ย่างสู่ 105 ปี หลวงปูใหญ่ หรือหลวงปู่จันทร์ศรี จันททีโป พระป่าแห่งเมืองอุดรธานี ลูกศิษย์ปฏิบัติธรรมรำลึก
“พระอุดมญาณโมลี” หลวงปู่จันทร์ศรี จันททีโป ชาวอุดรเรียกติดปากว่า “หลวงปู่ใหญ่” เจ้าอาวาสวัดโพธิสมภรณ์ (ธ) พระอารามหลวง “รองสมเด็จพระราชาคณะ” (พระมหาเถระฝ่ายธรรมยุตรูปแรกที่อยู่ส่วนภูมิภาค) ที่ได้รับการยกย่องว่า เป็นพระมหาเถระสายพระป่ากรรมฐาน มากด้วยเมตตา เป็นแบบอย่างอันงดงาม ของพระภิกษุสงฆ์ สามเณร และชาวอีสาน ที่มีอายุย่างเข้าปีที่ 105 ในวันที่ 10 ตุลาคม 2559นี้ วันนี้ “หลวงปู่ใหญ่” รับการดูแลสุขภาพด้วยวัยชรา อย่างใกล้ชิดที่ รพ.จุฬา กรุงเทพมหานคร ขณะที่ศิษยานุศิษย์ที่อุดรธานี ได้รวมตัวทุกวันพระ ร่วมสวดมนต์ปฏิบัติธรรม น้อมถวายกุศลบูชาธาตุขันธ์ แก่หลวงปู่ใหญ่อย่างต่อเนื่อง รวมทั้งการเตรียมจัดแสดงนิทรรศการ ภายใน “พิพิธภัณฑ์พระอุดมญาณโมลี จันทร์ศรี จันททีโป” ที่ไม่ใช่เฉพาะประวัติวัยเด็ก – บวชเรียน – การพัฒนาวัด – คำสอน หลวงปู่ใหญ่ นามเดิมว่า จันทร์ศรี แสนมงคล เกิดเมื่อวันที่ 10 ตุลาคม พ.ศ.2454 ที่บ้านโนนทัน ต.โนนทัน อ.เมือง จ.ขอนแก่น โยมบิดา-โยมมารดาชื่อ นายบุญสาร-นางหลุน แสนมงคล บรรพชาเป็นสามเณร เมื่อวันที่ 6 พฤษภาคม พ.ศ.2468 ณ วัดโพธิ์ศรี บ้านศิลา ต.ศิลา อ.เมือง จ.ขอนแก่น ปฏิบัติธรรมถึง 3 ปี ก่อนได้ร่วมเดินทางกับ พระอาจารย์อ่อน ญาณสิริ และพระอาจารย์ลี สิรินฺธโร ออกแสวงหาความสงัดวิเวกตามป่าเขา เพื่อเข้ากรรมฐาน ปฏิบัติธุดงควัตร 13 ตามแบบพระป่ากรรมฐานอย่างเคร่งครัด ได้อุปสมบทเป็นพระภิกษุ ที่วัดศรีจันทราวาส ต.ในเมือง อ.เมือง จ.ขอนแก่น เมื่อวันที่ 13 มกราคม พ.ศ.2474 โดยมีพระครูพิศาลอรัญญเขต (จันทร์ เขมิโย) เจ้าอาวาสวัดศรีจันทราวาส เป็นพระอุปัชฌาย์ พระอาจารย์สิงห์ ขนฺตยาคโม เป็นพระกรรมวาจาจารย์ และ พระอาจารย์มหาปิ่น ปญญาพโล เป็นพระอนุสาวนาจารย์ รับฉายาว่า “จนฺททีโป” อันมีความหมายเป็นมงคลว่า “ผู้มีแสงสว่างเจิดจ้าดั่งจันทร์เพ็ญ” มีโอกาสติดตามพระกรรมฐานผู้เคร่งวัตรปฏิบัติหลายรูป ก่อนมาศึกษาด้านพระปริยัติธรรม ที่วัดบวรนิเวศวิหาร กรุงเทพมหานคร จนสอบได้เปรียญธรรม 4 ประโยค พ.ศ.2484 สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณวงศ์ (ม.ร.ว.