ตั้งให้เราเป็นเว็บแรกที่คุณเลือก เก็บเราไว้เป็นเว็บโปรด
สมัครสมาชิก ได้มากกว่าที่คุณคิด เข้าสู่ระบบ
ดู: 1714
ตอบกลับ: 3
สั่งพิมพ์ ก่อนหน้า ถัดไป

พระธาตุม่อนพระยาแช่ อ.เมือง จ.ลำปาง 1,300 ปี

[คัดลอกลิงก์]


ประวัติพระธาตุม่อนพระยาแช่ และวัดม่อนพระยาแช่


พระธาตุม่อนพระยาแช่ และวัดม่อนพระยาแช่ ตั้งอยู่เลขที่ 279 หมู่ที่ 1 ตำบลพิชัย อำเภอเมือง จังหวัดลำปาง พระธาตุม่อนพระยาแช่ เป็นปูชนียสถานอันเก่าแก่ของจังหวัดลำปาง มีประวัติความเป็นมาตามที่นักปราชญ์ได้จารึกลงในใบลานไว้ มีดังนี้

ประวัติพระธาตุม่อนพระยาแช่

    ในกาลครั้งหนึ่ง เมื่อพระพุทธเจ้าได้เสด็จมาเทศนาสั่งสอนสัตว์โลก ลุมาถึง กุกกุตตะนครในเมืองเวียงดิน (ปัจจุบัน คือวัดศรีล้อม) พร้อมด้วยพระฤาษี  5 องค์ได้ติดตามอุปฐากพระองค์มาแต่ลังกาทวีป พระองค์ทรงฉันภัตตาหาร ณ ที่นั้น เมื่อทรงฉันเสร็จแล้ว ก็ทรงบ้วนพระโอษฐ์ (บ้วนปาก)  พระฤาษีทั้ง 5 ได้นำเอาภาชนะแก้วผลึก มารองรับ ในทันใดนั้นเอง น้ำบ้วนพระโอษฐ์ก็เกิดกระด้างกลายเป็นพระธาตุแข็งขึ้นมา พระฤาษีทั้ง 5 เห็นดังนั้นก็เกิดความอัศจรรย์ใจยิ่งนัก จึงเกิดความเลื่อมใสและมีความปิติยินดียิ่ง จึงทูลถามพระพุทธองค์ว่า "ภันเต ภควา ข้าแด่พระผู้มีพระภาคเจ้าผู้เจริญ ภาชนะแก้วผลึกที่เต็มไปด้วยพระธาตุนี้ จะให้พวกข้าพระองค์นำไปประดิษฐาน ณ ที่ตรงไหนจึงจะสมควร"

พระพุทธองค์จึงทรงพิจารณาส่องญาณเล็งเห็นว่า ต่อไปข้างหน้าสถานที่นี้จะเป็นบ้านเมืองมีผู้คนมากมาย พระพุทธองค์ทรงใคร่ครวญ ที่จะให้เป็นประโยชน์และเป็นที่พึ่งแก่คนทั้งปวง จึงตรัสแก่พระฤาษีทั้ง 5 ว่า ทางทิศตะวันออกของตัวเมืองนี้มีภูเขาลูกหนึ่งชื่อว่า เขลางค์บรรพต สมควรที่ท่านทั้งหลายจะเอาพระธาตุนี้ไปบรรจุไว้ ณ ที่นั้น ครั้นแล้วพระองค์ทรงอธิษฐานถอดเอาพระนขา (เล็บ) และพระเกศา (ผม) ให้แก่พระฤาษีทั้ง 5 เพื่อเอาไปบรรจุไว้ด้วยกัน และเพื่อให้เป็นประโยชน์ แก่ผู้คนซึ่งมีความเลื่อมใส ได้สักการะบูชาต่อไป เมื่อพระพุทธเจ้า ตรัสเช่นนี้แล้ว พระฤาษีทั้ง 5 พร้อมด้วยพระอินทร์ ก็รับเอาพระธาตุ จากพระหัตถ์พระพุทธองค์แล้วก็ทูลลา มุ่งหน้าไปสู่เขลางค์บรรพต ม่อนพระยาแช่ พระอินทร์ได้เนรมิต สถานที่บรรจุพระธาตุ อยู่บนภูเขาสูง เป็นช่องลึก 100 วา กว้าง 8 ศอก ส่วนพระฤาษีทั้ง 5 ก็ผลัดเปลี่ยนกันอุปฐาก รักษาพระเจดีย์ในที่ต่างๆดังนี้

