ตั้งให้เราเป็นเว็บแรกที่คุณเลือก เก็บเราไว้เป็นเว็บโปรด
สมัครสมาชิก ได้มากกว่าที่คุณคิด เข้าสู่ระบบ
ดู: 1929
ตอบกลับ: 2
สั่งพิมพ์ ก่อนหน้า ถัดไป

18

[คัดลอกลิงก์]
....หลวงพ่อสรุปไว้ได้ครอบคลุมมาก เข้าใจง่าย.....เรื่อง...วิธีวิปัสสนาญาณ  ....(....วิปัสสนาญาณที่พิจารณากันมานั้น ท่านสอนไว้เป็น 3 นัยคือ  2.1 พิจารณาตามนัย อริยสัจ 4   /หรือ..  2.2 พิจารณาตามแบบ วิปัสสนาญาณ 9 ตามนัยวิสุทธิมรรค   หรือ/ 2.3 พิจารณาขันธ์ 5 ตามใน พระไตรปิฎก ที่มีมาใน ขันธวรรค).....หลวงพ่อสอนเคยสอนว่า ใช้เพียงกำลังปฐมฌานอบรมจิต ก่อนนอนและหลังตื่นนอนทุกวันๆ กิเลสก็จะค่อย ๆ หลุดไปได้เช่นก้น...แต่อาจช้า..  อยู่ที่ปัญญาและกำลังใจ)


วิปัสสนาญาณ
1) คำว่า วิปัสสนา แปลว่า รู้แจ้งเห็นจริง เป็นบทที่ใช้ปัญญาโดยเฉพาะใช้ปัญญาจริง ๆ นี่ไม่ได้พื้นฐานเดิมจริง ๆ ต้องมีศีลมาก่อน เมื่อจิตมีศีลแล้ว ก็ต้องทรงสมาธิ ถ้าไม่มีศีล ไม่มีสมาธิ ไม่มีวิปัสสนาญาณ ไม่มีผล กำลังใจจะไม่สามารถตัดกิเลสให้เป็นสมุจเฉทปหานได้ ฉะนั้นคำว่า วิปัสสนาญาณก็ต้องบวกศีลกับสมาธิด้วย หรือที่เรียกว่าบวกศีลกับสมถะพร้อมวิปัสสนาญาณ
2) วิปัสสนาญาณที่พิจารณากันมานั้น ท่านสอนไว้เป็น 3 นัยคือ
2.1 พิจารณาตามแบบ วิปัสสนาญาณ 9 ตามนัยวิสุทธิมรรค
2.2 พิจารณาตามนัย อริยสัจ 4
2.3 พิจารณาขันธ์ 5 ตามใน พระไตรปิฎก ที่มีมาใน ขันธวรรค
ทั้ง 3 นัยนี้ความจริงก็มีอรรถ คือ ความหมายเป็นอันเดียวกัน โดยท่านให้เห็นว่าขันธ์ 5 ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตาเหมือนกัน ท่านแยกไว้เพื่อเหมาะแก่อารมณ์ของแต่ละท่าน เพราะบางท่านชอบค่อยทำไป ๆ ตามลำดับตามนัย วิปัสสนาญาณ 9 เพราะเป็นการค่อยปลดค่อยเปลื้องตามลำดับทีละน้อย ไม่หนักอกหนักใจ บางท่านก็ชอบพิจารณาตามแบบ อริยสัจ นี่พระพุทธเจ้าทรงค้นพบเองและนำมาสอน ปัญจวัคคีย์ เป็นครั้งแรก ท่านเหล่านั้นได้มรรคผลเป็นปฐม ก็เพราะได้ฟัง อริยสัจ แต่ทว่าทั้งสามนี้ก็มีความหมายอย่างเดียวกัน คือ ให้เห็นอนัตตาในขันธ์ 5 เหมือนกัน ท่านกล่าวไว้ใน วิสุทธิมรรค และใน ขันธวรรค ใน พระไตรปิฏก ว่า ผู้ใดเห็นขันธ์ 5 ผู้นั้น ก็เห็นอริยสัจ ผู้ใดเห็น อริยสัจ ก็ชื่อว่าเห็นขันธ์ 5
