ตั้งให้เราเป็นเว็บแรกที่คุณเลือก เก็บเราไว้เป็นเว็บโปรด
สมัครสมาชิก ได้มากกว่าที่คุณคิด เข้าสู่ระบบ
ดู: 2232
ตอบกลับ: 4
สั่งพิมพ์ ก่อนหน้า ถัดไป

ปรัชญาอินเดีย

[คัดลอกลิงก์]
ลักษณะทั่วไปของปรัชญาอินเดีย


๑. บทนำ

คำว่า ปรัชญาอินเดีย หมายเอาระบบความคิดทางปรัชญาทั้งหมดที่มีอยู่ในประเทศอินเดีย ไม่ว่าจะมีอยู่ในสมัยโบราณ หรือว่าสมัยใหม่ ทั้งที่มีสายมาจากฮินดู และมิใช่ฮินดู ที่นับถือพระเจ้า และไม่นับถือพระเจ้า ทำนองเดียวกันกับเมื่อเราพูดถึงปรัชญาจีน ปรัชญาญี่ปุ่น ปรัชญาตะวันตก ก็จะสื่อความรวมทั้งหมด ไม่จำเพาะเจาะจงเอาเพียงสำนักใดสำนักหนึ่ง

คัมภีร์ทางพระพุทธศาสนา ไม่ว่าจะเป็นคัมภีร์สำคัญ ๆ อย่างพระไตรปิฎก คัมภีร์อรรถกถาทั่วไป ได้กล่าวถึงระบบความคิดทางปรัชญาของอินเดียไว้มากมายหลายสำนัก หลายลัทธิ แสดงให้เห็นถึงร่องรอยพัฒนาการทางปรัชญา และประวัติศาสตร์ปรัชญาในดินแดนแห่งนี้ได้เป็นอย่างดี

ปรัชญาอินเดีย เป็นปรัชญาที่มีเสน่ห์ เป็นปรัชญาที่เน้นคุณค่าของชีวิต และจิตวิญญาณ มีความลุ่มลึก และละเอียดลออ ไม่แข็งกระด้างไปด้วยข้ออ้างและเหตุผลเหมือนอย่างปรัชญาตะวันตก เพราะปรัชญาอินเดียนั้น ส่วนใหญ่เป็นปรัชญาที่มุ่งแสวงหาความจริง และความหลุดพ้น ไม่ใช่มุ่งแสวงหาความรู้เพียงเพื่อตอบสนองความสงสัยใคร่รู้ทางพุทธิปรัชญาอย่างเดียว เหตุนั้น รากศัพท์คำว่า ปรัชญา ในบริบทของชาวตะวันตก กับอินเดียจึงมีความแตกต่างกัน

ตะวันตกมองปรัชญาเป็นกิจกรรมของการแสวงหาความรู้ รากฐานของศัพท์ปรัชญาจึงมุ่งเน้นไปที่เรื่องการแสวงหาความรู้ เครื่องมือสำคัญในการใช้แสวงหาความรู้จึงอยู่ที่ข้อมูลทางผัสสะ และชุดข้ออ้างเหตุผลสำเร็จรูปอย่างใดอย่างหนึ่ง ขณะที่ปรัชญาอินเดียมองปรัชญาเป็นเรื่องของการแสวงหาความจริง ความจริงที่ได้จากการแสวงหาจึงถือเป็นความรู้อันประเสริฐ เพราะเป็นความรู้ที่ทำให้มนุษย์ค้นพบตนเอง และอยู่เหนือพันธนาการทั้งปวง เป็นความรู้ที่จะทำให้มนุษย์เป็นอิสระ เข้าถึงความสุขอย่างแท้จริง
ข้อแตกต่างดังกล่าวนี้ ส่วนหนึ่งเป็นเพราะนักปรัชญาอินเดียส่วนใหญ่มาจากประสบการณ์ชีวิตและประสบการณ์ทางจิตวิญญาณของคนที่อยู่ในกลุ่มนักบวช ซึ่งเรียกกันในครั้งนั้นว่าสันยาสี และวนปรัสถ์ ซึ่งถือว่าเป็นกลุ่มคนที่ปล่อยวางชีวิตแบบโลก ๆ แล้ว เหตุดังกล่าวนี้ จึงมักเรียกปรัชญาอินเดียว่า สมณธรรม หรือ พราหมณธรรม ขณะที่นักปรัชญาตะวันตกส่วนใหญ่เป็นนักคิด นักวิชาการ นักการศึกษา ซึ่งดำเนินชีวิตและกิจกรรมแบบปกติโลก ๆ

2#
 เจ้าของ| โพสต์ 2016-8-2 07:14 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
Critical Survey of Eastern Philosophy.
