ตั้งให้เราเป็นเว็บแรกที่คุณเลือก เก็บเราไว้เป็นเว็บโปรด
สมัครสมาชิก ได้มากกว่าที่คุณคิด เข้าสู่ระบบ
ดู: 2600
ตอบกลับ: 0
สั่งพิมพ์ ก่อนหน้า ถัดไป

พระพิจิตร ป้อมเนื้อชิน

[คัดลอกลิงก์]
พันธุ์แท้พระเครื่อง

ราม วัชรประดิษฐ์

เมืองพิจิตร หรือเมืองวิจิตรตระการตา นั้น ตามตำนานกล่าวว่า พระยาโคตรบองเป็นผู้สร้าง แต่จะสร้างในสมัยใดไม่ปรากฏ ตามประวัติศาสตร์ชาติไทยแล้ว "เมืองพิจิตร" เป็นเมืองเก่าแก่ในสมัยสุโขทัย ปรากฏข้อความในศิลาจารึกหลักที่ 1 ของพ่อขุนรามคำแหงมหาราช และในศิลาจารึกหลักที่ 8 รัชกาลพระยาลิไท เรียกว่า"เมืองสระหลวง" ซึ่งมีสถานะเป็นหัวเมืองเอกของกรุงสุโขทัย

นอกจากนี้ยังเป็นที่ประสูติของพระมหากษัตริย์แห่งกรุงศรีอยุธยาพระองค์หนึ่งคือ สมเด็จพระสรรเพชญ์ที่ 8 หรือ พระเจ้าเสือ และในสมัยอยุธยานั้น เมืองพิจิตรก็ยังได้เป็นหัวเมืองชั้นตรี ซึ่งถือเป็นเมืองที่มีความสำคัญค่อนข้างสูงในสมัยโบราณ มีเพียง 7 เมืองเท่านั้น คือ เมืองพิชัย เมืองพิจิตร เมืองนครสวรรค์ เมืองพัทลุง เมืองชุมพร เมืองจันทบูร และเมืองไชยา

ในสมัยรัตนโกสินทร์ เมืองพิจิตรแม้จะเป็นเมืองขนาดเล็ก แต่ก็ยังมีเจ้าเมืองปกครองดังเช่นเมืองอื่นๆ เมื่อถึงสมัยรัชกาลที่ 5 โปรดให้ย้ายเมืองพิจิตรมาตั้งที่บ้านคลองเรียง ซึ่งเป็นคลองขุดใหม่ลัดแม่น้ำน่านที่ตื้นเขิน คลองเรียงจึงกลายเป็นแม่น้ำน่านไป ส่วนบริเวณเมืองพิจิตรเก่ายังปรากฏโบราณสถานอยู่หลายแห่ง ซึ่งมีอายุตั้งแต่สมัยสุโขทัยถึงสมัยอยุธยา

ณ ปัจจุบัน เมืองพิจิตรขึ้นชื่อลือชานักในเรื่องพระเครื่องอันทรงคุณวิเศษ อีกทั้งเป็นที่ประดิษฐานหลวงพ่อเพชรแห่งวัดท่าหลวง ยิ่งทำให้ผู้คนรู้จักคุ้นเคยเมืองพิจิตร"ต้นตำนานชาละวัน-ไกรทอง" กันอย่างดี เมืองพิจิตรนี้มีพระเครื่องของดีมากมาย ด้วยเป็นเมืองหน้าด่านและเส้นทางเดินทัพมาแต่โบราณ ผู้คนจึงพกนำของดีติดตัว เช่น พระพิจิตรเม็ดข้าวเม่า เป็นต้น

ของมงคลส่วนมากจะสร้างขึ้นโดยมี บ่อเหล็กน้ำพี้ พ่อพระแสง เป็นกระสายอาถรรพ์มีการสร้างพระพิจิตรให้เกศเฉียงตามลักษณะของหมวกทหารที่ถูกจัดให้เป็นกองหน้าจึงเรียกว่า "พระพิจิตรเกศคด" เหมือนกับการสร้างพระพิจิตรเม็ดข้าวเม่าที่เล็กมากจนสามารถฝังลงในร่างกายทำนองตะกรุดได้ บางองค์เกศจะคดนิดๆ แต่ขึ้นชื่อทางอยู่ยงคงกระพันและเหนียวหนึบเรียกว่าฟันไม่เข้าแล้วกัน

