|
๏ สร้างวัดอุดมรัตนาราม
ต่อมา พ.ศ. 2480 ท่านอยากจะกลับมาจำพรรษาที่บ้านอากาศ ซึ่งเป็นถิ่นมาตุภูมิของท่าน และมีความประสงค์จะสร้างวัดของพระฝ่ายธรรมยุตขึ้นที่บ้านอากาศ เพราะขณะนั้นวัดฝ่ายธรรมยุติยังไม่มี จึงได้กราบลาท่านพระอาจารย์สีลา มาดูสถานที่สำหรับจะสร้างวัด ได้พบสถานที่เงียบสงัดแห่งหนึ่งอยู่ทางทิศตะวันตกของหมู่บ้านอากาศ อยู่ใกล้ๆ กับลำน้ำยาม (ปัจจุบันอยู่หลังปศุสัตว์อำเภอ) ซึ่งครั้งหนึ่ง ท่านพระอาจารย์สิงห์ ขนฺตยาคโม และท่านพระอาจารย์มหาปิ่น ปญฺญาพโล เคยมาพำนักจำพรรษาอยู่เมื่อปี พ.ศ. 2469
แต่ท่านพิจารณาเห็นว่าไม่เหมาะสมนักเพราะอยู่ใกล้กับทางใหญ่ เป็นที่สัญจรไปมาของผู้คน จึงทำให้ไม่สงบสงัดเท่าที่ควร ท่านจึงเลือกเอาสถานที่แห่งใหม่ซึ่งอยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ของสถานที่แห่งเดิม เพราะเห็นว่าสงบสงัดดี ดังนั้น ท่านจึงได้ปรึกษากับคณะศรัทธาญาติโยมบ้านอากาศหลายคน เช่น นายพุทธวงศ์ แก้วพาดี กำนันตำบลอากาศ, นายจารย์เขียว สติยศ, นายเขียว แง่มสุราช แพทย์ประจำตำบลอากาศ เป็นต้น แล้วได้พากันร่วมสร้างวัดขึ้นมา ในครั้งแรกคณะศรัทธาญาติโยมส่วนมากไม่เห็นด้วย เพราะเห็นว่าสถานที่อยู่ห่างไกลจากหมู่บ้านและรกชัฏมาก อีกทั้งเต็มไปด้วยป่าไม้นานาชนิดและยังมีสัตว์ร้ายต่างๆ อีกด้วย เช่น เสือ ฯลฯ แต่ท่านไม่กลัวในเรื่องสัตว์ร้ายนั้น และได้อธิบายให้คณะศรัทธาญาติโยมทั้งหลายเข้าใจว่า การอยู่ในที่อันสงบสงัดของพระเณรเหมาะแก่การทำความเพียรเพื่อแผดเผากิเลส และทำความหลุดพ้นให้แก่จิตใจตามหลักของพระพุทธศาสนา
เมื่อญาติโยมเข้าใจและยินยอมแล้ว ท่านและพระเณรอีก 3 รูป คือ พระคำพอง ญาณกิตติ (ปัจจุบันลาสิกขาแล้ว อยู่ที่บ้านอากาศ คือ คุณพ่อคำพอง อินธิสิทธิ์), พระคำภา โสภโณ (ลาสิกขาแล้ว) และสามเณรแถว ครุฑอุทา (ลาสิกขาแล้ว) ได้พากันเริ่มต้นสร้างสำนักสงฆ์ขึ้น โดยหาไม้มาสร้างกุฏิเป็นอันดับแรก ได้กุฏิเก่าจากวัดศรีโพนเมือง บ้านอากาศ 1 หลัง และต่อมาได้สร้างกุฏิเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จนได้ถึง 10 หลัง พระภิกษุสามเณรก็มีมากขึ้น
จากนั้นได้สร้างศาลาโรงธรรมขึ้น 1 หลัง โดยมีนายป้อง วงศ์วันดี เป็นช่างออกแบบแปลนก่อสร้าง และขณะเดียวกันก็สร้างกุฏิเพิ่มขึ้นอีก เพราะปรากฏว่ามีลูกหลานชาวบ้านอากาศและบ้านอื่นๆ มีความเลื่อมใสศรัทธามาบวชกับท่านเป็นจำนวนมาก
พ.ศ. 2480 ท่านได้ทำหนังสือถึงกรมการศาสนาเพื่อขออนุญาตสร้างวัด และก็ได้รับอนุญาตให้สร้างวัดได้ โดยตั้งชื่อวัดว่า “อุดมรัตนาราม” เพื่อให้สอดคล้องกับฉายาของท่าน
หลายปีต่อมาพระภิกษุสามเณรมีจำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ และญาติโยมที่สนใจในการปฏิบัติธรรมก็มากขึ้น ประกอบกับท่านได้รับแต่งตั้งให้เป็นพระอุปัชฌาย์ ท่านจึงพิจารณาเห็นว่าการสร้างวัดนั้น ถ้าจะให้สมบูรณ์แบบต้องมีพัทธสีมา จึงได้ประชุมญาติโยมทำหนังสือขอพระราชทานวิสุงคามสีมาเพื่อสร้างอุโบสถ ในปี พ.ศ. 2502 แล้วเสร็จสมบูรณ์และประกอบพิธีผูกพัทธสีมา เมื่อปี พ.ศ. 2517 ปัจจุบันวัดมีเนื้อที่ 38 ไร่ 3 งาน 92 ตารางวา อาณาเขตทิศเหนือ ยาว 7 เส้น 6 วา 2 ศอก จดทุ่งนา, ทิศใต้ ยาว 7 เส้น จดทุ่งนา, ทิศตะวันออก ยาว 6 เส้น 7 วา จดทางสาธารณะประโยชน์, ทิศตะวันตก ยาว 5 เส้น จดฝายน้ำล้น
|
|