ทปอ.ให้มหาวิทยาลัยจัดสอบรับตรงร่วมกัน
ทปอ.มีมติให้มหาวิทยาลัยที่เป็นสมาชิก 27 แห่ง จัดสอบรับตรงร่วมกันในปี 2559 แก้ปัญหาเด็กวิ่งรอกสอบ
26ต.ค.2557 มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ (มศว) - รศ.ดร.ประดิษฐ์ วรรณรัตน์ รักษาการประธานที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) เปิดเผยภายหลังการประชุมทปอ. ว่า ที่ประชุมมติเห็นชอบให้มหาวิทยาลัยที่เป็นสมาชิกทปอ. ทั้ง 27 แห่ง จัดสอบรับตรงร่วมกันในปีการศึกษา 2559 โดยใช้ข้อสอบกลาง ซึ่งจะพัฒนาจากข้อสอบ 7 วิชาสามัญ และเพิ่มอีก 2 วิชา คือ วิชาคณิตศาสตร์ 2 และวิทยาศาสตร์ทั่วไป รวมเป็น 9 วิชา เพื่อรองรับนักเรียนที่จบสายศิลป์ จากเดิมที่จะเน้นเฉพาะสายวิทยาศาสตร์ หลังจากนี้คณะ/สาขา ในมหาวิทยาลัยต่าง ๆ จะต้องไปกำหนดสัดส่วนและองค์ประกอบที่จะใช้ในการคัดเลือก และประกาศให้นักเรียนทราบ ทั้งนี้นักเรียนทุกคนไม่จำเป็นต้องสอบทุกวิชา สามารถเลือกสอบได้เฉพาะวิชาที่ต้องใช้ในการยื่นเข้าเรียนต่อในคณะ/สาขาที่ต้องการเท่านั้น รศ.ดร.ประดิษฐ์ กล่าวต่อว่า อย่างไรก็ตามการรับตรงกลางร่วมกันครั้งนี้ ไม่ได้ใช้เฉพาะคะแนนข้อสอบกลาง 9 วิชา แต่มหาวิทยาลัย ยังสามารถ ใช้คะแนนการทดสอบความถนัดทั่วไป หรือGAT และคะแนนการทดสอบความถนัดทางวิชาวิชีพ/ วิชาการ หรือ PAT และคะแนนการทดสอบทางการศึกษาระดับชาติขั้นพื้นฐานหรือ โอเน็ต มาเป็นองค์ประกอบในการคัดเลือกนักเรียนเข้าศึกษาต่อได้เช่นเดิม ที่ผ่านมา ทปอ. ได้ขยับเวลาการทดสอบต่าง ๆ ให้ใกล้กัน โดยกัน สอบGAT/PAT ครั้งที่ 1 จะสอบในช่วงเดือนพฤศจิกายน และการจัดสอบกลางจะเดือนมกราคม และการสอบ GAT/PAT ครั้งที่ 2 ก็จะสอบเดือนมีนาคม ซึ่งนักเรียนสามารถนำคะแนนทั้งหมดไปใช้ได้ทั้งการรับตรงผ่านระบบเคลียริ่งเฮาท์ ของสมาคมอธิการบดีแห่งประเทศทไทย (สอศ.) แต่จะต้องเลือกว่าจะเรียนในคณะที่สอบรับตรงได้หรือไม่ หากไม่ก็จะต้องสละสิทธิ์ ไม่ให้เกิดปัญหาไปกันที่คนอื่น จากนั้นก็จะเข้าสู่กระบวนการคัดเลือกบุคคลเข้าศึกษาในสถาบันอุดมศึกษาในระบบกลางการรับนิสิต นักศึกษา หรือแอดมิสชั่นส์ ต่อไป ส่วนระบบโควตา และโครงการพิเศษต่าง ๆ ผู้มีความสามารถทางด้านกีฬา ดนตรี ยังคงมีอยู่ “เชื่อว่าระบบนี้จะทำให้การรับนักเรียนเข้าศึกษาต่อในมหาวิทยาลัยมีความสมบูรณ์ขึ้น และนักเรียนไม่ต้องวิ่งรอกสอบ ในทุกมหาวิทยาลัยอีกต่อไป ผู้ปกครองไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายจำนวนมากลงได้ เพราะต่อไป นักเรียนจะสอบเพียงครั้งเดียว แต่สามารถนำคะแนนไปยื่นเข้าศึกษาต่อไปทั้งระบบการรับตรงและแอดมิสชั่นส์”รศ.ดร.ประดิษฐ์ กล่าว รศ.ดร.ประดิษฐ์ กล่าวด้วยว่า ที่ประชุมได้หารือถึงกรณีที่พล.ร.อ.