    พระฤาษีองค์ที่ 1  เป็นผู้พี่ให้รักษายังต้นศรีมหาโพธิ์   วัดศรีล้อม
    พระฤาษีองค์ที่ 2  ให้รักษายังพระมหาชินะธาตุเจ้า    วัดม่อนคีรีชัย
    พระฤาษีองค์ที่ 3  ให้รักษายังพระมหาชินะธาตุเจ้า    พระธาตุดอยแล
    พระฤาษีองค์ที่ 4  ให้รักษายังพระมหาชินะธาตุเจ้า    วัดพระธาตุดอยสุเทพ
    พระฤาษีองค์ที่ 5  ให้รักษายังพระมหาชินะธาตุเจ้า    ดอยยัสสะกิตติ (เขลางค์บรรพต วัดม่อนพระยาแช่)
2#
 เจ้าของ| โพสต์ 2014-5-7 11:16 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
ที่มาของชื่อ "ม่อนพระยาแช่"

    พระฤาษีองค์ที่ 5 นามว่า "สุพรหมฤาษี" น้องสุดท้องนั้นท่านเป็นผู้มีวิชา ปัญญาอันเฉลียวฉลาดยิ่งนัก มีความสามารถทำทองได้และรู้จักวิธีผสมยาสามารถชุบคนแก่ให้กลายเป็นคนหนุ่มได้
   
ในขณะนั้น ยังมีพระยาลัวะคนหนึ่ง ชื่อพระยาวุฑโฒ มีอายุได้ 100 ปี อยู่ขุนแม่ระมิงค์เชียงใหม่ ได้ทราบข่าวจากพรานป่าว่า พระฤาษีน้องสุดท้องท่านมีความสามารถชุบคนแก่ให้กลายเป็นคนหนุ่มได้ พระยาวุฑโฒก็มีใจอยากจะเป็นหนุ่ม จึงสั่งให้เตรียมไพร่พลโยธาและให้พรานป่าเป็นผู้นำทาง ใช้เวลาเดินทางประมาณครึ่งเดือนจึงเดินทางมาถึงวัดม่อนพระยาแช่ พอมาถึงพระฤาษีจึงถามว่า "พระองค์เสด็จมาที่นี้ด้วยมีธุระประสงค์สิ่งใด" พระยาวุฑโฒตอบว่า "ข้าพเจ้าทราบว่าท่านสามารถชุบคนแก่ให้กลายเป็นคนหนุ่มได้" พอวันรุ่งขึ้น พระฤาษีก็จัดแจงผสมยาขนานต่าง ๆ รวมได้ 4 ขนาน ใส่หม้อดินต้มทิ้งไว้ให้เย็น แล้วพระฤาษีจึงบอกให้พระยาวุฑโฒลงไปนอนในอ่างยา พระยาวุฑโฒเห็นดังนั้นก็เกิดความกลัวไม่ยอมลง ขอให้พระฤาษีทดลองให้ดูก่อน ก่อนจะลงท่านพระฤาษีก็ได้อธิบายให้พระยาวุฑโฒ ให้รู้จักวิธีผสมยาจนเป็นที่เข้าใจ โดยให้  ใส่ยาเป็นระยะดังนี้
   
