การต่อสู้เพื่อคนอินเดียดำเนินไปอย่างต่อเนื่อง แต่ใน ค.ศ. 1922 ได้เกิดเหตุใช้กำลังต่อสู้กันอีกครั้ง คานธี ถูกจับกุมอีกครั้งในฐานะผู้ก่อความไม่สงบ และถูกศาลตัดสินจำคุก 6 ปีแต่ถูกปล่อยตัวออกมาก่อนกำหนด เพราะเหตุผลทางสุขภาพ ใน ค.ศ. 1924 และตั้งแต่ถูกปล่อยตัว คานธี ก็หันไปแก้ไขปัญหาที่เกิดจากภายในประเทศก่อน และใน ค.ศ. 1930 คานธี ก็หวนกลับสู่สังเวียนการเมืองอีกครั้ง เพราะต้องการประท้วงกฎหมายอังกฤษที่ห้ามคนอินเดียทำเกลือกินเอง
โดยวันที่ 12 มีนาคม คานธี ได้เริ่มการเดินทางไปยังชายทะเลในตำบลฑัณฑี พร้อมกับประชาชนนับแสนคน ซึ่ง คานธีเดินทางเป็นเวลา 24 วัน 400 กิโลเมตร ก็ไปถึงชายทะเล คานธี บอกประชาชนนับแสนให้ร่วมกันทำเกลือกินเอง ซึ่งเป็นการฝ่าฝืนกฎหมายที่อังกฤษตั้งไว้ ทางการอังกฤษจึงจับกุม คานธี และประชาชนนับแสนคน ในวันที่ 4 พฤษภาคม ค.ศ. 1930 ทำให้เกิดความปั่นป่วนอย่างใหญ่หลวง ต่อมา ค.ศ. 1931 รัฐบาลอังกฤษได้ปล่อยตัว คานธี จนเมื่อ ค.ศ. 1939 ได้เกิดสงครามโลกครั้งที่ 2 คานธี เข้าร่วมมีการเดินขบวนรณรงค์ จนถูกจับอีก แต่ครั้งนี้ระหว่างอยู่ในคุก กัสตูรบา ภรรยาของ คานธี ได้เสียชีวิตลง และใน ค.ศ. 1944 คานธี ก็ถูกปล่อยตัว
ใน ค.ศ. 1945 นายกรัฐมนตรีอังกฤษ ประกาศจะให้อินเดียได้ปกครองตนเอง แต่ก่อนจะให้อิสระอินเดีย อังกฤษต้องหารัฐบาลชาวอินเดีย ที่จะปกครองอินเดียต่อจากอังกฤษในช่วงแรก ๆ ซึ่งไม่สามารถตกลงกันได้ว่า ระหว่างพรรคคองเกรส (ที่นับถือศาสนาฮินดู) กับสันนิบาตมุสลิม ใครจะมาปกครอง การให้อิสระอินเดียจึงต้องล่าช้าออกไป
แต่ใน ค.ศ. 1946 ได้เกิดความขัดแย้งระหว่างชาวมุสลิมและฮินดูในอินเดีย จนเกิดเป็นเหตุนองเลือดรุนแรงไปทั่วทุกหัวระแหง คานธี รู้สึกเสียใจมาก จึงได้หอบสังขารวัย 77 ปี ลงเดินเท้าไปยังภูมิภาคต่าง ๆ ในอินเดีย เพื่อขอร้องให้ชาวอินเดียหันมาสามัคคีกัน หยุดทะเลาะกันเสียที ประชาชนอินเดียที่เคารพนับถือ และรัก คานธี เห็นเช่นนี้จึงเลิกทะเลาะกัน ทำให้เกิดความสงบสามัคคีในชนบทได้ ต่อมามีการเจรจาตกลง โดยได้ผลสรุปคือ เมื่ออินเดียได้รับเอกราช จะแบ่งประเทศเป็น 2 ส่วน โดยให้พื้นที่ที่คนส่วนใหญ่เป็นคนฮินดู เป็นประเทศอินเดียของพรรคคองเกรส แล้วพื้นที่ที่คนส่วนใหญ่เป็นคนมุสลิม ให้เป็นประเทศปากีสถาน ปกครองโดยสันนิบาตมุสลิม
ในที่สุด 15 สิงหาคม ค.ศ. 1947 อินเดียเป็นอิสระจากอังกฤษโดยสมบูรณ์ และในวันนั้น อินเดีย ก็แตกเป็น 2 ประเทศ คืออินเดียของชาวฮินดู กับปากีสถานของมุสลิม แต่ท้องที่ ๆ คนส่วนใหญ่เป็นศาสนาหนึ่ง ก็ใช่ว่าจะไม่มีคนอีกศาสนาหนึ่งอาศัยอยู่เลย ดังนั้น ผู้ที่อยู่ในอาณาเขตประเทศที่เป็นท้องที่ที่คนส่วนใหญ่นับถือศาสนาตรงข้าม ก็ต้องอพยพ กล่าวคือ ผู้ที่เป็นมุสลิมในอินเดีย ก็ต้องอพยพไปปากีสถาน และผู้ที่เป็นฮินดูในปากีสถาน ก็ต้องอพยพมาอินเดีย ทั้งสองประเทศจึงจัดงานฉลองอิสรภาพครั้งใหญ่ แต่ คานธี ไม่ได้เข้าร่วมการเฉลิมฉลองดังกล่าว เขากลับเดินทางไปยังกัสกัตตา เพราะได้ข่าวว่ามุสลิมและฮินดูยังรบสู้กันอยู่ คานธี ไปขอร้องให้หยุดสู้กัน แต่ไม่เป็นผล เขาจึงประกาศอดอาหารอีก ซึ่งครั้งนี้ได้ผล มุสลิมและฮินดูในกัลกัตตาเลิกรบกันทันที
ในวันที่ 13 มกราคม ค.ศ. 1948 คานธีต้องการไปปากีสถาน เพื่อสมานฉันท์กับชาวมุสลิม ทั้ง ๆ ที่คานธีเป็นฮินดู สันนิบาตมุสลิมจึงคัดค้านการเข้าปากีสถานของคานธี เพราะเกรงจะเกิดอันตราย คานธีจึงประกาศอดอาหารอีกครั้ง เพื่อสมานฉันท์ระหว่างมุสลิมกับฮินดู แต่องค์กรประชาชนในนิวเดลฮีให้คำมั่นว่า จะพิทักษ์รักษาชีวิต ทรัพย์สิน และศาสนาของชาวมุสลิมอย่างเต็มที่ คานธี จึงกลับมากินอาหารอีกครั้ง
และในวันที่ 30 มกราคม ค.ศ. 1948 ช่วงตอนเย็น คานธี อยู่กลางสนามหญ้า กำลังสวดมนต์ไหว้พระตามกิจวัตร และขณะที่ คานธี กำลังพูดว่า "เห ราม" แปลว่า "ข้าแต่พระผู้เป็นเจ้า" นาถูราม โคทเส ชาวฮินดูผู้คลั่งศาสนา ไม่ต้องการให้ฮินดูสมานฉันท์กับมุสลิม ได้ยิงปืนใส่ คานธี 3 นัด จนล้มลงสิ้นลมหายใจในวัย 78 ปี
|