ตั้งให้เราเป็นเว็บแรกที่คุณเลือก เก็บเราไว้เป็นเว็บโปรด
สมัครสมาชิก ได้มากกว่าที่คุณคิด เข้าสู่ระบบ
ดู: 20268
ตอบกลับ: 3
สั่งพิมพ์ ก่อนหน้า ถัดไป

มัทนะพาธา

[คัดลอกลิงก์]



๑. สาระสำคัญ

สาระสำคัญ : มัทนะพาธา เป็นวรรณคดีประเภท “บทละครพูด” พระราชนิพนธ์ของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๖  ที่แสดงให้เห็นถึงพระปรีชาสามารถทางด้านอักษรศาสตร์ของพระองค์

บทละครเรื่องนี้  ได้รับยกย่องจากวรรณคดีสโมสรว่า “เป็นยอดของบทละครพูดคำฉันท์”ด้วยการเลือกถ้อยคำที่สื่ออารมณ์ความรู้สึกของตัวละครได้ดีเยี่ยม  ตลอดจนมีการวางโครงเรื่องที่ชวนให้ติดตาม  ทั้งยังสอดแทรกคติสอนใจเรื่องความรักได้อย่างซาบซึ้งกินใจอีกด้วย

๒. ความเป็นมา

ความเป็นมา : มัทนะพาธา แปลว่า “ความเจ็บปวดหรือความเดือดร้อนเพราะความรัก”
บทละครพูดคำฉันท์ เรื่อง มัทนะพาธา  หรือ ตำนานดอกกุหลาบ มีลักษณะเป็นบทละครพูดคำฉันท์ จำนวน ๕ องค์ (ตอน) แบ่งเป็น ๒  ภาค คือ ภาคสวรรค์และภาคพื้นดิน  เป็นบทพระราชนิพนธ์จากจินตนาการในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่  ๖)

นางเอกของเรื่องมีนามว่า “มัทนา”ซึ่งมีความหมายว่า “ความลุ่มหลง  หรือความรัก”แทนคำว่า “กุพชกะ” ที่แปลว่าดอกกุหลาบ บทละครพูดคำฉันท์ เรื่อง  มัทนะพาธา พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงเริ่มพระราชนิพนธ์เมื่อวันที่ ๒  กันยายน ๒๔๖๖ ณ พระราชวังพญาไท และเสร็จสมบูรณ์ในวันที่ ๑๘ ตุลาคม ปีเดียวกัน ( ๑  เดือน ๑๖ วัน ) เมื่อพระราชนิพนธ์เสร็จก็พระราชทานแก่สมเด็จพระนางเจ้าอินทรศักดิ์ศจีพระวรชายา

แนวคิดของเรื่องเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับความรัก ความลุ่มหลง  ความเจ็บร้าวระทมเพราะความรัก  ซึ่งตัวละครทุกตัวจะต้องได้รับรสดังกล่าวนี้

๓. ประวัติผู้แต่ง

ประวัติผู้แต่ง : พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว  รัชกาลที่ ๖ มีพระนามเดิมว่ามหาวชิราวุธ เป็นโอรสองค์ที่ ๒๙  ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ ทรงพระราชสมภพเมื่อวันที่ ๑  มกราคม ๒๔๒๓
ทรงศึกษาในประเทศไทยจนพระชนมายุได้ ๑๔ พรรษา  ก็เสด็จไปศึกษาต่อที่ประเทศอังกฤษ ต่อมาเสด็จนิวัติประเทศไทยเมื่อวันที่ ๑๖ มกราคม  ๒๔๓๘ เพื่อรับการสถาปนาเป็นเจ้าฟ้ามหาวชิราวุธสยามมกุฎราชกุมาร ( ผู้ที่จะได้เป็นพระมหากษัตริย์องค์ต่อไป ) และทรงกลับไปศึกษาวิชาทหาร ณ  โรงเรียนทหารบกที่แซนด์เฮิซต์ เมื่อ พ.ศ. ๒๔๔๓  ได้เข้าศึกษาวิชาประวัติศาสตร์และวิชากฎหมาย ณ มหาวิทยาลัยออกซฟอร์ด  แต่ทรงพระปรีชาสามารถทางด้านอักษรศาสตร์เป็นพิเศษ จนแต่งบทละครเป็นภาษาอังกฤษได้  เมื่อสำเร็จการศึกษา พระองค์ทรงเสด็จประพาสยุโรปก่อน  แล้วจึงเสด็จนิวัติประเทศไทย

