ตั้งให้เราเป็นเว็บแรกที่คุณเลือก เก็บเราไว้เป็นเว็บโปรด
สมัครสมาชิก ได้มากกว่าที่คุณคิด เข้าสู่ระบบ
ดู: 1879
ตอบกลับ: 3
สั่งพิมพ์ ก่อนหน้า ถัดไป

วัดเจ็ดลิน

[คัดลอกลิงก์]








วัดเจ็ดลิน ตั้งอยู่ถนนพระปกเกล้า อ.เมือง จ.เชียงใหม่ สร้างขึ้นก่อนปีพุทธศักราช ๒๐๖๐ (สมัยพระเมืองแก้ว หรือ พระเจ้าดิลกปนัดดาธิราช) และไม่ปรากฎชัดว่ากษัตริย์ในราชวงศ์มังรายพระองค์ใด เป็นผู้สร้าง และสร้างใน พ.ศ. ใด
        
         วัดเจ็ดลิน หรือที่ชาวบ้านเรียกว่า วัดหนองจริน  ตามหลักฐานที่กรมศิลปากรขึ้นทะเบียนไว้ ประกอบด้วย เจดีย์วิหาร และอาคาร ที่ต่อจากวิหาร (ศาลา) ตัววิหารอยู่ที่สภาพชำรุด พื้นที่ปูซ้อนกันอยู่ ๒ ระยะ ส่วนที่ค่อนข้างสมบูรณ์ มีฐานชุกชี และองค์ พระประธาน (องค์เดิมพบแต่เศียรปูนปั้นขนาดใหญ่ มีต้นโพธิ์ขึ้นกลางฐาน) ด้านหลังวิหารมีเจดีย์ที่มีรูปทรงมณฑป ผสมทรงกลมอิทธิพลสุโขทัย มีซุ้มพระประดับ ๔ ทิศ อยู่ในยุคหลัง พระเจ้าติโลกราช เป็นลักษณะเจดีย์ที่สร้างในสมัย พระยายอดเมือง เชียงราย พระเมืองเกษเกล้า หลังจากนั้น
            
         ที่เรียกว่า วัดเจ็ดลิน นั้น ภายในวัดมีหนองน้ำขนาดใหญ่อยู่ด้านหลัง ปัจจุบันยังมีสภาพที่สมบูรณ์อยู่ ตามประวัติกล่าวว่า ในอดีต กษัตริย์ ในราชวงศ์มังราย พระองค์ใด ก่อนจะขึ้นเสวยราชย์จะต้องไป ทรงผ้าชุดขาว (นุ่งขาวห่มขาว) ณ วัดผ้าขาว ก่อน จากนั้นจะเสด็จ ไปสะเดาะเคราะห์ ณ วัดหมื่นตูม และจะเสด็จไปประกอบพิธีสรงน้ำพุทธาภิเษก ณ หนองน้ำวัดเจ็ดลิน ในการประกอบพิธีราชาภิเษกนั้น จะทำรางน้ำ หรือที่ทางเหนือเรียกว่า "ลิน" ทำด้วยคำไว้ ๗ ลิน แล้วนำน้ำพุทธาภิเษกใส่สุวรรณหอยสังข์ หล่อลงรางลินทำด้วยคำทั้ง ๗ เพื่อสรงพระวรกาย จากนั้น จึงเปลี่ยนเครื่องทรงกษัตริย์ขึ้นเสวยราชย์ต่อไป
           
          ดังปรากฎในสมัย เจ้าแม่ฟ้ากุ (พระเมกุฎิวิสุทธิวงศ์ กษัตริย์ผู้ครองนครเชียงใหม่ ลำดับที่ ๒๐ พ.ศ. ๒๐๙๔ - ๒๑๐๗) ก่อนขึ้นเสวยราชย์ได้ทำพิธีราชาภิเษก โดยเสด็จ ไปสรงน้ำพระที่ วัดเจ็ดลิน "คำเชิญกษัตริย์เจ้า ไปลอยเคราะห์นอนหั้นแล ๓ วัน แล้วไปอุสสาราช หล่อน้ำพุทธาภิเษกสุคนธาด้วยสุวรรณหอยสังข์ที่วัด ๗ ลินคำ หั้นแล….."
         
