ตั้งให้เราเป็นเว็บแรกที่คุณเลือก เก็บเราไว้เป็นเว็บโปรด
สมัครสมาชิก ได้มากกว่าที่คุณคิด เข้าสู่ระบบ
ดู: 8495
ตอบกลับ: 9
สั่งพิมพ์ ก่อนหน้า ถัดไป

พระอาจารย์ธรรมโชติ

[คัดลอกลิงก์]
พระอาจารย์ธรรมโชติ พระมหาเถระแห่งค่ายบ้านบางระจัน






ในต้นปีระกา พ.ศ.2308 พระเจ้ามังระ กษัตริย์พม่าประสงค์จะตีกรุงศรีอยุธยา จึงให้เนเมียวสีหบดียกกองทัพเข้ามาทางเมืองเชียงใหม่ ลงมาตีกรุงศรีอยุธยาทางด้านเหนือทางหนึ่ง ให้มังมหานรธายกกองทัพลงมาทางเมืองทวาย เข้ามาตีกรุงศรีอยุธยาทางด้านตะวันตก บรรจบกับกองทัพเนเมียวสีหบดีอีกทางหนึ่ง ก่อนที่กรุงศรีอยุธยาจะเสียเอกราชเป็น ครั้งที่ 2 นั้น ได้เกิดวีรกรรมขึ้นที่บ้านบางระจัน ชาวบ้านเมืองสิงห์ เมืองวิเศษไชยชาญ เมืองสรรค์ได้รวมตัวกันที่บ้านบางระจัน ต่อสู้กับพม่าอย่างเต็มกำลังความสามารถไม่ให้กรุงศรีอยุธยาแตกได้ถึง 5 เดือน ในประวัติศาสตร์ชาติไทยตอนนี้ ได้กล่าวถึงพระอาจารย์ธรรมโชติ พระเกจิอาจารย์ชื่อดัง ในยุคนั้นว่า ได้มาเป็นที่พึ่งทางใจบำรุงขวัญและกำลังใจของชาวบ้านที่ค่ายบ้านบางระจัน

พระอาจารย์ธรรมโชติ เป็นพระภิกษุสมัยอยุธยาตอนปลายที่มีชื่อเสียงทางด้านคาถาอาคม เดิมจำพรรษาที่วัดเขานางบวช แขวงเมืองสุพรรณบุรี ต่อมา เมื่อพม่ายกทัพมาล้อมกรุงศรีอยุธยาและกวาดต้อนผู้คนในละแวกใกล้เคียงนั้น คนไทยกลุ่มหนึ่งได้รวบรวมสมัครพรรคพวกมารวมกลุ่มกันที่บ้านบางระจัน แขวงเมืองวิเศษไชยชาญ ตั้งเป็นค่ายไว้คอยต่อสู้พม่าและได้นิมนต์พระอาจารย์ธรรมโชติจากวัดเขนางบวช มาอยู่ที่วัดโพธิ์เก้าต้นซึ่งเป็นวัดที่อยู่ในค่าย เพื่อเป็นขวัญกำลังใจแก่ชาวบ้านและให้ช่วยคุ้มครองด้วยการลงผ้าประเจียดและตะกรุด พิศมร แจกจ่ายแก่ชาวบ้าน ผู้นำชาวบ้านค่ายบางระจันที่สำคัญได้แก่ ขุนสรรค์ พันเรืองกำนัน นายทองเหม็น นายจันทร์หนวดเขี้ยว นายทองแสงใหญ่ นายแท่น นายโชติ นายอิน นายเมือง นายดอก และนายทองแก้ว ผู้นำเหล่านี้และชาวบ้านค่ายบางระจันได้รวมใจกันต่อสู้กับพม่าถึง 8 ครั้ง ในเวลา 5 เดือน อย่างองอาจกล้าหาญ แต่ในที่สุดค่ายบางระจันก็แตก เมื่อวันจันทร์ แรม 2 ค่ำ เดือน 8 ปีจอ อัฏศก ตรง กับ พ.ศ. 2310

สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงนิพนธ์ไว้ในหนังสือ”ไทยรบพม่า” ตอนหนึ่งว่า…

