เจ้าประคุณสมเด็จฯ เป็นพระมหาเถระ ผู้เปี่ยมด้วยเมตตาธรรม มีหน้าอันพร้อมที่จะรับแขกอยู่เสมอ คือ ยิ้มแย้ม แจ่มใส พร้อมที่จะให้ข้อคิด ข้อธรรม อันจะเป็นประโยชน์ต่อการครองเรือน หรือการประพฤติปฏิบัติ แก่คนทั่วไป อยู่เสมอ ความข้อนี้ ผู้ที่รับสัมผัสบารมีธรรมขององค์ท่าน ย่อมเป็นประจักษ์พยานได้ พระภิกษุสามเณรในวัดสระเกศ มีเป็นร้อยรูป สามเณรไม่ต่ำกว่า ๔๐ รูป แม้จะมากมายเพียงนี้ แต่เจ้าประคุณสมเด็จฯ สามารถจำชื่อได้หมดทุกรูป ทราบว่า รูปใด อยู่กุฏิไหน มีภูมิลำเนาอยู่ที่ใด และทราบไปถึงบูรพาจารย์ บรรพบุรุษซึ่งเป็นพระมหาเถระของพระภิกษุสามเณรรูปนั้น ๆ ได้อีกด้วย เกิดสารทุกข์ สุกดิบ ขึ้นกับองค์ใด ท่านสามารถเข้าถึง และแก้ปัญหาได้อย่างรวดเร็ว เพราะปฏิปทาด้านความ ทรงจำอันประพฤติปฏิบัติอย่างสม่ำเสมอ นั่นเอง ภายในฤดูกาลเข้าจำพรรษา เจ้าประคุณสมเด็จฯ จะให้การแนะนำแก่สามเณรด้วยตัวท่านเอง สอนเรื่องปัจจัยสี่ การดำรงชีพของพระภิกษุสามเณร สอนเรื่องเสขิยวัตร อย่างละเอียด แม้กระทั่งการจับช้อนส้อม เป็นต้น ในทุกเย็นวันศุกร์ เจ้าประคุณสมเด็จฯ จะลงสอนพระนวกะผู้บวชภายในพรรษา ด้วยตนเอง พระใหม่ ทุกรูป จึงพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า มีบุญที่ได้บวชในพระพุทธศาสนา และมีพระมหาเถระชั้นสมเด็จ คอยให้คำแนะนำ สั่งสอน เหมือนพ่อสอนลูก เช่นนี้ ไม่เคยนึกฝัน มาก่อน ในชีวิตนี้เลยทีเดียว เจ้าประคุณสมเด็จฯ จะลงทำวัตรค่ำในเวลา ๒๑.๐๐ น. ทุ่ม เป็นประจำไม่ขาด ด้วยเหตุนี้ ที่วัดสระเกศจึงมีการทำวัตร ๓ เวลา คือ เช้า ๐๘.๓๐ น., เย็น ๑๗.๐๐น. เและ ค่ำ ๒๑.๐๐ น. เป็นการเอื้อเฟื้อพระภิกษุสามเณร ซึ่งไปศึกษาในมหาวิทยาลัยสงฆ์ ทั้งสองแห่ง ตั้งแต่ตอนบ่ายนั้น ได้มีโอกาสทำวัตรสวดมนต์ด้วย ก็เพราะท่านเคยดำรงตำแหน่งเลขาธิการมหาจุฬาฯ มาก่อน จึงเข้าใจกิจวัตรของพระสงฆ์ ผู้กำลังศึกษา ทั้งคดีโลก และคดีธรรม เป็นอย่างดี ภายในพรรษา เจ้าประคุณสมเด็จฯ ก็จะลงเทศน์ ภายในพระอุโบสถ สลับกับพระสงฆ์ผู้เป็นพระธรรมกถึกของวัด นอกจากนั้นในเทศกาลสำคัญ เช่น วันมาฆบูชา เป็นต้น ท่านก็จะเทศน์ด้วยตัวเอง ทำให้ผู้มาบำเพ็ญกุศล เกิดศรัทธา ปสาทะ เพิ่มขึ้นอีกเป็นอย่างมาก
|