ตั้งให้เราเป็นเว็บแรกที่คุณเลือก เก็บเราไว้เป็นเว็บโปรด
สมัครสมาชิก ได้มากกว่าที่คุณคิด เข้าสู่ระบบ
สั่งพิมพ์ ก่อนหน้า ถัดไป

“พระชัยพุทธมหานาถ” พระพุทธปฏิมากรนาคปรก ...พลานุภาพแห่งจักรวรรดิบายน

[คัดลอกลิงก์]
11#
 เจ้าของ| โพสต์ 2013-7-8 21:05 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้

  รูปแบบของพระพุทธรูปทรงเครื่องในยุคนครวัด (Angkor Wat Stayle) แทนความหมายถึง “ชินพุทธะ – มหาไวโรจนะ” พระพุทธเจ้าสูงสุดผู้เป็นราชาแห่งเหล่าตถาคตหรือเหล่าพระพุทธเจ้าทั้งมวล หรืออาจเรียกอีกพระนามหนึ่งว่า “พระวัชรสัตว์พุทธะ” ครับ

.

.

พระพุทธรูปนาคปรกทรงเครื่อง ศิลปะแบบนครวัด อายุราวพุทธศตวรรษที่ 17

จัดแสดงอยู่ในพิพิธภัณฑ์ศิลปะเอเชีย (Asian Art Museum)

.

.

พระพุทธรูปนาคปรกทรงเครื่อง ศิลปะแบบนครวัด อายุราวพุทธศตวรรษที่ 17
พบที่วัดพระราม จัดแสดงอยู่ในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติจันทรเกษม
.
         รูปลักษณ์ทางศิลปะในยุคบาปวนจนถึงนครวัด ก็ยังได้ถูกส่งต่อมายังพระพุทธรูปนาคปรกในยุคจักรวรรดิบายน ที่มีการสร้างรูปประติมากรรมของพระนาคปรกขึ้นอย่างมากมายจนดูเหมือนว่าจะเป็น "แบบแผนพุทธลักษณะ"หลักของการสร้างรูปประติมากรรมทั้งหมดครับ
.
        ลักษณะของพระปฏิมานาคปรกในรูปแบบของศิลปะบายน กลับไม่ค่อยจะนิยมสร้างพระพุทธรูปทรงเครื่องมากนัก จะมีให้เห็นบ้างก็ประปราย รูปพระนาคปรกในยุคบายนนี้ยังคงนิยมที่จะสลักกุณฑล (ตุ้มหู) ที่ปลายพระกรรณเช่นเดียวกับในยุคก่อนหน้า รูปประติมากรรมพระนาคปรกแบบบายนจะแยกออกได้ 2 แบบใหญ่ นับจากส่วนของพระเศียรเป็นหลัก คือแบบที่มีอุษณีษะ หรือพระเกตุมาลาเป็นมวยพระเกศารูปรัดเกล้ายอดแหลม ประดับด้วยกลีบบัว คล้ายเอาดอกบัวบานมาวางซ้อนกันขึ้นไปหลายชั้น  มีขมวดพระเกศาทั้งแบบม้วนก้นหอยหรือแบบเกล็ดซ้อนไล่ไปตามแนว บางรูปสลักที่มีอุษณีษะลักษณะนี้ก็อาจสวมศิราภรณ์มีกะบังหน้าแต่ก็จะไม่กว้างมากนัก
.
.
พระพุทธปฏิมากรนาคปรกแบบมีอุษณีษะ(อุณหิส – พระเกตุมาลา)กลีบบัว
ศิลปะแบบบายน จัดแสดงอยู่ในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติกัมพูชา
.
.
พระพุทธปฏิมากรนาคปรกแบบมีอุษณีษะ ตามแบบ”พระชัยพุทธมหานาถ” จากปราสาทบายน
มีลักษณะถูกทุบทำลาย
ปัจจุบันจัดแสดงอยู่ในพิพิธภัณฑ์กีเมต์ ประเทศฝรั่งเศส

12#
 เจ้าของ| โพสต์ 2013-7-8 21:06 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้

.

พระพุทธปฏิมากรนาคปรกแบบมีอุษณีษะกลีบบัว

ตามแบบ”พระชัยพุทธมหานาถ” ศิลปะแบบบายน

เป็นรูปสลักที่ถูกทุบทำลายรูปหนึ่งที่ขุดพบจากปราสาทบันทายกุฎี

ปัจจุบันจัดแสดงอยู่ในพิพิธภัณฑ์เจ้านโรดมสีหนุ เมืองเสียมเรียบ

.