ณรงค์ พิพัฒนาศัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) มอบหมายให้สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) ศึกษาข้อดี ข้อเสีย ของการแยกสกอ. ออกจากศธ. โดยทปอ.ยืนยันต้องการแยกออกจากกระทรวงศึกษาธิการ แบะจะเร่งยกร่าง กฎหมายการจัดตั้งกระทรวงอุดมศึกษา ส่วนชื่อของกระทรวงใหม่ ที่จะเสนอ ยังไม่ได้ข้อสรุป ว่าจะใช้ชื่อว่ากระทรวงอุดมศึกษา หรือ กระทรวงอุดมศึกษาและการวิจัย แต่ที่แน่ ๆ กระทรวงนี้จะต้องดูเรื่องการวิจัยด้วย เพราะการวิจัยกับอุดมศึกษาต้องควบคู่กันไป โดยอาจจะรวมสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ไว้ด้วย เพราะเป็นหน่วยงานที่สนับสนุนและให้ทุนนักวิจัยสอดคล้องกับปรัชญาการอุดมศึกษาที่มีหน้าที่ในการสร้างนักวิจัย และ นักวิจัยกว่า 90% ของประเทศไทยก็อยู่ในสถาบันอุดมศึกษา แต่ยังไม่อยากให้ขยายวงกว้างไปถึงสำนักวิจัยต่าง ๆ ที่อยู่ในหน่วยงานอื่น ๆ อาทิ หน่วยงานที่ทำวิจัยด้านนวัตกรรมและเทคโนโลยี เพราะจะทำให้แตกแขนงกว้างเกินไป และไม่เป็นไปตามเป้าหมายของอุดมศึกษา ด้าน รศ.นพ.กำจร ตติยกวี เลขาธิการคณะกรรมการการอุดมศึกษา (กกอ.) กล่าวว่า ทปอ. ต้องการแยกออกมาเป็นกระทรวงใหม่ เพราะต้องการความคล่องตัวและความเข้าใจในการสื่อสาร ที่ผ่านมาอยู่กับศธ.ก็สามารถดำเนินการได้ในระดับหนึ่ง แต่ก็พบว่าการสื่อสารบางครั้งคนในศธ. ไม่เข้าใจการอุดมศึกษา ทำให้มีปัญหาอยู่บ้าง หากเป็นกระทรวงอุดมศึกษา เชื่อว่าน่าจะมีการสื่อสารและเข้าใจกันได้ง่าย ทำให้มีคุณภาพการศึกษามากขึ้น ขณะเดียวกันตนได้ถามถึงความคืบหน้าหน้าการประชาพิจารณ์ร่างพ.ร.บ.การอุดมศึกษา พ.ศ. ... ซึ่งทปอ.เห็นว่า อาจจะผนวกสาระสำคัญของพ.ร.บ.การอุดมศึกษา ไว้ในกฎหมายฉบับเดียวกับการแยกกระทรวงอุดมศึกษาได้เลย ดังนั้นตนจึงฝากให้ทปอ. ไปช่วยยกร่างกฎหมายการจัดตั้งกระทรวงอุดมศึกษา และให้ช่วยคิดว่าจะผนวกอำนาจหน้าที่ที่อยู่ในร่างพ.ร.บ.การอุดมศึกษา ไว้ในกฎหมายการจัดตั้งกระทรวงฯได้อย่างไร โดยเน้นคุณภาพการอุดมศึกษาที่เป็นประโยชน์กับประชาชน สามารถควบคุมสถาบันอุดมศึกษาที่ไม่อยู่ในกติกาได้ ขณะเดียวกันตนจะไปประสานกับคณะกรรมการการอุดมศึกษา ทั้งนี้คาดว่าจะใช้เวลายกร่างไม่เกิน 1-2 เดือนเพื่อเสนอให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) พิจารณาต่อไป ผศ.นพ.เฉลิมชัย บุญยะลีพรรณ อธิการบดีมศว กล่าวว่า มศว จะนำร่องรับตรงกลางร่วมกัน ตั้งแต่ปีการศึกษา 2558 โดยเมื่อเด็กสอบผ่านข้อเขียนมาแล้ว ในขั้นตอนการสอบสัมภาษณ์ มศว จะมีข้อสอบย่อย เพื่อใช้ทดสอบความสมารถในกาปฏิบัติของเด็ก ไม่ใช่มานั่งสัมภาษณ์อย่างเดียว เพื่อให้รู้ว่าเด็กมีความสามารถที่จะเรียนต่อในสาขาที่เลือกเรียนจริงๆ เช่น การวาดภาพ การแสดง เป็นต้น ซึ่งคะแนนทั้งหมด เด็กสามารถยื่นได้หลายที่
|