ตั้งให้เราเป็นเว็บแรกที่คุณเลือก เก็บเราไว้เป็นเว็บโปรด
สมัครสมาชิก ได้มากกว่าที่คุณคิด เข้าสู่ระบบ
ดู: 1908
ตอบกลับ: 2
สั่งพิมพ์ ก่อนหน้า ถัดไป

คนสมัยโบราณเชื่อว่าการลงโทษที่รุนแรงจะมีผลในการยับยั้งอาชญากรรม (Deterrent Effects) ได้อย่างชะงัด

[คัดลอกลิงก์]
อ่วม-อกโรย

คนสมัยโบราณเชื่อว่าการลงโทษที่รุนแรง
จะมีผลในการยับยั้งอาชญากรรม (Deterrent Effects) ได้อย่างชะงัด


โดยเฉพาะอย่างยิ่งอาชญากรรมรุนแรง นอกจากนี้ ความรุนแรงยังเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตประจำวันอีกด้วย ดังนั้น เราจึงได้ยินเรื่องน่าหวาดเสียวอยู่บ่อยๆ ดังเช่นเรื่องต่อไปนี้จาก "ผู้ร่วมสมัยคุณปู่" ของชาลี เอี่ยมกระสินธุ์ (2542)

"อันบรรดาผู้ร้ายในสมัยราชกาลที่ 5 ถ้าเป็นฆาตกรที่ปล้นฆ่าผู้ใดผู้หนึ่งถึงแก่ความตายแล้วไซร้ กฎหมายที่วางไว้จะเด็ดขาด หลังจากสืบสวนทวนความได้ประจักษ์แน่นอนแล้ว ไอ้ผู้ร้ายฆ่าคนตายจะต้องถูกพิพากษาให้ตายตกไปตามกันทุกรายไป โดยไม่มีข้อยกเว้นทั้งสิ้น
ผู้ร้ายคดีฉกรรจ์ที่ก่อเวรกรรมสมัยแผ่นดินพระพุทธเจ้าหลวงจึงไม่เกิดขึ้นมากนัก ด้วยมันรู้ว่าหากจับได้ก็จะต้องเสียหัวให้แก่เพชฌฆาต อย่างไม่มีทางร้องอุทธรณ์ได้แน่นอน
บ้านเมืองในยุคนั้นจึงร่มเย็นเป็นสุขอย่างแท้จริง เพราะรัชกาลที่ 5 จะต้องทรงทราบในคดีอุกฉกรรจ์เกือบทุกเรื่อง บางเรื่องก็จะทรงวินิจฉัยด้วยพระองค์เอง ว่าจะสมควรลงโทษสถานไหน


สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค) ผู้ดำรงตำแหน่งผู้สำเร็จราชการแผ่นดินตระหนักดีว่า
ศัตรูที่ทำลายความสงบเรียบร้อยของบ้านเมือง ที่ร้ายกาจที่สุดคือ พวกผู้ร้ายนั่นเอง
เพราะรายงานจากพนักงานควบคุมคุกระบุว่า นักโทษเพิ่มจำนวนขึ้น ถ้าไม่กำราบให้เบาบางลง คุกจะไม่พอใส่พวกนักโทษเหล่านั้น


ด้วยอำนาจและความยุติธรรมเที่ยงตรงเฉียบขาด พวกเหล่าร้ายในบางกอกสงบทันตาเห็น เจ๊กอั้งยี่หมอบราบคาบแก้ว พวกเจ้านายที่ทำท่าจะก่อเหตุไม่สงบ ก็ต้องยุติการกระทำด้วยคำสั่งอันไม่เห็นแก่หน้าใครทั้งสิ้น เพราะท่านผู้สำเร็จราชการต้องการให้บ้านเมืองราบรื่น และท่านก็เทิดทูนราชวงศ์จักรีอย่างแน่นแฟ้น
เมื่อในพระนครหลวงเบาบางจากพวกผู้ร้าย รายงานจากกรุงศรีอยุธยาก็แจ้งข่าวด่วนว่า เกิดผู้ร้ายที่กำลังอาละวาดหนัก ปล้นฆ่าคนหลายราย พวกชาวกรุงเก่าและอาศัยสองฟากฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยานอนตาไม่หลับ เพราะไม่รู้ชะตากรรมจะมาถึงเมื่อไร