         ประติมากรรมรูปพระนาคปรกแบบที่สอง ขมวดพระเกศาจะเป็นก้นหอยเรียงตัวเป็นตาราง ที่พระเศียรจะไม่มีมวยพระเกศาหรืออุษณีษะ จะเป็นเพียงแต่ยอดแหลมเล็ก ๆ ยื่นขึ้นมาจากยอดกระหม่อมคล้ายกับปลายของ “ขนมโมทกะ”  (Modak) ของโปรดขององค์พระคเณศ            

.

.

พระพุทธปฏิมากรนาคปรกศิลปะบายนในรูปแบบของ “พระสุคต”

ที่มีส่วนปลายกระหม่อม (พระเกตุมาลา) ทำเป็นยอดแหลมคล้ายขนมโมทกะ

อาจเป็นรูปประติมากรรมที่ทรงโปรดให้ส่งมาประดิษฐานที่มหาปราสาทนครวัดตั้งแต่แรก

.

.

พระพุทธปฏิมากรนาคปรกศิลปะบายนในรูปแบบของ “พระสุคต”

ที่มีส่วนปลายกระหม่อม (พระเกตุมาลา) ทำเป็นยอดแหลมคล้ายขนมโมทกะ

จัดแสดงอยู่ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติกัมพูชา

.

.

พระพุทธรูปนาคปรกที่กลางอาคารโคปุระด้านหน้าของมหาปราสาทบายน มีการนำพระเศียรของ“พระสุคต” แบบโมทกะหล่อใหม่ เข้ามาซ่อมแซมรูปประติมากรรมเดิมที่ “ถูกทุบทำลาย”

13#
 เจ้าของ| โพสต์ 2013-7-8 21:06 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้

ลักษณะพระพักตร์ของรูปประติมากรรมพระนาคปรกในยุคบายนนี้ มีเค้าหน้าของพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 ที่มีสีพระพักตร์ดูอ่อนโยน มีรอยยิ้มมุมปากแสดงความเมตตากรุณา หรือที่เรียกกันติดปากว่า “ยิ้มบายน” (Bayon Smile)เป็นแบบแผนสำคัญ คล้ายคลึงกันไปทั่วทั้งจักรวรรดิบายน แต่ถึงแม้ว่ารูปสลักที่สร้างขึ้นในดินแดนที่ห่างไกลจากเมืองพระนครธม หรือรูปสลักพระพุทธรูปในยุคหลัง จะมีความแตกต่างของเค้าโครงพระพักตร์ไปอยู่บ้าง หรือแตกต่างมาก แต่ทั้งหมดก็ยังล้วนแสดงให้เห็นร่องรอยของการสืบทอดรูปของพระพักตร์ที่นิ่งสงบ ดูเคร่งขรึม มีรอยยิ้มเล็ก ๆ ที่ตรงมุมปาก ส่งต่อจากจักรวรรดิบายนมาสู่แว่นแคว้นโบราณในภาคกลางของประเทศไทยอย่างชัดเจนครับ

.

.

ภาพถ่ายเก่าในช่วงรัชกาลที่ 5

แสดงภาพพระพุทธรูปนาคปรกศิลปะบายนในกลุ่มลวะปุระจำนวน 4 – 5 องค์

ภายในวิหารหน้าปราสาทปรางค์สามยอด

.

.

พระพุทธปฏิมากรนาคปรกแบบมีอุษณีษะตามแบบ ”พระชัยพุทธมหานาถ” ศิลปะแบบบายน

พบที่อำเภอศรีณรงค์ ปัจจุบันจัดแสดงอยู่ในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติสุรินทร์

.

.

พระพุทธปฏิมากรนาคปรกแบบมีอุษณีษะ รูปแบบเดียวกันกับ “พระชัยพุทธมหานาถ”

ศิลปะแบบบายน – กลุ่มลวะปุระ สภาพสมบูรณ์

ปัจจุบันจัดแสดงอยู่ในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติสมเด็จพระนารายณ์

.

.

พระพุทธปฏิมากรนาคปรกแบบมีอุษณีษะ รูปแบบเดียวกันกับ “พระชัยพุทธมหานาถ”

ศิลปะแบบบายน – กลุ่มลวะปุระ สภาพสมบูรณ์

ปัจจุบันจัดแสดงอยู่ในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติสมเด็จพระนารายณ์


14#
 เจ้าของ| โพสต์ 2013-7-8 21:08 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้

.

