ปรากฏในพระราชหัตถเลขาพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ว่า "...พระใหญ่ที่สมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต) สร้างนี้ รูปร่างหน้าตาไม่งามเลย...ดูที่หน้าวัด ปากเหมือนท่านขรัวโตไม่มีผิด ถือปูนขาวไม่ได้ปิดทอง ทำนองท่านไม่คิดจะปิดทอง จึงได้เจาะท่อน้ำไว้ที่พระหัตถ์..."
ต่อมา เจ้าพระยารัตนบดินทร์ (บุญรอด กัลยาณมิตร) สมุหนายก มีศรัทธาสร้าง พระอุโบสถและพระวิหารวัดไชโย แต่เมื่อกระทุ้งรากพระวิหาร แรงสั่นสะเทือนทำให้องค์พระพังทลายลง ล้นเกล้าฯ รัชกาลที่ 5 จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าประดิษฐวรการ นายช่างฝีมือเยี่ยมสมัยนั้นมาช่วย
ล้นเกล้าฯ รัชกาลที่ 5 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ยกฐานะของวัดไชโยขึ้นเป็นพระอารามหลวง ตั้งแต่ปีต้นของการปฏิสังขรณ์นั้น แล้วพระราชทานนามพระพุทธรูปที่สร้างขึ้นว่า "พระมหาพุทธพิมพ์" ทรงโปรดเกล้าฯ ให้มีงานฉลองพระอารามวัดไชโยเป็นงานใหญ่ 3 วัน 3 คืน ระหว่างวันที่ 5-7 ตุลาคม พ.ศ.2438 ต่อมาในปี พ.ศ.2531 ได้เริ่มปิดทององค์พระมหาพุทธพิมพ์ โดยดำเนินการ ภายใต้การควบคุมดูแลของกรมศิลปากร
"พระมหาพุทธพิมพ์" หรือ "หลวงพ่อโต" นับเป็นพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์ที่ชาวอ่างทองและจังหวัดใกล้เคียงให้ความเลื่อมใสศรัทธาอย่างมาก มักมีรูปไว้กราบไหว้บูชากันแทบทุกครัวเรือน ด้วยประจักษ์ในความศักดิ์สิทธิ์อย่างถ้วนทั่ว กล่าวกันว่า น้ำมนต์ของหลวงพ่อสามารถรักษาและแก้ไขโรคเคราะห์ต่างๆ ได้ และหลวงพ่อมักเข้าฝันผู้ที่เคารพบูชาเพื่อบอกกล่าวเตือนภัยต่างๆ
|