3) เวลาปฏิบัติวิปัสสนาญาณจริง ๆ ให้เริ่มต้นด้วยการสมาทานศีล แล้วก็ทำจิตเป็น สมาธิ โดยกำหนดรู้ลมหายใจเข้าออกก็ใช้คำภาวนาตามพอจิตเริ่มเป็นสุขเป็นสุข ต่อไปก็ใช้ปัญญาพิจารณา การใช้ปัญญาพิจารณานี่จะไม่ทรงตัวนาน ประเดี๋ยวจิตก็เริ่มฟุ้งซ่าน ถ้าจิตเริ่มฟุ้งซ่านก็ทิ้งวิปัสสนาญาณเสีย จับสมถภาวนาใหม่ คือรู้ลมหายใจเข้าออกใหม่ ต้องสลับกันไปสลับกันมาแบบนี้ ถ้าจิตของบรรดาท่านพุทธบริษัท สามารถทรงตัวถึงปฐมฌานเพียงใด เวลานั้นเวลานั้นการกำจัดกิเลสขั้นพระโสดาบันและพระสกิทาคามีก็มีขึ้น ก็ขอแนะนำเท่านี้นะ เอาแต่เพียงว่า ถ้าจะทำวิปัสสนาญาณ ให้เริ่มจับลมหายใจเข้าออกก่อน กับคำภาวนา พอจิตเริ่มเป็นสุขพอใจเริ่มสบาย ๆ ก็ใช้ปัญญา ทิ้งภาวนาเสีย ใช้ปัญญาพิจารณา แต่ยังรู้ลมเข้าออกอยู่ ขณะใดที่ยังรู้ลมหายใจเข้า ลมหายใจออก และพิจารณาไปด้วย เวลานั้นจิตเป็นสมาธิ มีกำลังที่จะต่อสู้กับนิวรณ์ได้
4) ก่อนที่จะคำนึงถึงวิปัสสนาญาณ ก็จงทำใจให้มีความสุขด้วยอำนาจของสมาธิจิตก่อน เมื่อจิตมีสมาธิดีแล้ว ก็ใช้ปัญญาพิจารณาให้ปรากฏ เมื่อพิจารณาไปแล้ว ถ้าหากยังเห็นไม่พอ เพราะจิตมันซ่าน ก็ดับความรู้สึกในการพิจารณาเสีย กลับมาภาวนาและทรงจิตให้หยุดในอารมณ์เดิมก่อน ให้จิตสบายเป็นสมาธิ ทำสลับกันไปสลับกันมา
5) ถ้าใครสามารถทรงฌานได้ดี เวลาเจริญวิปัสสนาญาณนี่มันรู้สึกว่าง่ายบอกไม่ถูก เมื่อถึงฌาน 4 เต็มอารมณ์แล้ว เราจะใช้วิปัสสนาญาณก็ถอยหลังมาถึงอุปจารสมาธิ เราจะต้องตัดตัวไหนละ ตัดราคะ ความรักสวยรักงาม เราก็ยก อสุภกรรมฐาน ขึ้นมาเป็นเครื่องเปรียบ ยก กายคตานุสสติกรรมฐาน ขึ้นมาเป็นเครื่องเปรียบ เปรียบเทียบกันว่าไอ้สิ่งที่เรารักน่ะ มันสะอาดหรือมันสกปรก กำลังของฌาน 4 นี่เป็นกำลังที่กล้ามาก ประเดี๋ยวเดียวมันเห็นเหตุผลชัด พอตัดได้แล้วมันไม่โผล่นะ รู้สภาพ ยอมรับสภาพเป็นจริงหมด เห็นคนปั๊บไม่ต่างอะไรกับส้วมเดินได้ จะเอาเครื่องหุ้มห่อสีสันวรรณะขนาดไหนก็ตาม มันบังปัญญของท่านพวกนี้ไม่ได้