เสด็จขึ้นครองราชย์เมื่อวันที่ ๒๓ ตุลาคม ๒๔๕๓  ขณะมีพระชนมายุ ๓๐ พรรษา สวรรคตเมื่อวันที่ ๒๕ พฤศจิกายน ๒๔๖๘ ( ครองราชย์ ๑๕ ปี  พระชนมายุ ๔๕ พรรษา) วัตถุประสงค์ในการพระราชนิพนธ์ เรื่อง มัทนะพาธา  ทรงตั้งพระทัยเพื่อเป็นหนังสืออ่านกวีนิพนธ์ที่สนุกสนานในด้านเนื้อหา  และเป็นคติสอนใจให้เห็นถึงอานุภาพของความรัก

ผลงานพระราชนิพนธ์ : พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว  ทรงมีพระปรีชาสามารถทางด้านอักษรศาสตร์เป็นเลิศ  จึงทรงมีพระราชนิพนธ์ทั้งร้อยแก้วและร้อยกรอง กว่า ๒๐๐ เรื่อง เช่น เรื่องศกุนตรา  รามเกียรติ์ บทละครเรื่องเวนิสวานิช เป็นต้น ในงานพระราชนิพนธ์ทรงใช้นามปากกาว่า  อัศวพาหุ รามจิตติ พันแหลม ศรีอยุธยานายแก้วนายขวัญ พระขรรค์เพชร นายแก้ว ณ อยุธยา  น้อยลา ท่านราม ณ กรุงเทพ สำหรับบทละครพูดคำฉันท์ เรื่อง มัทนะพาธา  ได้รับการยกย่องจากวรรณคดีสโมสรว่าเป็นยอดของบทละครพูดคำฉันท์นอกจากนี้พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกลาเจ้าอยู่หัวยังทรงได้รับพระราชสมัญญานามว่า “พระมหาธีรราชเจ้า” ซึ่งมีความหมายว่า “นักปราชญ์ผู้ยิ่งใหญ่”

๔. ลักษณะคำประพันธ์
ลักษณะคำประพันธ์ : บทละครพูดคำฉันท์ เรื่อง มัทนะพาธา  ประกอบด้วยคำประพันธ์หลายชนิดดังนี้

๑. กาพย์ ๓ ชนิด คือ กาพย์ยานี ๑๑  กาพย์ฉบัง ๑๖ และกาพย์สุรางคนางค์ ๒๘

๒. ฉันท์ ๒๑ ชนิด เช่น วิชชุมมาลาฉันท์  ๘ อินทรวิเชียรฉันท์ ๑๑ อุปชาติฉันท์ ๑๑ ภุชงคประยาตฉันท์ ๑๒ อินทวงศ์ฉันท์ ๑๒  วสันตดิลกฉันท์ ๑๔ เป็นต้น

