ตั้งให้เราเป็นเว็บแรกที่คุณเลือก เก็บเราไว้เป็นเว็บโปรด
สมัครสมาชิก ได้มากกว่าที่คุณคิด เข้าสู่ระบบ
ดู: 2342
ตอบกลับ: 1
สั่งพิมพ์ ก่อนหน้า ถัดไป

หลวงพ่อทอง...วัดทองทั่วเมืองจันทบูรณ์

[คัดลอกลิงก์]

วัดทองทั่ว เป็นวัดในจังหวัดจันทบุรี เป็นโบราณสถานขึ้นทะเบียนของกรมศิลปากร ทะเบียนเลขที่ 0007072

เมื่อปี พ.ศ.๒๓๑๐ ได้มีการตั้งวัดทองทั่ว และปี พ.ศ ๒๓๑๘ได้รับพระราชทาน วิสุงคามสีมา เพื่อรับรองว่าวัดทองทั่ว เป็นวัดสมบูรณ์ตามพระราชบัญญัติลักษณะปกครองคณะสงฆ์ ร.ศ ๑๒๑โดยกรมศาสนา

ปัจจุบันวัดทองทั่วอยู่ใกล้โบราณสถานเมืองเพนียด ซึ่งมีความสัมพันธ์กับอารยธรรมขอมโบราณ โดยมีหลักฐาน จากโบราณวัตถุที่ค้นพบ และมี "วัดเพนียด" ซึ่งเป็นวัดเก่าแก่อยู่ห่างจากวัดทองทั่วทางทิศใต้ไปประมาณ ๔๐๐ เมตร ต่อมาได้ย้ายที่ตั้งใหม่ คือวัดทองทั่วในปัจจุบัน วัดทองทั่วตั้งอยู่ในเขตเทศบาลตำบลพลับพลานารายณ์ ตำบลคลองนารายณ์ อำเภอเมือง จังหวัดจันทบุรีและห่างจากตัวจังหวัดไปทางทิศตะวันออกไปประมาณ ๔-๕ กิโลเมตร

ในสมัยกรุงศรีอยุธยาหลังเสียกรุงครั้งที่สอง สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ได้มารวบรวมกำลังไพร่พลเพื่อกู้อิสรภาพที่เมืองจันทบุรี เมื่อทรงกู้อิสรภาพได้สำเร็จ ก็คงจะมีความผูกพันกับวัดทองทั่ว พระราชทานวิสุงคามสีมาแก่วัดทองทั่ว และอาจจะสถาปนาวัดทองทั่วขึ้นเป็นพระอารามหลวง เพราะวัดทองทั่วมีใบสีมารอบพระอุโบสถหลังเก่าของวัดทั้ง ๘ ทิศเป็นใบสีมาคู่ ซึ่งมีแต่พระอารามหลวงเท่านั้นจึงจะตั้งใบสีมาคู่ได้

และหลักฐานอีกชิ้นที่ได้ระบุความเป็นมาของวัดทองทั่ว คือเอกสารที่เก็บไว้ในหอจดหมายเหตุแห่งชาติเป็นเอกสารในรัชกาลที่ ๕ ศ.12/25 รายงานถึงมณฑลจันทบุรี ร.ศ. ๑๑๘ (พ.ศ. ๒๔๔๓) โดยพระสุคุณคณาภรณ์ (ม.ร.ว.ชื่น นพวงศ์) ซึ่งต่อมาได้เป็นพระวชิรญาณวงศ์ ดำรงตำแหน่งเป็น สมเด็จพระสังฆราชเจ้าที่พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ ๕) โปรดเกล้าให้มาจัดการศึกษาในเมืองจันทบุรี เมื่อร.ศ. ๑๑๖ (พ.ศ.๒๔๔๑) ซึ่งขณะนั้นอยู่ในตำแหน่งผู้อำนวยการการศึกษามณฑลจันทบุรี

