ตั้งให้เราเป็นเว็บแรกที่คุณเลือก เก็บเราไว้เป็นเว็บโปรด
สมัครสมาชิก ได้มากกว่าที่คุณคิด เข้าสู่ระบบ
ดู: 3771
ตอบกลับ: 16
สั่งพิมพ์ ก่อนหน้า ถัดไป

~ สมเด็จพระพุฒาจารย์ (เกี่ยว อุปเสโณ) วัดสระเกศ ~

[คัดลอกลิงก์]


เจ้าประคุณสมเด็จพระพุฒาจารย์ นามเดิมว่า เกี่ยว นามสกุล โชคชัย นามฉายา อุปเสโณ เกิดเมื่อวันที่ ๑๑ มกราคม พ.ศ. ๒๔๗๑ ณ บ้านเฉวง ตำบลบ่ดผุด อำเภอเกาะสมุย จังหวัดสราษฎร์ธานี
การศึกษาและการบรพชาอุปสมบท
เมื่อยังเยาว์ ได้ศึกษาระดับประถมศึกษาที่โรงเรียนประจำหมู่บ้าน จนจบประถมปีที่ ๔
เมื่ออายุได้ ๑๒ ปี ได้บรรพชาเป็นสามเณร ณ วัดภูเขาทอง อำเภอเกาะสมุย จงหวัดสุราษฎร์ธานี แม้เจตนาจะบวชเพียงแค่ ๗ วัน แต่ด้วยปุพเพกตปุญญตา ทำให้เจ้าประคุณสมเด็จฯ ยังคงมั่นในสมณเพศหาได้คิดลาสิกขาไม่ โยมมารดาจึงนำไปฝากไว้กับท่านพระครูอรุณกิจโกศล (หลวงพ่อพริ้ง) วัดแจ้ง ตำบลอ่างทอง อำเภอเกาะสมุย เจ้าประคุณสมเสด็จฯ เป็นผู้ฝักใฝ่ในการศึกษา มีวิริยะ อุตสาหะ จนหลวงพ่อพริ้งเห็นอุปนิสัย ได้นำไปฝากตัวเป็นศิษย์เจ้าประคุณสมเด็จพระสังฆราช (อยู่ ญาโณทยมหาเถร) เพื่อศึกษาพระปริยัติธรรม ณ วัดสระเกศ กรุงเทพมหานคร โดยอยู่ในการปกครองของพระครูปลัดเทียบ (พระธรรมเจดีย์)
เจ้าประคุณสมเสด็จฯ ได้ตั้งใจศึกษาเล่าเรียนสามารถสอบได้นักธรรมชั้นเอก และเปรียญธรรม ๕ ประโยค ตั้งแต่ครั้งยังเป็นสามเณร
ครั้นต่อมา พ.ศ.๒๔๙๓ เมื่อมีอายุครบอุปสมบท ก็ได้อุปสมบทที่วัดสระเกศ โดยมีเจ้าพระคุณสมเด็จพระสังฆราช ญาโณทยมหาเถร (ครั้งดำรงสมณศักดิ์ที่ พระธรรมวโรดม)ทรงเป็นพระอุปัชฌาย์
หลังจากที่ได้อุปสมบทแล้ว จนถึงปี พ.ศ.๒๔๙๗ สอบได้เปรียญธรรม ๙ ประโยค
เจ้าประคุณสมเด็จฯมอบกายถวายชีวิตในพระพุทธศาสนามีอจลศรัทธาไม่หวั่นไหว และสมบูรณ์ด้วยศีลาจารวัตร เป็นพระมหาเถระผู้รัตตัญญู มีเมตตาธรรมเป็นประจำ มีกรุณาต่อชนทั่วไป มัอัธยาศัยละมุนละไม เป็นบุคคลที่ใครๆเข้าหาได้ง่าย ไม่ถือตัว ปฏิบัติศาสนกิจและสังฆกรรมต่างๆสม่ำเสมอมิได้ขาด เป็นผู้มีเมตตากรุณา สงเคราะห์พระภิกษุสามเณร

ที่มา http://www.watsraket.com/somdej.html


ขออภัย! โพสต์นี้มีไฟล์แนบหรือรูปภาพที่ไม่ได้รับอนุญาตให้คุณเข้าถึง

คุณจำเป็นต้อง ลงชื่อเข้าใช้ เพื่อดาวน์โหลดหรือดูไฟล์แนบนี้ คุณยังไม่มีบัญชีใช่ไหม? ลงทะเบียน

x
2#
 เจ้าของ| โพสต์ 2014-4-26 06:18 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
พระมหาเถระ สำคัญองค์หนึ่งในพระพุทธศาสนา  ทำหน้าที่อันเข้มแข็งในศาสนาจักรอย่างต่อเนื่องยาวนานมาไม่น้อยกว่า ๖๐ปี  ประกอบกับพระภารกิจอันเป็นหลักนำมวลชนชาวพุทธให้ก่อเกิดสันติสุขโดยลำดับ พระมหาเถระผู้ทรงคุณอันประเสริฐนั้นก็คือ  สมเด็จพระพุฒาจารย์ (เกี่ยว อุปเสโณ) เจ้าอาวาสวัดสระเกศฯ  องค์ปัจจุบัน ประธานคณะผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช


สถานที่เกิด
สถานที่เกิดของเจ้าประคุณสมเด็จพระพุฒาจารย์  (เกี่ยว  อุปเสโณ)  คือบ้านชายทะเล  ต. เฉวง  (บ้านบ่อผุด)  อ.  เกาะสมุย  จ. สุราษฏร์ธานี
เจ้าประคุณฯ  สมเด็จพระพุฒาจารย์  (เกี่ยว  อุปเสโณ)  เกิดเมื่อวันที่  ๑๑  มกราคม  พ.ศ. ๒๔๗๑  ณ  หมู่บ้านชายทะเล  ฝั่งตะวันออกของเกาะสมุยซึ่งเป็นอ่าวที่มีความสงบเงียบในดงมะพร้าวสุดลูกหูลูกตา  วันที่ท่านลืมตาดูโลกตรงกับวันอาทิตย์  แรม  ๘  ค่ำ  เดือน  ๓  ปีมะโรง  โยมบิดาชื่อนายเลี้ยน  โชคชัย  ส่วนโยมมารดามีชื่อว่า  “ยี่”  ท่านเป็นบุตรคนที่  ๕  ในจำนวนพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกันร่วม  ๖  คน  ตอนที่ท่านเกิดกายนั้นโยมมารดาต้องสูญเสียกำลังไปมากจนแทบว่าจะเอาชีวิตไม่รอดต้องให้หมอพื้นบ้านมาช่วยรักษาอาการป่วยของโยมมารดาอยู่นานวัน  จึงสามารถมีชีวิตอยู่เลี้ยงดูบุตรจนเจริญวัย