6) เราจะเข้าถึงความดีได้เพราะอาศัยการฝึกฝนตน คือ จิต คำว่า ตน ในที่นี้ได้แก่ จิต ไม่ใช่ร่างกาย คือ เอาจิตของเราเข้าไปเกาะความดีเข้าไว้ ธรรมส่วนใดที่จะทำให้เราเข้าถึงพระนิพพานได้เราก็ทำส่วนนั้น ธรรมส่วนสำคัญที่เราจะเห็นได้ง่าย คือ ตัดรากเหง้าของกิเลส ก็ได้แก่ โลภะ ความโลภ เราตัดด้วยการให้ ทาน ทำจิตให้ทรงอยู่เสมอว่าเราจะให้ทานเพื่อทำลาย โลภะ ความโลภ แล้วความโลภจะได้ไม่เกาะใจ อีกประการหนึ่งรากเหง้าของกิเลสก็ได้แก่ ความโกรธ เมื่อ จิตเราทรง พรหมวิหาร 4 เป็นปกติ เพื่อเป็นการหักล้างความโกรธ เมื่อจิตเราทรง พรหมวิหาร 4 ความโกรธความพยาบาทมันก็ไม่มี ประการที่ 3 โมหะ ความหลง ตัวนี้เป็นตัวสำคัญ เป็นรากเหง้าใหญ่ เป็นตัวบัญชาการให้เกิดความรัก ความโลภ ความหลง ถ้าหลงไม่มีเสียอย่างเดียว เราตัดความหลงได้อย่างเดียว เราก็ตัดได้หมด การตัดตัวหลง ตัดอย่างไร ตัดตรง มรณานุสสติกรรมฐาน ก็คิดเสียว่าคนและสัตว์เกิดมาแล้ว ก็มีความตายไปในที่สุด วัตถุต่าง ๆ ที่เป็นสมบัติของโลก มันมีการเกิดก่อตัวขึ้นในเบื้องต้น แล้วก็สลายตัวไปในที่สุด เหมือนกัน วัตถุเรียกว่า พัง คนและสัตว์ เรียกว่า ตาย
7) จงอย่าลืมว่า ก่อนพิจารณาทุกครั้งต้องเข้าฌานก่อน แล้วถอยจากฌานมาหยุดอยู่เพียงอุปจารฌาน แล้วพิจารณาวิปัสสนาญาณจึงจะเห็นเหตุเห็นผลง่าย ถ้าท่านไม่อาศัยฌานแล้ว วิปัสสนาญาณก็มีผลเป็นวิปัสสนึกเท่านั้นเอง ไม่มีอะไรดีไปกว่าการนั่งนึกนอนนึก แล้วในที่สุดก็เลิกนึก และหาทางโฆษณาว่า ฉันทำมาแล้วหลายปี ไม่เห็นได้อะไรเลย จงจำระเบียบไว้ให้ดี และปฏิบัติตามระเบียบให้เคร่งครัด วิปัสสนาไม่ใช่ต้มข้าวต้ม จะได้สุขง่าย ๆ ตามใจนึก
8) ทุกครั้งที่จะเจริญวิปัสสนา ท่านให้เข้าฌานตามกำลังสมาธิที่ได้เสียก่อน เข้าฌานให้ถึงที่สุดของสมาธิ ถ้าเป็นฌาน 4 ได้ยิ่งดี ถ้าได้สมาธิไม่ถึงฌาน 4 ก็ให้เข้าฌานจนเต็มกำลังสมาธิที่ได้ เมื่ออยู่ในฌานจนจิตสงัดดีแล้ว ค่อย ๆ คลายสมาธิมาหยุดอยู่ที่อุปจารฌาน แล้วพิจารณาวิปัสสนาญาณทีละขั้น อย่าละโมบโลภมาก ทำทีละขั้น ๆ นั้นจนเกิดเป็นอารมณ์ประจำใจไม่หวั่นไหว เป็นเอกัคคตารมณ์ เป็นอารมณ์ที่ไม่กำเริบแล้วจึงค่อยเลื่อนไปฌานต่อไปเป็นลำดับ ทุกฌานปฏิบัติอย่างเดียวกัน ทำอย่างนี้จะได้รับผลแน่นอน ผลที่ได้ต้องมีการทดสอบจากอารมณ์จริงเสมอ อย่านึกคิดเอาเองว่าได้ เมื่อยังไม่ผ่านการกระทบจริง ต้องผ่านการกระทบจริงก่อน ไม่กำเริบแล้วเป็นอันใช้ได้


2#