“พระสุคต” ที่มีส่วนปลายกระหม่อม (พระเกตุมาลา) ทำเป็นยอดแหลมคล้ายขนมโมทกะ
ปัจจุบันจัดแสดงอยู่ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพระนคร

.

        ในช่วงสมัยอันรุ่งเรืองของจักรวรรดิบายนที่ยิ่งใหญ่ มีการสร้างพระพุทธปฏิมา(นาคปรก) ขึ้นจำนวนมาก ดังหลักฐานที่ปรากฏในข้อความของจารึกปราสาทพระขรรค์ (Preah Khan Inscription) ที่กล่าวถึงการสร้างประติมากรรมรูปเคารพเพื่อนำไปถวายประดิษฐานทั้งในปราสาทพระขรรค์ ราชวิหารประจำหัวเมืองต่าง ๆ  ของจักรวรรดิ โดยได้ทรงสร้างรูปพระโพธิสัตว์โลเกศวร ถวายพระนามว่า “ศรีชยวรเมศวร” (ซึ่งก็อาจจะเป็นรูปสลักของพระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวรเปล่งรัศมีที่พบในปราสาทพระขรรค์ ที่มีเค้าใบพระพักตร์คล้ายคลึงกับพระราชบิดาของพระเจ้าชัยวรมันที่ 7) อีกทั้งรูปของ “ชยมังคลารถจูฑามณี” (ซึ่งอาจเป็นรูปของพระนางปรัชญาปารมิตา ที่ปัจจุบันตั้งแสดงอยู่ที่พิพิธภัณฑ์กีเมนต์ ประเทศฝรั่งเศส) รูปของ “พระสุคต ศรีวีรศักดิ์"รูปของ “พระสุคต ศรีราชปตีศวร” และรูปของ “พระปราศยมุนีนทร” หรือพระพุทธเจ้าแห่งบูรพาทิศ (ซึ่งทั้งหมดควรเป็นรูปของพระปฏิมานาคปรกแบบไม่มีอุษณีษะอย่างที่พบที่เมืองพิมาย)

.

.

จารึกปราสาทพระขรรค์ (The Preah Khan Inscription)
ความสูง 1.35 เมตร กว้าง 58 เซนติเมตร ทั้ง 4 ด้านปรากฏภาษาสันสกฤต 72 บรรทัด
แต่งเป็นมาตราฉันท์ (ฉันทลักษณ์) 7 แบบ รวมทั้งหมด 179 บท

.

         ในจารึกยังกล่าวถึงการถวายรูปประติมากรรมประจำอโรคยศาลา 3 องค์ (คือรูปบุคลาธิษฐานของพระไภษัชยไวฑูรยประภาสุคต พระ(โพธิสัตว์)ศรีสูรยไวโรจนจันทโรจิ และพระ(โพธิสัตว์)ศรีจันทรไวโรจนโรหินีศะ) พระรัตนตรัยในดินแดนสามแห่ง คือ ศรีชยันตปุระ วินธยปรรวต และมรคัลปุระ และทรงถวายรูป ”พระชัยพุทธมหานาถ” (พระผู้เป็นใหญ่ ชนะเหนือทุกสรรพสิ่ง - โลภะ โทสะ โมหะ) จำนวน 23 องค์เพื่อการสักการบูชาซึ่งน่าจะเป็นรูปของพระปฏิมานาคปรกตามแบบศิลปะของพระนาคปรกประธานแห่งปราสาทบายน ให้ไปประดิษฐานไว้ในราชวิหารของเมือง รวมทั้งยังทรงให้ส่งพระ “สุคต วิมายะ” ไปยังเมืองพิมาย อีกด้วย

.

         “พระชัยพุทธมหานาถ” (Jaya Buddha mahanart) ที่กล่าวถึงในจารึก จะมีรูปลักษณะหน้าตาอย่างไร ก็ยังไม่มีข้อสรุปที่ชัดเจนนัก ที่พอจะเข้าใจกันในปัจจุบันก็คือ ได้เคยมีการค้นพบรูปของพระนาคปรกในยุคจักรวรรดิบายนทั้งสองแบบ (แบบอุษณีษะและแบบโมทกะ) ตามหัวเมืองที่ปรากฏชื่อเมืองในจารึกปราสาทพระขรรค์ เทียบเคียงกับร่องรอยเมืองโบราณในยุคเดียวกัน ทั้งชื่อของ “ชยวัชรปุระ” ที่อาจมีศูนย์กลางอยู่ที่ปราสาทกำแพงแลง จังหวัดเพชรบุรี “ชยราชปุรี” มีราชวิหารเป็นศูนย์กลางอยู่ที่วัดมหาธาตุราชบุรี “ชยสิงหปุระ” หรือปราสาทเมืองสิงห์ จังหวัดกาญจนบุรี “สุวรรณปุระ” ที่เมืองโบราณเนินทางพระ จังหวัดสุพรรณบุรี “ลโวทยปุระ” หรือเมืองโบราณลพบุรีและ”ศัมพูกปัฏฏนะ” เมืองโบราณข้างสระโกสินารายณ์ ในจังหวัดราชบุรี

