ตั้งให้เราเป็นเว็บแรกที่คุณเลือก เก็บเราไว้เป็นเว็บโปรด
สมัครสมาชิก ได้มากกว่าที่คุณคิด เข้าสู่ระบบ
ดู: 2401
ตอบกลับ: 7
สั่งพิมพ์ ก่อนหน้า ถัดไป

~ หลวงพ่อโหน่ง อินฺทสุวณฺโณ วัดคลองมะดัน(วัดอัมพวัน) ~

[คัดลอกลิงก์]

หลวงพ่อโหน่ง อินฺทสุวณฺโณ
วัดคลองมะดัน(วัดอัมพวัน)
อ.สองพี่น้อง จ.สุพรรณบุรี

ประวัติ

วัดคลองมะดัน เป็นวัดโบราณไม่ปรากฏหลักฐานผู้สร้าง อยู่กลางทุ่งนา ในสมัยก่อนมีลำคลองผ่าน หน้าวัดและมีต้นมะดันขึ้นอยู่ชุกชุมมาก ชาวบ้านจึงตั้งชื่อว่า วัดคลองมะดัน แม้ว่าภายหลังได้มีการ เปลี่ยนชื่อเป็น วัดอัมพวัน แต่ชาวบ้านและคนใน จ.สุพรรณบุรี ทั่วๆ ไปยังนิยมเรียกชื่อเก่าว่า วัดคลองมะดัน เหมือนเดิม

หลวงพ่อโหน่ง เกิดปีขาล ตรงกับวันอาทิตย์ พ.ศ. ๒๔๐๙ (บางแห่งว่า พ.ศ. ๒๔๐๘) ณ หมู่บ้านท้ายบ้าน ตำบลต้นตาล อำเภอสองพี่น้อง จังหวัดสุพรรณบุรี หมู่บ้านนี้ตั้งอยู่บนฝั่งคลองสองพี่น้อง ฝั่งเดียวกับวัดสองพี่น้อง เป็นบุตรคนที่สอง (บางแห่งว่า เป็นบุตรคนที่ ๔) ของนายโต นางจ้อย โตงาม อาชีพทำนา มีพี่น้องร่วมอุทร ๙ คน อายุได้ ๒๔ ปี อุปสมบท ณ พัทธสีมาวัดสองพี่น้อง โดยพระอธิการจันทร์ วัดทุ่งคอก เป็นพระอุปัชฌาย์ พระอธิการดิษฐ์ วัดทุ่งคอก เป็นพระกรรมวาจาจารย์ กับพระอธิการสุด วัดท่าจัด เป็นพระอนุสาวนาจารย์ ได้รับฉายาจากพระอุปัชฌายะว่า อินฺทสุวณฺโณ

เมื่อหลวงพ่อโหน่งอุปสมบทแล้วเดินทางเข้ากรุงเทพฯ ไปหาพระน้าชาย ซึ่งมีสมณศักดิ์เป็นเจ้าคุณเปรียญ ๙ ประโยค เพื่อศึกษาธรรมวินัย หลวงพ่อโหน่งสังเกตเห็นเจ้าคุณมีความเป็นอยู่อุดมสมบูรณ์ จึงเอ่ยปากถามว่า ท่านละกิเลสหมดแล้วหรือ ท่านเจ้าคุณบอกให้หลวงพ่อโหน่งเข้าไปดูในกุฏิว่ามีอะไรบ้าง หลวงพ่อโหน่งไปเห็นโต๊ะหมู่บูชาทำด้วยมุก โต๊ะหมู่ทอง งาช้าง และสิ่งของมีค่าอีกมากมาย เมื่อออกมาจากกุฏิ หลวงพ่อโหน่งกราบลาท่านเจ้าคุณน้าชายกลับมาจำพรรษายังวัดสองพี่น้องตามเดิม แล้วเดินทางไปจำพรรษาที่วัดทุ่งคอกเพื่อศึกษาวิปัสสนากรรมฐานกับพระอธิการจันทร์ อุปัชฌาย์ของท่าน