ชีวิตปฐมวัย

ชีวิตปฐมวัยของเด็กชายเกี่ยวแวดล้อมด้วยธรรมชาติและอากาศ  บริสุทธิ์ดุจแดนสวรรค์เพราะเกาะสมุยในยุคนั้นมีคนน้อยมีชีวิตความเป็นอยู่ก็เรียบง่ายอย่างหมู่บ้านชนบททั้งหลายชุมชนมนุษย์เล็ก ๆ  แห่งนั้นไร้การเติมแต่งด้วยอำนาจวัตถุนิยม  บ้านเฉวงอยู่ในที่ราบกลางหุบเขาไปจรดหาดทราย  อ่าวเฉวงมีเต่าเล็ก ๆ  ลอยเด่นอยู่กลางน้ำทะเล  ชายทะเลเฉวงซึ่งเป็นบ้านเกิดของท่านสะอาดบริสุทธิ์  ทั้งอากาศและหาดทรายขาวดุจทรายแก้ว  น้ำทะเลในดุจกระจกหาดทรายบริเวณหน้าบ้านเกิดของท่านเคยมีฝูงแม่เต่าทะเลมาวางไข่  โดยไม่คนไปทำร้าย  สภาพแวดล้อมของบ้านเกิดสมเด็จพระพุฒาจารย์ (เกี่ยว  อุปเสโณ)  มีความหมายต่อจิตใจท่านมาแต่เยาว์วัย   พออายุครบเกณฑ์เข้าเรียนท่านก็ได้เรียนหนังสือที่โรงเรียนวัดเฉวง  หรือวัดสว่างอารมณ์  เมื่อเข้าโรงเรียนท่านก็เข้าใจเรียนด้วยความใฝ่ศึกษาเรียนและสอบเลื่อนชั้นไปเรื่อย ๆ  จนครบสี่ปี  ท่านสอบไล่ได้ปฐมศึกษาปีที่  ๔  แล้วตั้งใจไว้ว่าอยากจะเรียนต่อในชั้นมัธยมศึกษา  โยมบิดาและมารดาก็ยินดีให้ลูกชายเรียนต่อตามความต้องการอยู่มาวันหนึ่งท่านเกิดล้มป่วยลงกะทันหัน  เหตุการณ์นั้นไม่มีใครคาดคิดมาก่อนว่าจะเป็นเรื่องมหัศจรรย์แต่เมื่อนอนป่วยอยู่นานวัน  ใช้ยารักษาอย่างเต็มที่  ก็ไม่ดีขึ้นช้ำร้ายอาการป่วยไข้กับยืดเยื้อ  ยาหม้อยาต้มอะไร ๆ  ก็ไม่ช่วยให้ท่านหายได้  อาการไข้ทรุดหนักมีอาการหนาวสั่นและเพ้อและเพ้อด้วยพิษไข้  โยมมารดาผู้ตั้งมั่นอยู่ในพระพุทธศาสนาเริ่มมีความวิตกกังวลต่ออาการป่วยของบุตรชาย  ท่านจึงคิดว่าพึ่งหมอไม่สำเร็จ  ก็จะทดลองบนบานศาล  กล่าวขอให้อำนาจสิ่งศักดิ์สิทธิ์ช่วยชีวิตลูก  ว่าขออำนาจสิ่งศักดิ์สิทธิ์ทั้งหลายจงมาช่วยรักษาชีวิตบุตรชายหากว่าอาการป่วย  ของบุตรชายหายก็จะแก้บนด้วยการบวชสามเณร ลูกชายเป็นเวลา  ๗  วัน  ใคร ๆ  ก็พากันอัศจรรย์ใจเมื่อบนบานศาล  กล่าวของโยมมารดาบรรลุผลอาการป่วยที่เพลียหนักปางตายกลับทุเลาลงโดยลำดับและหายเป็นปรกติในเวลาไม่นานนัก  เมื่อบุตรชายหายป่วยแล้ว  โยมแม่และโยมพ่อก็จัดการพาไปที่วัดตกลงว่าจะให้บวชแก้บนเป็นเวลา  ๗  วัน

3#
 เจ้าของ| โพสต์ 2014-4-26 06:19 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
บรรพชาและอุปสมบท

