|
๏ ทารกบริจาคทาน
ทารกนั้นนอนอยู่บนผ้ากัมพลนั้นเอง แลดูพระเถระแล้วคิดว่า “พระเถระนี้เป็นบุรพาจารย์ของเรา เราได้สมบัตินี้เพราะอาศัยพระเถระนี้ การที่เราทำการบริจาคอย่างหนึ่งแก่ท่านผู้นี้ ควร” อันญาตินำไปเพื่อประโยชน์แก่การรับสิกขาบท ได้เอานิ้วก้อยเกี่ยวผ้ากัมพลนั้นยึดไว้
ครั้งนั้น ญาติทั้งหลายของทารกนั้นคิดว่า “ผ้ากัมพลคล้องที่นิ้วมือแล้ว” จึงปรารภจะนำออก. ทารกนั้นร้องไห้แล้ว พวกญาติกล่าวว่า “ขอพวกท่านจงหลีกไปเถิด ท่านทั้งหลายอย่ายังทารกให้ร้องไห้เลย” ดังนี้แล้ว จึงนำไปพร้อมกับผ้ากัมพลนั่นแล ในเวลาไหว้พระเถระ ทารกนั้นชักนิ้วมือออกจากผ้ากัมพล ให้ผ้ากัมพลตกลง ณ ที่ใกล้เท้าของพระเถระ
ลำดับนั้น พวกญาติไม่กล่าวว่า “เด็กเล็กไม่รู้กระทำแล้ว” กล่าวว่า “ท่านเจ้าข้า ผ้าอันบุตรของพวกข้าพเจ้าถวายแล้ว จงเป็นอันบริจาคแล้วทีเดียว” ดังนี้แล้ว กล่าวว่า “ท่านเจ้าข้า ขอพระผู้เป็นเจ้าจงให้สิกขาบทแก่ทาสของท่าน ผู้ทำการบูชาด้วยผ้ากัมพลนั่นแหละ อันมีราคาแสนหนึ่ง”
พระเถระถามว่า “เด็กนี้ชื่ออะไร...”
พากญาติตอบว่า “ชื่อเหมือนกับพระผู้เป็นเจ้า ขอรับ...”
พระเถระ กล่าวว่า “เด็กนี่จักชื่อ...ติสสะ”
ได้ยินว่า พระเถระในเวลาเป็นคฤหัสถ์ ได้มีชื่อว่า อุปติสสมาณพ แม้มารดาของเด็กนั้น ก็คิดว่า “เราไม่ควรทำลายอัธยาศัยของบุตร” พวกญาติครั้นกระทำมงคลคือการขนานนามแห่งเด็กอย่างนั้นแล้ว ในมงคลคือการบริโภคอาหารของเด็กนั้นก็ดี ในมงคลคือการเจาะหูของเด็กนั้นก็ดี ในมงคลคือการนุ่งผ้าของเด็กนั้นก็ดี ในมงคลคือการโกนจุกของเด็กนั้นก็ดี ได้ถวายข้าวมธุปายาสมีน้ำน้อย แก่ภิกษุประมาณ ๕๐๐ รูป มีพระสารีบุตรเถระเป็นประธาน
เด็กเจริญวัยแล้วกล่าวกะมารดา ในเวลามีอายุ ๗ ขวบว่า “แม่ ฉันจักบวชในสำนักของพระเถระ”
มารดานั้นรับว่า “ดีละ ลูก... เมื่อก่อนแม่ก็ได้หมายใจไว้ว่า ‘เราไม่ควรทำลายอัธยาศัยของลูก’ เจ้าจงบวชเถิดลูก”
ดังนี้แล้ว ให้คนนิมนต์พระเถระมา ถวายภิกษาจารแก่พระเถระนั้นผู้มาแล้ว กล่าวว่า "ท่านเจ้าข้า ทาสของท่านกล่าวว่า ‘จักบวช’ พวกดิฉันจักพาทาสของท่านนี้ไปสู่วิหารในเวลาเย็น"
เมื่อส่งพระเถระไปแล้ว ในเวลาเย็นพาบุตรไปสู่วิหารด้วยสักการะ และสัมมานะเป็นอันมาก แล้วก็มอบถวายพระเถระ
๏ การบวชทำได้ยาก
พระเถระกล่าวกับเด็กนั้นว่า "ติสสะ ชื่อว่าการบวชเป็นของที่ทำได้ยาก เมื่อความต้องการด้วยของร้อนมีอยู่ ย่อมได้ของเย็น เมื่อความต้องการด้วยของเย็นมีอยู่ ย่อมได้ของร้อน ชื่อว่า นักบวชทั้งหลายย่อมเป็นอยู่โดยลำบาก ก็เธอเสวยความสุขมาแล้ว"
ติสสะ. ท่านขอรับ กระผมจักสามารถทำได้ทุกอย่าง ตามทำนองที่ท่านบอกแล้ว