ขออภัย! โพสต์นี้มีไฟล์แนบหรือรูปภาพที่ไม่ได้รับอนุญาตให้คุณเข้าถึง

คุณจำเป็นต้อง ลงชื่อเข้าใช้ เพื่อดาวน์โหลดหรือดูไฟล์แนบนี้ คุณยังไม่มีบัญชีใช่ไหม? ลงทะเบียน

x
2#
 เจ้าของ| โพสต์ 2013-7-27 04:33 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
หลวงพ่อโหน่งศึกษาวิปัสสนากรรมฐานกับหลวงพ่อจันทร์ได้ ๒ พรรษา เดินทางมาศึกษาต่อวิปัสสนากรรมฐานกับหลวงพ่อเนียม วัดน้อย ต.โคกคราม อ.บางปลาม้า สุพรรณบุรี จนกระทั่งมีความรู้แตกฉานเป็นที่ไว้วางใจแก่หลวงพ่อเนียมได้ เมื่อตอนหลวงพ่อปาน วัดบางนมโค อยุธยามาเป็นลูกศิษย์ หลวงพ่อเนียมพูดกับหลวงพ่อปานว่า “เวลาข้าตายแล้ว เอ็งสงสัยอะไรก็ให้ไปถามโหน่งเขานะ โหน่งเขาแทนข้าได้”

นอกจากนี้ยังมีหลักฐานปรากฏว่า เมื่อ พ.ศ. ๒๔๔๙ หลวงพ่อโหน่ง อายุ ๔๑ ปี จำพรรษาอยู่ ที่วัดสองพี่น้อง พระมงคลเทพมุนี (หลวงพ่อสด) วัดปากนํ้า ได้อุปสมบท ณ วัดสองพี่น้องและ พระสงฆ์ที่มีส่วนร่วมในการอุปสมบทในครั้งนั้นคือ หลวงพ่อโหน่ง เป็นพระอนุสาวนาจารย์ และต่อมาหลวงพ่อสดก็ได้ฝากตัวเป็นศิษย์หลวงพ่อโหน่งเช่นกัน นอกจากหลวงพ่อสดแล้ว ศิษย์ของท่านยังมี หลวงปู่โต๊ะ วัดประดู่ฉิมพลี สมเด็จพระสังฆราช (ปุ่น) วัดโพธิ์ หลวงพ่อแดง วัดทุ่งคอก

เมื่อหลวงพ่อโหน่งกลับไปจำพรรษาที่วัดสองพี่น้องตามเดิม จิตใจวาบหวิวชอบกล จึงเดินทางไปหาหลวงพ่อเนียมอีก ยังไม่ทันที่หลวงพ่อโหน่งจะว่าอะไร หลวงพ่อเนียมพูดขึ้นก่อนว่า “ฮื้อ! ทำไปเองนี่นา ไม่มีอะไรหร๊อก กลับไปเถอะ” หลวงพ่อโหน่งรู้สึกสบายใจขึ้น และก็มิได้เป็นอะไรอีกเลย

เมื่อมาจำพรรษาที่วัดคลองมะดัน ท่านฉันอาหารเจ ก่อนออกบิณฑบาต นมัสการต้นโพธิ์ทุกเช้า เมื่อบิณฑบาตกลับมาใส่บาตรถวายสังฆทาน ท่านเอามารดามาอยู่ที่วัดด้วย ปรนนิบัติจนกระทั่งถึงแก่กรรม เคร่งครัดในการอบรมสั่งสอนพระเณรและลูกศิษย์วัด ไม่รับเงิน เจริญวิปัสสนากรรมในป่าช้าเป็นประจำ ถือสันโดษ ไม่สะสมทรัพย์สินมีค่าเลยแม้แต่น้อย สร้างสาธารณูปการสงฆ์เพิ่มขึ้นอีกเป็นอันมาก