“เมื่อเดือน 3 ปีระกา เนเมียวสีหบดีให้พวกพม่ากองหนึ่งไปเที่ยวค้นทรัพย์จับผู้คนทางเมืองวิเศษไชยชาญ พม่าบังคับราษฎรที่ยอมอยู่ในอำนาจให้นำไปเที่ยวค้นหาทรัพย์ ภายหลังพม่ารู้ว่าใครมีลูกสาวจะบังคับเรียกเอาลูกสาวด้วย พวกราษฎรก็พากันโกรธ จึงคิดจะแก้แค้นพม่า เข้ากันทั้งพวกที่ไปยอมอยู่กับพม่าแพวกที่ยังหลบหลีกซุ่มซ่อนอยู่ มีตัวหัวหน้า 6 คน ชื่อ นายแท่น, นายโชติ, นายอิน, นายเมือง, ทั้ง 4 คนนี้เป็นชาวบ้านศรีบัวทอง แขวงเมืองสิงห์ นายดอก บ้านกรับ, นายทองแก้ว บ้านโพธิ์ทะเล, ทั้ง 2 คนนี้เป็นชาวเมืองวิเศษไชยชาญ นัดแนะกันลวงพม่าให้ไปค้นลูกสาวชาวบ้านที่บ้านป่าแห่งหนึ่ง แล้วกลุ้มรุมกันฆ่าพม่าที่ไปตายหมดทั้ง 20 คน แล้วจึงพากันหนีไปยังบ้านบางระจัน

ด้วยเวลานั้น ราษฎรชาวบ้านวิเศษไชยชาญและเมืองสรรค์หลบหนีพม่าไปอาศัยอยู่ที่บ้านบางระจันมากด้วยกัน เพราะบ้านบางระจันมีเสบียงอาหารบริบูรณ์ แต่เป็นบ้านดอนอยู่ที่พรมแดนเมืองวิเศษไชยชาญกับเมืองสุพรรณและเมืองสิงห์ต่อกัน ข้าศึกจะไปถึงได้ยาก พวกที่หนีไปทีหลังไปนิมนต์พระอาจารย์ธรรมโชติ วัดเขานางบวช แขวงเมืองสุพรรณ ซึ่งพวกชาวบ้านนับถือกันว่าเป็นผู้รู้วิทยาคุณ ให้มาช่วยคุ้มครองที่วัดโพธิ์เก้าต้นในบ้านบางระจันด้วย แล้วชักชวนกันตั้งซ่องต่อสู้พม่า พวกราษฎรก็เห็นชอบพร้อมกัน จึงรวบรวมกำลังได้ชายฉกรรจ์กว่า 400 คน มีตัวหัวหน้าอีก 5 คน คือ ขุนสรรค์, พันเรืองกำนัน, นายทองเหม็น, นายจันทร์หนวดเขี้ยว, นายทองแสงใหญ่, ช่วยกันตั้งค่ายขึ้นวงรอบบ้านบางระจันเป็น 2 ค่าย แล้วจัดกันเป็นหมวดหมู่เตรียมรักษาหน้าที่พร้อมด้วยเครื่องศัตราวุธที่หาได้ในตำบลนั้น แล้ววางกองสอดแหนมคอยสืบสวนพม่าที่จะติดดามไปมิได้ประมาท

ฝ่ายพม่าที่เมืองวิเศษไชยชาญ รู้ว่าพวกไทยที่ฆ่าพม่าหนีไปอยู่ที่บ้านบางระจัน ก็ยกกันไปประมาณ 100 คน หมายว่าจะไปจับพวกที่หนีนั้น พวกชาวบ้านบางระจันรู้ความก็เตรียมรักษาค่าย แล้วจัดกันเป็นกองรบขึ้นกองหนึ่ง ให้นายแท่นเป็นนายใหญ่ พอพม่ายกไปถึงคลองบางระจันยังหยุดพักอยู่ข้างฝั่งใต้ นายแท่นก็คุมพวกกองรบ 200 คนข้ามคลองมา พอถึงก็ตรูกันเข้าไล่ฟันแทงพม่า ๆ ไม่ทันรู้ตัวยิงปืนได้นัดเดียว ไทยก็เข้ากลุ้มรุมแทงฟันกระชั้นถึงตัว ฆ่าพม่าตายเกือบหมด เหลือแต่ตัวนายควบม้าหนีกลับมาได้สักสองสามคนเท่านั้น พวกชาวบ้านบางระจันเอาชัยชนะพม่าได้ก็ดีใจ