ระยะที่ 1  พอนอนลงไปในอ่างยาแล้วเนื้อตัวละลาย ให้เอาขนานที่ 1 ใส่
จะกลายเป็นน้ำขุ่นข้นขึ้นมาเหมือนข้าวยาคู
    ระยะที่ 2  แล้วเอายาขนานที่ 2 ใส่ลงไปก็จะเป็นตัวไหวดิ้นขึ้นมาได้
    ระยะที่ 3  ให้เอายาขนานที่ 3   ใส่ลงไปก็จะมีชีวิตชีวาขึ้นมาได้อย่างเก่า
    ระยะที่ 4  ให้เอายาขนานที่ 4   ใส่ลงไป พอใส่ยาแล้วจะรู้จักพูดจาได้และกลับกลายเป็นหนุ่มขึ้นมาเลย
   
พระฤาษีได้อธิบายให้พระยาวุฑโฒ ถึง 2-3 ครั้ง จนเข้าใจแล้ว พระฤาษีก็ลงนอนในอ่างยาแล้วสลบละลายกลายเป็นน้ำไป พระยาวุฑโฒก็เอายาขนานที่ 1 ใส่ลงไป น้ำนั้นก็ขุ่นมัวเหมือนข้าวยาคู แล้วก็เอายาขนานที่ 2 ใส่ลงไป พระฤาษีก็ไหวตัวดิ้นเป็นเกลียวเหมือนงูเกี้ยวกัน ชูคอขึ้นมาเหมือนงูเห่า พระยาวุฑโฒเห็นดังนั้นก็ตกใจกลัวจนตัวสั่น ก็เกิดความประหม่า เลยหยิบยาผิดหยิบเอายาขนานที่ 4 ใส่ลงไป เนื้อตัวพระฤาษีก็เกิดกระด้างไปเลย ไม่ไหวติงกาย พระยาวุฑโฒก็เอายาขนานที่ 3 ใส่ลงไปอีก พระฤาษีก็แน่นิ่งไปไม่ไหวติงกายแต่ประการใด เป็นอันว่าพระฤาษีสิ้นใจตายอยู่ ณ ที่นั้น
   
ส่วนพระยาวุโฒเห็นดังนั้นก็มีความเสียใจเป็นอย่างยิ่ง เมื่อกลับไปถึงบ้านแล้วก็เกิดโรคาพาธมีอาการกระวนกระวาย จิตใจก็ระลึกถึงแต่เหตุการณ์ที่ได้กระทำมานั้น จิตใจคิดอยากกลับมายังที่อยู่ของพระฤาษีตลอดเวลา ในที่สุดก็เดินทางกลับมายังดอยยัสสะกิตติ (เขลางค์บรรพต) เมื่อมาถึงแล้วก็ให้คนตักน้ำใส่อ่างยา แล้วตนเองก็นอนแช่ ก็รู้สึกว่าสบาย พอลุกขึ้นจากอ่างยา ก็ร้อนกระสับกระส่าย ทำอยู่อย่างนี้หลายครั้งจนทนไม่ไหว ก็บอกเสนาว่า เรานี้เห็นจะมีชีวิตอยู่ต่อไปไม่รอดแล้ว เวลาเราตายไปแล้วขอให้เอาศพไปเผาทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ ครั้นสั่งเสร็จแล้วก็สิ้นใจตาย สถานที่ที่พระยาวุฑโฒนอนแช่ตายอยู่นั้น จึงเรียกว่า "ม่อนพระยาแช่" มาจนถึงทุกวันนี้

3#
 เจ้าของ| โพสต์ 2014-5-7 11:18 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
ประวัติวัดม่อนพระยาแช่

    วัดม่อนพระยาแช่ ตั้งอยู่บนภูเขาสูงชื่อม่อนไก่เขี่ยหรือดอยยัสสะกิตติ หรือเขลางค์บรรพต ตำบลพิชัย อำเภอเมือง จังหวัดลำปาง  สร้างเมื่อ พ.ศ. 2353  ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาวันที่ 24 มกราคม พ.ศ. 2501  สังกัดคณะสงฆ์มหานิกาย  ที่ดินตั้งวัดมีเนื้อที่ 350 ไร่ ส่วนใหญ่เป็นภูเขาสูง ซึ่งเป็นที่ตั้งของพระธาตุม่อนพระยาแช่ด้วย
   