ชื่น นภวงศ์ สุจิตฺโต) วัดบวรนิเวศวิหาร ให้ไปเป็นครูสอนพระปริยัติธรรม ที่สำนักเรียนวัดป่าสุทธาวาส ต.พระธาตุเชิงชุม อ.เมือง จ.สกลนคร ในช่วงต้นพฤศจิกายน ท่านพระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต แม่ทัพธรรมแห่งอีสานฝ่ายวิปัสสนา ได้ไปพำนักจำพรรษาอยู่ที่วัดป่าสุทธาวาส สกลนคร เป็นเวลา 15 วัน หลวงปู่ใหญ่มีโอกาสปรนนิบัติใกล้ชิด ก่อนถูกส่งไปเป็นครูสอนพระปริยัติธรรม ที่สำนักเรียนวัดธรรมนิมิตร ต.บางแก้ว อ.เมือง จ.สมุทรสงคราม นานถึง 10 ปี ต่อมาวันที่ 1 พฤษภาคม พ.ศ.2497 สมเด็จพระสังฆราช กรมหลวงวชิรญาณวงศ์ ให้มาอยู่ที่วัดโพธิสมภรณ์ ต.หมากแข้ง อ.เมือง จ.อุดรธานี เพื่อทำศาสนกิจคณะสงฆ์ เนื่องจาก พระธรรมเจดีย์ (จูม พนฺธุโล) ชรามากแล้ว โดยแต่งตั้งให้เป็นรองเจ้าอาวาสวัดโพธิสมภรณ์ และผู้ช่วยเจ้าคณะจังหวัดอุดรธานี (ธรรมยุต) ก่อนมาเป็นผู้รักษาการเจ้าอาวาสวัดโพธิสมภรณ์ เมื่อวันที่ 11 กรกฎาคม พ.ศ.2505 พระธรรมเจดีย์ (จูม พนฺธุโล) อาพาธด้วยโรคนิ่วในถุงน้ำดี มรณภาพด้วยอาการสงบ วันที่ 26 พฤศจิกายน พ.ศ.2507 พระอุดมญาณโมลี ครั้งดำรงสมณศักดิ์ พระราชเมธาจารย์ เป็นเจ้าอาวาสวัดโพธิสมภรณ์ ตลอด 52 ปี วัดโพธิสมภรณ์ พระอารามหลวง(ธ) จากวัดที่เป็นต้นกำเนิดพระกัมมัฏฐาน “พระป่า”ก่อนเข้าสู่การปฏิบัติ จะต้องศึกษาและอบรมที่นี่ก่อน ก็ได้รับพระบรมราชานุญาตเป็น พระอารามหลวง และรับการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง พระสงฆ์ต้องถือวัตรปฏิบัติ แบบอย่างเดียวกับวัดบวรนิเวศวิหาร , ศูนย์ศึกษาพระพุทธศาสนาวันอาทิตย์ , ศูนย์ศึกษาบาลีอีสาน (ธ) ของพระสังฆาธิการในภาค 8-9-10-11 , ศูนย์พัฒนาคุณธรรมจริยธรรมอุดรธานี ในหลวงราชพระราชทาน-พระสังฆราชประทาน โดยเฉพาะ “พระบรมธาตุธรรมเจดีย์” ปูชนียสถานอันศักดิ์สิทธิ์คู่แผ่นดินไทย เป็นเจดีย์ทรง 8 เหลี่ยม ฐานกว้าง 12×12 เมตร ความสูง 38 เมตร มีห้องโถง 3 ชั้น ศิลปะผสมผสานอีสานตอนบน และอารยะธรรมลุ่มแม่น้ำโขง ห้องโถงบนสุดประดิษฐาน “พระบรมสารีริกธาตุ” พระราชทานจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เมื่อ 1 กรกฎาคม 2552 และประทานจาก สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช (เจริญ สุวัฑฒโน) 19 ตุลาคม 2538 (น่าจะเป็นแห่งเดียวที่มี พระบรมสารีริกธาตุ จากประมุขประเทศ และประมุขสงฆ์)
|