ตั้งให้เราเป็นเว็บแรกที่คุณเลือก เก็บเราไว้เป็นเว็บโปรด
สมัครสมาชิก ได้มากกว่าที่คุณคิด เข้าสู่ระบบ
ดู: 1457
ตอบกลับ: 0
สั่งพิมพ์ ก่อนหน้า ถัดไป

กรุงศรีอยุธยาในสายตาฝรั่ง... มั่งคั่ง โอ่อ่าสง่างามที่สุดในภาคตะวันออก

[คัดลอกลิงก์]
แผนที่กรุงศรีอยุธยาโดยฝรั่ง
        ในยุครุ่งเรืองของกรุงศรีอยุธยา เป็นที่กล่าวขานกันทั่วไปว่า เป็นเมืองที่มั่งคั่งและโอ่อ่าสง่างามที่สุดในภาคตะวันออก คนหลายชาติหลายภาษา โดยเฉพาะชาวยุโรปที่เจริญก้าวหน้าด้วยสถาปัตยกรรมและศิลปกรรมที่สุดในยุคนั้น เมื่อมาเห็นเมืองหลวงของสยาม ต่างก็ตะลึงในความวิจิตรตระการตา และนำความตื่นตาตื่นใจกลับไปเขียนเล่าให้เพื่อนร่วมทวีปฟัง พิมพ์เป็นหนังสือเผยแพร่ในยุโรปหลายต่อหลายเล่ม ทำให้เราในยุคนี้พลอยได้รับรู้ถึงความงดงามของกรุงศรีอยุธยา และภูมิใจในความเจริญรุ่งเรืองของบ้านเมืองเราในอดีตด้วย
      
       กรุงศรีอยุธยานั้นสร้างตรงจุดที่แม่น้ำ ๓ สายมาบรรจบกัน คือ แม่น้ำเจ้าพระยา แม่น้ำป่าสัก และแม่น้ำลพบุรี ทำให้มีแม่น้ำล้อมรอบถึง ๓ ด้าน นับเป็นความกล้าหาญและชาญฉลาดในการควบคุมน้ำ นอกจากไม่ให้ท่วมเมืองในฤดูน้ำเหนือหลากแล้ว ยังใช้เป็นยุทธศาสตร์ป้องกันพระนครได้อย่างดี
      
       นอกจากนี้ ยังเป็นจุดยุทธศาสตร์ทางการค้า คุมการขนส่งทางเหนือทั้งหมด สินค้าตั้งแต่ล้านนาลงมา ต้องมารวมอยู่ที่กรุงศรีอยุธยาเพื่อขายให้สำเภาต่างประเทศ ขณะเดียวกันก็เป็นจุดกระจายสินค้าที่มาจากสำเภาต่างประเทศ ไปตามหัวเมืองทางเหนือจนถึงลาวและเขมร ทำให้เศรษฐกิจของกรุงศรีอยุธยารุ่งเรืองอย่างรวดเร็ว มีกองทัพที่เข้มแข็ง และเป็นราชอาณาจักรใหญ่ในย่านตะวันออก
      
       โยส เซาเต็น ผู้จัดการบริษัทการค้าของฮอลันดา ซึ่งมาประจำการอยู่ในกรุงศรีอยุธยา ๒ รอบ ในสมัยพระเจ้าทรงธรรมและสมัยพระเจ้าปราสาททอง รวมเวลา ๘ ปี ได้เขียนไว้ใน “จดหมายเหตุโยส เซาเตน” เมื่อ พ.ศ.๒๑๗๙ ว่า
      
       “ประเทศสยามเป็นราชอาณาจักรใหญ่ มีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักกันทั่วไป ตั้งอยู่ในทวีปเอเชียทางตอนเหนือของเส้นศูนย์สูตร เรื่อยขึ้นไปจนถึงเส้นรุ้งที่ ๑๔ มีอาณาเขตติดต่อกับราชอาณาจักรหงสาวดีและอังวะ อาณาจักรสยามประกอบไปด้วยเมืองเล็กใหญ่มากมาย
      