ตำนานเมืองเพนียด

เมืองเพนียด มีชื่อปรากฏในพงศาวดารแต่แรกสร้างกรุงศรีอยุธยา จากหลักฐานทางประวัติศาสตร์พบว่า เมื่อประมาณ พุทธศตวรรษที่ ๑๒ คือปลายสมัยฟูนันได้ค้นพบเมืองโบราณเก่าแก่ที่ได้รับวัฒนธรรมมาจากอินเดียมากกว่า ๑,๐๐๐ ปี ชาวบ้านเรียกว่า เมืองเพนียด หรือเมืองกาไว โดยเชื่อกันว่าชุมชนแรกที่เริ่มเข้ามาก่อตั้งคือชุมชนชอง ตั้งอยู่บริเวณที่ราบชายเขาสระบาป

เมืองเพนียด มีลักษณะเป็นเนินดินรูปสี่เหลียมผืนผ้า กำแพงก่อด้วยศิลาแลงขนาดกว้าง ๑๖ ม. ยาว ๒๖ ม. สูง ๓ ม. ภายในเมืองมีบ่อน้ำศักดิ์สิทธิ์ และยังเชื่อว่า สถานที่แห่งนี้แต่เดิมเป็นเมืองคล้องช้างหรือขังช้าง ต่อมาได้ย้ายเมืองมาตั้งถิ่นฐานบริเวณบ้านหัววัง ต.พุงทะลาย เมืองเพนียดจึงถูกปล่อยให้เป็นเมืองร้าง แต่เนื่องจากเมืองพุงทะลายมีทำเลที่ไม่เหมาะมีน้ำท่วมเป็นประจำ จึงมีการย้ายเมืองไปยังบ้านลุ่ม ริมแม่น้ำจันทบุรี ซึ่งเป็นที่ตั้งของตัวเมืองในปัจจุบัน

มีตำนานเล่าสืบต่อกันมาเกี่ยวกับเมืองเพนียดว่า เมืองเพนียดมีพระเจ้าพรหมทัต เป็นกษัตริย์ผู้ปกครองนคร พระมเหสีคือ พระนางจงพิพัฒน์ มีพระราชโอรสด้วยกัน ๒ พระองค์ คือเจ้าชายบริพงษ์ และเจ้าชายวงศ์สุริยคาส ต่อมาพระนางจงพิพัฒน์ทรงสิ้นพระชนม์ลง พระนางกาไวจึงได้ทำเสน่ห์ให้พระเจ้าพรหมทัตหลงใหลและอภิเษกกัน จนพระนางได้ตั้งครรภ์จึงได้อ้อนวอนขอสิ่งที่พระนางปรารถนา พระเจ้าพรหมทัตจึงพลั้งพระโอษฐ์ให้

เมื่อพระนางได้ประสูติพระไวยทัต พระราชโอรส พระนางกาไวก็ได้ทูลขอพระราชสมบุติให้แก่พระไวยทัตตามที่เคยรับปากไว้ จึงทำให้เจ้าชายบริพงษ์ และเจ้าชายวงศ์สุริยคาส ต้องอพยพไปสร้างเมืองใหม่ทางเหนือของเมืองเพนียดในดินแดนเขมร เรียกว่า เมืองสามสิบ


ครั้นต่อมาพระเจ้าพรหมทัตสวรรคต พระไวยทัตขึ้นครองราชย์สมบัติโดยมีพระนางกาไวเป็นผู้สำเร็จราชการแทน เมื่อเจ้าชายบริพงษ์ และเจ้าชายวงศ์สุริยคาสทราบข่าวจึงยกทัพมาตีเพื่อเอาพระนครคืน พระไวยทัตสู้ไม่ไหวจึงถอยทัพร่นกลับแต่ก็ถูกตีแตก พระไวยทัตถูกฟันคอสิ้นพระชนม์บนหลังช้าง ตรงบริเวณเกาะทัพแตก ซึ่งเพียนมาเป็นเกาะตะแบกในปัจจุบัน

เมื่อพระนางกาไวทราบข่าวพระไวยทัตสิ้นพระชนม์ จึงได้ขนทรัพย์สินแก้วแหวนเงินทองออกมาโปรยหว่าน เพื่อล่อให้ข้าศึกเก็บ แต่ครั้นจะหนีก็เห็นว่าไม่มีทางรอด จึงดื่มยาพิษชื่อว่า ยามหาไวย สิ้นพระชนม์ในห้องบรรทม และสถานที่ที่พระนางกาไวหว่านทรัพย์สินเงินทองนั้น เรียกว่า ทองทั่ว และเป็นสถานที่ตั้งของ "วัดทองทั่ว" ในปัจจุบัน