สรุป:ลักษณะทั่วไปของปรัชญาอินเดียทั้งโบราณและร่วมสมัย

  • ข้อความทั่วไป
  • กระแสแห่งความคิดทางปรัชญาในโลกนี้แบ่งออกได้เป็น 2 สายใหญ่คือ
    • กระแสแห่งความคิดทางปรัชญาตะวันตก
    • และกระแสแห่งความคิดทางปรัชญาตะวันออก
  • สำหรับกระแสแห่งความคิดทางปรัชญาของตะวันออกนั้น อาจแบ่งออกเป็นสายย่อย 2 สาย คือ กระแสแห่งปรัชญาของอินเดียและกระแสแห่งปรัชญาของจีน
  • กระแสแห่งปรัชญาของอินเดียนับว่าเป็นสายใหญ่ที่มีอิทธิพลต่อชีวิตของมนุษย์ในซีกโลกตะวันออกเป็นอย่างมาก แม้แต่ในประเทศจีน ซึ่งเป็นแหล่งกำเนิดของกระแสปรัชญาตะวันออกสายหนึ่ง กระแสแห่งปรัชญาอินเดียก็ยังแผ่อิทธิพลเข้าไปถึงในรูปของพระพุทธศาสนาและพุทธปรัชญา
  • การเรียนรู้ปรัชญา ถ้าไม่ได้เรียนรู้ปรัชญาตะวันออกด้วย ย่อมไม่ชื่อว่ามีความรู้ด้านปรัชญาครบถ้วน ฉันใด การเรียนรู้ปรัชญาตะวันออก ถ้าไม่ได้เรียนรู้ปรัชญาอินเดียด้วย ย่อมไม่ชื่อว่ามีความรู้ด้านปรัชญาตะวันออกที่ครบถ้วนฉันนั้น(ปรัชญาอินเดีย :ประวัติและลัทธิ / สุนทร ณ รังสี)
  • ส่วนใหญ่แล้วมหาวิทยาลัยในประเทศตะวันตก การเรียนการสอน และภาควิชาปรัชญาจะมุ่งศึกษาเฉพาะวิถีคิดและแนวคิดทางปรัชญาตะวันตก (แต่ก็ยังมีข้อยกเว้นในหลายๆที่) ดังนั้นการใช้คำว่า “ปรัชญา” ในแวดวงวิชาการตะวันตก มักหมายถึงแนวคิดทางปรัชญาที่มีรากฐานมาจากกรีกโบราณ และปรัชญาตะวันออกมักถูกมองข้าม
  • คำว่า ปรัชญาตะวันออก มีความหมายกว้างๆ ครอบคลุมถึงแนวคิดทางปรัชญาของ “ตะวันออก” กล่าวคือ ทางเอเชีย ที่รวมถึงจีน อินเดีย ญี่ปุ่น และพื้นที่ทั่วไป ยกเว้นแนวคิดที่เป็นศาสนายิว คริสต์ และอิสลาม
  • อย่างไรก็ตามการเชื่อมโยงระหว่าง “ตะวันออกและตะวันตก” ในปัจจุบันนี้ ช่วยลดช่องว่างทางวัฒนธรรมดังกล่าวไปได้มาก (จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี)
  • ต้องเข้าใจก่อนว่ารากฐานของ ปรัชญาตะวันออก รากฐานของ พุทธศาสนา, ศาสนาตะวันออกอื่น ๆ ก็คือ อยู่ร่วมกับธรรมชาติ
  • ตรงกันข้ามกับรากฐานเบื้องต้นของ ปรัชญาตะวันตก ที่มุ่งหมาย ดัดแปลงธรรมชาติ, เอาชนะธรรมชาติ ที่สุดท้ายแล้ว ไม่ชนะ และกำลังเกิดการปรับเปลี่ยนความคิดขนานใหญ่ในหมู่ประชาชนมุ่งไปสู่ กฎเกณฑ์ชุดใหม่ในการดำรงชีวิต ซึ่งก็คือรากฐาน ปรัชญาตะวันออก เกิด Green Politics, Ecologist Politics กันจนเป็น กระแสใหญ่