เมื่อวันที่  ๖  มิถุนายน  พ.ศ.  ๒๔๗๔  ณ  พัทธสีมาวัดสว่างอารมณ์  โดยมีเจ้าอธิการพัฒน์  เจ้าอาวาสวัดภูเขาทอง  ตำบลแม่น้ำ  อ. เกาะสมุย   เป็นพระอุปัชฌาย์  ความเชื่อเรื่องบวชแก้บนนี้  เป็นความเชื่อของชุมชนที่ห่างไกลปืนเที่ยง  เป็นความหวังครั้งสุดท้ายที่จะต้องลองกับความตายถือเอาทางบุญเป็นสิ่งต่อรองให้สิ่งศักดิ์สิทธิ์มีเมตตาช่วยเหลือสามเณรเกี่ยว  บวชแล้วครบ  ๗  วัน  ห่มผ้าเหลือมาจนครบกำหนดที่โยมมารดาบนไว้แต่ว่าตลอดเวลาที่อยู่ในผ้าเหลืองจิตใจก็เริ่มอบอุ่นและพอใจที่จะอยู่ในผ้าเหลืองต่อไปเรื่อย ๆ  ซึ่งโยมมารดาบิดาก็ไม่ขัดข้อง  สิ่งมหัศจรรย์ในชีวิตของสามเณรเกี่ยวเริ่มต้นอีกครั้งหนึ่งเมื่อตอนเกิดกายโยมมารดาก็แทบจะสิ้นลมหายใจ  เมื่อเจ็บไข้โยมมารดาก็ทนทุกข์ทรมาน  จึงต้องขอแรงสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ให้ช่วยชีวิตบุตรชายสิ่งเหล่านั้นอาจจะไม่สะเทือนใจอะไรนัก  แต่ว่าแรงบันดาลใจที่มันก่อตัวขึ้นภายในเป็นบุญกุศลที่ต้องสร้างสมมาแต่อดีตชาติโดยแท้สามเณรเกี่ยวไม่ยอมสึก  คิดที่จะเปลื้องผ้าเหลืองออกไปนุ่งกางเกงใส่เสื้อนักเรียนมัธยมศึกษาแต่กลับให้ความสนใจเป็นอย่างมากกับบทสวดมนต์  และศึกษาพระธรรมวินัยของพระพุทธเจ้าด้วยความเลื่อมใสในพระพุทธศาสนาของพระพุทธเจ้าสามเณรเกี่ยวอยู่ที่วัดเฉวงระยะหนึ่ง   ต่อมาโยมบิดาจึงนำท่านไปฝากให้เป็นลูกศิษย์หลวงพ่อพริ้ง   (พระครูอรุณกิจโกศล)  เจ้าอาวาสวัดแจ้ง  ต.  อ่างทอง  อ. เกาะสมุย  ซึ่งเป็นที่อยู่ใกล้ตลาดหน้าทอน  หลวงพ่อพริ้งนับว่าเป็นพระกัมมัฏฐานที่สำคัญ  องค์หนึ่งในเกาะสมุยท่านเป็นชาวไชยา  ธุดงค์มาอยู่เกาะสมุยกับพระน้องชายชื่อหลวงพ่อพร้อม (เกาะพงัน)  วัดแจ้งเวลานั้นจัดว่าเป็นสถานที่พึ่งผิงของชาวเกาะสมุย-พงันมีเด็กมาอยู่อาศัยเพื่อเรียนหนังสือเป็นจำนวนมาก  หลวงพ่อพริ้งเป็นพระที่เคร่งครัดในพระธรรมวินัยและระเบียบแบบแผนท่านจึงสามารถเป็นที่ไว้วางใจจากพ่อแม่ผู้ปกครองเด็ก ๆ  บนเกาะสมุย-พงันใครเป็นลูกศิษย์หลวงพ่อจะไม่มีใครเกเรเสียเด็กผู้ปรกครองไว้วางใจท่านมาตลอดเจ้าประคุณสมเด็จพระพุฒาจารย์อยู่เรียนนักธรรมที่วัดแจ้งของหลวงพ่อพริ้งจนสามารถสอบนักธรรมตรีได้  ในปีแรกแล้วก็เรียนนักธรรมโทต่อไป  กลางวันเรียนปริยัติธรรมพอตกกลางคืน  ก็ฝึกอบรมวิปัสสนากัมมัฏฐานเบื้องต้นฝึกหัดทำใจให้สงบแล้วก็ไปพัฒนาไปฝึกวิปัสสนาในป่าช้าตอนดึกเพื่อเอาชนะความกลัววิถีชีวิตของสามเณรเกี่ยวในเวลานั้นกลายเป็นลูกของพระพุทธศาสนา  แม้กายเนื้อจะเป็นตัวตนที่ถือกำเนิดมาจากบิดามารดา  แต่จิตใจที่ศรัทธาในทางธรรมจึงส่งผลให้ท่านห่างวิถีทางโลกและครอบครัวไปทุกทีความขยันหมั่นเพียรของสามเณรเกี่ยวและการเป็นลูกศิษย์ที่อยู่ในวินัยของครูบาอาจารย์ ทำให้หลวงพ่อพริ้งมีความเมตตา  ต่อศิษย์ผู้นี้เพิ่มขึ้นโดยลำดับประกอบกับความเฉลียวฉลาดในการเรียนจึงส่งผลให้หลวงพ่อพริ้งคิดว่าจะสนับสนุนให้ลูกศิษย์ผู้นี้มีความเจริญงอกงามในทางพุทธศาสนายิ่งขึ้น  เมื่อถึงเวลาอันสมควรหลวงพ่อพริ้งหรือ ท่านพระครูอรุณกิจโกศล  เจ้าอาวาสวัดแจ้งตกลงใจนำพาสามเณรเกี่ยวเดินทางเข้ามาศึกษาต่อในกรุงเทพโดยที่ท่านนำไปฝากฝังกับพระอาจารย์เกตุเจ้าคณะ  ๕  วัดสระเกศราชวรมหาวิหารเพื่อให้สามเณรเกี่ยวเรียนนักธรรมและเรียนบาลีควบคู่กันไปสามเณรเกี่ยวอยู่ศึกษาปริยัติธรรมกับพระอาจารย์เกตุหลวงพ่อพริ้งฝากศิษย์แล้วท่านก็เดินทางกับเกาะสมุยรู้สึกเป็นสุขใจที่ได้ทำหน้าที่ส่งเสริมศิษย์รักให้มีโอกาสก้าวหน้าในพระศาสนาต่อมาอีกไม่นานนักเหตุการณ์บ้านเมืองอยู่ในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง  กองทัพญี่ปุ่นบุกเข้าประเทศไทยกรุงเทพตกเป็นเป้าหมายของการทิ้งระเบิดชายฝั่งทะเลอ่าวไทยมีการยกพลขึ้นบกเกิดการต่อสู้อย่างรุนแรงหลวงพ่อพริ้งมีความเป็นห่วงลูกศิษย์ท่านจึงเดินทางเข้ามากรุงเทพฯ  มารับลูกศิษย์กลับไปสุราษฎร์ธานี  เพื่อให้รอดพ้นจากภัยสงคราม  การเรียนที่วัดสระเกศก็ต้องหยุดชะงักลงไปชั่วคราว  แม้หลวงพ่อพริ้งจะพาศิษย์เดินทางกลับสุราษฎร์ธานีไปแล้วแต่ท่านก็มีความเป็นห่วงเรื่องการเรียนของสามเณรเกี่ยว  ท่านไม่ต้องการให้ศิษย์กลับไปเกาะสมุย  แต่ท่านได้นำศิษย์ผู้นี้ไปฝากกับพระอาจารย์มหากลั่น  ปิยทสฺสี  ให้อยู่ศึกษาต่อที่พุมเรียง  อำเภอไชยา  อยู่ระยะหนึ่ง  หลังจากสงครามสงบเรียบร้อยแล้วหลวงพ่อพริ้งจึงแวะมารับสามเณรเกี่ยวที่พุมเรียง  แล้วพาศิษย์เดินทางขึ้นกรุงเทพฯ  อีกครั้ง  หวังว่าจะนำไปฝากให้อยู่กับพระอาจารย์เกตุเช่นเดิม  แต่ได้ปรากฏว่าพระอาจารย์เกตุลาสิกขาบทไปเสียก่อนแล้ว