วัดม่อนพระยาแช่  แต่เดิมไม่มีพระภิกษุสงฆ์จำพรรษาอยู่ประจำ วัดนี้อยู่ในความอุปถัมภ์ดูแลของท่านเจ้าคุณพระธรรมจินดานายก วัดป่าดัวะ จนถึงปีพุทธศักราช 2497 ท่านชราภาพไม่สะดวกในการเอาใจใส่ จึงมอบธุระให้ท่านเจ้าคุณพระอินทวิชยาจารย์ เจ้าคณะจังหวัดลำปาง วัดคะตึกเชียงมั่น เป็นองค์อุปถัมภ์ และเป็นประธานในการพัฒนาวัดต่อไป
   
พ.ศ. 2499-2502 พระครูศรีปริยัติกิติ์ ได้รับแต่งตั้งเป็นเจ้าอาวาสวัดม่อนพระยาแช่  ตราตั้งที่ 01/2499 ลงวันที่ 1 มิถุนายน พ.ศ. 2499
   
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พร้อมด้วยสมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถ และพระเจ้าลูกเธอ ทั้งสองพระองค์ ได้เสด็จพระราชดำเนิน มานมัสการ พระธาตุม่อนพระยาแช่ เมื่อวันที่ 16 มกราคม พ.ศ.  2515 และได้เสด็จพระราชดำเนินไปยัง บ้านต้นต้อง ในวันเดียวกันด้วย
   
เนื่องจากท่านเจ้าคุณพระอินทวิชยาจารย์ เจ้าคณะจังหวัดลำปาง ภาระในหน้าที่ของท่านมีมาก ท่านจึงได้แต่งตั้งให้พระครูประโชติคณารักษ์ เป็นเจ้าอาวาส วัดม่อนพระยาแช่ แทนท่าน เมื่อวันที่ 1 ธันวาคม 2522 ท่านพระครูประโชติคณารักษ์ ได้ทำการพัฒนาวัด ให้เจริญรุ่งเรืองมาโดยตลอด
   
ต่อมา สำนักงานชลประทาน (ลำปาง) ได้สร้างอ่างเก็บน้ำห้วยโจ้ ขึ้นที่ด้านหลัง วัดม่อนพระยาแช่ เพื่อกักเก็บน้ำใว้ใช้ในวัด และในปี พ.ศ. 2524 ดร.ชูวงค์ ฉายะบุตร ผู้ว่าราชการจังหวัดลำปาง และสมาชิกสภาจังหวัดลำปาง ได้จัดสรรเงินงบประมาณสร้างถนนลาดยางตลอดสาย  จากถนนพหลโยธินจนเข้าถึงวัดม่อนพระยาแช่ รวมระยะทาง 5 กิโลเมตร
   
วัดม่อนพระยาแช่ เป็นสถานที่สำคัญทางพุทธศาสนา แห่งหนึ่งในจังหวัดลำปาง เป็นสถานที่เงียบสงบ ร่มรื่น จะมีสภาพบรรยากาศ ในแต่ละฤดูที่เปลี่ยนไป ไม่เหมือนกัน โดยเฉพาะในช่วงฤดูฝนจะมีตะไคร่น้ำขึ้นอยู่ทั่วไป เหมาะจะเป็นสถานที่พักผ่อนหย่อนใจ ที่ไม่ไกลจากตัวเมืองลำปาง มากนัก

สถานที่ต่าง ๆ ในวัดม่อนพระยาแช่ มีดังนี้

1. พระธาตุม่อนพระยาแช่ และพระอุโบสถ ตั้งอยู่บนภูเขาสูง เดินขึ้นบันได 585 ขั้น รถยนต์ขึ้นไม่ได้

2. บ่อน้ำสองพี่น้อง มี 2 บ่อ ถือว่าเป็นบ่อน้ำศักดิ์สิทธิ์ อยู่ชายเขา ด้านล่างพระธาตุ น้ำในบ่อจะไม่แห้งทั้งปี