ครั้นกิตติศัพท์รู้กันแพร่หลายว่า พวกชาวบ้านบางระจันรบชนะพม่า พวกราษฎรที่แตกฉานซุ่มซ่อนอยู่ตามแขวงหัวเมืองที่ใกล้เคียงก็พากันมาเข้าซ่องบ้านบางระจันมากขึ้นทุกวัน จนรวมได้กำลังตั้งพัน พวกหัวหน้าก็จัดเป็นหมวดกองควบคุมกันอย่างกองทัพ ยังขาดอยู่แต่ปืนมีน้อยจำต้องรบพุ่งข้าศึกแต่ด้วยอาวุธสั้นเป็นพื้น ถึงกระนั้น พวกราษฎรนับถือวิทยาคมของพระอาจารย์ธรรมโชติ ๆ ลงผ้าประเจียดและตะกรุดพิศมรแจกจ่ายให้ทั่วกัน ต่างก็มีใจกล้าหาญจึงเกิดกำลังต่อสู้พม่าขึ้นทางหัวเมืองด้วยประการฉะนี้”

พม่าพยายามปราบปรามพวกชาวบ้านบางระจัน มาตั้งแต่เดือน 5 ปีระกา จนถึงเดือน 7 ปีจอ พ.ศ. 2309 ให้กองทัพยกไปถึง 7 ครั้งก็แพ้ไทยมาทุกที เนเมียวสีหบดีก็ร้อนใจ ด้วยสังเกตเห็นพวกชาวบ้านบางระจันมีกำลังมากขึ้นทุกที เกรงจะยกเป็นทัพใหญ่ลงมาตีกระหนาบจะหาใครอาสาคุมพลไปปราบปรามพวกชาวบ้านบางระจันอีก พวกนายทัพนายกองพม่าก็พากันครั่นคร้ามเสียโดยมาก ขณะนั้นมีมอญคนหนึ่งเป็นผู้ที่เข้ามาอยู่ในกรุงศรีอยุธยาช้านานแล้วไปฝากตัวอยู่กับพม่า ได้ไปช่วยพม่ารบพุ่งแข็งแรง จนเนเมียวสีหบดีตั้งให้เป็นตำแหน่งสุกี้หรือพระนายกอง เข้าไปรับอาสาจะตีค่ายบางระจันให้แตกจนได้ เนเมียวสีหบดีจึงเกณฑ์กองทัพรวมทั้งพม่ามอญให้สุกี้คุมไปรบชาวบ้านบางระจันเป็นครั้งที่ 8

ฝ่ายสุกี้ได้คุ้นเคยมากับไทย รู้ว่าไทยใจกล้า ถ้ารบพุ่งในที่แจ้งสู้ไทยไม่ได้ อีกประการหนึ่ง หนทางที่จะยกไปบ้านบางระจันเป็นป่าเปลี่ยว ฝ่ายไทยชำนาญทางอาจจะซุ่มซ่อนถ่ายเทในกระบวนรบเอาชัยชนะพม่ามาได้หลายคราว สุกี้ระมัดระวังตั้งแต่แรกยกไปไปถึงไหนก็ตั้งค่ายที่พักเป็นค่ายมั่นทุกแห่ง ค่อย ๆ ยกไปช้า ๆ ไม่เร่งร้อน ครึ่งเดือนจึงยกไปถึงเขตบ้านบางระจัน ครั้นพวกไทยยกออกมา สุกี้ก็รบสู้อยู่แต่ในค่าย พวกชาวบ้านบางรันตีค่ายสุกี้หลายครั้งก็ตีไม่ได้ ด้วยค่ายตั้งมั่นคง ไม่มีปืนใหญ่จะยิงทำลายค่าย ไปตีทีไรก็ถูกพม่ายิงเจ็บป่วยล้มตายเปลืองลงไปทุกทีจนมิรู้ที่จะทำอย่างไร? วันหนึ่งนายทองเหม็นกำลังเมาสุรานึกรำคาญขึ้นมาก็ขึ้นขี่กระบือ พาพวกทหารกองหนึ่งตรงตรากเข้าไปรื้อแย่งค่ายพม่า พม่าเห็นไทยไปน้อยก็ออกต่อรบ นายทองเหม็นขับกระบือนำพลไล่ถลำเข้าไปกลางพวกข้าศึก ถูกพม่าทุบตีตาย พวกไพร่พลก็แตกหนีกลับมา เป็นครั้งแรกที่พวกชาวบ้านบางระจันแพ้พม่า