  • แต่คนตะวันออกจำนวนหนึ่งในบ้านเรากลับยัง หลับใหลไม่ได้สติ ตกเป็น ทาส ของกระบวนการ โฆษณาชวนเชื่อ อยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน โทรทัศน์ หรือกล่าวให้ชัดเจนว่า ระบบโทรทัศน์ไทยยุคเป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ เป็นหนึ่งใน ผู้ต้องหา ลำดับต้น ๆ
  • ได้กล่าวมาแล้วว่า ความคิดปรัชญาเกิดขึ้นมาพร้อมกับมนุษย์ เมื่อมนุษย์อยากรู้อยากเห็นในสภาพที่เป็นอยู่ในขณะนั้น แต่ยังจัดเป็นวิชาปรัชญาที่แน่นอนไม่ได้ เพราะไม่มีหลักฐานที่อ้างอิงพอเพียงตามที่กล่าว เนื่องจากไม่มีการบันทึกเอาไว้ด้วยสัญลักษณ์ใด ๆ
  • แต่หลักฐานแรกที่ค้นพบได้เกี่ยวกับความคิดปรัชญาที่จัดเป็นวิชาปรัชญาได้นั้น ก็คือ
  • ทางตะวันออก ได้แก่ หลักฐานที่บันทึกเป็นครั้งแรกของวิชาปรัชญา คือ ตำราพระเวท (3,000 ปีมาแล้ว) และไม่มีหลักฐานที่แน่ชัดว่าใครเป็นผู้เรียบเรียง แต่คงใช้วิธีเล่าสืบต่อกันมาหลายชั่วอายุคน
  • ทางตะวันตก ได้แก่ หลักฐานที่ก่อให้เกิดวิชาปรัชญาขึ้น ได้แก่ คำสอนของธาเลส ซึ่งเป็นนักปรัชญาคนแรกของกรีกและทางตะวันตก ซึ่งเป็นที่ยอมรับกันว่าเป็นบิดาของวิชาปรัชญาตะวันตก
  • ในวัฒนธรรมตะวันตก คำว่า ปรัชญาตะวันออก มีความหมายกว้างๆ ครอบคลุมถึงแนวคิดทางปรัชญาของ “ตะวันออก”
  • คือทางเอเชีย ที่รวมถึงจีน อินเดีย ญี่ปุ่น และพื้นที่ทั่วไป
  • แต่ก็มีข้อสังเกตว่า ทำไมไม่ศึกษาหรือหลักสูตรในตะวันออกที่เกี่ยวกับ:
    • ศาสนา/ปรัชญายิว
    • ศาสนา/ปรัชญาคริสต์
    • ศาสนา/ปรัชญาอิสลาม
3#
 เจ้าของ| โพสต์ 2016-8-2 07:15 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
  • ความหมายของปรัชญาอินเดีย
  • “ปรัชญาอินเดีย” มิได้หมายถึงปรัชญาฮินดู ซึ่งเป็นความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนหรือไม่ตรงกับความเป็นจริง
  • คำว่า “ปรัชญาอินเดีย” หมายถึงปรัชญาทุกสำนักหรือทุกระบบที่เกิดขึ้นในอินเดีย หรือที่คิดสร้างสรรค์ขึ้นไว้โดยศาสดาและนักคิดที่เคยมีชีวิตอยู่หรือกำลังมีชีวิตอยู่ในอินเดียเช่น พุทธปรัชญา ปรัชญาเชน เป็นต้น นี้ก็คือ ความหมายที่ถูกต้องของ “ปรัชญาอินเดีย”