เสียงที่บอกถึงมรณะคือ เสียง "อ้ายเสือ-เอา-วา" แสงไฟจากคบเพลิง เสียงปืน มีดดาบ หอกที่ระดมกันเข้าสังหารเจ้าทรัพย์ เต็มไปด้วยความโหดเหี้ยม
พรรคพวกของจอมโจรนี้มีมาก มีสายสืบคอยส่งข่าวเจ้าหน้าที่ตำรวจไม่เพียงพอที่จะปราบปรามมันได้ อย่างน้อยต่างก็กลัวอำนาจของไอ้สองเสือนี้อย่างยิ่ง มันคือ
1. ไอ้โพ-หูแหว่ง แห่งตำบลบ้านสาย
2. ไอ้อ่วม-จอมกักขฬะที่ตะกลามในกามคุณ เมื่อฆ่าเจ้าทรัพย์ตายแล้ว ยังฉุดคร่าลูกสาวของเขามาเป็นเมีย ยังความเจ็บช้ำน้ำใจ แก่วงศาคณาญาติของครอบครัวคนเหล่านั้นอย่างสุดหัวใจ


สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ ได้ออกเดินทางไปทำการปราบปรามพวกเหล่านี้ด้วยตนเอง ท่านบงการพวกข้าหลวงหน่วยพิเศษอย่างเร่งรัด และปกปิดข่าวมิให้พวกมหาโจรเหล่านี้ได้รู้ตัว พาหนะในสมัยนั้นก็คือ เรือ

เรือแหวดเป็นเรือของผู้ที่มีฐานะค่อนข้างดีมีที่นั่ง และมีเก๋งบังมิดชิด ส่วนเรือพวกข้าหลวงหน่วยกำจัดอันธพาลโจรร้าย ก็เป็นเรือมีลักษณะไม่แตกต่างกันเท่าใดนัก ท้องน้ำจึงคลาดคล่ำไปด้วยเรือแพมากมาย จนบางครั้งไม่รู้ว่าใครเป็นใคร

2#
 เจ้าของ| โพสต์ 2016-7-10 09:15 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
ท่านผู้สำเร็จราชการฯ ได้ออกไปตั้งกองสืบจับ พร้อมด้วยบรรดาข้าหลวงหน่วยพิเศษ ข้าหลวงสายหนึ่งได้มุ่งตรงไปทางบ้านสาย เพราะผู้สืบที่ส่งไปล่วงหน้านั้นได้รายงานว่า เรือของ "ไอ้โพหูแหว่ง" วนเวียนอยู่พร้อมพวกพ้องที่เตรียมการปล้นบ้านเศรษฐีผู้หนึ่ง ในเขตอยุธยานั่นเอง
ด้วยกำลังกองเรือที่กระจายกันค้นหาพร้อมอาวุธครบครัน ทางบกเล่าก็ยกกองกันเต็มที่ออกกวาดจับมาได้เป็นจำนวนหลายคน ล้วนแต่เป็นไอ้มหาโจรใจอำมหิตทั้งนั้น ส่วนทางเรือก็ได้ตั้งกองดักล้อมไว้หนาแน่นเช่นกัน การหนีเรือฝ่ายหลวงย่อมหมดโอกาส

เมื่อสมเด็จเจ้าพระยาผู้ยิ่งใหญ่ในแผ่นดินกำกับเอง พวกพยานที่ครั่นคร้ามพวกโจรจึงสิ้นความหวาดเกรง เพราะสถานโทษพวกนี้มีข้อเดียวคือ ตัดหัว
ไอ้โพ ถูกพันธการแน่นหนา เรียกว่าล่ามกันตั้งแต่คอจนถึงสองขาด้วยโซ่ตรวน ท่ามกลางความเคียดแค้นของผู้ได้พบเห็น เพราะต่างก็สมน้ำหน้าในการจบชีวิตมันครั้งนี้
ลำน้ำเจ้าพระยาในยามดึกนั้นสงบ เพราะลมไม่แรงจัดนัก เรือที่ค้าขายและสัญจรไปมาว่างเปล่า เรือข้าหลวงคงทำหน้าที่ออกตระเวนไปตามลำน้ำอย่างจับตามองเรือที่ผ่านไปมาด้วยความระมัดระวัง
ทันใด เรือแหวดเก๋งลำหนึ่งพายผ่านมา ใครหนอจะนั่งเรือทำอย่างนี้ กองสืบจับนึกว่าเรือพวกเดียวกันจึงเบนหัวเรือเข้าไปประกอบ เพื่อสอบถามผลของการมาตามหาผู้ร้ายสำคัญ เรือแหวดลำนั้นชะลอลง หญิงสาวผู้หนึ่งโผล่พรวดออกมาจากเก๋ง
"เรือใคร" เจ้าหน้าที่ถาม