.

.

พระนาคปรกแบบมีอุษณีษะ ในรูปแบบของ “พระชัยพุทธมหานาถ” พบที่ปราสาทกำแพงแลง ศิลปะแบบบายน อาจเป็นฝีมือเลียนแบบช่างหลวง

.

.

พระนาคปรกแบบมีอุษณีษะ ลักษณะเดียวกับ “พระชัยพุทธมหานาถ” สภาพซ่อมแซมขึ้นมาใหม่ ศิลปะแบบบายน ฝีมือช่างหลวง ที่ยังคงเค้าพระพักตร์ของพระเจ้าชัยวรมันที่ 7
ปัจจุบันประดิษฐานอยู่ภายในคูหาของปรางค์ประธาน วันมหาธาตุราชบุรี

15#
 เจ้าของ| โพสต์ 2013-7-8 21:09 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้

.

พระนาคปรกแบบมีอุษณีษะ ในรูปแบบของ “พระชัยพุทธมหานาถ” พบที่ปราสาทเมืองสิงห์
ศิลปะแบบบายน อาจเป็นฝีมือเลียนแบบช่างหลวง

.

         และเมื่อดูจากหลักฐานรูปพระนาคที่พบในทั้ง 6 เมืองโบราณในกลุ่มลุ่มน้ำเจ้าพระยา – ลพบุรี แทบทั้งหมดจะเป็นพระนาคปรกในรูปแบบที่มีอุษณีษะรัดเกล้ากลีบบัวยอดแหลมแทบทั้งสิ้น ส่วนพระพุทธรูปแบบที่มียอดมวยพระเกศาแหลมแบบขนมโมทกะ พบเป็นจำนวนน้อยมาก เฉพาะในเขตเมืองพิมายออกไปทางอีสานใต้ (หรือไปพบที่ทรายฟอง ในเขตเวียงจันทน์) เท่านั้น   

.

.

“พระชัยพุทธมหานาถ” ศิลปะแบบบายน – กลุ่มสุวรรณปุระ (เนินทางพระ – สุพรรณบุรี)
ปัจจุบันจัดแสดงอยู่ในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติสุพรรณบุรี

.

.

พระพุทธปฏิมากรนาคปรกแบบมีอุษณีษะ สวมศิราภรณ์เป็นกะบังหน้า

รูปแบบเดียวกันกับ “พระชัยพุทธมหานาถ” ศิลปะแบบบายน – กลุ่มลวะปุระ

สภาพสมบูรณ์ ปัจจุบันจัดแสดงอยู่ในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติสมเด็จพระนารายณ์

.

.

เศียรรูปเคารพที่มีการกระดับศิราภรณ์เป็นกะบังหน้า มีเค้าใบหน้าของพระเจ้าชัยวรมันที่ 7
พบที่ปราสาทจอมปราสาท สระโกสินารายณ์ จังหวัดราชบุรี

.

.

พระพุทธปฏิมากรนาคปรกแบบมีอุษณีษะ
รูปแบบเดียวกันกับ “พระชัยพุทธมหานาถ” ศิลปะแบบบายน
ปัจจุบันจัดแสดงอยู่ในพิพิธภัณฑ์วัดพระปฐมเจดีย์ จังหวัดนครปฐม
อาจเคลื่อนย้ายมาจากเมืองโบราณใกล้เคียงหรือาจพบในตัวเมืองโบราณนครปฐมเอง

16#
 เจ้าของ| โพสต์ 2013-7-8 21:09 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้

