เรื่องราวของเสือสมิงมีบันทึกเอาไว้ในพระราชหัตถเลขาในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเมื่อเสด็จประพาสต้นไปถึงจันทบุรี เป็นที่รู้กันว่าทรงโปรดที่จะเสด็จเยี่ยมเยียนราษฎรในหัวเมืองต่างๆ หลายจังหวัดด้วยกัน เพื่อจะได้ทรงเห็นทุกข์สุขของราษฎรได้ใกล้ชิดมากกว่าจะทรงรับรายงานจากทางราชการเพียงอย่างเดียว และอีกอย่างก็เป็นการแปรพระราชฐานเพื่อพระพลานามัยจะได้แข็งแรงสมบูรณ์ขึ้นด้วย เมื่อ พ.ศ. ๒๔๑๙ พระเจ้าอยู่หัวเสด็จเรือพระที่นั่งอรรคราชวรเดชลัดเลาะไปตามชายฝั่งทะเลด้านตะวันออก พร้อมด้วยพระบรมวงศานุวงศ์หลายพระองค์ ไปถึงจันทบุรี ตอนนั้นจันทบุรีเป็นป่าเสียมากกว่าเป็นเมืองและสวนผลไม้อย่างเดี๋ยวนี้ มีสัตว์ป่าชุกชุมทั้งช้าง ม้าป่า และเสือ โดยเฉพาะเสือถือว่ามีมากเป็นอันดับหนึ่ง ถ้าทางกรุงเทพต้องการเสือก็ต้องมาดักเอาที่นี่ เพราะเป็นสินค้าที่ต่างประเทศต้องการมาก เพราะเหตุนี้ เจ้าเมืองจันทบุรีนอกจากจะต้องดูแลราษฎรต่างพระเนตรพระกรรณแล้วยังมีหน้าที่คล้ายๆรพินทร์ ไพรวัลย์ คือต้องคอยปราบเสือไม่ให้มารังควานชาวบ้านอีกด้วย ใน พ.ศ. ๒๔๑๙ เสือที่จันทบุรีอุกอาจมาก บุกเข้าไปในบ้านคนแล้วคาบคนในบ้านไปกินเสียดื้อๆ ขนาดในเมืองมันก็ยังไม่กลัว กล่าวกันว่าเป็นเสือแก่ที่ไม่ว่องไวพอจะวิ่งไล่จับสัตว์อื่นๆได้ ก็เลยเข้าบ้านมาจับคนกินแทนเพราะง่ายกว่า ทำเอาชาวเมืองจันท์ระส่ำระสายเสียขวัญกันไปทั้งเมืองแทบไม่เป็นอันทำมาหากิน พระยาจันทบุรีเห็นเสือชักจะกำแหงก่อกวนคนมากเกินไปเสียแล้ว ก็ตัดสินใจเปิดศึกขั้นเด็ดขาดด้วยการประชุมพรานมือดีมาหลายคน แจกปืนให้ แยกย้ายกันออกไปล่าเสือ คนไหนไม่มีปืนก็ทำจั่นดัก ล่ากันเอาจริงเอาจังฆ่าเสือตายไปมาก ที่เหลือก็เตลิดหนีเข้าป่าลึก ทำให้ชาวบ้านหายขวัญเสียกลับมาทำมาหากินอย่างสงบได้อีกครั้ง
|