จากการเจริญวิปัสสนากรรมฐาน ทำให้ฌานของหลวงพ่อแก่กล้า สามารถทราบเหตุการณ์ล่วงหน้าได้ พระทำผิดวินัย ท่านสามารถรู้ได้โดยไม่ต้องเห็น พระที่ไปรุกขมูลทะเลาะเบาะแว้งกัน ท่านก็รู้ หลวงพ่อปาน วัดบางเหี้ยไปหาหลวงพ่อโหน่งที่วัดคลองมะดันโดยไม่บอกเล่าเก้าสิบ หลวงพ่อโหน่งสั่งลูกศิษย์เตรียมจัดที่จัดทางไว้ ว่าวันนี้จะมีพระผู้ใหญ่มาหา

มีเรื่องเล่าว่า ใครนิมนต์ท่านไปไหนมาไหน ท่านต้องถามพระประจำตัวในกุฏิท่านก่อนเสมอ ถ้าพระท่านบอกไปได้ ท่านก็ไป ถ้าพระท่านบอกไม่ให้ไป ท่านก็ไม่ไป

แม้กระทั่งการสร้างพระประธานองค์ย่อม ท่านก็ถามพระว่า สร้างได้ไหม พระบอกว่าสร้างได้ ท่านก็สร้างตามนั้น แต่ท่านไม่ทราบว่าจะหาช่างปั้นช่างหล่อที่ไหน พระก็บอกให้เดินไปทางโน้นทางนี้ ท่านก็เดินตามนั้น พบช่างมาช่วยปั้นและหล่อตามที่พระบอก

เมื่อหล่อเสร็จช่างก็หายตัวไปเฉยๆ โดยไม่บอกกล่าว

ท่านก็ตกใจว่า อ้าว....เงินค่าจ้างยังไม่ได้จ่าย เป็นการเบียดเบียนเขา จึงเดินย้อนไปตามทางเดิมถึงจุดที่พบช่าง ก็บอกลักษณะหน้าตาถามชาวบ้าน ชาวบ้านบอกไม่รู้จัก คงเป็นคนถิ่นอื่น เมื่อกลับกุฏิก็ถามพระว่า จะไปตามช่างได้ที่ไหน

พระบอกไม่ต้องไปตาม เพราะช่างคนนี้ไม่ธรรมดา เป็น ช่างเทวดา มาช่วย เมื่อหมดหน้าที่ท่านก็ไปตามเรื่องของท่าน ไม่ต้องไปตามหรอก ถึงตามก็ไม่เจอ
3#
 เจ้าของ| โพสต์ 2013-7-27 04:33 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
หลวงพ่อโหน่ง เป็นศิษย์รุ่นพี่ของ หลวงพ่อปาน วัดบางนมโค ร่วมอาจารย์เดียวกันคือ หลวงพ่อเนียม วัดน้อย

ก่อนหลวงพ่อเนียมมรณภาพ ท่านได้สั่งเสียกับหลวงพ่อปานว่า ถ้าข้าตาย มีอะไรขัดข้องก็ให้ไปถาม หลวงพ่อโหน่ง นะ

เมื่อหลวงพ่อเนียมมรณภาพ แล้วราวหนึ่งปี หลวงพ่อปานก็ธุดงค์มาหาหลวงพ่อโหน่งที่วัดคลองมะดัน มาถึงวัดตอนบ่ายวันหนึ่ง ท่านก็นั่งรออยู่ใต้ต้นไม้ คิดว่าหลวงพ่อโหน่งคงจำวัด

แต่หลวงพ่อโหน่งรู้ด้วยญาณของท่าน จึงเปิดหน้าต่างออกมา เห็นหลวงพ่อปานนั่งรออยู่ จึงว่า อ้อ มาถึงแล้วเรอะ ฉันรออยู่แต่เช้าเชียว คืนนั้น หลวงพ่อปานต่อวิชากับหลวงพ่อโหน่งในโบสถ์ ทั้งหลวงพ่อโหน่งกับหลวงพ่อปานเข้าสมาบัติเต็มอัตรา ไม่ถึงครึ่งคืนทุกอย่างก็จบสิ้นกระบวนความ

เมื่อตอนหลวงพ่อโหน่งมรณภาพ ปี 2477 หลวงพ่อปานไปสร้างวัดอยู่ลพบุรีทราบข่าว ได้สั่งกรรมการวัดคลองมะดันว่า อย่าเพิ่งเผาศพหลวงพ่อโหน่ง ถ้าร่างไม่เน่า ให้รอท่านก่อน