4#
 เจ้าของ| โพสต์ 2014-4-26 06:20 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
ดังนั้นหลวงพ่อพริ้งจึงฝากฝังสามเณรเกี่ยวให้อยู่กับพระครูปลัดเทียบ  (ต่อมาท่านองค์นี้ได้รับการแต่งตั้งสมณศักดิ์เป็น  พระธรรมเจดีย์และเป็นเจ้าอาวาสวัดสระเกศ  ต่อจากสมเด็จพระสังฆราช (อยู่  ญาโณทยามหาเถระ)  การกลับมาศึกษาต่อที่กรุงเทพฯ  คราวนี้  สามเณรเกี่ยวมิได้มีการขาดตอนต่อจากวิชาที่เรียนเพราะได้ศึกษาวิชาความรู้กับพระอาจารย์กลั่น  ในช่วงหลบภัยสงคราม
บรรดาลูกหลานเกาะสมุยในสมัยนั้นที่เข้ามาเรียนในกรุงเทพฯ  มีจำนวนไม่มาก  ส่วนใหญ่จะเรียนวิชาทางโลกเรียนกฎหมาย  ผู้ที่คิดเรียนทางธรรมอย่างสามเณรเกี่ยวไม่ค่อยมีคนทั่วไปชอบเอาดีทางโลก  หวังในเกียรติยศหรือเป็นเจ้าคนนายคนเสียมากกว่า
เจ้าประคุณสมเด็จพระพุฒาจารย์  มองชีวิตจิตใจให้กับการศึกษาปริยัติธรรมอย่างจริง
กระแสหนุนส่งให้ท่านจากถิ่นฐานบ้านเกิดมามุ่งดีทางธรรมยามว่างจากาการเรียนท่านก็ปฏิบัติช่วยเหลืองานครูบาอาจารย์ แล้วก็เข้าห้องปิดประตูเรียนหนังสือโดยไม่ยอมให้เวลาสูญเสียไปกับเรื่องเหลวไหลไร้สาระเหมือนพระอื่น ๆ  ท่านเคยเล่าเหตุการณ์สมัยเรียนอย่างเข้มข้นในครั้งนั้นตอนหนึ่งว่า...
“การปฏิบัติของอาตมาก็เป็นที่รู้จักกันดีในหมู่เพื่อนที่เรียนหนังสือด้วยกันว่า  ตั้งแต่สมัยเป็นสามเณรจนกระทั่งเป็นพระมีอุปนิสัยชอบการเรียนหนังสือจนกระทั่งท่านเจ้าประคุณธรรมเจดีย์ท่านถึงกับเรียกว่า  “นางห้อง”
ทั้งนี้ก็เพราะว่าเวลาส่วนใหญ่ของอาตมาจะอยู่แต่ในห้องเรียนหนังสือ  เพราะเหตุที่ถือว่าการเรียนเป็นส่วนสำคัญแล้วก็ช่วยงานวัด  ช่วยงานสมเด็จพระสังฆราช  ช่วยงานเจ้าประคุณธรรมเจดีย์  ซึ่งเป็นที่รู้จักกันในเวลานั้นว่าเป็นผู้ที่ทำงานเพื่อพระพุทธศาสนาตั้งแต่อายุยังน้อยและทำงานหนักชีวิตส่วนใหญ่จะมีให้แก่การเรียนหนังสือและทำงานอยู่อย่างนี้  ส่วนเรื่องการเรียนการเป็นอยู่  ก็อยู่อย่างธรรมดา  ไม่ได้เป็นพระที่ฟู่ฟ่าคือทำแต่งานสนองงานของผู้ใหญ่ไม่ได้ทำงานเป็นส่วนตัวหรืออื่นใด”
สามเณรเกี่ยวดำรงชีวิตอยู่อย่างนักศึกษา  พระผู้มุ่งมั่นในการเรียน  สู้เดินทางข้ามน้ำข้ามทะเลมาจากเกาะกลางทะเลอ่าวไทย  อีกทั้งหลวงพ่อพริ้งผู้เปรียบเหมือน  บิดาตั้งความหวังจะให้ศิษย์เจริญก้าวหน้าในด้านพระปริยัติธรรมที่สูงส่งสามเณรเกี่ยวก็มีกำลังใจที่จะเรียนเพื่อสนองคุณพระอาจารย์สนองคุณพระพุทธศาสนา
ชีวิตเก่า ๆ  ของเด็กชายเกี่ยวดูเหมือนจะได้ตายไปตั้งแต่เจ็บป่วยอย่างหนัก  รักษาไม่หายชีวิตที่รอดมาได้นี้เป็นแรงบุญของสิ่งศักดิ์สิทธิ์ชีวิตใหม่ของสามเณรเกี่ยว  จึงเป็นชีวิตใหม่ที่กลายเป็นลูกพระรัตนตรัยไปแล้ว
ความพรากเพียรของสามเณรเกี่ยว  สัมฤทธิ์ผลเมื่อการสอบเลื่อนเปรียญธรรมผ่านสู่ขั้นเปรียญ  ๕  ประโยค  ตั้งแต่อยู่ในฐานะสามเณร
ความสามารถพิเศษในการเรียนของท่านสร้างความภาคภูมิใจให้แก่พระอาจารย์พริ้งเป็นอย่างมาก  แม้แต่บรรดาญาติโยมชาวเฉวง  หรือชาวเกาะสมุยต่างรู้สึกเป็นเกียรติแก่มาตุภูมิที่สามเณรน้อยชาวเกาะสมุย  ได้เปรียญ  ๕  ประโยค  ตั้งแต่เป็นสามเณรเมื่อกลับบ้านเกิดคราใดมีแต่ผู้เฒ่าผู้แก่ให้พร
ในปี  พ.ศ.  ๒๔๙๒  สามเณรเกี่ยวอายุครบบวชเป็นพระภิกษุท่านจึงได้รับการอุปสมเป็นพระภิกษุเมื่อวันที่  ๑  พฤษภาคม  ณ วัดสระเกศราชวรมหาวิหาร  ตำบลบ้านบาตร  เขตป้อมปราบฯ  กรุงเทพมหานคร  โดยมีสมเด็จพระสังฆราช  (อยู่  ญาโณทยมหาเถระ)  ครั้งดำรงตำแหน่งสมณศักดิ์เป็นพระธรรมวโรดม  เป็นองค์พระอุปัชฌายาจารย์
ด้วยอายุเพียงน้อยนิดสอบไล่ได้นักธรรมเอกสอบได้เปรียญธรรม  ๕  ประโยคตามลำดับพอบวชเป็นพระภิกษุก็ทำหน้าที่ศึกษาต่อไปอย่างาไม่หยุดยั้ง  ยิ่งตั้งความเพียรให้ยิ่งขึ้นไปอีก  ความรับผิดชอบในงานที่ต้องช่วยเหลือพระอุปัชฌาย์ก็มีมากขึ้น  จึงต้องแบ่งเวลาเรื่องการเรียนไว้ล่วงหน้า
พระมหาเกี่ยว   อุปเสโณ  ได้มีโอกาสเรียนปริยัติธรรมรวมทั้งได้ทำงานรับใช้พระอุปัชฌาย์อย่างใกล้ชิด  ได้เรียนรู้เรื่องอื่น ๆ  ที่เจ้าอาวาสจะต้องรู้มากยิ่งขึ้น  โดยลำดับซึ่งความรู้เหล่านั้นไม่มีในตำรา
ความเมตตากรุณาที่พระอุปัชฌาย์มอบให้พระมหาเกี่ยวในเวลานั้นมีอยู่หลายกระแสแม้แต่เรื่องปฏิบัติธรรมสมเด็จพระสังฆราช (อยู่  ญาโณทยมหาเถระ)  ก็สอนให้อย่างครบถ้วน
ในความรู้สึกโดยทั่ว ๆ  ไปใคร ๆ  ก็นึกคิดกันว่า...พระมหาเกี่ยว  อุปเสโณ  คงเป็นพระปริยัติที่ติดยึดนำรับตำรา  ประเภทคงแก่เรียนบาลีเพียงอย่างเดียวแต่โดยความลุ่มลึกแห่งจิตของท่านนั้น  ท่านเคยผ่านการปลูกฝังฝึกฝนจิตใจด้านวิปัสสนากรรมฐานตั้งแต่ตอนเป็นสามเณร  อยู่ที่วัดหลวงพ่อพริ้งบนเกาะสมุยมาแล้ว
เมื่อได้มาอยู่เป็นพระลูกศิษย์ของปราชญ์และพระอาจารย์ด้านวิปัสสนากรรมฐานอย่างสมเด็จพระสังฆราช  (อยู่  ญาโณทยมหาเถระ)  พระมหาเกี่ยว  อุปเสโณ  ก็ยิ่งมีโอกาสเพิ่มพูนการปฏิบัติควบคูกับปริยัติอย่างดียิ่ง  ท่านเคยกล่าวให้ทรรศนะธรรมในเรื่องปฏิบัติจิตภาวนา  ไว้อย่างน่าสนใจว่า
“ตามความเห็นส่วนตัวของอาตมานั้น  เห็นว่าทั้งการศึกษาฝ่ายปริยัติและปฏิบัตินั้นจะต้องมีควบคู่กันไปคือเรียนรู้ปฎิบัติต้องฝึกหัดด้านปฏิบัติกรรมฐานด้วย  ส่วนที่ฝึกปฏิบัติ  ก็ไม่ควรละเลยการศึกษาด้านปริยัติ

