เมื่อแจกแล้ว ′ดราม่า′ เชิญมาอ่านฟิน ๆ ใน ′ประวัติศาสตร์(ปฏิทิน)′ สังคมสยาม-ไทย
วันที่ 06 มกราคม พ.ศ. 2559 เวลา 17:05:58 น.
|
กลายเป็นประเด็นรับปีใหม่ขึ้นมาทันที เมื่อมีกระแสข่าวห้ามแจกปฏิทิน ‘ทักษิณ-ยิ่งลักษณ์’ ถึงขนาดมีทหาร-ตำรวจ เข้าควบคุม รวมถึง พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ออกมาแสดงความไม่เห็นด้วยกับการใช้ภาพใบหน้า ‘นักการเมือง’ ใส่บนปฏิทิน เช่นเดียวกับ ม.ล.ปนัดดา ดิศกุล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ที่โพสต์เฟซบุ๊กส่วนตัว มีข้อความตอนหนึ่งว่า “ในทางจารีตประเพณีของไทย ภาพที่จะไปปรากฏอยู่บนปฏิทินแขวนฝาผนังบ้านมอบให้แก่ผู้คนในปีใหม่นั้น ต้องเป็นภาพที่มีความหมายสำคัญยิ่งต่อคนในชาติ”
เหตุการณ์ที่เกิดขึ้น รวมทั้งความคิดเห็นในลักษณะดังกล่าว นำไปสู่การตั้งคำถาม และย้อนกลับไปค้นหาความเป็นมาของการตีพิมพ์ปฏิทิน (แขวนผนัง) ในเมืองไทยว่า แท้จริงแล้วอาจมีความหลากหลายมากกว่าที่คิด ทั้งยังมีความเป็นมาน่าสนใจไม่ใช่น้อย
แรกมีปฏิทินไทยยุคปลาย ร.3
การพิมพ์ปฏิทินมีขึ้นเป็นครั้งแรกในเมืองไทย เมื่อ วันที่ 14 มกราคม พ.ศ. 2385 (ปลายสมัย รัชกาลที่ 3) ต่อมาในรัชกาลที่ 4 ทรงฯโปรดให้พิมพ์ปฏิทินภาษาไทย โดยโปรดเกล้าฯ เปลี่ยนจากปฏิทินจันทรคติมาใช้ปฏิทินสุริยคติ ครั้นสมัยรัชกาลที่ 5 มีการใช้ปฏิทินเกรกอเรียนตามแบบสากล โดยเดือนแรกของปีคือเดือนเมษายน และเดือนสุดท้ายของปีคือมีนาคม และปรับมาใช้รัตนโกสินทรศก และพุทธศักราชตามลำดับ
จนกระทั่งในสมัยจอมพล ป. พิบูลสงคราม ได้มีการปรับเปลี่ยนปฏิทินอีกครั้งโดยปรับให้วันที่ 1 มกราคม เป็นวันขึ้นปีใหม่และเป็นวันเริ่มต้นของปีแทนที่รูปแบบเดิม โดยวันขึ้นปีใหม่ในรูปแบบนี้เริ่มใช้ในปี พ.ศ. 2484
ในสมัยรัชกาลที่ 5 ปฏิทินที่พิมพ์ในเมืองไทย เรียกว่า "ประนินทิน" ขายเล่มละ 4 บาท ซึ่งกลายเป็นต้นแบบของปฏิทินไทย การพิมพ์ปฏิทินเล่มยังมีการจัดทำต่อมา ในหลายรูปแบบ ซึ่งมีการบอกน้ำขึ้น-น้ำลง ดิถีดวงจันทร์ และปฏิทินภาษาจีนร่วมด้วย และมีช่องว่างให้บันทึกเล็กน้อย ในรูปแบบของ ไดอารี่ หรือ "สมุดบันทึกประจำวัน" ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ 6 โปรด ฯ ให้พิมพ์ ‘ปฏิทินพก’ เล่มเล็กๆเป็นของชำร่วย สำหรับพระราชทานแก่ขุนนางที่ลงนามถวายพระพร ในวันขึ้นปีใหม่ และปฏิทินก็ได้รับความนิยมสืบมา
ปฏิทินธนาคารไทยพาณิชย์ พ.ศ.2523
′ภาพจำ′ หลากหลายในปฏิทินแขวนผนัง
หลังจากนั้น หน่วยงานเอกชนมีการพิมพ์ปฏิทินแจก โดยเฉพาะหน่วยงานใหญ่ๆ อย่างธนาคาร บริษัท ห้างร้าน เพื่อแจกลูกค้าในช่วงปีใหม่ โดยมีการใช้ภาพบนปฏิทินที่หลากหลาย ที่ได้รับความนิยมอย่างสูงยิ่ง คือ ภาพพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว สมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถ และพระบรมวงศานุวงศ์ ซึ่งถือเป็นภาพอันเป็นสิริมงคลเมื่อได้รับในช่วงปีใหม่ นอกจากนี้ ยังมีภาพของอดีตบูรพมหากษัตริย์ไทย รวมถึงพระเกจิอาจารย์ชื่อดังด้วย
ไม่เพียงเท่านั้น ภาพวิวทิวทัศน์ที่สวยงาม รวมถึงภาพดารานักแสดงก็ได้รับความนิยมกว้างขวาง โดยทางสถานีวิทยุโทรทัศน์ต่างๆ จะให้ดาราในสังกัดของตนมาเป็นแบบในการถ่ายปฏิทิน ซึ่งมีทั้งภาพเดี่ยว ภาพพระเอก-นางเอกคู่ขวัญ ไปจนถึงภาพหมู่ ซึ่งยังปฏิบัติมาจนถึงทุกวันนี้ โดยมีรูปแบบการถ่ายและโพสต์ท่าแตกต่างกันไปตามยุคสมัย เช่น ในอดีตนิยมแนวฝรั่ง ทั้งเสื้อผ้าหน้าผม และท่วงท่า ปัจจุบันหันมาฮิตแบบเกาหลี จนมีบรรดาแฟนคลับตั้งข้อสังเกตว่า ก๊อปปี้เกาหลีมาทั้งดุ้นจนเป็นดราม่าเล็กๆกันมาแล้ว
จะเห็นได้ว่า ปฏิทินแขวนผนังมีความทรงจำที่หลากหลาย ทั้งเรื่องของความเป็นสิริมงคล ความสวยงาม และสิ่งบันเทิงใจในด้านต่างๆ
ปฏิทินแขวนผนังของ "สบู่ลักส์" พ.ศ.2520 ที่ใช้ดาราหญิงชื่อดังเป็นเเบบ
|
|