       ...พระนครศรีอยุธยานี้จึงเป็นนครที่โอ่อ่า เต็มไปด้วยโบสถ์วิหารซึ่งมีจำนวนมากกว่า ๓๐๐ และก่อสร้างขึ้นอย่างวิจิตรพิสดารที่สุด โบสถ์วิหารเหล่านี้มีปรางค์ เจดีย์และรูปปั้นรูปหล่ออย่างมากมาย ใช้ทองฉาบอยู่ภายนอกสีเหลืองอร่ามทั่วไปหมด เป็นพระมหานครที่สร้างอยู่ข้างฝั่งแม่น้ำ โดยมีผังเมืองวางไว้อย่างเป็นระเบียบ จึงเป็นนครที่สวยงามมาก ตั้งอยู่ในทำเลที่เหมาะสม มีประชาชนหนาแน่น และเต็มไปด้วยสินค้าสิ่งของจำเป็นแก่ชีวิตนำเข้ามาขายจากนานาประเทศ เท่าที่ข้าพเจ้าทราบ ยังไม่มีพระมหากษัตริย์องค์ใดในแถบนี้ของโลก ที่จะมีเมืองหลวงใหญ่โตมโหฬารวิจิตรพิสดารและสมบูรณ์พูนสุข เหมือนกับพระมหากษัตริย์ ณ ราชอาณาจักรนี้...”
      
       ส่วนจดหมายเหตุของนิโกลาส์ แชรแวส ซึ่งร่วมคณะราชทูตฝรั่งเศสของ เชอวาเลียร์ เดอ โชมอง เข้ามาในปี ๒๒๒๘ สมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ได้บันทึกไว้ใน “ประวัติศาสตร์ธรรมชาติและการเมืองแห่งราชอาณาจักรสยาม” ซึ่งเป็นคนแรกที่เปรียบกรุงศรีอยุธยากับกรุงเวนิชไว้ว่า
      
       “...แม่น้ำใหญ่ติดชายกำแพงด้านเหนือ ด้านตะวันออก และด้านตะวันตก แล้วไหลผ่านเข้าไปในเมือง เป็นทางน้ำสามสายตลอดหัวเมืองท้ายเมือง กลายเป็นเมืองเวนิสขึ้นอีกแห่งหนึ่ง อาจจะกล่าวได้ว่า สถานที่ดังนี้จะอำนวยประโยชน์ได้อีกมาก ถ้าไม่มุ่งแต่จะก่อสร้างอาคารบ้านเรือนให้งดงามถึงเท่านี้ แล้วละเลยการปรับปรุงทางน้ำเสีย...”
      
       ต่อมาในปี ๒๒๓๐ ลาลูแบร์ ราชทูตฝรั่งเศสในสมัยสมเด็จพระนารายณ์เช่นกัน ก็เขียนย้ำเรื่อง “เวนิสตะวันออก” ไว้อีกครั้งใน “จดหมายเหตุของลาลูแบร์ ว่าด้วยราชอาณาจักรสยาม” ว่า
      
       “...ถนนส่วนใหญ่มักมีลำคลองควบขนานเป็นเส้นตรงไปด้วย จึงทำให้เปรียบเมืองสยามได้กับเมืองเวนิส ตามคลองหลอดนั้นมีสะพานเล็กๆไม่สู้มั่นคงนักทอดข้ามเป็นอันมาก บางแห่งก็มีสะพานก่ออิฐถือปูน...”
      
       บันทึกรายวันของ บาทหลวง เดอ ชัวซีย์ หนึ่งในคณะราชทูตเชอวาเลียร์ เดอ โชมอง ก็ได้ยืนยันความงดงามของกรุงศรีอยุธยาไว้ใน “จดหมายเหตุรายวัน การเดินทางไปสู่ประเทศสยาม” ว่า
      
       “...เมื่อออกไปกลางแจ้ง ใครๆก็คงจะต้องเห็นช่อฟ้าหลังคาโบสถ์และยอดพระเจดีย์ซึ่งปิดทองถึง ๓ ชั้น มีอยู่ดารดาษทั่วไปดูออกสะพรั่งพราวตา ข้าพเจ้าไม่ทราบแน่ว่าข้าพเจ้าจะทำให้ท่านนึกเห็นสิ่งงามๆเหล่านี้ไปด้วยหรือไม่ ขอจงเชื่อเถิดว่า ข้าพเจ้าไม่เคยเห็นสิ่งใดที่จะสวยงามยิ่งไปกว่านี้...
      