         วัดเจ็ดลิน มีเนื้อที่ปรากฎตามหลักฐานโฉนดที่ดินออกในปี พ.ศ. ๒๔๘๒ จำนวน ๗ ไร่เศษ เป็นวัดที่เคย รุ่งเรืองมาในอดีต จนถึงสมัยของท่าน ครูบาปัญญา เจ้าอาวาสวัดหัวข่วง ซึ่งเป็นรักษาการเจ้าคณะจังหวัดเชียงใหม่ พ.ศ. ๒๔๒๐ - ๒๔๔๐ ได้ทำการสำรวจหัววัดต่างๆ และอุโบสถ ได้บันทึกไว้ว่า
            
         " วัดเจ็ดลินตั้งอยู่แขวงด้านประตูเชียงใหม่ในเวียงเชียงใหม่ เจ้าอธิการชื่อ สีวิไช นิการเชียงใหม่ ยังไม่ได้เป็น พระอุปัชฌาย์ รองอธิการ ยังไม่มีจำนวนพระลูกวัดในพรรษานี้ยังไม่ พรรษาก่อน มีองค์ ๑ เณรมี ๒ ตน ขึ้นแก่วัด พันเท่า"
           
         วัดเจ็ดลิน หรือวัดหนองจริน จะตกอยู่ในสภาพ วัดร้าง หลังจากนั้นไม่นานเพราะไม่ปรากฎหลักฐานใดๆ กล่าวถึง ต่อมาประมาณปี พ.ศ. ๒๕๐๙ สำนักงานที่ดินจังหวัดเชียงใหม่ ได้ขอเช่าเนื้อที่ด้านหน้าติดกับถนนพระปกเกล้า เป็นบ้านพักเจ้าหน้าที่และได้ย้ายออกไป ในปี พ.ศ. ๒๕๒๐ ปัจจุบันมีประชาชน ได้เข้าไปปลูกบ้านอาศัยอยู่จำนวนหนึ่ง ในวันที่ ๓๐ มกราคม ๒๕๔๖ พระญาณสมโพธิ เจ้าอาวาสวัดพระธาตุดอยสุเทพฯ เจ้าคณะอำเภอเมืองเชียงใหม่ ได้รับมอบหมาย จากคณะสงฆ์จังหวัดเชียงใหม่ให้เป็นประธานพัฒนาฟื้นฟูวัดเจ็ดลิน และขอยกเป็นวัดที่มีพระสงฆ์อยู่จำพรรษา เพื่อถวายเป็นพระราชกุศลแด่สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ในวโรกาสทรงเจริญ พระชนมพรรษา ๖ รอบ ๗๒ พรรษา และพัฒนาหนองน้ำที่กว้างให้คงเป็น หนองน้ำที่ใสสะอาดสวยงาม ให้คงเป็นหนองน้ำแห่งประวัติศาสตร์คู่เมืองเชียงใหม่
      
         ปัจจุบันมีพระมหาวิษณุ จารุธัมโม ดำรงตำแหน่งเป็นเจ้าอาวาสวัดเจ็ดรินมีพระสงฆ์จำพรรษาอยู่ 8 รูปและมีสามเณรจำพรรษาอยู่ 22 รูป มีประเพณีที่สำคัญคือการก่อเจดีย์ทรายที่ใหญ่ที่สุดในโลกหรือที่เรียกว่า " เจดีย์ทรายสุดส้าว " จะกระทำกันในวันสงกรานต์ซึ่งความหมายหรือประวัติของการก่อเจดีย์ทรายมีเรื่องเล่ามาว่าพระเจ้าปเสนทิโกศลได้เสด็จไปยังเมืองสาวัตถีพร้อมบริวาร ได้เห็นหาดทรายขาวบริสุทธิ์ก็เกิดจิตศรัทธาก่อทรายเป็นเจดีย์ ๘ หมื่น ๔ พันองค์ แล้วอุทิศเป็นพุทธบูชา ธรรมบูชา และสังฆบูชา เมื่อพระองค์ไปเฝ้าพระพุทธเจ้าก็ได้ทูลถามถึงอานิสงส์การก่อเจดีย์ทรายดังกล่าว พระพุทธเจ้าตรัสว่า การที่มีจิตเลื่อมใสศรัทธาก่อเจดีย์ทรายถึง ๘ หมื่น ๔ พันองค์หรือเพียงองค์เดียวก็ได้อานิสงส์มาก คือ จะไม่ตกนรกหลายร้อยชาติ ถ้าเกิดเป็นมนุษย์ก็จะเพียบพร้อมไปด้วยยศถาบรรดาศักดิ์ มีบริวารและเกียรติยศชื่อเสียง หากตายก็จะได้ขึ้นสวรรค์ พรั่งพร้อมด้วยสมบัติและมีนางฟ้าเป็นบริวาร ด้วยอานิสงส์ดังกล่าวจึงทำให้คนโบราณนิยมก่อเจดีย์ทรายเป็นประเพณีมาจนทุกวันนี้
      
