"พระเสกรวงข้าว"
ลักษณะทางพุทธศิลป์
เป็นพระพุทธรูปประทับนั่งแบบวีราสนะ แสดงภูมิสปรรศมุทรา ด้วยพระหัตถ์ซ้ายวางหงายบนพระเพลา และพระหัตถ์ขวาคว่ำ บริเวณกึ่งกลางพระชงฆ์ขวา พระพุทธรูปมีพระพักตร์ค่อนข้างกลม พระโขนงโก่ง พระเนตรเหลือบต่ำ พระนาสิกโด่ง พระโอษฐ์เรียว และพระกรรณยาวจรดพระอังสา พระเศียรประกอบด้วยพระเกตุมาลา และมีรัศมีรูปแหลม โดยปราศจากขมวดพระเกศา หรือเม็ดพระศก องค์พระพุทธรูปครองอุตราสงค์ห่มเฉียงเรียบ ไม่มีริ้ว เปิดพระอังสาขวามีสังฆาฎิพาดบนพระอังสาซ้ายห้อยยาวลงมาจรดพระนาภี ปลายตัดเป็นเส้น องค์พระประทับนั่งเหนือปัทมสน์ประกอบด้วยกลีบบัวซ้อนกันเหนือฐานแข้งสิงห์ โดยมีผ้าทิพย์ห้อยทางเบื้องหน้า องค์พระพุทธรูปมีฉัตรทองคำ ลายฉลุ 3 ชั้น ลงยาราชาวดีกางกั้นอยู่เบื้องบน
องค์พระแกะสลักจากศิลาสีแดง สูงเฉพาะองค์พระ 8.70 ซม. สูงจากฐานถึงยอดฉัตร 27.50 ซม. ฉัตรและฐานเป็นทองคำลงยาราชาวดี ประดับพลอย เป็นพระพุทธรูปสำคัญ ที่อัญเชิญไปตั้งในการพระราชพิธีแรกนา ปัจจุบันประดิษฐานภายในหอพระสุราลัยพิมาน ในหมู่พระมหามณเฑียร
ประวัติ
พระเสกรวงข้าว สร้างในสมัยรัชกาลพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว คู่กับพระทรมานมิจฉาทิฐิ ซึ่งรูปแบบของศิลปะสะท้อนให้เห็นค่านิยมร่วมสมัยจากจีน ซึ่งนิยมสร้างประติมากรรมขนาดเล็ก ด้วยอัญมณี เช่น ทิวทัศน์เกาะเพ็งไหล ซึ่งเป็นดินแดนอมตะของเหล่าเซียน ตามความตอนหนึ่งที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว มีพระราชอรรถาธิบายถึงงานประติมากรรมทั้งสองชิ้นนี้ว่า
พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงสร้างพระทรมานมิจฉาทิฐิ เป็นพระพุทธรูปประทับนั่งอยู่ในครอบแก้ว มีทะเลอยู่ตรงหน้า มีรูปเรือกำปั้นมาแตกจมอยู่ตรงนั้น ก็เกิดขึ้นจริงด้วยเรือของเซอร์เจมส์ บรุก เข้ามาติดสันดอน พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว มีพระราชประสงค์ จะทรงบำเพ็ญพระราชกุศล เหมือนอย่างเป็นการสมโภชพระพุทธศาสนา ที่พวกมิจฉาทิฐิไม่มาย่ำยีได้ จึงทรงสร้างขึ้น ยังมีที่เป็นคู่กันคือ พระปางทรมานข้าว โดยพระพุทธรูปประทับนั่งอยู่บนฐานในครอบแก้ว ตรงหน้าออกมาเป็นท้องนา มีข้าวกำลังออกรวง ตามครอบแก้วเขียนเป็นรูปห้าง คนขับนก และฝูงนกที่บิน พระพุทธรูปปางครอบแก้วนี้ เรียกว่า พระปางทรมานข้าว ใช้ตั้งในการพระราชพิธีแรกนา เรียกอีกชื่อหนึ่งว่า พระเสกรวงข้าว
เครดิต เรื่อง ภาพ จาก facebook
ร้อยเรื่องราว ไปกับ เจ้าประคุณปราบสุราพินาศ