5#
 เจ้าของ| โพสต์ 2014-4-26 06:20 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
อาตมาบอกกับสำนักต่าง ๆ  ที่เคยเดินทางไปว่า  การจัดตั้งเป็นสำนักปฏิบัตินั้นดีแล้ว  แต่อย่างลืมว่าต้องเรียนปริยัติด้วย  เพราะประจักษ์แก่ตนเองมาแล้ว  ว่าถ้าเราฝึกปฏิบัติโดยไม่มีหลักปริยัติเลยก็จะแหวกแนวจากทิศทางที่ถูกต้องไปเช่นเดียวกับสำนักปริยัติ  เมื่อเรียนแล้วจะต้องรู้หลักปฏิบัติไปด้วย  มิฉะนั้นจะไม่รู้ในสิ่งที่เรียนมาได้อย่างแท้จริง
ฉะนั้นไม่ว่าจะเป็นที่ไหนสำนักปฏิบัติก็ดี  สำนักปริยัติก็ดีต้องบอกต้องเตือนให้เขาคิดถึงเรื่องเช่นนี้อยู่เสมอ  ที่ไหนเป็นสำนักปฏิบัติ  ก็ต้องบอกเขาให้เรียนปริยัติด้วย  แต่ถ้าที่ไหนเป็นสำนักเรียนปริยัติอย่างเดียวก็จะบอกว่าพยายามให้สำนักนั้นสอนการฝึกสมาธิบ้าง  คือจะแนะนำให้ทุกสำนักสอนกันให้ครบถ้วยทุกอย่างควบคู่กันไป...”
“อุปเสณวจนา”  ที่กล่าวมานับว่ามีค่ายิ่งแก่ชาวพุทธบริษัททุกหมู่เหล่า  เพราะว่าในพุทธจักรปัจจุบันนี้ความพอดีหรือความสมดุลระหว่างปริยัติและปฏิบัติขาดความเป็นเอกภาพฝ่ายปฏิบัติบางพวกก็มีความสำคัญมั่นหมายในความเป็นสมถะผู้ปฏิบัติภาวนาจนบางครั้งถึงกับดูหมิ่นเหยียดหยามฝ่ายปริยัติไปก็มี  หรือข้างฝ่ายปริยัติก็มองดูพระฝ่ายปฏิบัติอย่างสงบประมาทว่าเรียนไม่เก่งหรือขี้เกียจจะเรียน  แล้วเลือกทางลัดเอาการปฏิบัติมาเป็นความเด่นดังให้แก่ตนเองไปก็มี..ดังนี้เป็นต้น
สมเด็จพระพุฒาจารย์  (เกี่ยว  อุปเสโณ)  อยู่ในฐานะผู้รู้หรือเป็นพหุสูตรในด้านคัมภีร์พระไตรปิฎก  มีความแตกฉานในอรรถกถาธรรม  ทั้งฝ่ายเหนือฝ่ายใต้  แต่ท่านมิได้ถือเอาความสำเร็จของปริยัตินั้นไว้อวดผู้ใดเรียนรู้แล้วก็เก็บไว้ที่ใจ  แล้วท่านก็พิจารณาลึกลงไปอีกว่าปริยัติต่าง ๆ  ที่เรียนมานั้นจะต้องได้รับการทดลอง  ให้รู้ผลแห่งความจริงทุกกระแส  มิเช่นนั้นปริยัติก็เป็นเพียงตัวหนังสือหรือร่างทรงที่ไร้วิญญาณอย่างแท้จริง  ไร้แก่นสารที่จะนำไปสอนหรือนำไปปฏิบัติสูงสุดในชีวิต
ศาสตร์ใดที่ท่านได้เคยศึกษามาแล้วจาก  หลวงพ่อพริ้ง   หรือศาสตร์ใดที่เคยได้ร่ำเรียนมาจากสมเด็จพระสังฆราช  (อยู่  ญาโณทยมหาเถระ)  ศาสตร์นั้นท่านก็เก็บรักษาไว้ที่ใจและเมื่อถึงเวลาอันสมควรท่านก็ได้นำมาทดลองปฏิบัติจนเห็นจริงได้ผล!!
ในปี  พ.ศ.  ๒๔๙๗  พระมหาเกี่ยว  อุปเสโณ  สามารถสอบได้เปรียญธรรม  ๙  ประโยค  ซึ่งถือว่าเป็นความรู้ขั้นสูงสุดของการเป็นบัณฑิต  หรือนักปราชญ์ทางฝ่ายธรรม  หรือมหาวิทยาลัยของฝ่ายศาสนาจักร
สมเด็จพระพุฒาจารย์  (เกี่ยว  อุปเสโณ)  สอบได้เปรียญ  ๙  ประโยค  ตั้งแต่อายุยังน้อยคือมีอายุเพียง  ๒๑  ปี  เท่านั้นนับเป็นเกียรติประวัติครั้งสำคัญที่ท่านสร้างความปิติยินดีให้แก่พระอาจารย์อุปัชฌาย์  หรือหลวงพ่อพริ้ง  ผู้ให้การสนับสนุนทั้งกายใจมาตลอด  หรือแม้แต่ชาวเกาะสมุยเอง...หรือชาวสุราษฏร์ธานี  ต่างรู้สึกภาคภูมิใจในความสำเร็จนั้นเพราะเปรียญธรรม  ๙  ประโยค  เรียนยากกว่ามหาวิทยาลัยทางโลกนัก
เคยมีผู้เฒ่าผู้แก่บนเกาะสมุยเล่าให้ฟังว่า  มีอยู่คราวหนึ่งท่านเดินทางไปเยี่ยมมาตุภูมิที่เกาะสมุย  ผู้เฒ่าคนหนึ่งถามท่านว่าเรียนจบเปรียญ  ๙  ประโยคแล้วท่านไม่คิดเรื่องที่จะลาสิกขามาอยู่ในทางโลกบ้างหรือ  ท่านมหา?
เจ้าประคุณสมเด็จพระพุฒาจารย์  (เกี่ยว  อุปเสโณ)  ก็ตอบโยมท่านนั้นด้วยใบหน้าที่ยิ้มแย้มว่า...อยู่เป็นพระอย่างนี้ก็ดีแล้ว  จะได้ไม่ต้องไปกลัวโจรปล้น...?
ปริศนาธรรมข้อนี้เป็นที่แน่นอนแล้วว่า...  เจ้าประคุณสมเด็จพระพุฒาจารย์  (เกี่ยว  อุปเสโณ)  ท่านได้เลือกทางเดินของท่านไว้ล่วงหน้าแล้วว่า  ในชีวิตนี้จะไม่มีการเปลี่ยนใจหันหัวเรือข้ามช่องแคบแห่งโลกีย์อีกต่อไป
จิตวิญญาณเป็นตัวกำหนดทิศทางกรรมของบุคคลมาแล้วแต่ต้น  สมณะผู้ครองผ้ากาสาวพัตร์  เป็นเพศที่แตกต่างจากคนทั้งหลาย  เมื่อบรรพชากับกับพระอุปัชฌาย์นั้น  ทุกรูปนามก็จะต้องละความมีความเป็นชาติสกุลแห่งตนจนหมดสิ้น  ไม่เลือกว่าจะอยู่ในราชสกุล  หรือตระกูลพ่อค้า  คหบดี  หรือคนยากจนเข็ญใจ  ฉายาที่เป็นภาษาบาลีต่อท้ายความเป็นสมณะนั้น  คือตระกูลแห่งพุทธบิดร  องค์สัมมาสัมพุทธเจ้า
เมื่อบรรพชามาเป็นพุทธบุตรดังนี้แล้ว  สมณะก็คือผู้ตัดขาดจากตระกูลใด ๆ  ของบิดา-มารดา  เจ้าประคุณสมเด็จพระพุฒาจารย์  (เกี่ยว  อุปเสโณ)  มีฉายาที่พระอุปัชฌาย์ตั้งให้ว่า  “อุปเสโณ”  นี่คือสกุลใหม่ในความเป็นสมณะของท่านนั่นเอง  จึงไม่มีความจำเป็นใด ๆ  ที่จะกล่าวว่าท่านมีนามสกุลอย่างไร
ชีวิตจิตใจของเจ้าประคุณสมเด็จพระพุฒาจารย์  (เกี่ยว  อุปเสโณ)  ได้ชื่อเป็นผู้หักคานเรือนมาตั้งแต่ต้น  แม้ฐานะทางบ้านจะมากล้นด้วยทรัพย์สมบัติเพราะเป็นสกุลพ่อค้าวาณิชย์แต่ท่านได้สละในทรัพย์สินเหล่านั้นมาโดยตลอด  กายเนื้อของท่านนั้นห่อหุ้มด้วยผ้ากาสาวพัตร์และศีลของพระพุทธเจ้ามาตั้งแต่เป็นสามเณร  ไม่เคยลาสิกขาบทออกไปสู่โลกิยะให้แปดเปื้อนมลทินใด  ๆ  เลย  ธรรมกายของท่านจึงบริสุทธิ์ทั้งในเบื้องต้น  ในท่ามกลาง  และในบั้นปลาย.