         ส่วนในอีกตำนานหนึ่งซึ่งอยู่ในคำภีร์ใบลานชื่อ " ธรรมอานิสงส์เจดีย์ทราย "ได้กล่าวไว้ว่า  ในครั้งที่พระโพธิสัตว์เกิดเป็นชายเข็ญใจชื่อว่า "ติสสะ" มีอาชีพตัดฟืนขาย วันหนึ่งติสสะได้พบลำธารที่มีหาดทรายสะอาดงดงามนัก จึงได้ทำการก่อทรายเป็นรูปเจดีย์และเพื่อให้เจดีย์นั้นสวยงามจึงฉีกเสื้อผูกกับเรียวไม้แล้วปักไว้บนยอดกองทรายเป็นรูปธงสัญลักษณ์ แล้วตั้งสัตย์อธิษฐานขอให้ได้เกิดเป็นพระพุทธเจ้าพระองค์หนึ่ง เมื่อเขาเวียนว่ายในวัฏฏะสงสารได้บำเพ็ญบารมีเต็มที่แล้ว ก็ได้เกิดเป็นพระพุทธเจ้าชื่อสมณะโคดมองค์ปัจจุบัน
      
         ภาพของธงที่ทำจากเสื้อของติสสะ ทำให้ชาวล้านนานิยมนำตุงไปปักเจดีย์ทราย ซึ่งตุงที่พบเห็นมักเป็นตุงที่มีลักษณะเป็นพู่ระย้าที่เรียก "ตุงไส้หมู" หรือตุงที่มีรูปสัตว์นักษัตรที่เรียกว่า "ตุงตั๋วเปิ้ง" ตุงดังกล่าวมักแขวนติดกิ่งไม้ไผ่หรือก้านเขือง (เต่าร้าง)
      
         ในเช้าของวันพระญาวันคือวันเถลิงศกชาวบ้านจะนำตุงไปปักที่เจดีย์ทราย พอถึงตอนสายจะมีการถวายองค์พระเจดีย์ทรายแด่พระสงฆ์ ซึ่งชาวบ้านจะมาร่วมพิธีกันอย่างพร้อมเพรียง ด้วยหวังอานิสงส์เป็นหลักซึ่งนอกเหนือจากคัมภีร์ที่กล่าวมา ยังมีคัมภีร์แสดงอานิสงส์โดยตรงที่ชื่อ "ธรรมอานิสงส์ก่อเจดีย์ทราย" อีกฉบับหนึ่ง โดยเนื้อหาจะกล่าวถึงผลบุญมากมาย เช่น จะได้เกิดในตระกูลอันประเสริฐ เลอเลิศด้วยรูปสมบัติ เรืองจรัสในชีวิต ไม่ตกติดในนรก ยกระดับไปเกิดบนสวรรค์ จนถึงขั้นได้เกิดเป็นพระอินทร์

ข้อมูล จาก เชียงใหม่นิวส์
ขออภัย! คุณไม่ได้รับสิทธิ์ในการดำเนินการในส่วนนี้ กรุณาเลือกอย่างใดอย่างหนึ่ง ลงชื่อเข้าใช้ | ลงทะเบียน

รายละเอียดเครดิต

ตอบกระทู้ ขึ้นไปด้านบน ไปที่หน้ารายการกระทู้