สำหรับ "วัดทองทั่ว" ต.คลองนารายณ์ อ.เมือง จ.จันทบุรี เป็นวัดเก่าแก่ที่มีความเจริญรุ่งเรื่องมาช้านานพร้อมกับตำนาน และโบราณสถานโบราณวัตถุที่มีอายุกว่าพันปี ตามประวัติบอกไว้ว่าวัดแห่งนี้มีมาตั้งแต่สมัยอยุธยา เดิมชื่อ วัดเพนียด บริเวณใกล้วัดยังมีหลักฐานกำแพงเมืองปรากฏอยู่ มีหลักฐานเก่าให้เชื่อว่าเป็นวัดโบราณ อาทิ ใบเสมาของอุโบสถเก่าเป็นแบบใบเสมาคู่ ภายในวัดยังมีพระพุทธรูปหล่อทองสัมฤทธิ์องค์หนึ่งเป็นพระพุทธรูปสมัยอยุธยาตอนปลาย

โดยเชื่อว่าวัดแห่งนี้เป็นพระอารามหลวง เนื่องจากพบใบสีมาคู่เก่าแก่รอบพระอุโบสถทั้ง ๘ ทิศ ตามลักษณะใบสีมาจัดอยู่ในสมัยนิยมอยุธยา มีรูปเทวดาถือดอกบัว ๒ ดอก แยกออกซ้ายขวา บางแห่งกล่าวว่าเป็นศิลปะศรีวิชัย ภายในพระอุโบสถเป็นที่ประดิษฐาน "พระพุทธสุวรรณมงคลศากยมุนีศรีสรรญเพ็ชญ์" หรือ "หลวงพ่อทอง" เป็นพระพุทธรูปที่มีอายุเก่าแก่คู่มากับพระอุโบสถ

ตามคำบอกเล่าของคนเก่าคนแก่ เล่าว่า เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๗๑ ได้มีการบูรณะอุโบสถพร้อมพระประธาน ซึ่งพระประธานได้เอียงทรุดไปด้านหนึ่ง จึงได้เกณฑ์ชาวบ้านมาช่วยกันดีดแล้วค้ำยันองค์พระให้ตั้งตรง แต่ส่วนฐานพระประธานกลับหลุดกะเทาะ ตรงปูนปั้นด้านหน้าฐานพระที่เรียกว่า ผ้าทิพย์ ก็ได้พบโกศงาช้างกลึงสวยงาม ภายในโกศมีกระดูก ๒ ชิ้น มีผ้าดิ้นลายทองยกรูปดอกไม้พื้นสีออกม่วงห่อไว้

และได้พบแผ่นทองคำรูปใบโพธิ์เขียนจาตึกเป็นตัวหนังสือไว้ว่า พระอัฐิ พระเจ้าตาก พระยาจันทบุรีเป็นผู้นำมาไว้ แต่ต่อมาแผ่นทองนั้นก็ได้หายไป อีกทั้งจนปัจจุบันก็ยังไม่สามารถสืบค้นได้ว่าพระยาจันทบุรีนี้คือใคร และนำมาไว้ที่วัดแห่งนี้เมื่อใด สันนิษฐานว่าคงจะนำมาไว้เมื่อสมัยรัชกาลที่ ๑ เมื่อถวายพระเพลิงพระศพเรียบร้อยแล้ว

หมายเหตุ
- จากภาพคือ พระพุทธสุวรรณมงคลศากยมุนีศรีสรรญเพชร (หลวงพ่อทอง) เป็นพระพุทธรูปเก่าแก่ คู่มากับพระอุโบสถ (หลังเก่า) ตามหลักฐานการสร้างวัด

สาธุครับ
ขออภัย! คุณไม่ได้รับสิทธิ์ในการดำเนินการในส่วนนี้ กรุณาเลือกอย่างใดอย่างหนึ่ง ลงชื่อเข้าใช้ | ลงทะเบียน

รายละเอียดเครดิต

ตอบกระทู้ ขึ้นไปด้านบน ไปที่หน้ารายการกระทู้