พระประวัติสมเด็จพระสังฆราช ไก่เถื่อน สมเด็จพระสังฆราช ไก่เถื่อน ทรงมีพระนามเดิมว่า สุก ด้วยท่านทรงคุณวิเศษในทางวิปัสสนา สามารถแผ่เมตตาพรหมวิหารธรรม ให้ไก่ป่า เชื่องได้เหมือนไก่บ้าน ท่านประสูติในสมัยกรุงศรีอยุธยา แผ่นดินพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ ณ วันศุกร์ ขึ้น ๒ ค่ำ เดือนยี่ ปีฉลู พระพุทธศักราช ๒๒๗๖ เดิมอยู่วัดท่าหอย ริมคลองคูจาม แขวงกรุงเก่า (พระนครศรีอยุธยา) พ.ศ. ๒๓๒๕-๒๓๒๖ สมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ทรงอาราธนาพระอาจารย์สุก มาอยู่วัดราชสิทธาราม ซึ่งในสมัยนั้น เรียกกันว่า วัดพลับ และทรงตั้งให้เป็นพระราชาคณะฝ่ายวิปัสสนาที่ พระญาณสังวรเถร พ.ศ. ๒๓๒๘ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ทรงทำพระราชพิธีจักรพรรตราชาภิเษก แล้วทรงเลื่อนพระญาณสังวรเถร เป็นพระราชาคณะผู้ใหญ่ ในราชทินนามเดิมว่า พระญาณสังวร โดยตัดคำว่า เถร ออกไป ในครั้งนั้นพระเถรานุเถร ทั้งปวง ในกรุงรัตนโกสินทร์ ทราบว่า พระอาจารย์สุก มาสถิตวัดพลับ เป็นที่ พระญาณสังวร ทรงเป็นผู้ชำนาญทางวิปัสสนา พระเถรานุเถระ ทั้งหลาย จึงมาฝากตัวเรียนพระกรรมฐาน ในสำนักพระญาณสังวร กันมากมาย พระญาณสังวร ทรงเป็นพระกรรมวาจาจารย์ ของ สมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย กรมพระราชวังบวรสุรสีหนาท กรมพระราชวังหลัง และทรงเป็นพระราชอุปัชยาจารย์ ของพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว และพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อทรงผนวชเป็นสามเณร ในรัชกาลที่ ๒ พ.ศ. ๒๓๕๙ รัชกาลที่ ๒ โปรดเกล้าฯสถาปนา พระญาณสังวร ขึ้นเป็น สมเด็จพระญาณสังวร เจ้าคณะใหญ่อรัญวาสี ดังมีสำเนา ที่ทรงประกาศแต่งตั้ง ดังนี้ ศรีศยุภมัศดุ ฯลฯ ลงวันพฤหัสบดี แรม ๗ ค่ำ เดือน ๔ ปีขาล พุทธศักราช ๒๓๕๙ ให้พระญาณสังวร ขึ้นเป็นสมเด็จพระญาณสังวร อดิศรสังฆเถรา สัตตวิสุทธิจริยาปริณายก สปิฏกธรามหาอุดมศีลอนันต์ อรัญวาสี สถิตในวัดราชสิทธาวาสวรวิหาร พระอารามหลวง ให้จารึกกฤตกาลอวยผล พระชนมายุศม ศรีสวีสดิ์พิพัฒนมงคล วิมลทฤฆายุศม ในพระพุทธศาสนาเทอญฯ สมเด็จพระญาณสังวร นั่งหน้า สมเด็จพระสังฆราช (มี) ด้วยมีพระชนม์พรรษายุกาลยิ่งกว่า ที่มิได้เป็นสมเด็จพระสังฆราชมาแต่ก่อนนั้น เพราะมีพระราชนิยมว่า ต้องเป็นสมเด็จพระราชาคณะฝ่ายวิปัสสนาธุระ ภายหลังจากสมเด็จพระสังฆราช (มี) สิ้นพระชนม์ลงแล้ว พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ทรงมีพระราชดำริว่า พรรษายุกาล ของสมเด็จพระญาณสังวร สูงมากอยู่แล้ว จะทรงสนองพระเดชพระคุณให้ถึงที่สุด จึงทรงอาราธนา ให้สมเด็จพระญาณสังวร รับตำแหน่งสมเด็จพระสังฆราช จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตั้งขบวนแห่ จากวัดราชสิทธาราม มาสถิตวัดมหาธาตุ เมื่อวันพฤหัสบดี ขึ้น ๔ ค่ำ เดือน ๑๒ ปีมะโรง พุทธศักราช ๒๓๖๓ แล้วโปรดสถาปนาขึ้นดำรงตำแหน่งสมเด็จพระสังฆราช เมื่อวันพฤหัสบดี ขึ้น ๒ ค่ำ เดือนอ้าย ดังมีสำเนาประกาศดังนี้ ศรีศยุภมัศดุ อดีตกาล พระพุทธศักราช ชะไมยสหัสสสังวัจฉรไตรสตาธฤก ไตรสัฏฐีสัตมาศ ปรัตยุบันกาล นาคสังวัจฉร มฤคศฤระมาศ ศุกขปักขคุรุวารนวมีดิถี ปริจเฉทกาลอุกฤษฐ์ สมเด็จบรมธรรมมฤกะ มหาราชามาราธิราชเจ้า ผู้ทรงทศพิธราชธรรม อนันตคุณวิบูลยปรีชา อันมหาประเสริฐ มีพระราชโองการมาณวิฑูรสุรสิงหนาทดำรัสสั่ง พระราชูทิศสถาปนา ให้สมเด็จพระญาณสังวร เป็นพระอริยวงษญาณ ปริยัติวราสังฆราชาธิบดี ศรีสมณุตมาปรินายก ติปิฏกธราจารย์ สฤทธิขัติยสารสุนทร มหาคณฤศรวรทักษาสฤทธิสังฆาราม คามวาสี อรัญวาสี เป็นประธานถานาทุกคณานิกร จัตุพิธบรรพสัท สถิตในวัดพระศรีรัตนมหาธาตุ พ.ศ. ๒๓๖๔ สมเด็จพระสังฆราชญาณสังวร (สุก ไก่เถื่อน) ทรงทำสังคายนาพระกรรมฐาน ที่ผิดเพี้ยนวิปลาส มาแต่ครั้งกรุงแตก สมเด็จพระสังฆราช (สุก ไก่เถื่อน) สิ้นพระชนม์เมื่อ วันที่ ๒๙ สิงหาคม พ.ศ. ๒๓๖๕ ตรงกับวันขึ้น ๑๓ ค่ำ เดือน ๑๐ ปีมะเมีย พระชันษา ๙๐ ดำรงตำแหน่งสมเด็จพระสังฆราช อยู่ ๒ ปี พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย โปรดพระราชทานพระโกศทองใหญ่ ให้ทรงพระศพในคราวออกพระเมรุ ณ ท้องสนามหลวง พระโกศทองใหญ่นี้นอกจากพระบรมศพแล้ว ปรากฏว่าได้ทรงแต่พระศพ สมเด็จพระสังฆราชพระองค์นี้องค์เดียวเท่านั้น หลังจากพระราชทานเพลิงพระศพ สมเด็จพระสังฆราชแล้ว ทรงโปรดเกล้าฯ ให้หล่อรูป สมเด็จพระสังฆราช ไก่เถื่อน ไปประดิษฐานไว้ ณ กุฏิวิปัสสนา หน้าพระอุโบสถวัดราชสิทธาราม และสาธุชนได้สักการ มาจนทุกวันนี้
|