และเมื่อคิดถึงคติความเชื่อ รูปลักษณะทางศิลปะและ “ความหมาย”  (Meaning) ที่เป็นเหตุผลกำกับการส่งรูปพระชัยพุทธมหานาถให้ไปเป็นพระประธานหลักในราชวิหารของเมืองต่าง ๆ กลุ่มชายขอบของจักรวรรดิบายน เชื่อมต่อกับการประดิษฐานรูปประติมากรรมพระนาคปรกขนาดใหญ่คู่จักรวรรดิที่ปราสาทบายน รวมทั้งรูปพระนาคปรกจำนวนมากที่ปราสาทบันทายกุฎี และปราสาทตาพรหม ก็น่าจะหลักฐานสำคัญที่แสดงให้เห็นว่า รูปลักษณะทางศิลปะของพระพุทธรูปนาคปรกทั้ง 23 องค์ ควรจะมีลักษณะเช่นเดียวกันกับรูปศิลปะของพระประธานใหญ่แห่งจักรวรรดิ นั่นคือเป็นพระพุทธรูปปางนาคปรกขนาดใหญ่ที่มีอุษณีษะ (พระเกตุมาลา) ยอดแหลม ในแบบของฝีมือช่างหลวง ที่ถูกแกะสลักขึ้นที่เมืองพระนครธมแล้วค่อยส่งออกไปตามหัวเมืองดังชื่อที่ปรากฏในจารึก ซึ่งก็คงไม่ได้มีเพียงพระพุทธรูปนาคปรกขนาดใหญ่เพียงอย่างเดียวเท่านั้น คงมีพระพุทธรูปนาคปรกขนาดเล็กใหญ่ฝีมือช่างหลวงอีกหลายแบบที่ถูกจัดส่งออกไปพร้อม ๆ กันในช่วงเวลาหนึ่ง

.

.

พระพุทธรูปนาคปรกหินทรายในรูปแบบของ “พระชัยพุทธมหานาถ” ศิลปะแบบบายน
ฝีมือเลียนแบบโดยช่างในท้องถิ่น ปัจจุบันจัดแสดงอยู่ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติปราจีนบุรี

.

.

พระพุทธปฏิมากรนาคปรกแบบมีอุษณีษะขนาดเล็กในรูปแบบของ “พระชัยพุทธมหานาถ”

ศิลปะแบบบายน – ลวะปุระ แบบฝีมือช่างพื้นเมือง มีลายเส้นของจีวรและชายสังฆาฏิเพิ่มขึ้น

ปัจจุบันจัดแสดงอยู่ในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติสมเด็จพระนารายณ์

.

.

พระพุทธรูปนาคปรกหินทรายแดงขนาดเล็ก ฝีมือเลียนแบบโดยช่างในท้องถิ่น
พบที่เมืองดงละคร จังหวัดนครนายก
.
            แต่การจัดส่งนั้นจะถึงที่หมายปลายทางหรือไม่ หรือได้ไปประดิษฐานที่ในวิหารประจำ (สรุก)เมืองตามที่สลักจารไว้บนจารึกหรือเปล่า ตรงนี้ก็คงต้องอาศัย “จินตนาการ” มาช่วยคิดกันต่อเติมกันบ้างแล้วครับ
.

17#
 เจ้าของ| โพสต์ 2013-7-8 21:09 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้

เมื่อพระพุทธรูปนาคปรกในความหมาย “เสาหลักแห่งนครา” ในรูปแบบของพระพุทธเจ้าสูงสุดผู้ทรง “มหาพลานุภาพ” ที่ถูกเชื่อมโยงกันและกันไปจาก “ศูนย์กลาง”แห่งจักรวรรดิ ถูกแกะสลักด้วยฝีมืออันประณีต ส่งออกไปยังหัวเมืองชั้นนอกของจักรวรรดิ อันได้แก่บ้านเมืองในลุ่มน้ำเจ้าพระยา – ลพบุรี เรื่อยขึ้นไปจนถึงสุโขทัย ที่ล้วนถูกผนวกรวมเข้ามาภายใต้การปกครองเดียวกันของราชวงศ์มหิธระปุระ รูปประติมากรรมพระนาคปรกจำนวนมากอาจถูกสร้างขึ้นที่เมืองลวปุระ เลียนแบบรูปสลักฝีมือช่างหลวงที่ส่งมาถึงแต่มีจำนวนไม่เพียงพอ ให้กับบ้านเมืองสรุกย่อยในกลุ่มของแว่นแคว้น  เช่นเดียวกับกลุ่มบ้านเมืองสุวรรณปุระที่เนินทางพระก็อาจเป็นอีกกลุ่มที่ได้รับรูปพระนาคปรกฝีมือช่างหลวงมาอย่างล่าช้าและมีจำนวนน้อย จึงได้แกะสลักเลียนแบบฝีมือช่างหลวง (Master) ทั้งแบบองค์ใหญ่และองค์เล็กขึ้นอีกเพื่อส่งต่อไปยังชุมชนใหญ่น้อยในการปกครองอีกเป็นจำนวนมาก ซึ่งรูปสลักเลียนแบบนี้ก็อาจมีความเหมือนบ้างไม่เหมือนบ้าง แต่กระนั้นก็ยังคงรักษารายละเอียดรูปลักษณะแบบบายน ที่มีเค้าโครงพระพักตร์ของพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 ไว้ในคราวแรก ๆ  แต่เมื่อเวลาผ่านไปไม่นานนัก ช่างท้องถิ่นก็ได้เริ่มนำเอารายละเอียดของพระพุทธรูปในศิลปะแบบเถรวาท – มหายานของวัฒนธรรมทวารวดีเข้ามาผสมผสานมากขึ้น

