๔ เป็นต้น)  -  เห็นการเกิดดับของรูปและนาม หรือกระบวนธรรมของขันธ์๕  ทางปัญญา
        ๕.  ภังคานุปัสสนาญาณ (ภังคานุปัสสนาญาณ - เรียกแบบ วิปัสสนาญาณ)  ญาณอันเห็นการแตกดับ เมื่อเห็นการเกิดดับบ่อยๆ ถี่ขึ้น ชัดเจนขึ้น ก็จักเริ่มคำนึงเด่นชัดขึ้นด้วยปัญญา  ในความดับไป มองเห็นเด่นชัดขึ้นที่จิตที่หมายถึงปัญญานั่นเอง ถึงการต้องดับสลายไปของนาม  รูป  หรือของขันธ์ต่างๆ   การดับไปจะเห็นได้ชัด ถ้าอุเบกขา ที่หมายถึง  การเป็นกลางวางทีเฉย รู้สึกอย่างไรไม่เป็นไร แต่ไม่เอนเอียงแทรกแซงด้วยถ้อยคิดปรุงแต่งใดๆ   ก็จะเห็นการดับไปด้วยตนเองชัดแจ้งเป็นลำดับ โดยปัจจัตตัง -   เห็นการดับ
        ๖.  ภยญาณ (ภยตูปัฏฐานญาณ  - เรียกแบบ วิปัสสนาญาณ)  ญาณอันมองเห็นสังขารหรือนามรูปว่า  เป็นของที่มีภัย  เพราะความที่ไปเห็นด้วยปัญญาว่า สังขารหรือนามรูปต่างล้วนไม่เที่ยง ต้องแปรปรวน  แตกสลาย ดับไป ไม่มีแก่นแกนตัวตนอย่างแท้จริง  ถ้าไปยึดไปอยากย่อมก่อทุกข์โทษภัย   เวียนว่ายตายเกิดในสังสารวัฎต่อไปไม่มีที่สิ้นสุด  -  เห็นสังขารเป็นของมีภัย  ต้องแตกดับเป็นธรรมดา  จึงคลายความอยากความยึดในสังขารต่างๆ
        ๗.  อาทีนวญาณ (อาทีนวานุปัสสนาญาณ - เรียกแบบ วิปัสสนาญาณ)   ญาณคำนึงเห็นโทษ เมื่อเห็นสิ่งต่างล้วนต้องดับแตกสลายไปล้วนสิ้น จึงคำนึงเห็นโทษ  ที่จักเกิดขึ้น  ว่าจักเกิดทุกข์โทษภัยขึ้น จากการแตกสลายดับไปของสังขารหรือนามรูปต่างๆถ้าไปอยากหรือยึดไว้    เกิดสังสารวัฏการเวียนว่ายตายเกิดในภพในชาติอันเป็นทุกข์อันเป็นโทษ   -  เห็นโทษ
        ๘.  นิพพิทาญาณ (นิพพิทานุปัสสนาญาณ - เรียกแบบ วิปัสสนาญาณ)  ญาณอันคำนึงถึงด้วยความหน่าย  จากการไปรู้ตามความเป็นจริงของสังขารหรือขันธ์๕ ว่าล้วนไม่เที่ยง แปรปรวน และแตกดับไปเป็นที่สุด ไม่สามารถควบคุมบังคับได้ตามปรารถนาเป็นที่สุด   จึงเกิดความหน่ายต่อสังขารต่างๆเพราะปัญญาที่ไปรู้ตามความเป็นจริงอย่างที่สุดนี่เอง   -  ความหน่ายคลายความยึดความอยากหรือเหล่าตัณหาทั้งปวงจากการไปรู้ความจริง
3#
 เจ้าของ| โพสต์ 2015-3-27 20:39 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
