นี่คือหลักฐานที่ยืนยันได้แน่นอนว่า พื้นที่บริเวณนี้มีการก่อตั้งบ้านเมืองอย่างมั่นคงมาแล้ว และต้องมีความเจริญพอสมควร คำว่า “คูปะทาย” หรือ “ผไทสมันต์” เป็นชื่อเมืองมาตั้งแต่เมื่อใด ในชั้นนี้คงยากจะสืบค้น แต่เชื่อว่าเป็นคำที่โบราณมาก ผมเคยอ่านข้อเขียนชิ้นหนึ่งของ “จิตร ภูมิศักดิ์” ผู้ซึ่งต้องยกย่องว่าเป็นปราชญ์ในเรื่องอารยธรรมเขมรคนหนึ่งของเมืองไทย จิตร ภูมิศักดิ์ได้กล่าวถึงปราสาทหินแห่งหนึ่งในกัมพูชาชื่อ “บันทายฉมาร์” (Banteay Chamar) ว่า ทางฝั่งไทยจะรู้จักในชื่อ “บันทายสมันต์” หรือ “ผไทสมันต์” คำว่า “บันทาย” ในภาษาเขมรออกเสียงเป็น “บันเตียย” หมายถึงเมืองที่มีลักษณะเป็นป้อมค่ายแข็งแรง คำนี้คนไทยจะเรียกเพี้ยนเป็น บันทาย หรือ พุทไธ เสมอ เช่น บันทายศรี บันทายมาศ พุทไธมาศ (เมืองฮาเตียน ปัจจุบันอยู่ทางตอนใต้ของเวียดนาม มีผู้รู้บอกว่าคนไทยเรียกเพี้ยนเป็นท่าเตียน) เป็นต้น ประเด็นสำคัญที่เกี่ยวกับเมืองบันทายฉมาร์ก็คือว่า เมืองนี้มีที่ตั้งอยู่ไม่ไกลจากเมืองสุรินทร์ ออกจะใกล้ด้วยซ้ำหากไม่มีเทือกเขาพนมดงรักทอดตัวขวางเป็นแนวผาชัน จนเป็นที่มาของการแบ่งเขตเขมรออกเป็น ๒ กลุ่ม คือ “เขมรสูง” ทางฝั่งไทย และ “เขมรต่ำ” ทางฝั่งกัมพูชา เพราะฉะนั้นการตั้งประเด็นว่า “ผไทสมันต์” เป็นชื่อเดียวกับ “บันทายฉมาร์” จึงเป็นเรื่องทางวิชาการที่น่าสนใจและไม่ควรมองข้ามเป็นอย่างยิ่ง ความเชื่อมโยงในเรื่องชื่อเมืองนี้ยังเกี่ยวข้องไปถึงราชทินนามที่เป็นสร้อยท้ายชื่อเจ้าเมือง “สุรินทร์ภักดีศรีผไทสมันต์” ด้วย
ราชทินนามนั้นได้มาในสมัยตอนต้นรัตนโกสินทร์ ซึ่งเขตแดนของไทยยังครอบคลุมทั่วทั้งกัมพูชา บางทีอาณาเขตเมืองสุรินทร์อาจกินลึกไปถึงเมืองบันทายฉมาร์ ดังนั้น ราชทินนามที่ตั้งให้จึงอาจมีนัยยะแห่งการแสดงอำนาจการปกครองดูแลพื้นที่ดังกล่าวด้วยก็เป็นได้ เทือกเขาพนมดงรัก บริเวณช่องตาเมือน (พ.ศ.๒๕๔๙) เบื้องหน้าเป็นที่ราบ
เขมรต่ำอันกว้างใหญ่ อย่างไรก็ดี ในชั้นนี้สามารถสรุปจากการวิเคราะห์ “ศรีผไทสมันต์” ได้อย่างไม่ยุ่งยากนักว่า ในอดีตเมืองสุรินทร์ต้องมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับเขมรโบราณอย่างแน่นอน ข้อนี้คงไม่ต้องพิสูจน์อะไรกัน
แต่ถึงตรงนี้แล้วอาจมีข้อสงสัยเกิดขึ้นได้ว่า เขมรสูงกับเขมรต่ำจะติดต่อกันได้อย่างไรในเมื่อเทือกพนมดงรักขวางเป็นพรมแดนธรรมชาติอยู่ตลอดแนวอย่างนั้น เรื่องกำแพงภูเขานี้ถ้าประสงค์จะเห็นภาพได้ชัดขึ้นก็ลองปีนขึ้นไปบนปราสาทเขาพระวิหาร จากด้านจังหวัดศรีสะเกษ จะเห็นแนวเขาและหน้าผาสูงชันทางฝั่งไทยอย่างชัดเจน เรียกว่าถ้าพวกเขมรต่ำปีนผาขึ้นมาได้ก็ด้วยความยากลำบากเต็มที