ปรากฏว่าร่างหลวงพ่อโหน่งไม่เน่า แต่กรรมการวัดก็รีบเผาเสีย หลวงพ่อปานมาถึงก็เทศนากรรมการวัดเสียกัณฑ์ใหญ่ว่า พวกแกอยู่กับพระอรหันต์ทุกวี่วัน ช่างไม่รู้บ้างเลย ท่านอธิษฐานทิ้งตัวไว้นะ

ต่อมาเมื่อหลวงพ่อปานมรณภาพ เมื่อปี 2481 ท่านก็อธิษฐานทิ้งตัวไม่เน่าอีกเหมือนกัน

สรุปแล้ว ตั้งแต่พระอาจารย์ใหญ่คือ หลวงพ่อเนียม ลงมาจนถึง หลวงพ่อโหน่ง และ หลวงพ่อปาน เมื่อมรณภาพแล้ว ร่างกายไม่เน่าทุกองค์ โดยไม่ต้องฉีดยาอย่างปัจจุบัน

หลวงพ่อเริ่มสร้างวัตถุมงคลตั้งแต่เมื่อใดไม่มีใครนึกออก แต่มีพระดินเผาอยู่องค์หนึ่ง จารึกด้านหลังว่า พ.ศ. ๒๔๖๑ ก็น่าจะสันนิษฐานว่า พระที่ท่านสร้างนั้น คงจะเริ่มตั้งแต่ พ.ศ. ๒๔๖๑ เป็นต้นไป เพราะไม่ปรากฏ พ.ศ. ที่เก่ากว่านั้นเลย ท่านทำมาเรื่อยจนถึง พ.ศ.2470 กว่า จึงยุติ พระที่ท่านสร้างขึ้นมีหลายสิบพิมพ์ เป็นพิมพ์ใหม่ที่ท่านและลูกศิษย์คิดค้นขึ้นเองก็มี ที่ถอดพิมพ์จากพระเก่าก็มาก ท่านและประชาชนพิมพ์พระเสร็จเก็บไว้ในตุ่มน้ำ ในถัง ในปีบ ในลังไม้ เป็นระยะเวลา ๑๐ กว่าปี คาดว่าเกินกว่า ๘๔,๐๐๐ องค์ พิมพ์อาจมากเป็นร้อยพิมพ์

บางตำราว่า เวลาพุทธาภิเษกของท่านแปลก คือทำพิธีตอนเผาไฟ ไม่ใช่เผาแล้วทำ พระคณาจารย์ที่มีชื่อเสียงสมัยนั้นมาประกอบพิธีกันมากหลาย หลวงพ่อปานก็มาร่วมในพิธีพุทธาภิเษกด้วย

แต่บางตำราก็ว่า การปลุกเสกพระของหลวงพ่อโหน่งนั้นท่านปลุกเสกเดี่ยวเพียงองค์เดียวเท่านั้น และท่านจะปลุกเสกตลอดไตรมาสในช่วงเข้าพรรษา พอออกพรรษาแล้วก็จะมีการฉลองสมโภชพระที่สร้างใหม่ โดยอาราธนาพระสงฆ์ ในวัดคลองมะดันมาสวดพระพุทธมนต์ ส่วนตัวท่านเป็นประธานพิธี พอเสร็จพิธีในการสวดพุทธมนต์แล้ว ท่านจะขึ้นธรรมาสน์เทศนาสั่งสอนผู้คนที่มารับแจกพระจากมือท่าน