หญิงนั้นหน้าซีดเซียว เพราะเห็นเป็นเรือพวกเจ้าหน้าที่ ซึ่งมีอาวุธปืนครบมือ พูดเสียงกระซิบเบาๆ กับผู้ถามว่า "ไอ้อ่วมนอนหลับในเรือ ฉันถูกมันฉุดเอามาข่มขืนโปรดช่วยด้วยเถิด"

เท่านั้นเอง ตำรวจเกือบ 6 นาย ก็กรูกันขึ้นเรือ เผ่นเข้าไปในเก๋งอย่างฉับพลัน ไอ้อ่วมสะดุ้งตื่นตกใจหันไปคว้าปืนตามวิสัย แต่โปลิศนายหนึ่งกำยำกว่าเพื่อน ฟาดพานท้ายปืนไปที่หน้ามันเต็มแรง ไอ้อ่วมร้องโอ๊กด้วยความเจ็บปวด โปลิศอีกหลายนาย กรากเข้ามัดไอ้อ่วม ยอดนักฆ่าหมายเลขหนึ่งของกรุงเก่าไว้ได้อย่างง่ายดาย
ลูกน้องคนสนิทอีก 4-5 คน พยายามเผ่นลงน้ำ แต่เจ้าหน้าที่ไม่ยอมให้โอกาสนั้นหลุดลอยไป ปืนยาวพร้อมไฟฉายกราดไปที่ไอ้บางคนกระโจนลงไปในน้ำ แต่มันก็ต้องดิ้นพราดจมลงไปในน้ำ ด้วยอำนาจกระสุนที่ประเคนเข้าไปใส่เหมือนห่าฝน พวกที่ยอมให้จับนั้นอีกหลายคน

ข่าวการจับไอ้ยอดโจรหัวหน้าใหญ่สองคนได้ ทำให้ชาวเมืองที่เดือดร้อน เพราะไม่รู้ว่าจะต้องถูกมันเข่นฆ่าเมื่อใดก็ชื่นชมยินดี เพราะผู้ร้ายนับสิบๆ คน ถูกจับและส่งตัวเข้าคุกกันเป็นแถว ที่เหลืออยู่ก็ถูกติดตามล่ากันอย่างไม่ละลดเรียกว่า ปราบกันให้เตียนทีเดียว

สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ ได้ประชุมพร้อมพรั่งผู้พิพากษาตุลาการ ตั้งศาลขึ้นชำระพิพากษาตามความผิดที่ไอ้จอมโจรได้ก่อคดีไว้ เพื่อมิให้ฆาตกรมีมากขึ้น กฎหมายที่วางบทลงโทษไว้ จึงเป็นไปตามกำหนดโทษอย่างเที่ยงตรง เมื่อใครมันฆ่าเขาตายแล้วก็ย่อมต้องตายตกไปตามกัน ตามกรรมที่มันได้ก่อไว้ และเป็นเยี่ยงอย่างมิให้ใครประพฤติผิดชั่วร้าย

ไอ้โพหูแหว่ง ถูกนำตัวไปประหารที่หน้าเพนียดคล้องช้าง เพราะเป็นอาณาบริเวณกว้างขวางมาก เนื่องจากประชาชนแห่มาดูกัน ราวมีงานคล้องช้างก็ไม่ปาน ชาวกรุงเก่านั้นไม่ต้องพูดถึง พวกที่อยู่จังหวัดใกล้เคียงก็เดินทางด้วยเรือบ้าง เกวียนบ้างเดินเท้าบ้างจนแน่นขนัดยัดเยียด
สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ สั่งให้เพชฌฆาตใช้ขวานผ่าอกไอ้โพแทนใช้ดาบฟันคอ ขวานเล่มใหญ่คมกริบในมือขุนขวาน ที่ทำหน้าที่ฟาดฟันไปยังอกไอ้โพนั้น ประจักษ์สายตาชาวเมืองที่พากันมองอย่างตื่นเต้น

เสียงโห่ร้องกึกก้องเมื่อขวานจามลงไปบนอกไอ้โพดังสนั่นหวั่นไหว เลือดพุ่งแดงฉาน เพชฌฆาตฟันอีกครั้งเดียวร่างของไอ้วายร้ายก็ขาดเป็นสองท่อน จากความเงียบกริบเปลี่ยนเป็นเสียงโกลาหลที่สิ้นชีพไอ้เสือร้าย