 เจ้าของ| โพสต์ 2016-5-16 12:24 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
9) การพิจารณาวิปัสสนาญาณควรมุ่งตัดกิเลสเป็นตอน ๆไป ถ้าตอนใดคิดว่าจะละให้เด็ดขาด ก็ยังละไม่ได้ ก็ไม่ย้ายข้อที่ตั้งใจจะละต่อไปในข้ออื่นต้องย้ำ ซ้ำ ๆ ซาก ๆ อยู่ในข้อนั้น จนเห็นว่าตัดได้เด็ดขาดไม่กำเริบแล้ว จึงเลื่อนไปพิจารณาละข้อต่อไป อย่าทำแบบสุกเอาเผากินคราวเดียวมุ่งละทั้ง 10 หรือ คราวละหลาย ๆข้อ ถ้าทำอย่างนั้น จะกลายเป็นพวก โมฆกรรม คือ ทำไม่ได้ผลไป จงอย่าใจร้อน เพื่อผลแน่นอนในการปฏิบัติ
11) ใช้ปัญญาพิจารณาให้เห็น ค่อย ๆ คิด ค่อย ๆ นึก เห็นตามความจริง เราเรียนหาความจริงกันในหลักพระพุทธศาสนา ไม่ใช่จะมานั่งโกหกมดเท็จตนเอง ถ้าเห็นตัวเราแล้วก็เห็นบุคคลอื่น ดูหาความเป็นจริงให้พบจนกระทั่งจิตสลดคิดว่าร่างกายของคนและสัตว์เต็มไปด้วยความสกปรกจริง ๆ
ร่างกายของคนและสัตว์มีทุกข์จริง ๆ
ร่างกายของคนและสัตว์หาความเที่ยงไม่ได้จริง ๆ
มันมีการสลายตัวไปในที่สุด
ไม่มีใครจะบังคับบัญชาร่างกายให้มีสภาพทรงตัว
ไม่มีใครกล้าจะแสดงว่าเราเป็นเจ้าของร่างกายจริงจัง โดยการบังคับให้ทรงตัวได้
ในเมื่อร่างกายมันไม่ดีอย่างนี้ เราจะไปเมามันเพื่อประโยชน์ในโลกีย์วิสัยทำไม
12) จงคิดไว้เสมอว่าเรามีร่างกายที่ไม่ใช่ของเรา ไม่ใช่เรา เราไม่มีในร่างกาย ร่างกายไม่มีในเรา ร่างกายเป็นของไม่เที่ยง เป็นทุกข์ มีการสลายตัวไปในที่สุด ร่างกายเป็นเรือนเช่าชั่วคราวเท่านั้น เราจะไม่ติดในใจร่างกาย จะไม่เมาในร่างกาย เราจะไม่หวังในร่างกายต่อไปอีก ขึ้นชื่อว่าความเกิดจะไม่มีสำหรับเรา และก็ตั้งใจตัดความโลภด้วยการให้ทาน ตัดความโกรธด้วยการเจริญพรหมวิหาร 4 ตัดความหลงด้วยการยอมรับนับถือกฎของธรรม ไม่หวั่นไหวในเมื่อร่างกายมันจะเป็นอะไรเกิดขึ้น และจงมีความเคารพในพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ เป็นสรณะ คือ เป็นที่พึ่งอย่างแท้จริงด้วยความจริงใจ เมื่อเคารพแล้วก็ปฏิบัติตามคำแนะนำของท่าน
13) จงคิดว่าสิ่งใดที่เราได้มาแล้วนี้
อันดับแรก ประการที่ 1 อนิจจัง มันเป็นของไม่เที่ยง ได้มาใหม่ไม่ช้ามันก็เริ่มเก่า เก่าไป ทีละน้อย ๆ ในที่สุดมันพัง จำเอาไว้
