|
แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย Marine เมื่อ 2016-8-24 21:05
สำหรับการสร้างเหรียญรุ่นแรก ปี2517นั้น เริ่มแรกทางคณะผู้จัดสร้างได้ไปว่าจ้างร้านธรรมประทีป เลขที่57 แถวสะพานหันให้ออกแบบและแกะบล็อกเหรียญรุ่นแรก ซึ่งเฮียหงษ์เจ้าของร้านธรรมประทีป(หงษ์ จันยั่งยืน)เป็นผู้รับผิดชอบ โดยทางคณะผู้จัดสร้างบางท่านใช้ทุนทรัพย์ส่วนตัววางเงินมัดจำล่วงหน้าไว้ก่อนจำนวน2,000บาท ทางคณะผู้จัดสร้างบอกว่าท่านเป็นเจ้าอาวาสอีกทั้งในปีนั้นหลวงพ่อจะไปงานที่วัดดอกบัวด้วย ทางคณะผู้จัดสร้างปรึกษากันแล้วได้ข้อสรุปว่าแกะบล็อควัดดอกบัวขึ้นมา มีลักษณะด้านหน้าเป็นรูปเหมือนครึ่งองค์ ด้านล่างระบุชื่อ"พระอาจารย์สร้อย ธมฺมรโส" ด้านหลังตรงกลางมีอักขระและปี2517รอบล้อมด้วยอักษรไทยระบุว่า"ศิษย์สร้างถวายงานผ้าป่า วัดดอกบัว อ.บางปลาม้า จ.สุพรรณบุรี" หลังจากนั้นทางโรงงานปั๊มเหรียญลองพิมพ์ออกมาไม่เกิน5เหรียญ ทางคณะผู้จัดสร้างจึงเอาไปให้หลวงพ่อดู พอท่านได้เห็นแล้วนั้น ท่านยังไม่ทันจับเลยแล้วพูดออกมาว่า"หน้าฉันมันดูหนุ่มเกินไป และตอนนี้ตัวท่านอยู่ที่วัดเลียบ" จากนั้นท่านจึงบอกให้ทางคณะผู้จัดสร้างท่านหนึ่งให้ไปแกะบล็อกขึ้นมาใหม่ ด้วยเหตุนี้เองทางคณะผู้จัดสร้างท่านนั้นจึงได้ปรึกษากับพระมหาสนิท วัดพระเชตุพล พระมหาสนิทท่านจึงได้แนะนำโรงงานปั๊มเหรียญที่อยู่หลังโรงแรมรอยัล(รัตนโกสินทร์) จึงได้พบกับช่างแกะบล็อกของโรงงานอายุประมาณ60ปีซึ่งเป็นศิษย์เก่าโรงเรียนเพาะช่างรุ่นที่1 เป็นผู้ที่ออกแบบและแกะบล็อกด้านหน้าให้ มีลักษณะด้านหน้ามีลักษณะเป็นรูปเหมือนครึ่งองค์ ระบุชื่อว่า"พระอาจารย์สร้อย ธมฺมรโส" หลังจากที่ช่างได้แกะบล็อกใหม่เป็นที่เรียบร้อยแล้ว ทางโรงงานจึงปั๊มเหรียญลองพิมพ์ออกมา1เหรียญเท่านั้น คือเหรียญรุ่นแรก(สังข์ทอง)หลังเรียบ เสร็จแล้วนำมาให้หลวงพ่อท่านลองดูรูปแบบอีกครั้ง พอหลวงพ่อสร้อยได้เห็นรูปแบบเหรียญด้านหน้าที่แกะบล็อกขึ้นมาใหม่แล้ว ท่านก็หัวเราะชอบใจบอกว่า"ข้าชอบแบบนี้ หน้าตาเหมือนเจ้าเงาะ"ด้วยเหตุนี้จึงนิยมเรียกเหรียญรุ่นแรกว่า"สังข์ทอง"หรือ"เจ้าเงาะ" ส่วนด้านหลัง ทางคณะผู้สร้างนั้นได้นำเอารูปแบบมาจากเหรียญอาจารย์ฝั้นรุ่น7 แต่ให้ทางหลวงพ่อเป็นผู้เขียนอักขระใหม่อ่านได้ดังนี้คือ
