นอกจากนี้ หลวงพ่อซิ่นยังได้นำฝากให้เรียนวิชากสิณไฟ ผงพระเจ้าโปรดโลก ผงพระสีวลี และผงมหาราชศรีวิชัยจาก "พระอุปัชฌาย์เทือก มานจาโร" แห่งวัดบ่อเสน ซึ่งหลวงพ่อแหวงก็ได้รับการถ่ายทอดวิชามาครบถ้วน ท่านปฏิบัติแบบพระป่า เมื่อออกพรรษาทุกปีจะออกธุดงค์เพื่อแสวงหาโมกขธรรม และกลับวัดเมื่อถึงวันเข้าพรรษา ช่วงชีวิตของท่านส่วนใหญ่จะอยู่แต่ใน ป่าลึก ต้องเผชิญกับความทุกข์ยากลำบาก และภยันตรายจากสัตว์ป่าดุร้ายนานาชนิด แต่ท่านก็มิได้เกรงกลัวหรือย่อท้อแต่ประการใด จึงเป็นที่เคารพเลื่อมศรัทธาของสาธุชนทั่วไป
ด้านวัตถุมงคล เป็นที่นิยมในหมู่นักสะสมอย่างมาก คือ "เหรียญรุ่นแรกพิมพ์สี่เหลี่ยม" และ "เหรียญพิมพ์รูปไข่" รวมไปถึงพระรูปเหมือนเนื้อผง พิมพ์ลึก-พิมพ์ตื้น
เหรียญรูปเหมือนพิมพ์สี่เหลี่ยมผืนผ้า นับเป็นเหรียญคณาจารย์ภาคใต้ที่ออกแบบอย่างเรียบง่าย แต่แฝงไว้ด้วยความสวยงามมาก ด้านหน้าเป็นรูปหลวงพ่อนั่งเต็มองค์บนเก้าอี้ แกะรูปแบบนูนต่ำ แต่คมชัดมาก เหนือศีรษะมีอักษรคำว่า "หลวงพ่อแหวง อาภากโร" ด้านหลังเป็นยันต์ โดยไม่มีตัวหนังสืออื่นใดปรากฏให้เห็น ไม่มีชื่อวัด จังหวัด และปีที่สร้าง คาดว่าน่าจะสร้างในช่วงประมาณปีพ.ศ.2480
เป็นที่น่าสังเกตว่า พระเกจิอาจารย์ในย่านฝั่งทะเลอันดามัน รวมทั้งจังหวัดสงขลา เวลาถ่ายรูปสมัยก่อนมักจะนั่งบนเก้าอี้ ที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะว่าสมัยนั้นการติดต่อกับเกาะปีนัง ประเทศมาเลเซีย จะสะดวกกว่าติดต่อกับกรุงเทพฯ ชาวบ้านและพระสงฆ์จึงนิยมเดินทางไปเกาะปีนัง และมักจะถ่ายรูปกันที่นั่น ช่างถ่ายรูปก็ให้นั่งบนเก้าอี้เสมอ
"เหรียญรุ่นแรกหลวงพ่อแหวง" บรรดาศิษย์มักกล่าวขวัญกันว่าประสบการณ์เยี่ยมยอด เมื่อครั้งเกิดเหตุการณ์คลื่นยักษ์สึนามิถล่มภาคใต้ ชาวบ้านที่มีเหรียญนี้ติดตัว ปรากฏว่ารอดชีวิตปลอดภัย ทำให้เหรียญรุ่นนี้หายาก นับเป็นวัตถุมงคลเด่นที่สุดรุ่นหนึ่งของวัดคึกคัก แห่งเมืองพังงา หลวงพ่อแหวงมรณภาพเมื่อปีพ.ศ.2511
ที่มา : เพจ เล่าเรื่อง "พระ"