  • ระบบต่างๆแห่งปรัชญาอินเดีย
  • ตามวิธีที่ปฏิบัติกันมาในการจัดแบ่งระบบต่างๆของปรัชญาอินเดียนั้น ถือเอาลักษณะกว้างๆโดยอาศัยความขัดแย้งกันเป็นสำคัญ
  • โดยวิธีดังกล่าวนี้ ปรัชญาอินเดียจึงแบ่งออกเป็นระบบหรือสายใหญ่ๆ 2สาย คือ
    • สายที่เรียกว่า อาสติกะ (Orthodox)
    • และที่เรียกว่า นาสติกะ (Heterodox)
  • สายอาสติกะ มีระบบปรัชญาที่สำคัญที่เรียกว่าระบบทั้งหกแห่งปรัชญาอินเดียได้แก่ นยายะ ไวเศษิกะ สางขยะ โยคะ             มีมามสา เวทานตะ
การที่ปรัชญาทั้งหกระบบนี้ได้ชื่อว่าสายอาสติกะนั้น มิใช่เพราะว่าระบบทั้งหกนี้มีความเชื่อถือในความมีอยู่ของพระผู้เป็นเจ้าสูงสุด แต่เพราะระบบเหล่านี้ยอมรับนับถือความขลัง ความถูกต้องสมบูรณ์และความศักดิ์สิทธิ์ของพระเวท
  • สายนาสติกะ มีระบบปรัชญาที่สำคัญอยู่ 3 ระบบ คือ ปรัชญาจารวาก พุทธปรัชญา และปรัชญาแห่งศาสนาเชน
  • ปรัชญาอินเดียทุกระบบล้วนแต่ได้รับอิทธิพลจากคัมภีร์พระเวททั้งสิ้น จะต่างกันก็แต่ว่าได้รับอิทธิพลจากพระเวทโดยตรงหรือโดยอ้อมเท่านั้น
    • ปรัชญาระบบต่างๆที่เชื่อถือในความขลังและความศักดิ์สิทธิ์ของพระเวทได้ชื่อว่า ได้รับอิทธิพลของพระเวทโดยตรง
    • ส่วนปรัชญาที่คัดค้านหรือไม่ยอมเชื่อในความขลังและความศักดิ์สิทธิ์ของพระเวทได้ชื่อว่า ได้รับอิทธิพลของพระเวทโดยอ้อม
  • ปรัชญาพวกแรกได้แก่ระบบทั้งหกแห่งปรัชญาอินเดีย ส่วนพวกหลังได้แก่ปรัชญาจารวาก พุทธปรัชญาและปรัชญาแห่งศาสนาเชน ดังกล่าวมาแล้ว
  • พัฒนาการแห่งปรัชญาอินเดีย
  • ในประวัติแห่งปรัชญาอินเดียนั้น เราจะพบว่า
    • ปรัชญาทุกระบบ แม้ว่าจะไม่ได้เกิดขึ้นพร้อมกันก็ตาม แต่เมื่อเกิดขึ้นมาแล้วก็ดำรงอยู่ร่วมกันกับระบบอื่นๆ
    • ที่เป็นเช่นนี้ก็เนื่องจากว่าปรัชญาอินเดียเป็นปรัชญาชีวิต เมื่อเกิดขึ้นแล้วก็มีประชาชนกลุ่มหนึ่งเลื่อมใสและนำเอาแนวความคิดทางปรัชญานั้นมาประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวันของตน และถ่ายทอดให้แก่อนุชนในยุคต่อๆมา
  • พัฒนาการแห่งปรัชญาอินเดียนั้น เป็นไปในลักษณะที่ต่างก็วิพากษ์วิจารณ์โจมตีซึ่งกันและกัน ซึ่งไม่เพียงแต่เป็นวิธีที่รักษาและเชิดชูปรัชญาของตนเท่านั้น แต่ยังทำให้มีการเคลื่อนไหวทางปรัชญาอยู่เสมออีกด้วย โดยประการดังกล่าวมานี้ วงการทางปรัชญาของอินเดียจึงไม่มีการหยุดนิ่งนับตั้งแต่กาลอันเป็นอดีตมาจนกระทั่งปัจจุบันนี้