.

.

พระพุทธปฏิมากรนาคปรกแบบมีอุษณีษะ ศิลปะแบบหลังบายน – กลุ่มลวะปุระ (พุทธศตวรรษที่ 19) มีลายเส้นของจีวรและชายสังฆาฏิเพิ่มขึ้น
ปัจจุบันจัดแสดงอยู่ในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติสมเด็จพระนารายณ์
.

.
พระพุทธปฏิมากรนาคปรกแบบมีอุษณีษะทรงศิราภรณ์แบบพระทรงเครื่อง
ศิลปะแบบหลังบายน – กลุ่มลวะปุระ(พุทธศตวรรษที่ 19)
ปัจจุบันจัดแสดงอยู่ในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติสมเด็จพระนารายณ์
.
.
พระพุทธปฏิมากรนาคปรกแบบมีอุษณีษะ ศิลปะแบบยุคหลังบายน – ลวะปุระ
(พุทธศตวรรษที่ 19) มีลายเส้นของจีวร และชายสังฆาฏิที่อย่างชัดเจนมากขึ้น
แต่ก็ยังคงเค้าพระพักตร์ของพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 เอาไว้อยู่มาก
ปัจจุบันจัดแสดงอยู่ในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติสมเด็จพระนารายณ์
.
          และเมื่อแก่กาลเสื่อมสลายของจักรวรรดิบายนที่มีอายุรวมแล้วยังไม่ถึง 70 ปี ขนาดรูปพระปฏิมานาคปรกแห่งจักรวรรดิในเขตชั้นในทั้งขนาดใหญ่และขนาดเล็กเกือบทั้งหมดก็ยังถูกทุบทำลาย รื้อถอนเคลื่อนย้ายแล้วยังนำไปฝังทิ้งอย่างถูกต้องตามกฎหมายราชโอการแล้ว รูปเคารพประธานแห่งนคราที่แสดงอำนาจของพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 ในความหมายของบ้านเมืองที่อยู่ภาย “ใต้”การปกครองเดียวกัน จะไปเหลืออะไร นอกจากจะประสบชะตากรรมเดี่ยวกันอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ นั่นคือถูกทุบทำลาย เคลื่อนย้ายออกจากศาสนสถานศูนย์กลางของบ้านเมืองแว่นแคว้น ไม่แตกต่างไปจากโศกนาฏกรรมที่เมืองพระนครธม
.
.
กลุ่มพระพุทธรูปนาคปรกในรูปแบบของ “พระชัยพุทธมหานาถ”
ศิลปะแบบบายน – กลุ่มสุวรรณปุระ
ซึ่งอาจเป็นรูปประติมากรรมเลียนแบบของแว่นแคว้นที่เนินทางพระ – ลุ่มน้ำท่าจีน – แม่กลอง ปัจจุบันอยู่ที่วัดบางขันแตก จังหวัดสมุทรสงคราม

18#
 เจ้าของ| โพสต์ 2013-7-8 21:10 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้

.

พระพุทธรูปนาคปรกหินทรายแดงในรูปแบบของ “พระชัยพุทธมหานาถ”

ศิลปะแบบบายน – สุวรรณปุระ

เป็นรูปประติมากรรมเลียนแบบช่างหลวงของกลุ่มแว่นแคว้นที่เนินทางพระ – ลุ่มน้ำท่าจีน – แม่กลอง

ปัจจุบันอยู่ที่วัดปู่บัว จังหวัดสุพรรณบุรี

.