หมายเหตุ : ตัวเลขที่ตามหลังชื่อฉันท์  หมายถึงจำนวนคำใน ๑ บาท

2#
 เจ้าของ| โพสต์ 2016-3-1 07:59 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
๕. เรื่องย่อ
ภาคสวรรค์ : กล่าวถึงสุเทษณ์เทพบุตร ซึ่งในอดีตกาลเป็นกษัตริย์ครองแคว้นปัญจาล  มัทนาเป็นพระธิดากษัตริย์ของแคว้นสุราษฎร์ สุเทษณ์ได้ส่งทูตไปสู่ขอนาง  แต่ท้าวสุราษฎร์พระบิดาของนางไม่ยอมยกให้  สุเทษณ์จึงยกทัพไปรบทำลายบ้านเมืองของท้าวสุราษฎร์จนย่อยยับ  และจับท้าวสุราษฎร์มาเป็นเชลยและจะประหารชีวิต แต่มัทนาขอไถ่ชีวิตพระบิดาไว้  โดยยินยอมเป็นบาทบริจาริกาของสุเทษณ์ ท้าวสุราษฎร์จึงรอดจากพระอาญา  จากนั้นมัทนาก็ปลงพระชนม์ตนเอง และไปเกิดเป็นเทพธิดาบนสวรรค์นามว่า มัทนา  ส่วนท้าวสุเทษณ์ก็ทำพลีกรรมจนสำเร็จ เมื่อสิ้นพระชนม์ก็ไปบังเกิดบนสวรรค์เช่นกัน  ด้วยผลกรรมที่เคยได้นางมาเป็นคู่ทำให้มีโอกาสได้พบกันอีกบนสวรรค์  แต่นางมัทนาก็ยังไม่มีใจรักสุเทษณ์เทพบุตรเช่นเดิม
ณ วิมานของสุเทษณ์  ได้มีคนธรรพ์เทพบุตร เทพธิดาที่เป็นบริวารต่างมาบำเรอขับกล่อมถวาย  แต่ถึงกระนั้นสุเทษณ์เทพบุตรก็ไม่มีความสุข เพราะรักนางมัทนา  แต่ไม่อาจสมหวังเพราะผลกรรมที่ทำไว้ในอดีต  จึงให้วิทยาธรชื่อมายาวินใช้เวทมนตร์คาถาไปสะกดให้นางมายังวิมานของสุเทษณ์เทพบุตร  ฝ่ายมัทนาเมื่อถูกเวทย์มนตร์สะกดมา  สุเทษณ์จะตรัสถามอย่างไรนางก็ทวนคำถามอย่างนั้นทุกครั้งไป  จนสุเทษณ์เทพพระบุตรขัดพระทัย รู้สึกเหมือนตรัสกับหุ่นยนต์  จึงให้มายาวินคลายมนตร์สะกด  เมื่อนางรู้สึกตัวก็ตกใจกลัวที่ล่วงล้ำเข้าไปถึงวิมานของสุเทษณ์เทพบุตร  สุเทษณ์เทพบุตรถือโอกาสฝากรัก  มัทนาแสดงความจริงใจว่านางไม่ได้รักสุเทษณ์เทพบุตรจึงไม่อาจรับรักได้  เมื่อได้ยินดังนั้นสุเทษณ์เทพบุตรรู้สึกกริ้วนางมัทนาเป็นที่สุด  จึงสาปให้มัทนาจุติจากสวรรค์ไปเกิดเป็นดอกกุหลาบในป่าหิมาวันในโลกมนุษย์  และเปิดโอกาสให้นางกลายร่างเป็นมนุษย์ได้เมื่อถึงคืนวันเพ็ญเพียงหนึ่งวันกับหนึ่งคืนเท่านั้นเมื่อใดที่นางมีรักเมื่อนั้นจึงจะพ้นคำสาปและกลายร่างเป็นมนุษย์ได้อย่างปกติ  หากเมื่อใดที่นางมีทุกข์เพราะความรักก็ให้นางอ้อนวอนต่อพระองค์จึงจะยกโทษทัณฑ์ให้  ดังนั้นจึงสรุปได้ว่าสาเหตุของปมขัดแย้งในเรื่อง คือ  สุเทษณ์รักนางมัทนาแต่นางไม่รักตอบ
ภาคพื้นดิน : พระฤๅษีได้ขุดเอาดอกกุหลาบจากป่าหิมาวันไปปลูกไว้กับอาศรม  เมื่อคืนวันเพ็ญพระจันทร์เต็มดวง นางจะปรากฏโฉมเป็นมนุษย์มาปรนนิบัติรับใช้พระฤๅษี  วันหนึ่งท้าวชัยเสนกษัตริย์แห่งนครหัสดิน เสด็จประพาสป่ามาถึงอาศรมพระฤๅษี  ตรงกับคืนวันเพ็ญที่มัทนากลายร่างเป็นมนุษย์  และได้พบกับท้าวชัยเสนและเกิดความรักต่อกัน พระฤๅษีจึงจัดพิธีอภิเษกให้  ชัยเสนได้พานางกลับนครหัสดิน ท้าวชัยเสนหลงใหลรักใคร่นางมัทนามาก  ทำให้นางจัณฑีมเหสี หึงหวง และอิจฉาริษยา  จึงทำอุบายให้ท้าวชัยเสนเข้าใจผิดว่ามัทนาเป็นชู้กับนายทหารเอก  นางมัทนาจึงถูกสั่งประหารชีวิต  แต่เพชฌฆาตสงสารจึงปล่อยนางไป
นางมัทนากลับไปยังอาศรมพระฤๅษีและวิงวอนให้สุเทษณ์เทพบุตรช่วย  สุเทษณ์เทพบุตรได้ขอความรักนางอีกครั้งหนึ่งแต่นางปฏิเสธ  สุเทษณ์เทพบุตรจึงสาปให้นางเป็นดอกกุหลาบตลอดไป