ส่วนไอ้อ่วมนั้นปล้นฆ่าหนักหนาทางผักไห่ สมเด็จเจ้าพระยาฯ จึงสั่งให้นำตัวมันกับพรรคพวกไปสังหารที่วัดชีตาเห็น บ้านผักไห่ คราวนี้ผู้คนยิ่งคับคั่งเพราะบริเวณค่อนข้างแคบกว่าทางเพนียดคล้องช้าง หลายคนที่เก่งกล้าจึงต้องปืนต้นไม้ขึ้นไปดูเพื่อให้เห็นเด่นชัด

ไอ้อ่วม ร่างใหญ่สักอักขระไว้เต็มตัว นัยน์ตามันเหมือนห้อเลือด พวกเสือ เหล่านี้มักจะมีเครื่องรางคุ้มครองมันเกือบทุกคน ไอ้อ่วมเมื่อถูกเพชฌฆาตกระหน่ำขวานลงไปบนกลางอกอันเป็นแผงใหญ่นั้น หนังของมันคงเหนียว จึงทำให้ขวานกินเนื้อและเรียกเลือดออกมาไม่มากนัก

ขวานคมกริบอันหนักและใหญ่จึงถูกประเคนลงไปอีก คราวนี้เลือดพรั่งออกมา ร่างไอ้อ่วมบิดไปมา ขวานที่ถูกยกขึ้นเหนือหัว เพชฌฆาตไม่รอช้า มึงจะเหนียวสักแค่ไหนก็ให้รู้ไป พรานล่าชีวิตตามหน้าที่ที่สูงใหญ่เหมือนยักษ์ปักหลั่น หวดซ้ำลงไปตรงอกไอ้อ่วมอีกสี่ห้าครั้งจนอกซี่โครง ตับไตไส้พุงแตกกระจัดกระจาย

การที่ไอ้ผู้ร้ายลือโลกคนนี้ดับดิ้นไปแล้ว แต่ชื่อของมันยังปรากฏอยู่ในความทรงจำของเพชฌฆาตอีกนานเท่านาน เพราะมันตายด้วยขวานแทนดาบ-เหมือนไอ้โพหูแหว่ง ไอ้อ่วมจึงถูกตั้งฉายานามซึ่งกล่าวขวัญกันมาในแผ่นดินรัชกาลที่ 5 ว่า "ไอ้อ่วมอกโรย"

คอลัมน์ อาหารสมอง โดย วีรกร ตรีเศศ
มติชนรายสัปดาห์, 29 ธันวาคม พ.ศ. 2549
3#
 เจ้าของ| โพสต์ 2016-7-10 09:18 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
ประวัติสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์



    สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง          บุนนาค) เป็นมหาบุรุษของไทยที่สร้างคุณประโยชน์แก่ประเทศชาติอย่างใหญ่หลวงท่านเป็นศูนย์รวมจิตใจของทุกคนในสถาบันราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา และชุมชนใกล้เคียง เนื่องจากที่ตั้งของสถาบันราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา          และบริเวณโดยรอบเคยเป็นจวนและที่ดินของท่านมาก่อน ทุก ๆ          คนในสถาบันราชภัฏแห่งนี้จึงเคารพเทิดทูนท่านโดยขนานนามท่านว่า "เจ้าพ่อ"          และเรียกตนเองว่า          "ลูกสุริยะ" เนื่องจากท่านได้รับพระราชทานตรามหาสุริยมณฑลจากพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว          ซึ่งเป็นตราประจำตัวและยึดถือเป็นสัญลักษณ์แทนตัวท่านมาโดยตลอด
   สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์เป็นบุตรคนใหญ่ของสมเด็จพระยาบรมมหาประยูรวงศ์          (ดิศ บุนนาค) และท่านผู้หญิงจัน          เกิดในตอนปลายรัชกาลพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช เมื่อวันที่ ๒๓ ธันวาคม          พ.ศ.๒๓๕๑ มีพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกันรวม ๙ คน          บรรพบุรุษของตระกูลบุนนาคเป็นเสนาบดีคนสำคัญ มาตั้งแต่สมัยอยุธยา          และได้รับราชการแผ่นดินสืบทอดต่อกันมา สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ ได้รับการศึกษาและฝึกฝนวิชาการต่าง ๆ เป็นอย่างดี          เนื่องจากบิดาของท่านเป็นเจ้าพระยาพระคลังเสนาบดีที่ว่าการต่างประเทศและว่าการปกครองหัวเมืองชายฝั่งทะเลมาก่อน สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์มีความสนใจในภาษาอังกฤษ สามารถพูด และอ่านตำราภาษาอังกฤษในสมัยนั้นได้อย่างคล่องแคล่ว          ท่านได้คบหากับชาวตะวันตก ที่เข้ามาในประเทศไทยในสมัยนั้น โดยเฉพาะหมอบรัดเลย์          ท่านยังเป็นบุคคลสำคัญในการเจรจาและทำสัญญากับชาติตะวันตก          ที่เข้ามาติดต่อกับไทยในสมัยรัชกาลที่ ๓ และรัชกาลที่ ๔ โดยตลอด นอกจากนี้ยังมีความสามารถ ในการต่อเรือแบบฝรั่ง          จนสามารถต่อเรือกำปั่นขนาดใหญ่เป็นจำนวนหลายลำท่านยังมีความสนใจในความรู้อื่น ๆ          เช่น วรรณคดี การค้าการปกครอง เป็นต้น
    สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ได้ถวายตัวเป็นมหาดเล็ก ในสมัยรัชกาลที่ ๒ และรับราชการมาโดยตลอดจนถึงสมัยรัชกาลที่ ๕ มีตำแหน่ง ราชกาลในระดับสูงคือ อัครมหาเสนาบดีที่สมุหกลาโหม ในสมัยรัชกาลที่ ๔ และดำรงตำแหน่งผู้สำเร็จราชการ แผ่นดินเมื่อครั้งรัชกาลที่ ๕ ยังทรงพระเยาว์ ภายหลังจากที่ลาออกจากราชกาลในบั้นปลายชีวิต ท่านยังได้รับแต่งตั้งให้เป็นที่ปรึกษาราชการแผ่นดินจนถึงแก่พิราลัย นับเป็นมหาบุรุษคนสำคัญ ของประเทศชาติที่ประกอบคุณงามความดีจนเป็นที่ประจักษ์แก่คนทั้งปวง ดังบันทึกของ เซอร์จอห์น เบาวริ่ง ทูตอังกฤษที่เข้ามาติดต่อกับไทยในสมัยรัชกาลที่ ๔ ซึ่งกล่าวไว้ว่า "เจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์คนนี้ ถ้าไม่เป็นคนเจ้ามารยา หรือคนรักบ้านเมืองของตนก็ตาม ต้องยอมรับว่าฉลาดล่วงรู้การล้ำคนทั้งหลายที่เราได้พบในที่นี้ ทั้งมีกริยาอัชฌาสัย อย่างผู้ดี และรู้จักพูดจาเหมาะแก่การ" พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงตระหนักพระทัย และ ยกย่องเกียรติคุณของท่านว่า "ครั้นถึงราชกาลปัจจุบัน ได้รับตำแหน่งผู้สำเร็จราชการแผ่นดิน ฉลองพระเดชพระคุณโดยอัธยาศัย เที่ยงธรรม ซื่อตรงมิได้แลเกรงผู้ใด จะว่ากล่าวตัดสินการสิ่งใดจะเป็นคุณประโยชน์โดยทั่วกัน และเป็นแบบอย่างต่อไปภายหน้า สิ้นกาลนาน"
    สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์สมรสกับท่านผู้หญิงกลิ่น มีบุตรและธิดารวมกัน ๔ คน ในบั้นปลายชีวิต ของท่านมักจะพักอยู่ที่เมืองราชบุรี และถึงแก่พิราลัยด้วยโรคลมบนเรือที่ปากคลองกระทุ่มแบน ราชบุรี รวมอายุ ๗๔ ปี เมื่อวันที่ ๑๙ มกราคม พ.ศ.๒๔๒๕ สถาบันราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยาจึงได้จัดพิธีรำลึกถึงท่านในวันที่ ๑๙ มกราคม ของทุกปี เรียกว่า วันคล้ายวันพิราลัย สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ จึงเป็นศูนย์รวมของทุกคนในสถาบันแห่งนี้ที่จะประกอบคุณความดีทั้งปวง และมีความสามัคคีต่อกันเพื่อเทิดทูนเกียรติของท่านตลอดไป



ขออภัย! คุณไม่ได้รับสิทธิ์ในการดำเนินการในส่วนนี้ กรุณาเลือกอย่างใดอย่างหนึ่ง ลงชื่อเข้าใช้ | ลงทะเบียน

รายละเอียดเครดิต

ตอบกระทู้ ขึ้นไปด้านบน ไปที่หน้ารายการกระทู้