.

“พระชัยพุทธมหานาถ” พบที่เนินทางพระ ศิลปะแบบบายน – กลุ่มสุวรรณปุระ
(เนินทางพระ – สุพรรณบุรี) ฝีมือช่างหลวง
ปัจจุบันประดิษฐานอยู่ที่วัดวิมลโภคาราม (วัดสามชุก) จังหวัดสุพรรณบุรี

.

         แต่การเคลื่อนย้ายและทุบทำลายในหัวเมืองตะวันตกที่แยกตัวปลดแอกออกจากจักรวรรดิที่เสื่อมสลาย ไม่ได้มีความรุนแรงแบบขุดรากถอนโคนเช่นที่พบตามปราสาทราชวิหารในเขตอำนาจของพระเจ้าชัยวรมันที่ 8  รูปประติมากรรมพระนาคปรกจำนวนมาก ถูกเคลื่อนย้ายจากศาสนสถานในยุคบายนนำมาใช้ประโยชน์ต่อโดยการดัดแปลงรูปลักษณ์ทางศิลปะตามแบบช่างหลวงของแว่นแคว้น หลายรูปถูกลงรักปิดทอง หลายรูปก็ถูกเพียรแกะสลักขึ้นมาใหม่ โดยยังคงร่องรอยของพระพักตร์แบบพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 ที่ดูเคร่งขรึม แสดงความมีเมตตากรุณา และ “รอยยิ้ม”แบบบายนที่มุมปากรวมทั้งยังคงรักษาพุทธลักษณะสำคัญสืบทอดต่อมาจาก “ต้นแบบ” ของพระปฏิมานาคปรกแบบบายนแต่ใส่รายละเอียดของพระพุทธรูปแบบเถรวาทพุกามอันเป็นคติความเชื่อที่มีอิทธิพลต่อแว่นแคว้นบ้านเมืองในภูมิภาคเพิ่มเติมเข้าไปอีก

.

.

.

.

เศียรพระพุทธรูปแบบบายนที่มีอุษณีษะ(พระเกตุมาลา)มวยผมรูปกลีบบัว
ลักษณะคล้ายเป็นการแกะสลักเลียนแบบฝีมือช่างหลวง
ปัจจุบันจัดแสดงอยู่ในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพระนคร

19#
 เจ้าของ| โพสต์ 2013-7-8 21:10 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้

  จึงน่าจะเป็นที่แน่ชัดในระดับหนึ่งว่า รูปของ “พระชัยพุทธมหานาถ”หรือ “พระผู้ชนะทุกสรรพสิ่ง” ที่ปรากฏในจารึกปราสาทพระขรรค์นั้น ก็คือรูปประติมากรรม “พระพุทธรูปนาคปรกในรูปแบบที่มีอุษณีษะเป็นรัดเกล้ารูปกลีบบัวเป็นชั้นซ้อน” ไม่มีเครื่องประดับแบบพระทรงเครื่องยกเว้นกุณฑลที่ปลายพระกรรณ มีพระพักตร์ที่เพียงจะคล้ายคลึงกับรูปหน้าของพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 มีพุทธศิลป์แบบเดียวหรือใกล้เคียงกันกับ “พระพุทธปฏิมากรนาคปรกขนาดใหญ่” องค์ประธานหลักแห่งมหาปราสาทบายน พระพุทธเจ้าสูงสุดผู้ทรงอำนาจ พลานุภาพคู่จักรวรรดิบายน

.

.

พระพุทธปฏิมากรนาคปรกที่วัดพรามหณ์ไปรลอเวงในปัจจุบัน
.