บทวิเคราะห์

๑. คุณค่าด้านเนื้อหา
๑. โครงเรื่อง  เป็นบทละครพูดคำฉันท์ที่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงคิดโครงเรื่องเอง  ไม่ได้ตัดตอนมาจากวรรณคดีเรื่องใด แก่นสำคัญของเรื่องมีอยู่ ๒ ประการ คือ
๑) ทรงปราถนาจะกล่าวถึงตำนานดอกกุหลาบ ซึ่งเป็นดอกไม้ที่สวยงาม  แต่ไม่เคยมีตำนานในเทพนิยาย  จึงพระราชนิพนธ์ให้ดอกกุหลาบมีกำเนิดมาจากนางฟ้าที่ถูกสาปให้จุติลงมาเกิดเป็นดอกไม้ชื่อว่า "ดอกกุพฺชกะ" คือ "ดอกกุหลาบ"
๒) เพื่อแสดงความเจ็บปวดอันเกิดจากความรัก  ทรงแสดงให่เห็นว่าความรักมีอนุภาพอย่างยิ่ง  ผู้ใดมีความรักก็อาจเกิดความหลงขึ้นตามมาด้วย ทรงใช้ชื่อเรื่องว่า "มัทนะพาธา" อันเป็นชื่อของตัวละครเอกของเรื่อง ซึ่งมีความหมายว่า "ความเจ็บปวดหรือความเดือดร้อนอันเกิดจากความรัก" มีการผูกเรื่องให้มีความขัดแย้งซึ่งเป็นปมปัญหาของเรื่อง คือ
๒.๑  สุเทษณ์เทพบุตรหลงรักนางมัทนา แต่นางไม่รับรักตอบจึงสาปนางเป็นดอกกุพฺชกะ (กุหลาบ)
๒.๒ นางมัทนาพบรักกับท้าวชัยเสน  แต่ก็ต้องพบกับอุปสรรคเพราะนางจันทีมเหสีของท้าวชัยเสนวางอุบายให้ท้าวชัยเสนเข้าใจนางมัทนาผิด  สุดท้ายนางมัทนาได้มาขอความช่วยเหลือจากสุเทษณ์เทพบุตร  และสุเทษณ์เทพบุตรขอความรักนาง อีกครั้งแต่นางปฏิเสธช่นเคย  เรื่องจึงจบลงด้วยความสูญเสียและความเจ็บปวดด้วยกันทุกฝ่าย