6#
 เจ้าของ| โพสต์ 2014-4-26 06:21 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้


พ.ศ. ๒๔๘๙  สอบได้นักธรรมชั้นเอก
พ.ศ. ๒๔๙๗  สอบได้เปรียญธรรม ๙ ประโยค
พ.ศ. ๒๔๙๒  เป็นครูสอนพระปริยัติธรรม
พ.ศ. ๒๔๙๔  เป็นกรรมการตรวจธรรมสนามหลวง
พ.ศ. ๒๔๙๖  เป็นกรรมการตรวจบาลีสนามหลวง
พ.ศ. ๒๔๙๗  ไปร่วมประชุมฉัฏฐสังคีติ  ณ ประเทศพม่า
พ.ศ. ๒๔๙๘  เป็นกรรมการพิเศษ  แผนกตรวจสำนวนแปลพระวินัยปิฎก ฉบับปี ๒๕๐๐
พ.ศ. ๒๔๙๙  เป็นกรรมการนำข้อสอบไปเปิดสอบเป็นอาจารย์สอนภาษาบาลี มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย
พ.ศ. ๒๕๐๐  ไปประชุมร่วมอรรถสังคายนา ณ ประเทศพม่าเป็นหัวหน้าแผนกบาลี - ธรรม - มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย
เป็นอาจารย์สอนพระสูตร มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย
เป็นประธานหัวหน้าแผนกคณะพุทธศาสตร์  มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย
พ.ศ. ๒๕๐๑  เป็นกรรมการจัดทำนิตยสารพุทธจักร มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย  เป็นกรรมการนำข้อสอบไปเปิดสอบ  เป็นกรรมการอบรมศีลธรรมตามโรงเรียนต่างๆ  ของมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย  เป็นกรรมการเผยแพร่ศีลธรรม  ของมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย
พ.ศ. ๒๕๐๒  เป็นผู้ช่วยอธิการบดี มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัยเป็นหัวหน้าแผนกธรรมวิจัย  มหาจุฬาลงกรณวิทยาลัย
พ.ศ. ๒๕๐๔  เป็นกรรมการหน่วยวิจัย  จัดทำนามานุกรมของคณะสงฆ์โดยกรมศาสนา
พ.ศ. ๒๕๐๕  เป็นหัวหน้าคณะเดินทางไปดูการศาสนาและเพื่อศาสนสัมพันธ์ที่ประเทศ เกาหลี ญี่ปุ่น ไต้หวัน ฮ่องกง
พ.ศ. ๒๕๐๖  เป็นอนุกรรมการวัฒนธรรมทางจิต กระทรวงศึกษาธิการ  เป็นประธานคณะกรรมการต้อนรับสมณทูต จากไต้หวัน  เป็นอนุกรรมการมหาเถรสมาคม
พ.ศ. ๒๕๐๗  เป็นเลขาธิการมหาจุฬาลงกรณ์ราชวิทยาลัยได้รับพระบัญชาแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งรองเจ้าคณะภาค ๙เป็นหัวหน้าอำนวยการพระธรรมทูต สายที่ ๘
พ.ศ. ๒๕๐๘  ได้รับพระบัญชาแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งเจ้าคณะภาค ๙ได้รับพระบัญชาแต่งตั้งให้เป็นพระอุปัชฌาย์ ประเภทวิสามัญเป็นเลขานุการสมเด็จพระสังฆราช
พ.ศ. ๒๕๑๐   เป็นหัวหน้าคณะเดินทางไปสังเกตการณ์  การศึกษาพระพุทธศาสนา ที่ประเทศลาว  ศรีลังกา ญี่ปุ่น ไต้หวัน ฮ่องกง ในความอุปถัมภ์ของ พ.ศ.ล.
พ.ศ. ๒๕๑๒  เป็นกรรมการอำนวยการฝึกอบรมพระธรรมทูตไปต่างประเทศเป็นกรรมการพระธรรมจาริก  กรมประชาสงเคราะห์
พ.ศ. ๒๕๑๓  เป็นกรรมการร่างหลักสูตร ร.ร.พระปริยัติธรรม แผนกสามัญศึกษา  เป็นผู้รักษาการแทนเจ้าอาวาสวัดสระเกศ