         ส่วนรูปประติมากรรมพระนาคปรก ในรูปแบบที่มีมวยพระเกศาเป็นแบบก้นหอยใหญ่ ยอดพระเศียรไม่มีอุษณีษะ เป็นเพียงยอดปลายแหลมคล้ายรูปขนมโมทกะ และมีเค้าโครงของใบพระพักตร์เหมือนกับพระพักตร์ของพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 แต่อยู่ในรูปของพระพุทธรูปปางนาคปรกนั้น ก็ควรจะเป็นรูปประติมากรรมของ “พระสุคต” ตามพระนามที่ปรากฏในจารึกปราสาทพระขรรค์ สอดรับกับพระนามของพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 ในเมื่อหลังสวรรคตว่า“มหาบรมสุคตบท” ที่มีความหมายถึง “พระผู้บรรลุ(สู่ธรรม)อย่างสูงสุด – อย่างถ่องแท้” อันอาจเป็นรูปลักษณ์ของพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 ในฐานะของ“พระมานุษิพุทธะ” หรือ “มนุษย์ผู้ผู้บรรลุสู่ธรรมเฉกเช่นเดียวกับพระศากยมุนี” หรืออาจแสดงว่าพระองค์นั่นเองนั่นแหละก็คือพระศากยมุนีในเวลานั้น
.
.
ใบพระพักตร์ของ “พระสุคต” ที่พิพิธภัณฑสถานพระนคร
ก็มีเค้าหน้าเดียวกับพระเจ้าชัยวรมันที่ 7
.
.
“พระสุคต” แห่งเมืองวิมายุปุระ
องค์เดียวกับชื่อที่ปรากฏในจารึกปราสาทพระขรรค์ ?
ปัจจุบันจัดแสดงอยู่ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพิมาย
.
.
พระนาคปรก ที่มีช่องว่างระหว่างพระวรกายและพระเพลาทั้งสองด้าน
(ตามปกติด้านซ้ายจะปิดทึบแทนความหมายของจีวรที่คลุมอยู่) สวมกางเกงขาสั้น
อาจเป็นรูป “พระสุคต” ตามชื่อที่ปรากฏในจารึกปราสาทพระขรรค์
ปัจจุบันจัดแสดงอยู่ในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพระนคร

20#
 เจ้าของ| โพสต์ 2013-7-8 21:10 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้

  ประติมากรรมรูปเคารพที่มีเค้าหน้าของพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 จึงมีหลายรูปแบบ ทั้งรูปเคารพทางคติความเชื่อและรูปเหมือนจริง รูปเคารพแบบงแรกคือรูป “พระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวร” ที่มีความหมายว่าพระองค์ก็เป็นดั่งพระโพธิสัตว์ “สมันตมุข” ผู้โปรดช่วยเหลือแก่มวลมนุษย์ทั้งปวง รูปประติมากรรม“พระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวรเปล่งรัศมี”  มีความหมายว่าพระองค์เป็นพระโพธิสัตว์ผู้ทรงพลานุภาพ เหนือทวยเทพในสกลจักรวาลและสรรพสัตว์ทั้งมวล

.

.

ประติมากรรมรูปพระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวรเปล่งรัศมี 8 กร

ที่อาคารโคปุระด้านหน้าของมหาปราสาทนครวัด ก็ถูกคัดแปลงให้กลายเป็นพระวิษณุ 8 กร

.

          รูปแบบที่สองที่มีเพียง “เค้าพระพักตร์” ของพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 ที่เพียง “คล้ายคลึง” คือรูปประติมากรรมของพระพุทธรูปปางนาคปรกขนาดน้อยใหญ่ ตามแบบที่มีอุษณีษะหรือพระเกตุมาลา ในความหมายว่า พระองค์คือส่วนหนึ่งในภาคของพระศากยมุนีผู้เป็นใหญ่และทรงพลานุภาพในทางธรรม

.

.

ใบหน้าของพระพุทธปฏิมากรนาคปรกแบบมีอุษณีษะ รูปแบบเดียวกับ "พระชัยพุทธมหานาถ"
ได้จากปราสาทบันทายกุฎี
ที่มีเค้าหน้าคล้ายคลึงใกล้เคียงกับเค้าพระพักตร์ของพระเจ้าชัยวรมันที่ 7

.

.

พระนาคปรกแบบมีอุษณีษะ ตามแบบ”พระชัยพุทธมหานาถ” ขนาดเล็ก ศิลปะแบบบายน

มีลายเส้นของจีวร สงบและชายสังฆาฏิ

.

.

.

ใบหน้าของพระพุทธปฏิมากรนาคปรก จากปราสาทบันทายกุฎี

ที่มีเค้าหน้าคล้ายคลึงใกล้เคียงกับเค้าพระพักตร์ของพระเจ้าชัยวรมันที่ 7

จะแตกต่าง เหมือนหรือไม่เหมือนก็คงอยู่ที่ฝีมือช่างสลักหิน


ขออภัย! คุณไม่ได้รับสิทธิ์ในการดำเนินการในส่วนนี้ กรุณาเลือกอย่างใดอย่างหนึ่ง ลงชื่อเข้าใช้ | ลงทะเบียน

รายละเอียดเครดิต

ตอบกระทู้ ขึ้นไปด้านบน ไปที่หน้ารายการกระทู้