๒. คุณค่าด้านวรรณศิลป์
๑. การใช้ถ้อยคำและรูแบบคำประพันธ์เหมาะสมกับเนื้อหา  ทำให้ผู้อ่านเกิดความรู้สึกคล้อยตาม เกิดความประทับใจอยากติดตามอ่าน เช่น  เมื่อมายาวินเล่าเรื่องราวในอดีตถวายสุเทษณ์ว่าเหตุใดมัทนาจึงไม่รักสุเทษณ์  กวีเลือกใช้อินทรวิเชียรฉันท์ ๑๑ ที่มีท่วงทำนองเร็วเหมาะแก่การเล่าความ  หรือบรรยายเรื่อง ส่วนเนื้อหาตอนสุเทษณ์ฝากรักนางมัทนานั้นใช้วสันตดิลกฉันท์  ซึ่งมีท่วงทำนองที่อ่อนหวาน เมื่อสุเทษณ์กริ้วนางมัทนาก็ไช้ กมลฉันท์  ซึ่งมีคำครุลหุที่มีจำนวนเท่ากันแต่ขึ้นต้นด้วยคำลหุ  จึงมีทำนองประแทกกระทั้นถ่ายทอดอารมณ์โกรธเกรี้ยวได้ดี  ดังตัวอย่าง
มะทะนาชะเจ้าเล่ห์  ชิชิช่างจำนรรจา,....
....................................
ก็และเจ้ามิเต็มจิต  จะสดับดนูชวน,
ผิวะให้อนงค์นวล ชนะหล่อนทนงใจ.
บ่มิยอมจะร่วมรัก  และสมัครสมรไซร้,
ก็ดะนูจะยอมให้ วนิดานิวาศสวรรค์,....
๒. การใช้โวหาร  กวีใช้อุปมาโวหารในการกล่าวชมความงามของนางมัทนาทำให้ผู้อ่านมองเห็นภาพความงามของมัทนาเด่นชัดขึ้น  ดังตัวอย่าง
งามผิวประไพผ่อง กลทาบศุภาสุพรรณ
งามแก้มแฉล้มฉัน  พระอรุณแอร่มละลาน
งามเกศะดำขำ กลน้ำ ณ ท้องละหาน
งามเนตรพินิจปาน  สุมณีมะโนหะรา
งามทรวงสล้างสอง วรถันสุมนสุมา-
ลีเลิดประเสริฐกว่า  วรุบลสะโรชะมาศ
งามเอวอนงค์ราว สุระศิลปชาญฉลาด
เกลากลึงประหนึ่งวาด  วรรูปพิไลยพะวง
งามกรประหนึ่งงวง สุระคชสุเรนทะทรง
นวยนาฏวิลาศวง  ดุจะรำระบำระเบง
ซ้ำไพเราะน้ำเสียง อรเพียงภิรมย์ประเลง,
ได้ฟังก็วังเวง บ  มิว่างมิวายถวิล
นางใดจะมีเทียบ มะทะนา ณ ฟ้า ณ ดิน
เป็นยอดและจอดจิน- ตะนะแน่ว ณ อก ณ ใจ

๓. การใช้ลีลาจังหวะของคำทำให้เกิดความไพเราะ  กวีมีความเชี่ยวชาด้านฉันทลักษณ์อย่างยิ่ง  สามารถแต่งบทเจรจาของตัวละครให้เป็นคำฉันท์ได้อย่างดีเยี่ยม  อีกทั้งการใช้ภาษาก็คมคาย โดยที่บังคับฉันทลักษณ์ ครุ ลหุ ไม่เป็นอุปสรรคเลย เช่น  บทเกี้ยวพาราสีต่อไปนี้ แต่งด้วยวสันตดิลกฉันท์ ๑๔ มีการสลับตำแหน่งของคำ  ทำให้เกิดความไพเราะได้อย่างยอดเยี่ยม
สเทษณ์ : พี่รักและหวังวธุจะรัก  และบทอดบทิ้งไป

มัทนา : พระรักสมัครณพระหทัย  ฤจะทอกจะทิ้งเสีย?