๙.  มุญจิตุกัมยตาญาณ (มุจจิตุกัมยตาญาณ - เรียกแบบ วิปัสสนาญาณ)   ญาณหยั่งรู้ มีความหยั่งรู้ว่าต้องการพ้นไปเสียจากสังขารชนิดก่อทุกข์   คือ ปรารถนาที่จะพ้นไปจากสังขารหรือขันธ์๕ที่ก่อให้เกิดทุกข์ (หมายถึงอุปาทานขันธ์๕)   -  ปรารถนาพ้นไปจากทุกข์
        ๑๐.  ปฏิสังขาญาณ (ปฏิสังขานุปัสสนาญาณ - เรียกแบบ วิปัสสนาญาณ)  ญาณพิจารณาทบทวนเพื่อให้เห็นทางหลุดพ้นไปเสียจากภัยเหล่านั้น   ดังเช่น โยนิโสมนสิการหรือปัญญาหยิบยกสังขารหรือขันธ์๕(นามรูป)ขึ้นมาพิจารณาโดยพระไตรลักษณ์  เพื่อหาอุบายที่จะปลดเปลื้องหรือปล่อยวางในสังขารหรือขันธ์๕เหล่านี้    เพื่อให้หลุดพ้นจากภัยเหล่านั้น  -  ทบทวนพิจารณา
        ๑๑.  สังขารุเปกขาญาณ (สังขารุเปกขาญาณ - เรียกแบบ วิปัสสนาญาณ)  ญาณอันเป็นไปโดยความเป็นกลาง(อุเบกขา)ต่อสังขาร  เมื่อรู้เข้าใจตามความเป็นจริงของสิ่งทั้งหลายทั้งปวงด้วยปัญญา  เช่น สังขารอย่างปรมัตถ์แล้ว ก็วางใจเป็นกลางต่อสังขาร  และกายสังขารได้  ไม่ยินดี ไม่ยินร้าย ไม่ติดใจในสังขารทั้งหลาย  จึงโน้มน้อมที่จะมุ่งสู่ความหลุดพ้นหรือพระนิพพาน   -  วางใจเป็นกลางต่อสังขารทั้งปวง
        ๑๒.  อนุโลมญาณ (สัจจานุโลมิกญาณ - เรียกแบบ วิปัสสนาญาณ)  ญาณอันเป็นไปโดยการหยั่งรู้อริยสัจ เมื่อวางใจเป็นกลางต่อสังขารทั้งหลายแล้ว ญาณอันคล้อยตามอริยสัจย่อมเกิดขึ้นในลำดับถัดไป   เป็นขั้นสุดท้ายของวิปัสสนาญาณ
        ๑๓.  โคตรภูญาณ ญาณครอบโคตร หรือญาณอันเกิดแต่ปัญญาที่เป็นหัวต่อระหว่างภาวะปุถุชนและภาวะอริยบุคคล
        ๑๔.  มรรคญาณ ญาณอันสำเร็จให้เป็นอริยบุคคลต่อไป
        ๑๕.  ผลญาณ เมื่อมรรคญาณเกิดขึ้นแล้ว ผลญาณก็เกิดขึ้นเป็นลำดับถัดไปจากมรรคญาณนั้นๆในชั่วมรรคจิต  ตามลำดับแต่ละขั้นของอริยบุคคล
        ๑๖.  ปัจจเวกขณญาณ ญาณที่เกิดขึ้นเพื่อพิจารณามรรค  ผล กิเลสที่ละแล้ว กิเลสที่ยังเหลืออยู่ และพิจารณานิพพาน (เว้นพระอรหันต์ไม่มีการพิจารณากิเลสที่ยังเหลืออยู่) เป็นอันจบกระบวนการบรรลุมรรคผลในขั้นหนึ่งๆคืออริยบุคคลขั้นหนึ่งๆ    หรือถึงพระนิพพาน
ขออภัย! คุณไม่ได้รับสิทธิ์ในการดำเนินการในส่วนนี้ กรุณาเลือกอย่างใดอย่างหนึ่ง ลงชื่อเข้าใช้ | ลงทะเบียน

รายละเอียดเครดิต

ตอบกระทู้ ขึ้นไปด้านบน ไปที่หน้ารายการกระทู้