หนังสือพระราชพงศาวดาร ฉบับพระราชหัตถเลขา ได้กล่าวถึงเหตุผลที่ทำให้เครื่องรางของขลังที่พระอาจารย์ธรรมโชติได้มอบให้แล้วเสื่อมพลานุภาพลงไว้ ดังนี้… “ครั้นถึง ณ วันจันทร์ แรม 2 ค่ำ เดือน 8 ปีจอ อัฐศก พม่าก็ยกเข้าตีค่ายใหญ่บ้านบางระจันแตก ฆ่าคนเสียเป็นอันมากที่จับเป็นไปได้นั้นก็มาก บรรดาครอบครัวชายหญิงเด็กและผู้ใหญ่ ซึ่งเหลือตายอยู่นั้นให้กวาดเอาไปสิ้น แล้วเลิกทัพกลับไปยังค่ายพม่า ตั้งแต่รบกันมาห้าเดือนจนเสียค่ายนั้น ไทยตายประมาณพันเศษ พม่าตายประมาณสามพันเศษ และพระอาจารย์ธรรมโชตินั้นกระทำสายสิญจน์มงคลประเจียดตะกรุดต่าง ๆ แจกให้คนทั้งปวง. แต่แรกนั้น มีคุณอยู่คงแคล้วคลาดคุ้มอันตรายอาวุธได้ขลังอยู่ ภายหลังผู้คนมาอยู่ในค่ายมากสำส่อน ที่นับถือแท้บ้าง ไม่แท้บ้าง ก็เสื่อมตบะเดชะลง ที่อยู่คงบ้าง ที่ต้องอาวุธบาดเจ็บล้มตายบ้าง และตัวพระอาจารย์นั้น ที่ว่าตายอยู่ในค่ายก็มี ที่ว่าหายสูญไปก็มี ความหาลงเป็นแน่ไม่”
2#
 เจ้าของ| โพสต์ 2013-7-25 08:51 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
วีรชนคนกล้าในประเทศไทยเรียกได้ว่ามีมาทุกยุคทุกสมัย นับตั้งแต่กรุงสุโขทัย ไล่มา อยุธยา สู่รัตนโกสินทร์
      

       ที่หมู่บ้าน“บางระจัน” จ.สิงห์บุรีก็เป็นอีกหนึ่งจังหวัดในเมืองไทยที่มีตำนานของวีรชนคนกล้า
      
       โดยบ้านบางระจัน ได้สู้รบกับทัพพม่าถึง 8 ครั้งด้วยกันก่อนที่จะพ่ายแพ้อย่างสมศักดิ์ศรี ภายใต้การนำของเหล่านักสู้ผู้กล้า อาทิ ขุนสรรค์ นายทองเหม็น นายจันหนวดเขี้ยว นายดอก นายโชติ
      
       ซึ่งในการออกรบของเหล่ผู้กล้าแห่งบ้านบางระจัน ผู้ที่เป็นขวัญกำลังใจสำคัญก็คือ พระอาจารย์ธรรมโชติ แห่งวัดวัดโพธิ์เก้าต้น หรือวัดไม้แดง(เดิมทีท่านจำพรรษาอยู่ที่วัดเขานางบวช อ.เดิมบางนางบวช จ.สุพรรณบุรี) ซึ่งชาวบ้านให้ความเคารพนับถือเป็นอย่างสูง