  • ปรัชญาอินเดียทุกระบบเริ่มต้นด้วยการแสดงทรรศนะทางวาจาหรือคำพูด
  • ทรรศนะทางปรัชญาเช่นนั้นจะถูกถ่ายทอดให้แก่สานุศิษย์หรือผู้เลื่อมใส ซึ่งสานุศิษย์ทั้งหลายจะทรงจำหรือท่องจำเอาไว้แล้วถ่ายทอดให้แก่ผู้เป็นศิษย์ต่อๆไปโดยลำดับ
  • กาลต่อมาผู้สืบต่อปรัชญาแต่ละระบบเห็นความจำเป็นที่จะรักษาแนวความคิดทางปรัชญาในระบบของตนไว้ไม่ให้เสื่อมสูญ จึงรวบรวมแนวความคิดทางปรัชญานั้นไว้เป็นหมวดหมู่ เรียกว่า สูตร
  • คำว่า สูตร เป็นภาษาสันสกฤต บาลีใช้ว่า สุตตะ แปลว่าเส้นด้าย ใช้ในความหมายว่า รวบรวมเอาคำสอนเข้าไว้ด้วยกัน เหมือนเส้นด้ายที่ร้อยดอกไม้ต่างๆเข้าด้วยกันไม่ให้กระจัดกระจายไปฉะนั้น สูตรดังกล่าวนี้ เช่น พรหมสูตร ของพาทรายณะซึ่งแต่งอธิบายแนวความคิดทางปรัชญาแห่งคัมภีร์อุปนิษัท โยคสูตรของกนาทะ มีมามสาสูตรของไชมินิ นยายสูตรของโคตรมะ เป็นต้น
  • สูตรต่างๆเหล่านี้ทีแรกก็ใช้ท่องจำต่อๆกันมา แต่ภายหลังได้จดจารึกขึ้นไว้เป็นรายลักษณ์อักษร เพื่อเก็บรักษาไว้ให้คงอยู่ตลอดไป
  • ข้อความในสูตรต่างๆมีเนื้อความย่อกะทัดรัด บรรจุเอาไว้เฉพาะใจสำคัญ บางทีเป็นข้อความสั้นๆแต่อมใจความไว้มาก ยากแก่การเข้าใจสำหรับผู้ที่ยังไม่สันทัดต่อแนวความคิดนั้นๆ กาลต่อมาคณาจารย์ของลัทธินั้นๆ จึงได้แต่งคำอธิบายข้อความที่กล่าวไว้ในสูตรเหล่านั้น
  • บรรดาสานุศิษย์ของคณาจารย์เหล่านี้ต่างก็ถือเอาความหมายของสูตรตามทรรศนะแห่งอาจารย์ของตน จึงทำให้เกิดนิกายย่อยแห่งลัทธิขึ้นมากมาย
  • ข้อความหรือคัมภีร์ที่แต่งอธิบายสูตรนี้เรียกว่า ภาษยะ บาลีใช้ว่า อรรถกถา
  • เมื่อกาลเวลาล่วงไป ก็มีคัมภีร์ฏีกาแต่งอธิบายภาษยะหรืออรรถกถา และอนุฏีกาซึ่งแต่งอธิบายฏีกาเกิดขึ้นอีก นอกจากนี้ยังมีปกรณ์วิเศษซึ่งเป็นวรรณกรรมอิสระเกิดขึ้นอีก
  • ปกรณ์วิเศษนี้ไม่จัดอยู่ในประเภทอรรถกถาฏีกาหรืออนุฏีกาโดยตรง เป็นหนังสือที่แต่งเพิ่มขึ้นเพื่อเป็นคู่มือสนับสนุนแนวความคิดทางปรัชญาแห่งระบบนั้นๆ พร้อมกับวิพากษ์วิจารณ์แนวความคิดทางปรัชญาของระบบอื่นๆไปด้วย
  • โดยประการดังกล่าวมานี้ ระบบต่างๆแห่งปรัชญาอินเดียจึงมีพัฒนาการมาเรื่อยๆ จนกระทั่งปรากฏอยู่ในลักษณะดังที่เราได้เห็นอยู่ทุกวันนี้
