การประกอบศาสนพิธี
ดังกล่าวมาแล้วว่าพิธีกรรมนั้นเป็นเพียงส่วนประกอบไม่ใช่ตัวหลักการศาสนา เวลาจะประกอบพิธีกรรมจึงควรยึดถือเฉพาะที่เป็นหลักศาสนพิธี คือให้เข้าหลักการทำบุญทางศาสนา ๓ ประการข้างต้นนั้นเท่านั้น ตัดพิธีกรรมส่วนเกินซึ่งเป็นเหตุฟุ่มเฟือย เป็นสิ่งที่ทำต่อกันมาโดยไม่ทราบเหตุผลออกเสีย นอกจากต้องคำนึงถึงหลักศาสนพิธีแล้วต้องคำนึงถึงหลักเศรษฐกิจและหลักสังคมด้วย
สรุปแล้ว การประกอบพิธีกรรมทุกประเภทควรคำนึงถึงหลักอย่างน้อย 4 ประการ คือ
1. ต้องประหยัด คือใช้จ่ายเฉพาะในสิ่งที่จำเป็น ไม่ฟุ่มเฟือย ไม่ทำแบบตำน้ำพริกละลายแม่น้ำ ตัดสิ่งที่ไม่เกิดบุญไม่เกิดกุศลออกเสีย ยิ่งสิ่งที่เป็นอบายมุขต่างๆ ด้วยแล้วไม่ควรจัดให้มีขึ้นในพิธีกรรมเป็นเด็ดขาด เพราะนอกจากจะไม่เป็นบุญเป็นกุศลแล้ว ยังจะพลอยเป็นบาปเป็นกรรมไปเสียอีกด้วย
2. ต้องให้ได้ประโยชน์และคุ้มค่า คือสิ่งที่ทำที่ลงทุนไปนั้นต้องให้ได้ให้เป็นประโยชน์ต่อตัวเองหรือผู้อื่นที่เราต้องการให้ได้รับประโยชน์อย่างแท้จริง ทำแล้วให้มีกำไรมากกว่าขาดทุนหรือให้เป็นกำไรทั้งหมด คือให้เป็นบุญมากกว่าเป็นบาป หรือให้เป็นบุญล้วนๆ ไม่มีบาปเข้ามาปน
3. ต้องถูกต้องตามขนบธรรมเนียมประเพณีและวัฒนธรรม คือทำให้ถูกหลักเกณฑ์แห่งการทำบุญนั้นๆ ตัดพิธีกรรมส่วนเกินออกเสีย แต่เมื่อตัดแล้วต้องไม่เสียแบบแผนที่ดีงาม ที่มีเหตุมีผลต้นปลายซึ่งนิยมกันมา ทั้งนี้มิใช่ว่าต้องทำตามอย่างที่เขาทำมาทั้งหมดเสมอไป เพราะพิธีกรรมที่ทำตามอย่างกันมานั้นมักจะเป็นพิธีกรรมส่วนเกินเสียเป็นส่วนใหญ่ บางทีก็ทำกันไปโดยไม่รู้ว่าทำกันไปทำไมก็มี เห็นเขาทำก็ทำตามเขาบ้าง หรือทำไปด้วยความจำใจ ถ้าไม่ทำก็กลัวว่าเขาจะตำหนิหรือติฉินเอาก็มี
4. ต้องให้เหมาะสม คือเวลาทำต้องดูฐานะความเป็นอยู่ดูกำลังของตัวก่อนว่าควรทำได้เพียงไรแค่ไหน มีแค่ไหนก็ควรทำแค่นั้น ไม่จำเป็นต้องทำให้เท่าเขาหรือให้เหมือนเขาเสมอไป อย่าถึงกับต้องไปกู้หนี้ยืมสินเขามาทำ เพราะจะทำให้เดือดร้อนในภายหลังได้การประกอบพิธีกรรมที่ถูกต้องตามหลักเกณฑ์ย่อมได้ผลไม่น้อยและทำได้ไม่ยากนัก เป็นทางบุญแน่แท้ ทำแล้วย่อมได้บุญสมประสงค์ แต่ถ้าประกอบไม่ถูกต้องหรือประกอบโดยไม่เข้าใจอาจจะไม่ได้ผลบุญเท่าที่ควรจะได้ ทั้งยังจะขาดทุนเสียด้วยซ้ำไป ศาสนพิธีมี 4 หมวดใหญ่ในพระพุทธศาสนาแบ่งศาสนพิธีออกเป็น 4 หมวดใหญ่ๆ ดังนี้
1. กุศลพิธี เป็นพิธีเกี่ยวกับการอบรมความดีงามทางพระพุทธศาสนาเฉพาะบุคคล เช่น การแสดงตนเป็นพุทธมามกะ การเวียนเทียนในวันสำคัญทางพระพุทธศาสนา และการรักษาศีลประเภทต่างๆ เป็นต้น
2. บุญพิธี เป็นพิธีทำบุญเนื่องด้วยประเพณีในครอบครัวซึ่งเป็นประเพณีที่เกี่ยวกับการดำเนินชีวิตของคนทั่วไปมี 2 ประเภท คือ
2.1 พิธีทำบุญในงานมงคล ได้แก่การทำบุญในโอกาสต่างๆ
2.2 พิธีทำบุญในงานอวมงคล เช่น บุญหน้าศพ เป็นต้น
3. ทานพิธี เป็นพิธีถวายทานต่างๆ เช่น การถวายทาน เครื่องนุ่งห่ม ยารักษาโรค เป็นต้น
4. ปกิณกะพิธี เป็นพิธีเบ็ดเตล็ด ได้แก่ การอาราธนาศีล การประเคนของพระ เป็นต้น
ในบทนี้จะนำมาเฉพาะพิธีที่สำคัญๆ อันเกี่ยวกับชีวิตประจำวันของชาวพุทธเสมอๆ
|