3. บรรณศาลาสุพรหมฤาษี (พระฤาษีองค์ที่ 5 ที่ดูแลพระธาตุม่อนพระยาแช่)

4. พระสังกัจจายน์

5. ศาลาเกษม-โชติ เป็นที่ประดิษฐานรูปปั้นหลวงพ่อเกษม เขมโก และพระครูประโชติคณารักษ์

6. เส้นทางเดินศึกษาธรรมชาติรอบ ๆ วัด และในวนอุทยานม่อนพระยาแช่

7. จุดชมวิวทิวทัศน์เมืองลำปาง อยู่บนพระธาตุม่อนพระยาแช่ สามารถมองเห็นทิวทัศน์เมืองลำปางได้สวยงาม

8. อ่างเก็บน้ำห้วยโจ้ อยู่ด้านหลังวัด มีทิวทัศน์ที่สวยงามอีกแห่งหนึ่ง

9. ลานกิจกรรมเอนกประสงค์ ด้านหน้าวัด เหมาะกับการจัดกิจกรรมกลางแจ้ง เช่น ค่ายพักแรม

10. โครงการ "ลีลาวดีบาน นมัสการพระธาตุ" กำลังปลูกต้นลีลาวดี ให้ทั่วทั้งวัด เพื่อให้มีกลิ่นหอม ไปทั่วบริเวณวัด (อยู่ระหว่างดำเนินการ ไกล้เสร็จเรียบร้อยแล้ว)

11. โครงการ "เฮาฮักม่อนพระยาแช่" เป็นโครงการที่วัดม่อนพระยาแช่เข้าร่วมกับ We love The King we love Thailand นครลำปาง และเครือข่าย ในการทำกิจกรรมเพื่อถวายแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เป็นกิจกรรมต่อเนื่องทั้งปี โดยในแต่ละสัปดาห์จะมีกิจกรรมตามฤดูกาล เช่น ปลูกต้นไม้ ปลูกหญ้าแฝก สร้างฝาย ป้องกันและควบคุมไฟป่า เป็นต้น โดยพื้นที่ดำเนินโครงการเป็นพื้นที่ทั้งหมดของวัด และขยายออกไปยังพื้นที่ของวนอุทยานม่อนพระยาแช่ ขณะนี้เข้าสู่การดำเนินกิจกรรมในปีที่ 2 กิจกรรมในโครงการ "เฮาฮักม่อนพระยาแช่" มีดังนี้

    11.1 การสร้างฝาย ชะลอน้ำ ด้วยหินและดิน กว้างตั้งแต่ 3-15 เมตร ในปี 2552 สร้างได้ 66 ฝาย ในปีที่ 2 (กำลังดำเนินการ) ได้ 120 ฝาย (20 สิงหาคม 2553)

    11.2 การปลูกหญ้าแฝกเพื่อป้องกันดินพังทลายและรักษาหน้าดิน บริเวณ 2 ข้างของทางขึ้นพระธาตุ และรอบพระธาตุ ซึ่งเป็นดอยสูง ในปี 2552 ปลูกหญ้าแฝกไปแล้วกว่า 100,000 กล้า

    11.3 การปลูกหญ้าแฝกบนสันฝาย เพื่อให้เพิ่มความแข็งแรงให้กับตัวฝาย ในบริเวณฝายที่เป็นดิน

    11.4 การทดลองปลูกหญ้าแฝก เพื่อปรับปรุงสภาพดินเสีย (ภูเขาหิน) ให้สามารถใช้ปลูกพืชได้ บริเวณภูเขาด้านหน้าวัด ใช้กล้าหญ้าแฝก ประมาณ 30,000 กล้า
   
11.5 การปลูกหญ้าแฝกเพื่อป้องกันดินพังทลายและรักษาหน้าดิน พร้อมทั้งเป็นแปลงขยายพันธ์หญ้าแฝกไปด้วย บริเวณเหนืออ่างเก็บน้ำห้วยโจ้ ด้านหลังวัดม่อนพระยาแช่