สะ เส นะ
อุ อะ คะ สะ
อะ นิ ทะ สะ นะ
อะ ปะ ติ ยา
อิ สวา สุ
แล้วจึงแกะเป็นตัวอักษรไทยไว้ล้อมรอบ"ศิษย์สร้างถวายอาจารย์ วัดเลียบราษฎ์บำรุง เขตดุสิต กรุงเทพฯ พ.ศ.2517" หลังจากนั้นทางคณะผู้จัดสร้างจึงได้สั่งให้โรงงานปั๊มเหรียญออกมาดังนี้
1.เนื้อเงิน จำนวน 201 เหรียญ
2.เนื้อสำริด จำนวน 500 เหรียญ
3.เนื้อทองแดงรมดำ จำนวน 20,000 เหรียญ ซึ่งทุกเนื้อจะใช้เพียงแค่บล็อคเดียวเท่านั้น เมื่อสร้างเสร็จแล้วส่วนบล็อคเหรียญรุ่นแรกนั้นได้มีการทำลายและถูกฝังไว้ในใต้พระอุโบสถที่วัดเลียบราษฎ์บำรุง
เหรียญเนื้อเงินที่มีลักษณะด้านหลังเป็นรอยเขยื้อนยันต์กลับหัว จะมีจำนวนประมาณ20เหรียญ เหรียญเนื้อสำริดจะมีสีของโลหะที่แตกต่างกันบางเหรียญแก่ทองแดงก็จะมีลักษณะสีคล้ายเนื้อทองแดงแต่ไม่มีรมดำ บางเหรียญสีออกทองเหลืองก็มี เพราะแต่ละเหรียญที่ปั๊มนั้น โลหะที่ผสมออกมาไม่เท่ากันบ้างก็แก่ทองแดงบ้างก็แก่เงินหรือแก่ทองเหลืองขึ้นอยู่กับช่างที่ทำเหรียญ เนื่องจากเนื้อสำริดเป็นโลหะที่มีความแข็งตัวสูง เวลาปั๊มออกมาจึงผิวไม่เรียบสวย บ้างมีรอยราน,เป็นกาบหรือแตกบ้างในบางเหรียญ ส่วนเนื้อทองแดงผิวจะรมดำทั้งหมด เมื่อตอนถึงวันงานเหรียญเนื้อทองแดงจำนวนหนึ่งได้ถูกใส่ไว้อยู่ในหลุมลูกนิมิตทุกหลุมโดยมีหลวงพ่อสร้อยเป็นผู้นำเหรียญใส่ไว้ในหลุมลูกนิมิต ส่วนเหรียญทั้งหมดนำมาแจกจ่ายผู้ที่มาทำบุญที่วัด โดยทำบุญ200บาทจะได้เหรียญเงิน1เหรียญ,เนื้อสำริด2เหรียญ,เนื้อทองแดง6เหรียญ นอกจากนี้เหรียญที่เหลือจากการแจกที่วัดทั้งหมดนั้น ภายหลังได้นำไปชุบกะหลั่ยทอง ตอกโค็ต ส. ไว้ด้านหน้าบริเวณสังฆาฏิ ซึ่งเหรียญรุ่นแรกนี้ท่านก็ได้ปลุกเสกเดี่ยวทั้งหมด เหรียญรุ่นแรกมีพุทธคุณเด่นในด้านคงกระพัน แคล้วคลาด ซึ่งมีผู้คนเจอประสบการณ์ต่างๆอย่างมากมายจนเป็นที่เลื่องลือของคนในย่านกรุงเทพ-นนทบุรี ซึ่งปัจจุบันนั้นค่านิยมก็ถือว่ายังไม่แพงจึงทำให้น่าเก็บหรือบูชาไว้ใช้ติดตัวครับ ค่านิยมปัจจุบัน เนื้อเงินประมาณหลักหมื่นกลาง,เนื้อสำริดประมาณหลักหมื่นต้น,เนื้อทองแดงรมดำประมาณหลักพันกลาง(ทั้งนี้ราคาขึ้นอยู่กับสภาพความสวยของเหรียญ) |
|