สื่อนอกชี้รบ.ไทย เดินตามรอยจีน ใช้"ซิงเกิล เกตเวย์"คุมเข้ม- อนาคตความเร็วเน็ต"ช้าอืด"
สื่อ"แบงค็อก โคโคนัท"รายงานว่า การนำมาตรการ"ซิงเกิล เกตเวย์"หรือการควบคุมเส้นทางจราจรทางอินเตอร์เน็ต รวมเป็นเส้นทางเดียว ของรัฐบาลไทย อาจมีลักษณะเหมือนกับจีน ที่ใช้มาตรการดังกล่าวเพื่อควบคุม และตรวจสอบประชาชน ในลักษณะการตั้งกำแพงสกัดกั้นข้อมูลข่าวสารแห่งโลกออนไลน์ หรือ "Firewall" ขึ้น
รายงานระบุว่า รัฐบาลไทยชุดปัจจุบันได้มีความพยายามคร้้งใหม่ที่จะควบคุมสื่ออินเตอร์เน็ต ภายหลังครม.ได้มีคำสั่งอย่างเป็นทางการให้กระทรวงเทคโนโลยีและสารสนเทศของไทย จัดตั้งเส้นทางจราจร "ซิงเกิล เกตเวย์" โดยอ้างว่าเป็นเครื่องมือเพื่อใช้สำหรับการควบคุม "เว็บไซต์ที่ไม่เหมาะสม" และเข้าควบคุมข่าวสารที่ไม่เหมาะสมจากต่างชาติเข้ามาในประเทศ
โดยหน่วยงานต่างๆจะต้องเคารพกฎหมายนี้หากมีการบังคับใช้ขึ้นหน่วยงานต่างๆจะต้องดำเนินการให้ความร่วมมือกับทางการไทยเร่งสร้างทางจราจรสายเดียว หรือซิงเกิล เกตเวย์ นี้อย่างเร่งด่วน โดยรองประธานคณะกรรมการกสทช. พ.อ.ดร.เศรษฐพงค์ มะลิสุวรรณ ได้เผยกับบีบีซีว่า ความเคลื่อนไหวนี้เพื่อใช้เป็นการง่ายสำหรับทางการไทยที่"จัดการ"กับอาชญากรรมทางอินเตอร์เน็ต เหมือนเช่นประเทศอย่างสิงคโปร์ สหรัฐฯ และอังกฤษ ที่ต่างก็มีมาตรการเช่นเดียวกัน
รายงานระบุว่า มาตรการนี้น่าจะส่งผลกระทบอย่างมากต่อสังคมไทย โดยก่อนหน้านี้ เมื่อปี 2014 เกิดสถานการณ์เฟซบุ๊กล่มในเมืองไทยเป็นเวลา 30 นาที โดยบริษัทเทเลนอร์ ผู้ให้บริการคลื่นสื่อสาร"ดีแทค"ได้เผยในเวลาต่อมาว่า คสช.ได้ขอให้บริษัทปิดกั้นการให้บริการ ที่กระทบต่อผู้ใช้คลื่นของดีแทคราว 10 ล้านคน ขณะที่"ซิงเกิล เกตเวย์"จะเป็นสิ่งที่ปิดกั้นเว็บไซต์ต่าง ๆ ได้ง่ายขึ้นมาก และทำให้รัฐบาลมีอำนาจอย่างเบ็ดเสร็จที่จะปิดกั้นเว็บไซต์ใดก็ได้
ขณะที่ "Blognon" ซึ่งเป็นเว็บไซต์ข่าวด้านการสื่อสารไอทีใหญ่ที่สุดของไทยบอกว่า การที่เฟซบุ๊กล่มเมื่อปีที่แล้วมาจากความร่วมมือจากหลายฝ่าย แต่มาตรการนี้จะทำให้รัฐบาลควบคุมโลกแห่งการสื่อสารทางออนไลน์ได้ง่ายยิ่งขึ้น เพราะเส้นทางการจราจรในโลกอินเตอร์เน็ตถูกจำกัดให้เป็นเพียงแค่ทางสายเดียว