๏ กัมมัฏฐานพระพุทธเจ้าทุกพระองค์ไม่เคยทรงละ
พระเถระกล่าวว่า "ดีละ" แล้วบอกตจปัญจกกัมมัฏฐาน ด้วยสามารถแห่งการกระทำไว้ในใจโดยความเป็นของปฏิกูลแก่เด็กนั้น ให้เด็กบวชแล้ว
จริงอยู่ การที่ภิกษุบอกอาการ ๓๒ แม้ทั้งสิ้นควรแท้, เมื่อไม่อาจบอกได้ทั้งหมด พึงบอกตจปัญจกกัมมัฏฐานก็ได้, ด้วยว่า กัมมัฏฐานนี้ พระพุทธเจ้าทุกๆ พระองค์ไม่ทรงละแล้วโดยแท้. การกำหนดภิกษุก็ดี ภิกษุณีก็ดี อุบาสกก็ดี อุบาสิกาก็ดี ผู้บรรลุพระอรหัตในเพราะบรรดาอาการทั้งหลายมีผมเป็นต้น ส่วนหนึ่งๆ ย่อมไม่มี. ก็ภิกษุทั้งหลายผู้ไม่ฉลาด เมื่อยังกุลบุตรให้บวช ย่อมยังอุปนิสัยแห่งพระอรหัตให้ฉิบหายเสีย เพราะเหตุนั้น พระเถระพอบอกกัมมัฏฐานแล้ว จึงให้บวช ให้ตั้งอยู่ในศีล ๑๐
มารดาบิดาทำสักการะแก่บุตรผู้บวชแล้ว ได้ถวายข้าวมธุปายาสมีน้ำน้อยเท่านั้นแก่ภิกษุสงฆ์ มีพระพุทธเจ้าเป็นประธาน ในวิหารนั่นเองสิ้น ๗ วัน. ฝ่ายภิกษุทั้งหลายโพนทะนาว่า "เราทั้งหลายไม่สามารถจะฉันข้าวมธุปายาสมีน้ำน้อยเป็นนิตย์ได้." มารดาบิดา แม้ของสามเณรนั้น ได้ไปสู่เรือนในเวลาเย็นในวันที่ ๗. ในวันที่ ๘ สามเณรเข้าไปบิณฑบาตกับภิกษุทั้งหลาย.
๏ สามเณรมีลาภมากเพราะผลทานในกาลก่อน
ชาวเมืองสาวัตถี กล่าวว่า "ได้ยินว่า สามเณรจักเข้าไปบิณฑบาตในวันนี้, พวกเราจักทำสักการะแก่สามเณรนั้น" ดังนี้แล้ว จึงทำเทริดด้วยผ้าสาฎกประมาณ ๕๐๐ ผืน จัดแจงบิณฑบาต ประมาณ ๕๐๐ ที่ได้ถือไปยืนดักทางถวายแล้ว ในวันรุ่งขึ้น ได้มาสู่ป่าใกล้วิหาร ถวายแล้ว
สามเณรได้บิณฑบาตพันหนึ่ง กับผ้าสาฎกพันหนึ่ง โดย ๒ วันเท่านั้น ด้วยอาการอย่างนี้ ให้คนถวายแก่ภิกษุสงฆ์แล้ว. ได้ยินว่า นั่นเป็นผลแห่งผ้าสาฎกเนื้อหยาบที่สามเณรถวายแล้วในคราวเป็นพราหมณ์
ลำดับนั้น ภิกษุทั้งหลายขนานนามสามเณรนั้นว่า "ปิณฑปาตทายกติสสะ" รุ่งขึ้น วันหนึ่งในฤดูหนาว สามเณรเที่ยวจาริกไปในวิหาร เห็นภิกษุทั้งหลายผิงไฟอยู่ในเรือนไฟเป็นต้นในที่นั้นๆ จึงเรียนว่า "ท่านขอรับ เหตุไรท่านทั้งหลายจึงนั่งผิงไฟ"
พวกภิกษุตอบว่า “ความหนาวเบียดเบียนพวกเรา สามเณร”
สามเณรเรียนถามว่า “ท่านขอรับ ธรรมดาในฤดูหนาว ท่านทั้งหลายควรห่มผ้ากัมพล เพราะผ้ากัมพลนั้นสามารถกันหนาวได้”
พวกภิกษุตอบว่า “สามเณร...เธอมีบุญมากพึงได้ผ้ากัมพล พวกเราจักได้ผ้ากัมพลแต่ที่ไหน”
สามเณรกล่าวว่า "ท่านขอรับ ถ้ากระนั้น พระผู้เป็นเจ้าทั้งหลายผู้มีความต้องการผ้ากัมพล จงมากับกระผมเถิด" แล้วให้บอกภิกษุในวิหารทั้งสิ้น. ภิกษุทั้งหลายคิดว่า "พวกเราจักไปกับสามเณรแล้ว นำผ้ากัมพลมา" อาศัยสามเณรผู้มีอายุ ๗ ปี ออกไปแล้วประมาณพันรูป. สามเณรนั้นมิให้แม้จิตเกิดขึ้นว่า "เราจักได้ผ้ากัมพลแต่ที่ไหน เพื่อภิกษุประมาณเท่านี้" พวกภิกษุเหล่านั้นบ่ายหน้าสู่พระนครไปแล้ว