4#
 เจ้าของ| โพสต์ 2016-8-2 07:16 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
  • ลักษณะร่วมแห่งระบบต่างๆของปรัชญาอินเดีย
  • ปรัชญาอินเดียแม้จะมีมากมายหลายระบบ และบรรดาระบบต่างๆเหล่านั้น แม้จะมีหลักคำสอนสำคัญและหลักคำสอนปลีกย่อยแตกต่างกัน
  • อย่างไรก็ตาม แต่กระนั้นก็ยังมีลักษณะสำคัญบางประการซึ่งเป็นลักษณะร่วมแห่งปรัชญาอินเดียทุกระบบ ซึ่งพอจะแยกกล่าวเป็นข้อๆได้ดังนี้
  • ปรัชญาอินเดียทุกระบบถือว่า แนวความคิดทางปรัชญามีสาระอยู่ที่สามารถนำมาใช้ให้เกิดประโยชน์แก่ชีวิตประจำวัน เพื่อให้ชีวิตดำเนินไปสู่อุดมการณ์ที่ตั้งไว้อย่างดีที่สุด ปรัชญาอินเดียทุกระบบจึงเป็นปรัชญาชีวิต
  • ปรัชญาอินเดียทุกระบบเกิดขึ้นจากความรู้สึกไม่พึงพอใจต่อสภาพที่เป็นอยู่ของชีวิต โดยเห็นว่าชีวิตของมนุษย์นั้นเต็มไปด้วยความทุกข์นานัปการ นักคิดหรือนักปรัชญาของอินเดียจึงพยายามคิดค้นแสวงหาทางที่จะทำให้ชีวิตนี้หลุดพ้นไปจากสภาพที่ทุกข์ แล้วบรรลุถึงความสุขที่ไม่เปลี่ยนแปรหรือความสุขนิรันดร ด้วยเหตุนี้ปรัชญาอินเดียทุกระบบจึงมีการเริ่มต้นที่มีลักษณะเป็นทุนนิยม (Pessimism) แต่ทุนนิยมในปรัชญาอินเดียนี้ไม่ใช่ทุนนิยมแท้จริง เพราะมีอยู่แต่ในตอนต้นเท่านั้น จุดสุดท้ายหรือจุดหมายปลายทางปรัชญาอินเดียจบลงด้วยสุนิยม (Optimism) ทุกระบบ
  • ปรัชญาอินเดียทุกระบบเชื่อในกฎแห่งกรรม ทั้งในลักษณะที่เป็นกฎแห่งสากลจักรวาล หรือกฎแห่งและผล และในลักษณะที่เป็นกฎแห่งศีลธรรม ทุกระบบแห่งปรัชญาอินเดียเชื่อว่า ทำดีย่อมได้รับผลดี ทำชั่วย่อมได้รับผลชั่ว แม้ว่าแต่ละระบบจะมีความเห็นแตกต่างกันในเรื่องเกี่ยวกับการกระทำอย่างใดเป็นการกระทำที่ดีหรือชั่วก็ตาม
  • ปรัชญาอินเดียทุกระบบมีทรรศนะต้องกันในข้อที่ว่า อวิชชาหรืออวิทยาเป็นสาเหตุแห่งความติดข้องและการเวียนว่ายตายเกิดในวัฏสงสาร ส่วนวิชชาหรือวิทยาเป็นสิ่งที่จะทำให้หลุดพ้นจากการติดข้องและการเวียนว่ายตายเกิดเช่นนั้น การติดข้องอยู่ในโลกและการท่องเที่ยวไปในวัฏสงสารทำให้ต้องได้รับความทุกข์ไม่มีที่สิ้นสุด ปรัชญาอินเดียจึงมุ่งการบรรลุโมกษะหรือความหลุดพ้นจากทุกข์ทั้งปวงเป็นจุดหมายปลายทาง