ประการที่ 2 ทุกขัง ทุกสิ่งที่เราจะได้มา มันได้มาด้วยความทุกข์ ของที่เราจะได้มาทุกอย่างต้องใช้กำลังกาย กำลังใจเหนื่อยยาก ต้องใช้ทรัพย์สมบัติมาก ต้องออกแรงกายแรงใจและทรัพย์สิน นี่กว่าจะได้มาจริง ๆ ด้วยความเหนื่อย การเหนื่อยเป็นอาการของความทุกข์ ไม่ใช่อาการของความสุข ถ้าเราติดมันเกินไป คิดว่ามันจะไม่พัง ก็ทุกข์ใหญ่
จำเอาไว้เถอะว่าไอ้สิ่งที่เราได้มา จะเป็นคนก็ดี จะเป็นสัตว์ก็ดี จะเป็นวัตถุก็ดี คิดว่าคนทั้งหลายเหล่านี้ ทรัพย์สินทั้งหลายเหล่านี้ มันจะต้องจากกันระหว่างมันกับเรา หรือเขากับเรา คิดไว้เสมอว่าถ้าเขากับเราจากกัน ทรัพย์สมบัติทั้งหลายต้องจากกัน ทำใจอย่างไร ทำใจไว้ก่อน จะได้ไม่เสียใจ
แล้วต่อมาสุดท้าย องค์สมเด็จพระชินวรกล่าวว่า มันเป็นอนัตตา ทุกอย่างจำไว้เสมอ เห็นคนก็ดี เห็นสัตว์ก็ดี เห็นวัตถุก็ดี คิดว่าคนทั้งหลายเหล่านี้แม้แต่เราด้วยไม่ช้าต่างคนต่างจะต้องตาย เราก็จะตาย เขาก็จะตาย
หลังจากนั้นก็คิดต่อไปว่าร่างกายนี่ถ้ามันดีจริง ถ้ามันดีจริง ๆ มันต้องไม่ตาย มันต้องทรงสภาพอยู่ มันต้องทรงความเป็นหนุ่มเป็นสาว ต้องมีกำลังดี ต้องไม่มีโรคภัยไข้เจ็บ แล้วมันต้องไม่ตาย แต่นี่มันไม่เป็นอย่างนั้น มันมีความเสื่อม ต้องมีโรคภัยไข้เจ็บ ต้องทรมานกาย และตายไปในที่สุด คือ รวมความว่าร่างกายประเภทนี้ไม่เป็นของดีสำหรับเรา เราเกิดมาแล้วนับชาติไม่ถ้วน ก็มีสภาพอย่างนี้ ถ้าเราจะเกิดต่อไปอีกกี่ครั้ง อีกกี่ปี ก็จะปรากฏมีแต่ความทุกข์ หาความแน่นอนไม่ได้อย่างนี้ รวมความแล้วก็ตัดใจตามที่องค์สมเด็จพระชินสีห์ทรงแนะนำว่า ขึ้นชื่อว่าร่างกายที่ประกอบไปด้วยธาตุ 4 มีขันธ์ 5 จะไม่มีสำหรับเรา สิ่งที่เราต้องการนั่นคือพระนิพพาน
14) ถ้าเราจะเปลื้องความทุกข์จากจิต คือ เราจะเปลื้องอาการของความทุกข์ ที่เรียกว่าทุกข์ในอริยสัจทุกข์ตัวนี้ถ้าเปลื้องได้ มันก็เปลื้องหมด เปลื้องไม่เหลือ ขณะที่มีชีวิตอยู่ จิตก็เป็นสุข ตายไปแล้วก็มีสุขที่สุด คือ พระนิพพาน
นี่เราจะเปลื้องทุกข์กันได้แบบไหน ต้องยอมรับนับถือและคิดไว้เสมอทุกขณะจิตว่า ร่างกายของเราก็ดี ร่างกายของบุคคลอื่นก็ดี วัตถุธาตุทั้งหลายก็ดี ไม่เที่ยง เห็นของใหม่ก็มีความรู้สึกไว้เสมอว่ามันจะเก่า เก่าแล้วผลที่สุดก็ทรุดโทรมแล้วก็พัง