ดังนั้น เส้นทางที่คนโบราณนิยมใช้เดินทางจากนครธมไปยังบ้านเมืองทางลุ่มน้ำเจ้าพระยาจึงไม่น่าจะทรมานข้ามภูเขาทางด้านนี้ สู้ตรงไปทางเมืองพระตะบอง ตัดเข้าปราจีนบุรี ซึ่งเป็นที่ราบได้สะดวกกว่ามาก
เพราะนี่เป็นเส้นทางหลักมานานแล้ว ในสมัยนี้ก็ยังเป็นทางยุทธศาสตร์สำคัญที่สุดของแนวพรมแดนไทย-เขมร อยู่และผมก็เชื่อว่าเส้นทางนี้เป็นถนนโบราณที่มุ่งหน้าออกจากนครธมเพื่อไปเมืองละโว้ (ลพบุรี) อันเป็นศูนย์กลางสำคัญของอาณาจักรเขมรทางลุ่มน้ำเจ้าพระยาและเป็นเสมือนรัฐเครือญาติที่สำคัญมากของเขมรด้วย
ดังนั้น จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่ทางจังหวัดปราจีนบุรีจะมีซากโบราณสถานเขมรหลายแห่ง และเป็นเมืองโบราณในอดีตรู้จักกันในชื่อเมือง “ดงศรีมหาโพธิ์”
ที่สำคัญพระมหากษัตริย์ไทยไม่ว่าในสมัยอยุธยาหรือกรุงเทพฯ ต่างก็ให้ความสำคัญและกังวลกับช่องทางด้านปราจีนบุรีมากกว่าหัวเมืองเขมรป่าดง
นี่เป็นเหตุผลหนึ่งที่ใช้อธิบายได้ว่า ทำไมหัวเมืองสุรินทร์หรือบุรีรัมย์จึงด้อยความสำคัญลงทั้งในทางเศรษฐกิจและการทหารเมื่อเปรียบเทียบกับปราจีนบุรี
ผาเปยตาดี ที่เขาพระวิหาร เป็นหน้าผาสูงชั้นของเทือกเขาพนมดงรัก อย่างไรก็ดี ตามแนวเขาพนมดงรักก็มีช่องทางผ่านเข้า-ออก ที่ชาวบ้านรู้จักกันดีหลายแห่ง เช่น ช่องเสม็ด (จ.สุรินทร์) ช่องตะโก (จ.บุรีรัมย์) และช่องสะงำ (จ.ศรีสะเกษ) เป็นต้น
เป็นช่องเขาที่ผู้คนใช้สัญจรจากพรมแดนเขมรต่ำไปหาเขมรสูงด้วยความคุ้นเคยมาแต่โบราณ ช่วยให้ไม่ต้องเดินทางอ้อมไปอีกด้านหนึ่ง แม้ว่าการไปมาหาสู่จะไม่หนาแน่นเหมือนด้านปราจีนบุรี แต่ก็ต้องถือว่าเป็นอีกเส้นทางหนึ่งที่สำคัญของเขมร เห็นได้จากการสร้างปราสาท อโรคยาศาล และศาลาพักไว้หลายแห่งตามรายทางจากแนวเขาไปจนถึงเมืองพิมาย อันเป็นศูนย์กลางที่สำคัญของอาณาจักรเขมรบนที่ราบสูงโคราช
ชาวเขมรในสมัยนั้นใช้ช่องทางเหล่านี้เองในการเดินทางไปยังเมืองพนมรุ้ง เมืองพิมาย และเมืองอื่นๆ
บทสรุปในช่วงแรกนี้ จึงต้องย้ำอีกครั้งว่าเมืองสุรินทร์ที่กลายเป็นเมืองเขมรป่าดงสมัยอยุธยาและรัตนโกสินทร์นั้น ถ้าย้อนยุคไปสัก ๑,๐๐๐ ปี พื้นที่บริเวณนี้น่าจะเป็นชุมชนใหญ่ที่อาจมีความเจริญล้ำหน้าบ้านเมืองทางฝั่งลุ่มน้ำเจ้าพระยาและรุ่งเรืองเป็นบริเวณกว้าง ตั้งแต่จังหวัดศรีสะเกษ สุรินทร์ บุรีรัมย์ จนถึงนครราชสีมา
คำว่า “เขมรป่าดง” เพิ่งจะเกิดขึ้นในระยะหลังนี้เอง และเป็นที่มาของความเข้าใจอันคลาดเคลื่อนของคนไทยมาจนทุกวันนี้
ที่มาของเนื้อหา..http://www.oknation.net/blog/surin-samosorn/2007/06/19/entry-1
|