  • อย่างไรก็ตาม เกี่ยวกับสิ่งที่เรียกว่า อวิชชานี้ ปรัชญาอินเดียไม่ได้มีความเห็นต้องกันทุกระบบ สิ่งที่เรียกว่าวิชชาของระบบหนึ่ง อาจจะเป็นอวิชชาของอีกระบบหนึ่ง เช่น ระหว่างปรัชญาฮินดูกับพุทธปรัชญา ปรัชญาฮินดูถือว่า การเห็นหรือรู้ชัดว่ามีสิ่งเที่ยงแท้ไม่เปลี่ยนแปรที่เรียกว่าอาตมันเป็นวิชชาหรือวิทยา ส่วนพุทธปรัชญาถือว่า การเห็นว่ามีสิ่งที่เที่ยงเช่นนั้นเป็นอวิชชาเป็นต้น
  • ปรัชญาอินเดียทุกระบบถือว่า การบำเพ็ญสมาธิและวิปัสสนาโดยพิจารณาสิ่งต่างๆให้เห็นตามสภาพความเป็นจริง เป็นทางที่จะนำไปสู่ความหลุดพ้นจากทุกข์ แต่เรื่องนี้ก็เป็นเช่นที่กล่าวแล้วในข้อ 4 คือ สภาพความเป็นจริงตามทรรศนะของระบบหนึ่งอาจแตกต่างจากสภาพความเป็นจริงตามทัศนะของอีกระบบหนึ่ง
  • ปรัชญาอินเดียทุกระบบเห็นว่า การควบคุมตนเองหรือการควบคุมจิตใจไม่ปล่อยให้เป็นไปในอำนาจของตัณหา เป็นทางที่ขจัดกิเลสหรือความเศร้าหมองแห่งจิตใจให้หมดไปได้ และเมื่อความเศร้าหมองแห่งจิตใจหมดไปแล้ว ก็จะบรรลุโมกษะซึ่งเป็นความสุขนิรันดร
  • ปรัชญาอินเดียทุกระบบมีความเชื่อตรงกันว่า ความหลุดพ้นจากทุกข์ทั้งปวงหรือโมกษะนั้นเป็นสิ่งที่เป็นไปได้และสามารถบรรลุถึงได้ด้วยการปฏิบัติอย่างเข้มงวดตามวิธีที่กำหนดไว้ แต่วิธีปฏิบัติเพื่อบรรลุความหลุดพ้นจากทุกข์นั้น แต่ละระบบก็มีวิธีการเป็นของตนเอง   นอกจากนั้นสถานะเช่นไรที่เรียกว่าเป็นสถานะแห่งความหลุดพ้น แต่ละระบบก็มีทรรศนะไม่เหมือนกัน ฉะนั้น จึงสรุปกล่าวได้ว่า แม้ว่าทุกระบบจะมีความเห็นพ้องกันว่า โมกษะความหลุดพ้นที่เป็นไปได้ แต่ในเรื่องของวิธีการและธรรมชาติของความหลุดพ้น แต่ละระบบมีทรรศนะไม่ตรงกัน
  • ลักษณะทั้ง 7 ประการดังกล่าวมานี้ เป็นลักษณะร่วมแห่งปรัชญาอินเดียทุกระบบ
ยกเว้นปรัชญาจารวจากเพียงระบบเดียว เพราะปรัชญาจารวจากเป็นปรัชญาวัตถุนิยมซึ่งมีแนวความคิดไม่ตรงกับแนวความคิดของระบบอื่นๆทั้งหมดของอินเดีย
(สุนทร ณ รังษี 2521 : บทนำ 1 – 8)


5#
 เจ้าของ| โพสต์ 2017-7-11 10:15 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
ขออภัย! คุณไม่ได้รับสิทธิ์ในการดำเนินการในส่วนนี้ กรุณาเลือกอย่างใดอย่างหนึ่ง ลงชื่อเข้าใช้ | ลงทะเบียน

รายละเอียดเครดิต

ตอบกระทู้ ขึ้นไปด้านบน ไปที่หน้ารายการกระทู้