มีความรู้สึกว่าร่างกายของเรา ร่างกายของเขาทั้งหมดเป็นร่างกายที่ไม่มีอะไรทรงตัว
ความป่วยไข้ไม่สบายเป็นของธรรมดา
ความแก่เฒ่าเป็นของธรรมดา ผมหงอก ฟันหัก ตาฝ้า หูฟาง เป็นของธรรมดา
ความตายที่เข้ามาถึงเราเมื่อไรเป็นของธรรมดา
ถ้าจิตยอมรับนับถือธรรมดา มันก็หมดความทุกข์ชื่อว่าเป็นจิตของบุคคลที่มีความฉลาด ไม่ฝืนกฎธรรมชาติและไม่ฝืนกฎธรรมดา
นี่การที่พระพุทธเจ้าทรงอบรมเรา ต้องการเท่านี้ ต้องการให้จิตของเรามีความรู้สึกนึกคิดว่า นี่มันเป็นธรรมดาอย่างนี้ เมื่อสภาวะความรู้สึกว่าเป็นธรรมดาเกิดขึ้น เราก็ไม่รู้สึกสะเทือนใจที่เรียกว่า สังขารุเบกขาญาณ
สังขารุเบกขาญาณ แปลว่า ญาณเป็นเครื่องรู้ รู้ตามความเป็นจริง แล้วก็วางเฉย ในเมื่ออาการอย่างนั้นปรากฏ อารมณ์จิตไม่ทุกข์ มีอารมณ์จิตเป็นสุข


3#
 เจ้าของ| โพสต์ 2016-5-16 12:24 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
15) ใช้ สังขารุเปกขาญาณ เฉยทั้งอาการที่เข้ามากระทบกระทั่งจิตในด้านของโลกีย์วิสัย เฉยทั้งคำชม เฉยทั้งคำนินทา เฉยทั้งได้มา เฉยทั้งเสื่อมไป เฉยหมด ไม่มีอะไรสนใจ คำนินทาว่าร้ายเกิดขึ้นกระทบใจแผล็บปล่อยหลุดไปหมด ช่างมัน ฉันไม่ยุ่งกับอารมณ์อาการต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นกับร่างกาย จะป่วยไข้ไม่สบายมันจะแก่ มันจะจะตายก็ช่างมัน แต่การรักษาพยาบาล การบริหารร่างกายเป็นของธรรมดา ถือว่าทำตามปกติ ถ้าเขาจะถามว่า ถ้าทำจิตได้ยังนี้ยังสูบบุหรี่ไหม ยังกินหมากไหม ยังจะต้องใช้ของที่เคยใช้กับร่างกายตามปกติไหม ก็ต้องตอบว่าใช้ตามปกติ เขาไม่ได้ติด แต่ร่างกายต้องการ เหมือนกับพระพุทธเจ้าที่เป็นพระพุทธเจ้าแล้วยังฉันภัตตาหาร เรื่องอะไรที่ประสาทต้องการเป็นเรื่องธรรมดาที่ต้องบำรุงโดยประสาท เพื่อเราจะเอาไว้ใช้ประโยชน์ เหมือนกับคนที่ลงเรือรั่วเพื่อหวังจะข้ามฟาก ถ้าขณะใดที่ยังอาศัยเรืออยู่ เมื่อน้ำมันรั่วขึ้นมาเราก็ต้องอุด มันผุตรงไหนก็ต้องทำนุบำรุงซ่อมแซม ไม่ใช่ว่าปล่อยให้มันรั่วมันพังไปจนกว่าเราจะขึ้นฝั่งได้
16) นับตั้งแต่นี้เป็นต้นไป เธอจงถือกำลังใจ สังขารุเปกขาญาณ เป็นอารมณ์ อะไรจะเกิดขึ้นแก่ร่างกาย ก็ถือว่าเฉยไว้ เขาจะชมก็เฉย เขาจะด่าก็เฉย แล้วร่างกายจะเจ็บไข้ไม่สบายก็ทำใจสบายเฉย ๆ ยอมรับนับถือกฎของธรรมดา ธรรมดามันเป็นอย่างไร คิดว่าร่างกายขิงเรา เราต้องเป็นอย่างนั้น อย่าใช้อารมณ์ฝืนกฎของธรรมดา แล้วอารมณ์จิตของเธอจะเป็นสุข