สุเทษณ์ : ความรักละเหี่ยอุระระทด  เพราะมิอาจจะคลอเคลีย

มัทนา : ความรักระทดอุระละเหี่ย  ฤจะหายเพราะเคลียคลอ



3#
 เจ้าของ| โพสต์ 2016-3-1 08:00 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
๔. การใช้คำที่มีเสียงไพเราะ  อันเกิดจากการเล่นเสียงสัมผัสคล้องจอง และการหลากคำทำให้เกิดความำพเราะ เช่น  ตอนมายาวินร่ายมนตร์

อ้าสองเทเวศร์ โปรดเกศข้าบาท ทรงฟังซึ่งวาท  ที่กราบทูลเชอญ
โปรดช่วยดลใจ ทรามวัยให้เพลิน จนลืมขวยเขิน  แล้วรีบเร็วมา
ด้วยเดชเทพไท้ ทรามวัยรูปงาม จงได้ทราบความ  ข้าขอนี้นา
แม้คิดขัดขืน ฝืนมนตร์คาถา ขอให้นิทรา เข้าสึงถึงใจ
มาเถิดนางมา  อย่าช้าเชื่องช้อย ตูข้านี้คอย ต้อนรับทรามวัย
อ้านางโศภา อย่าช้ามาไว  ตูข้าสั่งให้ โฉมตรูรีบจร.
โฉมยงอย่าขัด รีบรัดมาเถิด ขืนขัดคงเกิด  ในทรวงเร่าร้อน
มาเร็วบัดนี้ รีบลีลาจร มาเร็วบังอร  ข้าเรียกนางมา

จากตัวอย่างมีการเล่นเสียงสัมผัสใน  ทั้งสัมผัสสระและสัมผัสอักษร และการหลากคำ

๓. คุณค่าด้านสังคม
๑. สอดแทรกความคิดเกี่ยวกับความเชื่อในสังคมไทย เช่น
๑.๑  ความเชื่อเรื่องชาติภพ
๑.๒ ความเชื่อเรื่องการทำบุญมากๆ จะได้ไปเกิดในสวรรค์  และเสวยสุขในวิมาน
๑.๓ ความเชื่อเรื่องทำกรรมสิ่งใดย่อมได้รับผลกรรมนั้น
๑.๔  ความเชื่อเรื่องเวทมนตร์คาถา การทำเสน่ห์เล่ห์กล

๒. แสดงกวีทัศน์  โดยแสดงให้เห็นว่า "การมีรักเป็นทุกข์อย่างยิ่ง" ตรงตามพุทธวัจนะที่ว่า "ที่ใดมีรักที่นั่นมีทุกข์" เช่น
๒.๑ สุเทษณ์รักนางมัทนาแต่ไม่สมหวังก็เป็นทุกข์  แม้เมื่อได้เสวยสุขเป็นเทพบุตรก็ยัง
รักนางมัทนาอยู่  จึงทำทุกอย่างเพื่อให้ได้นางมาแต่ไม่สมหวังก็พร้อมที่จะทำลาย  ความรักเช่นนี้เป็นความรักที่เห็นแก่ตัวควรหลีกหนีให้ไกล
๒.๒  ท้าาสุราษฎร์รักลูกและรักศักดิ์ศรี  พร้อมที่จะปกป้องศักดิ์ศรีและลูกแม้จะสู้ไม่ได้และต้องตายแน่นอนก็พร้อมที่จะสู้  เพราะรักของพ่อแม่เป็นรักที่ลริสุทธิ์และเที่ยงแท้

๒.๓ นางมัทนารักบิดา  นางยอมท้าวสุเทษณ์เพื่อปกป้องบิดา รักศักดื์ศรีและรักษาสัจจะ  เมื่อทำตามสัญญาแล้วจึงฆ่าตัวตาย รักของนางมัทนาเป็นความรักที่แท้จริงมั่นคง  กล้าหาญและเสียสละ
๒.๔ ท้าวชัยเสนและนางจันที  เป็นความรักที่มีความใคร่และความหลงอยู่ด้วยจึงมีความรู้สึกหึงหวง  โกรธแค้นเมื่อถูกแย่งชิงคนรัก  พร้อมที่จะต่อสู้ทำลายทุกอย่างเพื่อให้ได้กลับคืนมา
ตัวละครทั้งหมดในเรื่องประสบแต่ความทุกระทมจากความรัก  มีรักแล้วรักไม่สมหวังก็เป็นทุกข์ อยู่กับคนที่ไม่รักก็เป็นทุกข์  มีรักแล้วไม่ได้อยู่กับคนรักก็เป็นทุกข์ มีความรักแล้วถูกแย่งคนรักก็เป็นทุกข์  มีรักแล้วพลัดพรากจากสิ่งที่รักก็เป็นทุกข์แก่นของเรื่องมัทนะพาธาแสดงให้เห็นว่า  ผู้ที่มีความรักต้องเจ็บปวดจากความรักทั้งสิ้น