       ...ข้าพเจ้าไม่ทราบว่าจะหาคำอะไรมาใช้จึงจะเหมาะกับสิ่งที่ได้เห็น คำว่าวิจิตรรจนาสง่าโอ่โถง ก็หายังพอกับสิ่งนั้นๆไม่...”
      
       ในจดหมายเหตุของนายแพทย์ เอนเยลเบิร์ต แกมเฟอร์ ชาวเยอรมันซึ่งเข้ามากับคณะทูตฮอลันดาในสมัยพระเพทราชา กล่าวไว้ใน “ไทยในจดหมายเหตุของแกมเฟอร์” ว่า       
      
       “...คลองอันมีอยู่มากมายนั้น ทำให้มีสะพานข้ามเหลือหลาย ที่ข้ามคลองใหญ่มักสร้างด้วยหิน มีเสาตะม่อก่อด้วยหินเหมือนกัน แต่เพราะที่เหล่านี้ไม่ใช้รถหรือเกวียน จึงสร้างไว้แคบๆ ตัวสะพานยาวราวแปดสิบศอก กลางโค้งขึ้นไปสูง แต่สะพานข้ามคลองเล็กๆไม่เป็นแบบแผนก่อสร้างอย่างใด เป็นสะพานไม้เสียมากที่สุด...
      
       ...ในกรุงมีโบสถ์วิหารอยู่ทั่วทุกหนทุกแห่ง มีบริเวณพอสมกับถนน และเต็มไปด้วยสถูปเจดีย์ปิดทองขนาดต่างๆ ความใหญ่โตไม่เท่าโบสถ์ของเรา แต่ความงามภายนอกนั้นยิ่งกว่ามากนัก เพราะมีช่อชั้นหลังคางอนซ้อนสลับกันเป็นอันมาก... .
      
       ...ในบรรดาชาติผิวคล้ำแห่งเอเชียทั้งหลาย สยามเป็นราชอาณาจักรอันเกรียงไกรยิ่งใหญ่ที่สุด และราชสำนักนั้นเล่าก็วิจิตรมโหฬารหาที่เสมอเหมือนมิได้...”       
      
       จากบันทึกของชาวตะวันตก ทำให้เราพอจินตนาการได้ถึงความรุ่งเรืองด้วยศิลปกรรมและความสมบูรณ์พูนสุขของกรุงศรีอยุธยา จนทำให้ชาวยุโรปที่เจริญก้าวหน้าด้วยศิลปะวิทยาการที่สุดในยุคนั้น ต่างตื่นตะลึงในความวิจิตรงดงามในศิลปกรรมของไทย ซึ่งตอนนั้นเรารุ่งเรืองด้วยวัฒนธรรมของเราเอง ยังไม่ได้รับอิทธิพลวัฒนธรรมจากตะวันตกเลย ชาวตะวันตกกลับเป็นฝ่ายตะลึงความงามในศิลปกรรมของเรา
      
       แต่แล้ว...นครที่โอ่อ่าสง่างามมั่งคั่งสมบูรณ์แห่งนี้ ก็เหลือแต่ซากปรักหักพังอย่างที่เห็น ประวัติศาสตร์บอกเราอย่างชัดเจนว่า การล่มสลายของกรุงศรีอยุธยา มาจากการแย่งชิงอำนาจทำลายล้างกันเอง ทั้งยังได้ผู้นำที่พระราชบิดายังรับสั่งว่า “โฉดเขลา หาสติปัญญาและความเพียรมิได้” แต่เผอิญได้เป็นใหญ่ เลยกลายเป็นความย่อยยับของประเทศชาติ
      
       หวังว่าในวันหน้า ลูกหลานไทยคงไม่ต้องมารำพึงรำพรรณความหลังถึงความรุ่งเรืองของกรุงเทพมหานคร ที่ถูกเผาทำลายไปโดยคนไทยด้วยกันอีก

เรือพระราชพิธีในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช
        

ซากความโอ่อ่าสง่างามของกรุงศรีอยุธยาในปัจจุบัน
        

ขออภัย! คุณไม่ได้รับสิทธิ์ในการดำเนินการในส่วนนี้ กรุณาเลือกอย่างใดอย่างหนึ่ง ลงชื่อเข้าใช้ | ลงทะเบียน

รายละเอียดเครดิต

ตอบกระทู้ ขึ้นไปด้านบน ไปที่หน้ารายการกระทู้