มีพระพิจิตรองค์สำคัญอีกชนิดหนึ่ง ซึ่งใคร่จะขยายความให้ท่านผู้อ่านทราบ เนื่องด้วยเรียกหากันไม่ค่อยเคยชินและบางคนก็ไม่รู้จัก ทั้งที่เป็นของดีอันดับต้นๆ ของเมือง พระชนิดนี้ก็มีขนาดเล็กจิ๋วเรียกกันว่า "พระพิจิตรป้อม" เพราะขุดพบที่ป้อมวังบูรพา (อยู่ในกรุงเทพฯ เมื่อก่อนเคยเป็นที่ตั้งโรงหนังคิงส์ แกรนด์ และควีนส์ ปัจจุบันไม่เหลือซากแล้ว)

พระพิจิตรป้อม ที่ขุดพบที่ป้อมวังบูรพานั้น เป็นพระเนื้อดินที่มีขนาดเล็กมากที่สุดในตระกูลพระพิจิตรด้วยกัน สัณฐานองค์พระเป็นรูปกลีบบัวกว้างประมาณ 0.5 ซ.ม. ส่วนสูงประมาณ 1.0 ซ.ม. กรอบด้านหน้า ยกเป็นเส้นนูน ล้อมรอบองค์พระประธาน ซึ่งประทับนั่ง แสดงปางสมาธิ บนฐานหมอนชั้นเดียว ส่วนพระพักตร์ทำเป็นเม็ดกลมต่อ พระเกศเอียงนิดๆ เข้าทำนอง "พิจิตรเกศคด" เป็นลักษณะเศียรลอยไม่ติดกับลำพระองค์ ส่วนพระอุระจะนูนเด่นออกมาชัดเจน วงพระกรรัดเป็นวงเยื้องไปทางซ้ายขององค์พระ ด้านหลังจะเป็นลายผ้าหยาบๆ แบนๆ เนื้อดินที่พบเป็นดินละเอียดมีหลากสี เช่น สีอิฐ สีแดง สีเหลือง สีพิกุลแห้ง สีเขียว เคยมีผู้พบเป็นเนื้อชินก็มี

มีเรื่องเล่าว่า ... เมื่อประมาณปี พ.ศ.2480 มีการลอบขุดพระปรางค์องค์ใหญ่ในเขตเมืองพิจิตรเก่า คนร้ายได้พระบูชาและพระเครื่องมากมาย แต่ทางการตามจับได้ ผู้คนแห่ไปดูมากมาย หลังจากนั้นมีชายใบ้คนหนึ่งชี้ไปที่ก้อนดินที่จับตัวกันเป็นก้อนขนาดใหญ่ มีคนลองทุบดูเห็นข้างในเป็นพระเนื้อชินองค์เล็กๆ เต็มไปหมด ปรากฏว่าเป็น"พระพิจิตรป้อม เนื้อชิน" คนพบรอจนหมดอายุความ จึงนำออกให้เช่าในราวปี พ.ศ.2500 แต่พระไม่ได้รับการเก็บรักษาให้ดีจึงชำรุดผุพังเสียมาก ซึ่งภายหลังพระที่ชำรุดเหล่านี้ได้รับการบรรจุในรูปหล่อหลวงพ่อพิธ วัดหัวดง จังหวัดพิจิตร

พระพิจิตรป้อม นับเป็นของดีอย่างวิเศษของชาวเมืองพิจิตร ปัจจุบันหายากหาเย็นแล้ว ไม่ใคร่มีใครรู้ประวัติความเป็นมาจึงนำมาเล่าสู่กันฟังครับผม




ขออภัย! คุณไม่ได้รับสิทธิ์ในการดำเนินการในส่วนนี้ กรุณาเลือกอย่างใดอย่างหนึ่ง ลงชื่อเข้าใช้ | ลงทะเบียน

รายละเอียดเครดิต

ตอบกระทู้ ขึ้นไปด้านบน ไปที่หน้ารายการกระทู้