จริงอยู่ ทานที่บุคคลถวายดีแล้ว ย่อมมีอานุภาพเช่นนี้. สามเณรนั้นเที่ยวไปตามลำดับเรือนภายนอกพระนครเท่านั้น ได้ผ้ากัมพลประมาณ ๕๐๐ ผืนแล้ว จึงเข้าไปภายในพระนคร. พวกมนุษย์นำผ้ากัมพลมาแต่ที่โน้นที่นี้. ส่วนบุรุษคนหนึ่งเดินไปโดยทางประตูร้านตลาด เห็นชาวร้านตลาดคนหนึ่ง ผู้นั่งคลี่ผ้ากัมพล ๕๐๐ ผืน จึงพูดว่า "ผู้เจริญ สามเณรรูปหนึ่งรวบรวมผ้ากัมพลอยู่ ท่านจงซ่อนผ้ากัมพลของท่านเสียเถิด
ชาวร้านตลาด ถามว่า “ก็สามเณรนั้น ถือเอาสิ่งที่เขาให้แล้วหรือที่เขายังไม่ให้”
บุรุษ ตอบว่า “ถือเอาสิ่งที่เขาให้แล้ว”
ชาวร้านตลาดพูดว่า “เมื่อเป็นเช่นนั้น ถ้าเราปรารถนา เราจักให้ หากเราไม่ปรารถนา จักไม่ให้ ท่านจงไปเสียเถิด" ดังนี้แล้ว ก็ส่งเขาไป
๏ ลักษณะคนตระหนี่
จริงอยู่ พวกคนตระหนี่ผู้เป็นอันธพาล เมื่อชนเหล่าอื่นให้ทานอย่างนี้ ก็ตระหนี่แล้ว จึงเกิดในนรก เหมือนกาฬอำมาตย์เห็นอสทิสทานแล้ว ตระหนี่อยู่ฉะนั้น. ชาวร้านตลาด คิดว่า "บุรุษนี้มาโดยธรรมดาของตน กล่าวกะเราว่า ‘ท่านจงซ่อนผ้ากัมพลของท่านเสีย’, แม้เราก็ได้กล่าวว่า "ถ้าสามเณรนั้นถือเอาสิ่งที่เขาให้, ถ้าเราปรารถนา เราจักให้ของๆ เรา หากไม่ปรารถนา เราก็จักไม่ให้, ก็เมื่อเราไม่ให้ของที่สามเณรเห็นแล้ว ความละอายย่อมเกิดขึ้น, เมื่อเราซ่อนของๆ ตนไว้ ย่อมไม่มีโทษ, บรรดาผ้ากัมพล ๕๐๐ นี้ ผ้ากัมพล ๒ ผืนมีราคาตั้งแสน, การซ่อนผ้า ๒ ผืนนี้ไว้ ควร" ดังนี้แล้ว จึงผูกผ้ากัมพลทั้งสองผืน ทำให้เป็นชายด้วยชาย (เอาชายผ้า ๒ ผืนผูกติดกัน) วางซ่อนไว้ในระหว่างแห่งผ้าเหล่านั้น
ฝ่ายสามเณรถึงเมืองนั้นพร้อมด้วยภิกษุพันหนึ่ง เพราะเห็นสามเณรเท่านั้น ความรักเพียงดังบุตรก็เกิดขึ้นแก่ชาวร้านตลาด สรีระทั้งสิ้นได้เต็มเปี่ยมแล้วด้วยความรัก เขาคิดว่า "ผ้ากัมพลทั้งหลายจงยกไว้ เราเห็นสามเณรนี้แล้วจะให้แม้เนื้อคือหทัย ก็ควร"
ชาวร้านตลาดนั้นนำผ้ากัมพลทั้งสองผืนนั้นออกมาวางไว้แทบเท้าของสามเณร ไหว้แล้วได้กล่าวว่า "ท่านเจ้าข้า ผมพึงมีส่วนแห่งธรรมที่ท่านเห็นแล้ว"
สามเณรแม้นั้นได้ทำอนุโมทนาแก่เขาว่า "จงสำเร็จอย่างนั้นเถิด" สามเณรได้ผ้ากัมพล ๕๐๐ ผืนแม้ในภายในพระนคร. ในวันเดียวเท่านั้นได้ผ้ากัมพลพันหนึ่ง ได้ถวายแก่ภิกษุพันหนึ่ง ด้วยประการฉะนี้
ครั้งนั้น ภิกษุทั้งหลายขนานนามของสามเณรนั้นว่า "กัมพลทายกติสสะ" ผ้ากัมพลที่สามเณรให้ในวันตั้งชื่อ ถึงความเป็นผ้ากัมพลพันหนึ่ง ในเวลาตนมีอายุ ๗ ปี ด้วยประการฉะนี้
|
|