7#
 เจ้าของ| โพสต์ 2014-4-26 06:22 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
พ.ศ. ๒๕๑๔  ได้รับพระบัญชาแต่งตั้งเป็นเจ้าอาวาสวัดสระเกศ
พ.ศ. ๒๕๑๕  ไปสังเกตุการณ์การศึกษาทางพระพุทธศาสนาของมหาวิทยาลัยต่างๆ
พ.ศ. ๒๕๑๖  เป็นกรรมการมหาเถรสมาคม
พ.ศ. ๒๕๒๔ ได้รับพระบัญชาแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งเจ้าคณะภาค ๑๐
พ.ศ. ๒๕๒๕  เป็นรองประธานสภาสงฆ์แห่งโลก
พ.ศ. ๒๕๒๘  เป็นประธานกรรมาธิการสังคายนาพระธรรมวินัย  ตรวจชำระพระไตรปิฎก  ในมหามงคลวโรกาสเฉลิมพระชนมพรรษา ครบ ๕ รอบ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
พ.ศ.  ๒๕๓๒ ได้รับพระบัญชาแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งเจ้าคณะใหญ่หนตะวันออก  เป็นประธานคณะกรรมการสำนักฝึกอบรมพระธรรมทูตไปต่างประเทศ
พ.ศ. ๒๕๓๔  เป็นประธานกรรมการจัดการชำระและพิมพ์อรรถกถา  พระไตรปิฎก  เฉลิมพระเกียรติ  สมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถ เนื่องในมหามงคลวโรกาส  เฉลิมพระชนมพรรษา ครบ ๕ รอบ ๑๒ สิงหาคม ๒๕๓๕
นอกจากนี้
-                  เป็นประธานกรรมการศูนย์ควบคุมการไปต่างประเทศของพระภิกษุสามเณร (ศ.ต.พ.)
-                  เป็นเป็นกรรมการร่างกฎมหาเถรสมาคม
-                  เป็นอนุกรรมการควบคุมการเรี่ยไร
-                  เป็นรองแม่กองงานพระธรรมทูต
พ.ศ. ๒๕๔๐  ได้รับพระบัญชาแต่งตั้งเป็นประธานคณะกรรมการฝ่ายเผยแพร่พระพุทธศาสนา มหาเถรสมาคม  เป็นประธานคณะกรรมการช่วยเหลือผู้ประสบภัยธรรมชาติ และอุบัติภัย
พ.ศ. ๒๕๔๗ เป็นประธานคณะผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช

8#
 เจ้าของ| โพสต์ 2014-4-26 06:22 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้



พ.ศ. ๒๕๐๑  เป็นพระราชาคณะชั้นสามัญ     ที่  พระเมธีสุทธิพงศ์
พ.ศ. ๒๕๐๕   เป็นพระราชาคณะชั้นราช       ที่  พระราชวิสุทธิเมธี
พ.ศ. ๒๕๐๗   เป็นพระราชาคณะชั้นเทพ      ที่  พระเทพคุณาภรณ์
พ.ศ. ๒๕๑๔   เป็นพระราชาคณะชั้นธรรม     ที่  พระธรรมคุณาภรณ์
พ.ศ. ๒๕๑๖   เป็นรองสมเด็จพระราชาคณะ  ที่  พระพรหมคุณาภรณ์
พ.ศ. ๒๕๓๓   เป็นสมเด็จพระราชาคณะ ที่   สมเด็จพระพุฒาจารย์  

9#
 เจ้าของ| โพสต์ 2014-4-26 06:23 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้