ในการสร้างพระเครื่องบางครั้งถ้ามีฤกษ์ดิถีที่ดี ท่านก็จะนิมนต์พระอาจารย์แก่กล้าธรรมทั้งหลาย รวมทั้ง หลวงพ่อปาน มาร่วมปลุกเสกพระที่ท่านสร้างเป็นครั้งคราวด้วย
4#
 เจ้าของ| โพสต์ 2013-7-27 04:34 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
ลักษณะเนื้อพระมีทั้งละเอียดและหยาบ เนื้อละเอียดบางองค์เหมือนพระทุ่งเศรษฐี จังหวัดกำแพงเพชร สีดง สีหม้อใหม่ แดงปนน้ำตาล สีแดงนวล สีดำปนเทา เฉพาะสีดำปนเทามีจำนวนน้อย ในเนื้อดินมักมีแก้วแกลบ (แร่ยิบซั่ม) ฝังอยู่ ลักษณะเป็นเส้นขาวทึบคล้ายกระดูกหรือแป้งฝังอยู่ในเนื้อพระ อาจจะมีบ้างแต่น้อยมาก แร่ทรายเงินทรายทองก็มี ด้านหลังบางองค์จารึกอักขระขอม บางทีก็ พ.ศ. การสร้าง ภาษาจีนก็มีจารึก

พระพิมพ์ต่างๆ ของท่านมีอาทิ พิมพ์ซุ้มกอ พิมพ์ลีลา พิมพ์พระสมเด็จสามชั้นและฐานคู่ พิมพ์จันทร์ลอย พิมพ์ปรุหนัง พิมพ์ท่ากระดาน พิมพ์พระชินราช พิมพ์งบน้ำอ้อย พิมพ์กลีบบัว พิมพ์พระตรีกาย พิมพ์โมคคัลลาน์สารีบุตร พิมพ์พระเจ้าห้าพระองค์ พิมพ์พระปิดตา พิมพ์นาคปรก พิมพ์ปางไสยาสน์ พิมพ์กำแพงศอก ฯลฯ แต่ที่ได้รับความนิยมสูงสุด คือ พิมพ์ซุ้มกอ ซึ่งออกเป็นพิมพ์เล็กและพิมพ์ใหญ่ ค่านิยมก็แตกต่าง กันไปตามสภาพ

นอกจากนี้ พระพิมพ์ขุนแผนหน้าค่าย ก็ได้รับความนิยมเช่นกันแบ่งออกเป็น ๒ พิมพ์ คือ พิมพ์ฐานมีบัว และพิมพ์ฐานไม่มีบัว

ส่วนพระพิมพ์อื่นๆ ที่ได้รับความนิยมไม่แพ้กัน คือ พระลีลาหรือพระกำแพงนิ้ว พระสมเด็จฐานคู่ และอีกหลายๆ พิมพ์ที่ไม่ได้เอ่ยนามไว้ ณ ที่นี้ ต่างได้รับความนิยมทุกๆ พิมพ์ตามสภาพความงามของพระองค์นั้นๆ

พระเครื่องที่ท่านสร้างขึ้นและเสกแล้ว ท่านจะเก็บไว้ในโอ่ง ท่านจะหยิบใส่พานตั้งตรงหน้าท่านจำนวนหนึ่ง เพื่อแจกแก่ญาติโยมไปเรื่อยๆ เมื่อข่าวหลวงพ่อโหน่งสร้างพระและแจกพระแพร่กระจาย ออกไปมีประชาชนทั้งใกล้ และไกลมารับแจกพระจากท่านเป็นจำนวนมาก ทุกๆ วัน หลวงพ่อโหน่งต้องเพิ่มกิจวัตร ในการแจกพระเป็นเวลานาน

นอกจากนี้แล้ว หลวงพ่อโหน่งยังได้นำพระอีกส่วนหนึ่ง ไปบรรจุไว้ที่ปูชนียสถาน หลายแห่งภาย ในวัดคลองมะดัน และที่วัดทุ่งคอกด้วย ส่วนที่เหลือก็แจกให้แก่ผู้ที่มาขอตลอดอายุขัยของท่าน

เมื่อหลวงพ่อโหน่งมรณภาพแล้ว พระก็ยังเหลืออยู่ อาจารย์ฉวย ปัญญารตนะ เจ้าอาวาส รูปต่อมาก็ได้ทำตามเจตนารมณ์ ของหลวงพ่อโหน่งทุกประการ คือ แจกพระหลวงพ่อโหน่งให้แก่ผู้ที่มาทำบุญเรื่อย มาจนอาจารย์ฉวยมรณภาพลง พระที่แจกก็ยังไม่หมด