      
       ทั้งนี้ในระหว่างสู้รบกัน ท่านได้ทำน้ำมนต์ใส่สระน้ำเพื่อให้พอกับความต้องการของชาวบ้าน รวมไปถึงการสักยันต์ ทำตระกุด เป็นสิ่งยึดเหนี่ยวจิตใจของผู้กล้าที่ไปออกรบ
      

       ชาวบ้านบางระจันต้านทัพพม่าได้ถึง 7 ครั้ง แต่สุดท้ายในครั้งที่ 8 ก็ถูกพม่าระดมยิงปืนใหญ่ใส่ ในขณะที่ปืนใหญ่ของบ้านบางระจันระเบิดในเวลาที่ยิง(ปืนใหญ่นี้ชาวบ้านหล่อขึ้นมาเอง เนื่องจากได้รับการปฏิเสธให้ยืมปืนใหญ่จากกรุงศรีอยุธยา เพราะกลัวจะโดนปล้นกลางทาง) สุดท้ายเมื่อบ้านบางระจันพ่าย ก็ไม่มีใครรู้ว่าพระอาจารย์ธรรมโชติมรณภาพที่ไหน
      

       แม้ว่าเรื่องราวของเหล่าผู้กล้าแห่งบ้านบางระจันจะจบสิ้นไปกับการเสียกรุงครั้งที่ 2 แต่ว่าเรื่องราวความกล้าของพวกเขายังคงอยู่ในจิตใจของคนไทย โดยผู้ที่สนใจก็สามารถไปเที่ยวชมแบบใกล้ชิดได้ที่ อุทยานค่ายบางระจัน อ.ค่ายบางระจัน จ.สิงห์บุรี
      
       โดยฝั่งตรงข้ามจะเป็น วัดโพธิ์เก้าต้น ที่มีรูปหล่อของพระอาจารย์ธรรมโชติประดิษฐานไว้ให้นักท่องเที่ยวสักการะบูชา
      
       ส่วนบริเวณด้านหน้ามีสระน้ำมนต์ที่พระอาจารย์ธรรมโชติได้ให้ชาวบ้านก่อนออกรบ ซึ่งชาวบ้าน อ.ค่ายบางระจัน ที่มาบนบานศาลกล่าว เมื่อสำเร็จแล้วก็จะหาบน้ำมาเทลงสระน้ำมนต์แห่งนี้
      

       สำหรับผู้ที่ผ่านไปยัง อ.ค่ายบางระจันก็สามารถแวะเวียนไปรับรู้ในเรื่องราวความกล้าหาญของเหล่าผู้กล้าแห่งบางระจันและขวัญกำลังใจสำคัญอย่างพระอาจารย์ธรรมโชติได้ ที่อุทยานค่ายบางระจัน จ.สิงห์บุรี




ที่มา..http://www.manager.co.th/Travel/ ... ewsID=9470000094032
เคยได้ยินคนสิงห์บุรีเล่าว่า  หลวงพ่อเฒ่าวัดค้างคาว เป็นองค์เดียวกับท่าน อาจารย์ ธรรมโชติ เท็จจริงเป็นเช่นไร มิอาจสืบได้เป็นเพียงการเล่าสืบต่อกันมา
กราบนมัสการครับ
5#
 เจ้าของ| โพสต์ 2013-7-28 09:33 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
wind ตอบกลับเมื่อ 2013-7-25 16:54
เคยได้ยินคนสิงห์บุรีเล่าว่า  หลวงพ่อเฒ่าวัดค้างคาว  ...

ยังหาขอสรุปที่ชัดเจนยังไม่ได้ครับ

ขอบคุณครับ
9#
 เจ้าของ| โพสต์ 2015-2-4 06:48 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
10#
 เจ้าของ| โพสต์ 2015-3-16 07:15 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
พระอาจารย์ธรรมโชติสละ ละ ทิ้งโบสถ์ เป็นมิ่งขวัญกำลังใจ

ขออภัย! คุณไม่ได้รับสิทธิ์ในการดำเนินการในส่วนนี้ กรุณาเลือกอย่างใดอย่างหนึ่ง ลงชื่อเข้าใช้ | ลงทะเบียน

รายละเอียดเครดิต

ตอบกระทู้ ขึ้นไปด้านบน ไปที่หน้ารายการกระทู้