นอกจากเจ้าประคุณสมเด็จฯ จะได้สนองงานของคณะสงฆ์ และผืนแผ่นดินไทย มาตลอดระยะเวลาแห่งการอุปสมบทแล้ว  แม้ในปัจจุบัน ท่านจะมีวัยอาวุโสแล้ว แต่หากเป็นงานพระศาสนา ท่านไม่เคยย่อท้อ    ปัญหา อุปสรรค มีมากเพียงใด หากแก้ไขให้ผ่านพ้นไปได้ นั่นก็คือการประสบชัยชนะแห่งการทำงาน ท่าน จึงมุ่งมั่นสนองงานพระพุทธศาสนา มาตลอดชั่วชีวิตที่ผ่านมา เมื่อมีชาวต่างประเทศ มาเยี่ยม พบปะ สนทนาในเรื่องกิจการพระศาสนาแล้ว ประกายแห่งการนำแสงทองไปส่องจรัสเจิดจ้า ณ ดินแดนต่างประเทศ ก็ส่องประกายขึ้นมาในความเป็นพุทธบุตรของเจ้าประคุณสมเด็จฯ ที่จะต้องนำเอาสัจจธรรมไปเผยแพร่ให้ได้ทุกแห่งในโลกนี้
เมื่อเห็นว่าพระพุทธศาสนาในประเทศไทย ได้ขยายไปสู่พื้นที่ต่างๆทั่วประเทศแล้ว มองกว้างไกลไปนอกประเทศ ทั้งชาวไทยที่ต้องพลัดพรากจากดินแดนบ้านเกิดเมืองนอน และทั้งจากชาวต่างชาติที่มีความมุ่งมั่นจะศึกษาพระพุทธศาสนาอย่างใกล้ชิด ทั้งมีความต้องการจะให้มีพระพุทธศาสนาไปเผยแพร่ ณ ดินแดนแถบนั้น เจ้าประคุณสมเด็จฯ พร้อมทั้งพระธรรมทูต ขอประทานอนุญาตกล่าวนามท่าน        ทั้งสองรูป คือ เจ้าประคุณสมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ วัดปากน้ำ และท่านเจ้าคุณพระพรหมคุณาภรณ์ วัดญาณเวศกวัน นครปฐม นับย้อนหลังไปเมื่อ ๔๐ ปีที่แล้วนั้น ท่านทั้งสามรูปนี้ โดยมีเจ้าประคุณสมเด็จฯ วัดสระเกศ เป็นหัวหน้าคณะ ออกเดินทางไปยังประเทศต่างๆ ในโลกนี้ และทวีปอเมริกานั้น นับว่าท่านเป็นคณะพระธรรมทูต ยุคแรก ที่เดินทางไปเผยแพร่พระพุทธศาสนา และวางรากฐานแห่งการประดิษฐานวัดในพระพุทธศาสนา ณ ดินแดนทวีปอเมริกา  จากรากฐานที่ต้องต่อสู้ฟันฝ่าอุปสรรคนานาประการ ในยุคเริ่มต้น จนปรากฏเป็นผลในปัจจุบันนี้  ทำให้เราคนไทยทั้งหลายเกิดความภาคภูมิใจได้ว่า กิจการพระพุทธศาสนาในประเทศสหรัฐอเมริกานั้น ปรากฏผลเป็นความเจริญรุ่งเรือง ขึ้นอย่างมาก ในพรรษาปีพุทธศักราช ๒๕๔๘ ที่ผ่านมานี้   มีวัดไทยในประเทศสหรัฐอเมริกา เกิดขึ้นแล้วถึง ๑๐๗ วัด  มีพระสงฆ์  จำพรรษา และอยู่ปฏิบัติศาสนกิจถึง ๓๑๗ รูป  กล่าวได้ว่าจากก้าวแรกในวันนั้น มาถึงวันนี้ มีวัดไทยและมีพระสงฆ์อยู่ปฏิบัติศาสนกิจเกือบทุกรัฐ ของทวีปอเมริกาแล้ว
ประเทศออสเตรเลีย มีวัดไทย ๑๓ วัด
ประเทศออสเตรีย มีวัดไทย ๑ วัด
ประเทศเบลเยี่ยม มีวัดไทย ๓ วัด
ประเทศแคนาดา มีวัดไทย ๗ วัด
ประเทศจีน มีวัดไทย ๑ วัด
ประเทศเดนมาร์ก มีวัดไทย ๒ วัด
ประเทศอังกฤษ มีวัดไทย ๑๐ วัด
ประเทศฟินแลนด์ มีวัดไทย ๑ วัด
ประเทศฝรั่งเศส มีวัดไทย ๓ วัด
ประเทศเยอรมัน มีวัดไทย ๙ วัด
ประเทศอินเดีย มีวัดไทย ๗ วัด
ประเทศอินโดนีเซีย มีวัดไทย ๕ วัด
ประเทศอิตาลี มีวัดไทย ๑ วัด
ประเทศเนปาล มีวัดไทย ๑ วัด
ประเทศเนเธอร์แลนด์ มีวัดไทย ๑ วัด

10#
 เจ้าของ| โพสต์ 2014-4-26 06:24 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
ประเทศนิวซีแลนด์ มีวัดไทย ๔ วัด
ประเทศนอร์เวย์ มีวัดไทย ๒ วัด
ประเทศสวีเดน มีวัดไทย ๔ วัด
ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ มีวัดไทย ๒ วัด
ประเทศไต้หวัน มีวัดไทย ๒ วัด
เขตเศรษฐกิจพิเศษฮ่องกง มีวัดไทย ๓ วัด
ประเทศสิงคโปร์ มีวัดไทย ๑๗ วัด
ประเทศมาเลเซีย มีวัดไทย ๗๙ วัด
ในทวีปเอเซีย รวมทั้งเพื่อนบ้านใกล้เคียง ไม่จำต้องกล่าวถึง เพราะทุกประเทศแถบนี้ ยอมรับ นับถือว่า ประเทศไทย เป็นศูนย์กลางพระพุทธศาสนา ที่จะต้องเดินทางมาศึกษาและขอรับคำแนะนำอยู่อย่างต่อเนื่อง
ทุกแห่งที่กล่าว ทุกประเทศที่เอ่ยถึง เจ้าประคุณสมเด็จฯ เคยเดินทางไปให้กำลังใจ ให้คำชี้แนะ ให้การสนับสนุน จนเกิดเป็นความสำเร็จในวันนี้ ทุกที่        เช่นเดียวกัน
นอกจากจะให้การสนับสนุน จนมีการประดิษฐานวัดในประเทศต่างๆแล้ว
ในสายงานของวัดสระเกศเอง เจ้าประคุณสมเด็จฯ ยังได้วางรากฐาน ตลอดจน          ข้อแนะนำ ความเห็นต่างๆ ให้การสนับสนุน เพื่อให้เกิดวัดในสายงานของวัดสระเกศในดินแดนแถบประเทศยุโรป และสแกนดิเนเวีย ขึ้น และเพราะท่านมีวิสัยทัศน์ในด้านการเผยแพร่พระพุทธศาสนา ดังกล่าวแล้วนั่นเอง วัดทุกวัดที่ท่านให้การสนับสนุน จึงไม่ได้นำเงินจากประเทศไทยไปใช้ในการก่อสร้างเลย แต่เกิดขึ้นจากศรัทธาของพุทธศาสนิกชน และการสนับสนุนของรัฐบาลในประเทศนั้นๆ ปัจจุบันนี้ มีถึง ๙ วัด คือ วัดพุทธาราม ประเทศเนเธอร์แลน, วัดพุทธาราม ประเทศสวีเดน ๒ วัด, วัดพุทธาราม ประเทศฟินแลนด์, วัดพุทธาราม ประเทศเยอรมนี, วัดไทยนอร์เวย์ ประเทศนอร์เวย์ วัดไทยธรรมาราม และวัดพุทธรังษี ประเทศเบลเยี่ยม และ วัด   พุทธาราม ประเทศลักเซมเบอร์ก
เพราะเป็นพระมหาเถระ ผู้มีวิสัยทัศน์ต่อการเผยแพร่พระพุทธศาสนาไปยังต่างแดนนี่เอง เจ้าประคุณสมเด็จฯ จึงได้รับความไว้วางใจจากคณะสงฆ์ โดย    มหาเถรสมาคม มอบหมายให้ดำรงตำแหน่งประธานคณะกรรมการฝึกอบรมพระ   ธรรมทูตไปต่างประเทศ และมอบหมายให้ดำรงตำแหน่งประธานศูนย์ควบคุมการ  เดินทางไปต่างประเทศสำหรับพระภิกษุสามเณร อีกตำแหน่งหนึ่งด้วย จึงนับได้ว่า คณะสงฆ์ไทย ได้พระมหาเถระผู้มีวิสัยทัศน์ด้านการเผยแพร่พระพุทธศาสนา อย่าง แท้จริง

ขออภัย! คุณไม่ได้รับสิทธิ์ในการดำเนินการในส่วนนี้ กรุณาเลือกอย่างใดอย่างหนึ่ง ลงชื่อเข้าใช้ | ลงทะเบียน

รายละเอียดเครดิต

ตอบกระทู้ ขึ้นไปด้านบน ไปที่หน้ารายการกระทู้