    11.6 การปลูกต้นไม้ทั้งไม้ยืนต้นและไม้กินได้  ในบริเวณพื้นที่ของวัด 350 ไร่ โดยในปี 2553 กำลังปลูกต้นมะค่าโมง และขะจาว (กล้าไม้สูงเกือบ 2 เมตร) กว่า 1,500 ต้น

    11.7 การป้องกันไฟป่า ในพื้นที่วัดทั้งหมด และบางส่วนในวนอุทยานม่อนพระยาแช่  โดยดำเนินการทั้งการสร้างจิตสำนึก และการประชาสัมพันธ์ ทางสถานีวิทยุ การลงพื้นที่ การทำแนวกันไฟป่า และการจัดทีมอาสาสมัครออกดับไฟป่า ผลการดำเนินงานในปี 2552 ได้ผลดีมาก

    11.8 การปฏิบัติธรรม วัดม่อนพระยาแช่ ร่วมกับโครงการ ปฏิธรรมของ We love The King we love  Thailand นครลำปาง จัดปฏิบัติธรรม เพื่อถวายเป็นพระราชกุศลฯ  ทุกวันอาทิตย์สุดท้ายของเดือน โดยเริ่มเวลา 18.00 น. ณ พระอุโบสถ บนพระธาตุม่อนพระยาแช่

    11.9 โครงการ "ห้องสมุดประวัติศาสตร์ ม่อนพระยาแช่" โดยวัดม่อนพระยาแช่ ได้ให้ We love The King we love Thailand นครลำปาง ใช้สถานที่ศาลารัตนาคมจัดทำห้องสมุดเพื่อเก็บรวบรวมประวัดความเป็นมาของ "ม่อนพระยาแช่" ในอดีต เช่น การเสด็จพระราชดำเนิน ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เมื่อวันที่ 16 มกราคม 2515 การต่อสู้ทางอากาศของเครื่องบินในช่วงสงครามโลก เหนือน่านฟ้าม่อนพระยาแช่ รวมถึงตำนานและหลักฐานเกี่ยวกับชื่อ "ม่อนพระยาแช่" โดยจะทำเป็นห้องสมุด Multimedia (ขณะนี้กำลังดำเนินการ)

4#
 เจ้าของ| โพสต์ 2014-5-7 11:20 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้

พระธาตุม่อนพระยาแช่

หมายเหตุ : โครงการ We love The King we love Thailand นครลำปาง เป็นองค์กรของประชาชนชาวลำปาง พร้อมเครือข่ายผู้ร่วมกิจกรรม อีกกว่า 30 กลุ่ม/องค์กร เพื่อสร้างกิจกรรม ถวายแด่พระเจ้าอยู่หัว โดยมีกิจกรรมหลักอยู่ 2 โครงการ คือ

1.    โครงการ  "ปฏิบัติธรรมเฉลิมพระเกียรติ" มีกิจกรรมเจริญพระพุทธมนต์ และบำเพ็ญจิตภาวนา ทุกวัน ณ พระวิหารหลวง วัดพระแก้วดอนเต้าสุชาดาราม พระอารามหลวง และวันอาทิตย์สุดท้ายของเดือน ณ พระอุโบสถ วัดม่อนพระยาแช่ กิจกรรมนี้ดำเนินการต่อเนื่องมากว่า 1 ปีแล้ว

2.    โครงการ "เฮาฮักม่อนพระยาแช่" มีรายละเอียด ดังได้กล่าวแล้วด้านบน

****************************

ที่มา: http://www.oknation.net/blog/watmon/2010/03/05/entry-1                                                                                       

.......................................................

ที่มา http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=24&t=45956


ขออภัย! คุณไม่ได้รับสิทธิ์ในการดำเนินการในส่วนนี้ กรุณาเลือกอย่างใดอย่างหนึ่ง ลงชื่อเข้าใช้ | ลงทะเบียน

รายละเอียดเครดิต

ตอบกระทู้ ขึ้นไปด้านบน ไปที่หน้ารายการกระทู้