๓. ให้ข้อคิดในการครองตน  หญิงใดอยู่ในฐานะอย่างนางมัทนาจะต้องมีความระมัดระวังตัว  หลีกหนีจากผู้ชายมาราคะให้ไกล  กวีจึงกำหนดให้ทางมัทนาถูกสาปกลายเป็นดอกไม้ชื่อดอกกฺุชกะ (กุหลาบ) ซึ่งสวยงามมีหนามแหลมคมเป็นเกราะป้องกันตนให้พ้นจากมือผู้ที่ปรารถนาจะหักหาญรานกิ่งหรือเด็ดดอกไปเชยชม  ดอกกุหลาบจึงเป็นสัญลักษณ์แทนหญิงสาวที่มีรูปสวยย่อมเป็นที่หมายปองของชายทั่วไป  หนามแหลมคมเปรียบเหมือนสติปัญญา  ดังนั้นถ้าหญิงสาวที่รูปงามและมีความเฉลียวฉลาดรู้ทันเล่ห์เหลี่ยม  ย่อมสามารถเอาตัวรอดจากผู้ที่หมายจะหยามเกียรติหรือหมิ่นศักดิ์ศรีได้
๔. ให้ข้อคิดในเรื่องการมีบริวารที่ขาดคุณธรรมอาจทำให้นายประสบหายนะได้ เช่น  บริวารของท้าวสุเทษณ์ที่เป็นคนธรรพ์  ชื่อจิตระเสนมีหน้าที่บำรุงบำเรอให้เจ้านายมีความสุข มีความพอใจ  ดังนั้นจึงทำทุกอย่างเพือ่เอาใจผู้เป็นเจ้านาย เช่น  แสวงหาหญิงงามมาเสนอสนองกิเลสตัณหาของเจ้านาย  ให้วิทยาธรชื่อมายาวินใช้เวทมนตร์สะกดนางมัทนามาให้ท้าวสุเทษณ์  บริวารลักษณะอย่างนี้มีมากในสังคมจริง ซึ่งมีส่วนให้นาย หรือประเทศชาติ  ประสบความเดือดร้อนเสียหายได้
บทละครพูดคำฉันท์ เรื่อง  มัทนะพาธาถือเป็นวรรณคดีเรื่องเยี่ยมและได้รับการยกย่องจากวรรณคดีสโมสรให้เป็นแบบอย่างของบทละครพูดคำฉันท์  โดยวรรณคดีเรื่องนี้ให้ความเพลิดเพลินจากเนื้อหาที่ชวนติดตาม  และวรรณศิลป์อันไพเราะแล้วยังให้ข้อคิดเกี่ยวกับความรักอย่างน่าสนใจ  จึงควรศึกษาวรรณคดีเรื่องนี้อย่างพินิจพิเคราะห์  เพื่อให้เกิดประโยชน์จากการอ่านอย่างครบถ้วนสมบูรณ์


http://omsschools.com/school/school_teacher/index.php?id_teacher=587&lesson_id=1779

ความรู้เพิ่มเติม

๑. อธิบายคำศัพท์


4#
 เจ้าของ| โพสต์ 2016-3-1 08:01 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
ขออภัย! คุณไม่ได้รับสิทธิ์ในการดำเนินการในส่วนนี้ กรุณาเลือกอย่างใดอย่างหนึ่ง ลงชื่อเข้าใช้ | ลงทะเบียน

รายละเอียดเครดิต

ตอบกระทู้ ขึ้นไปด้านบน ไปที่หน้ารายการกระทู้