อาจารย์หนำ ยะสะสี เจ้าอาวาสรูปต่อมา ก็ได้แจกพระหลวงพ่อโหน่ง ตามเจ้าอาวาสรูปก่อน พระหลวงพ่อโหน่ง จึงได้หมดไปในที่สุด ซึ่งแสดงให้เห็นว่า พระหลวงพ่อโหน่งสร้างไว้หลายพิมพ์และมีจำนวนมาก แต่ก็ไม่มีใครทราบจำนวนที่แท้จริงว่าสร้างมากเท่าไร จะรู้เพียงว่าสร้างด้วยเนื้อดินเผาทั้งหมด

นอกจากพระเครื่องชนิดเล็กๆ สำหรับห้อยคอติดตัวแล้ว หลวงพ่อโหน่ง ยังได้สร้างพระขนาดใหญ่เพื่อเอาไว้บูชาตั้ง ไว้ในบ้านอีกด้วย เช่น พระกำแพงศอกเนื้อดินเผาและพิมพ์อื่นๆ อีกเป็นจำนวนมาก รวมทั้งพระรูปเหมือนหลวงพ่อโหน่ง แบบลอยองค์แบบพระบูชา เนื้อทำด้วยปูน เป็นต้น โดยท่านจะเขียนคำอวยพรไว้ด้านหลังองค์พระเป็นภาษาไทยไว้ด้วย
5#
 เจ้าของ| โพสต์ 2013-7-27 04:34 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
ส่วนการสร้างพระของบรรดาศิษย์และผู้ใกล้ชิดสร้างขึ้นไว้เป็น สมบัติส่วนตัวโดยเฉพาะโดยได้ขออนุญาตให้หลวงพ่อโหน่ง ปลุกเสกให้ แต่มีจำนวนน้อยมากยากที่จะเสาะหาในปัจจุบัน เนื่องจากพระหลวงพ่อโหน่งมีของเทียมมาก เช่าหาโปรดจงระวัง

หลวงพ่อโหน่ง วัดคลองมะดัน ท่านมรณภาพเมื่อวันที่ ๒๕ ธ.ค. ๒๔๗๗ อายุ ๖๙ ปี พรรษา ๔๖ โดยท่านมรณภาพในปางไสยาสน์แบบอาจารย์ของท่านคือ หลวงพ่อเนียม วัดน้อย

หลวงพ่อโหน่ง วัดคลองมะดัน หรือ วัดอัมพวัน อ.สองพี่น้อง จ.สุพรรณบุรี ท่านเป็นพระเกจิอาจารย์อีกรูปหนึ่งที่มีวิชาพุทธาคมอันเข้มขลังอยู่ระดับแนวหน้าของประเทศไทย กล่าวกันว่า พระเครื่องของหลวงพ่อโหน่งมีพุทธคุณเด่นทางเมตตา มหานิยมมากและแคล้วคลาด จากอันตราย เป็นเลิศ จึงเป็นที่เสาะหาของบรรดานักสะสม เพื่อเอาไว้ใช้ติดตัวเพื่อป้องกันอันตรายต่างๆ มาตั้งแต่โบราณจนถึงปัจจุบัน นับว่าหลวงพ่อโหน่งเป็นพระเกจิอาจารย์ผู้ทรงคุณวิเศษท่านหนึ่งของประเทศไทย



ขอขอบคุณที่มา http://www.amulet.in.th/forums/v ... bf86dbafd09036e1345

กราบนมัสการครับ

ขอบพระคุณข้อมูลครับ
ขอบพระคุณสำหรับข้อมูลครับ
ขออภัย! คุณไม่ได้รับสิทธิ์ในการดำเนินการในส่วนนี้ กรุณาเลือกอย่างใดอย่างหนึ่ง ลงชื่อเข้าใช้ | ลงทะเบียน

รายละเอียดเครดิต

ตอบกระทู้ ขึ้นไปด้านบน ไปที่หน้ารายการกระทู้