17) จงวางอารมณ์เสีย ใครเขาจะอย่างไรก็ช่างเขาจะดี เขาจะชั่ว เขาจะเลว เขาจะอย่างไรก็ตามเถอะ ไม่สนใจ เห็นหน้าคนเราคิดไว้เสมอว่า เป็นคนที่เราควรแก่การปราณี เห็นหน้าสัตว์ก็คิดว่าเป็นสัตว์ควรแก่การปราณี พยายามไม่ถือตน คนและสัตว์ก็ตามถือว่ามีธาตุ 4 คือ ธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุลม ธาตุไฟ เสมอกัน มีอาการ 32 เหมือนกัน มีความเกิดขึ้นในเบื้องต้น มีความเปลี่ยนแปลงในท่านกลาง มีการสลายตัวไปในที่สุดเหมือนกัน สร้างอารมณ์ให้เป็น สังขารุเปกขาญาณ ในวิปัสสนาญาณอย่างนี้ การระวังถือตัวถือตนย่อมเป็นของไม่ยาก
18) ขอพูดย่อ ๆ อารมณ์ทำนี่ ไม่ใช่ต้องนั่งหลับตา ท่านเดินไปเดินมานั่งทำอะไรอยู่ นอนอยู่ ยืนอยู่ แล้วก็เดินอยู่ ทำอะไรก็ตาม มองดูสภาพของความจริง เห็นต้นหญ้าที่มันร่วงโรยลงไป ก็คิดว่า โอหนอ ชีวิตของคนเราก็เป็นแบบนี้เหมือนกัน ก็คิดมันวนไปวนมา ถอนกำลังใจให้มันติด คือ ว่าเมื่อมีอาการอย่างนี้เกิดขึ้น เราเห็นอะไรขึ้น ถ้าอาการของความทุกข์เกิดขึ้น ความขัดข้องเกิดขึ้นเราก็เฉย ที่เรียกว่า สังขารุเปกขาญาณ มันอะไรจะมาก็ช่างมัน มันจะแก่ก็เชิญแก่ ใจสบาย ๆ ถือว่าหนีความแก่ไม่ได้ ถ้าความป่วยไข้ไม่สบายมันเกิดขึ้น ทุกขเวทนามันมีกับเราก็ต้องรักษา ใจเราก็เฉย รักษาหายไม่หายก็ช่างมัน อยากจะตายเมื่อไหร่ก็เชิญ เกิดมาเพื่อตาย ใครเขาด่าใครนินทาเราก็เฉย ไอ้การชมการสรรเสริญก็ดี การด่าการนินทาก็ดี เราไม่ได้เป็นไปตามปากของเขา เราจะดีหรือจะชั่วมันอยู่ที่กำลังใจของเราเท่านั้น รวบรวมกำลังใจไว้อย่างนี้นะขอรับ เราก็เฉยต่ออาการทั้งหมด หนุ่มก็เฉย ไม่ดีใจในความเป็นหนุ่ม แก่ก็เฉย ไม่เสียใจในความเป็นคนแก่ มันจะตายก็เฉย เพราะว่าเราจะต้องตาย ตายแล้วไปไหน เราภูมิใจได้ว่าตายแล้วเราไปนิพพาน

(รวมคำสอนของหลวงพ่อพระราชพรหมยาน : หลวงพ่อฤาษีวัดท่าซุง

ขออภัย! คุณไม่ได้รับสิทธิ์ในการดำเนินการในส่วนนี้ กรุณาเลือกอย่างใดอย่างหนึ่ง ลงชื่อเข้าใช้ | ลงทะเบียน

รายละเอียดเครดิต

ตอบกระทู้ ขึ้นไปด้านบน ไปที่หน้ารายการกระทู้