อย่างไรก็ตาม มาตรการนี้จะไม่ทำให้รัฐบาลสามารถเข้าล้วงดูข้อมูลส่วนตัวของประชาชน จาก"เฟซบุ๊ก"หรือ"ไลน์"ได้ เพราะการจราจรของเครือข่ายออนไลน์ดังกล่าวนี้ถูกออกแบบมาแล้วเพื่อป้องกันการดักฟังโดยมาตรการนี้อาจใช้ได้กับเครือข่ายออนไลน์อื่นๆแต่ไม่ใช่สำหรับเฟซบุ๊กหรือกูเกิลที่มีมาตรการรองรับมาตรการเหล่านี้อยู่แล้ว
ขณะที่ผู้เชี่ยวชาญรายอื่นชี้ว่า แม้ซิงเกิล เกตเวย์ จะทำให้รัฐบาล สามารถติดตามข้อมูลผ่านเส้นทางจราจรทางเดี่ยวได้ง่าย ๆ แต่เฟซบุ๊ก และไลน์ ซี่งมีการใช้รหัสส่วนตัว จะไม่ได้รับผลกระทบ โดยระบุว่า ในกรณีนี้ ถ้ารัฐบาลไทยต้องการจะรู้ข้อมูลส่วนตัวของบุคคลใดบุคคลหนึ่งจากเฟซบุ๊กหรือไลน์ พวกเขาก็จะขอข้อมูลหลักจากเครือข่ายชุมชนออนไลน์เหล่านี้ ให้ส่งข้อมูลผ่านซิงเกิล เกตเวย์ แต่นั่นหมายถึงว่า เฟซบุ๊กหรือไลน์จะต้องให้ความร่วมมือด้วย
รายงานระบุว่า เมื่อปีที่แล้ว รัฐบาลได้พยายามเข้าถึงกลุ่มแชทไลน์ของสาธารณชน เพื่อตรวจสอบข้อความที่"ผิดกฎหมาย"และอ้างว่า รัฐบาลสามารถตรวจสอบการสนทนาของกลุ่มแชทไลน์ได้ หากสมาชิกกลุ่มเรียกร้องมา แต่ไลน์ได้ออกมาปฏิเสธเรื่องนี้ บอกว่า ที่ผ่านมา ไลน์ไม่เคยไปตรวจสอบข้อมูลของสมาชิกใด ๆ
ด้านเจ้าหน้าที่ระดับสูงของการสื่อสารและการโทรคมนาคมแห่งประเทศ ผู้ให้บริการเทคโนโลยีรายใหญ่ของรัฐ บอกว่า จะดำเนินมาตรการ "ซิงเกิล เกตเวย์" เมื่อตนพร้อม ขณะที่ข้อมูลระบุว่า ไทยติดอันดับ 32 ของประเทศ 55 ประเทศที่พยายามปรับปรุงความเร็วด้านอินเตอร์เน็ต สิ่งนี้ถือว่าสวนทางกับความตั้งใจของกระทรวงไอซีทีที่ต้องการจะเปลี่ยนเมืองไทยให้เป็นฮับอินเตอร์เน็ตแห่งภูมิภาคเอเชีย
โดยผู้เชี่ยวชาญระบุว่าถ้ามีการนำ"ซิงเกิลเกตเวย์"มาใช้ในอนาคตจะทำให้การสื่อสารทางอินเตอร์เน็ตช้าลงแต่มันจะไม่เกิดขึ้นหากผู้ให้บริการอินเตอร์เน็ตมีการยกระดับปรับปรุงระบบให้ดีขี้นแต่เราจะเชื่อหรือว่า กสทช.และ กสท. จะทำให้มันเร็วขึ้น โดยหากมีการปิดกั้นข้อมูลทางอินเตอร์เน็ต หรือ "ไฟร์วอลล์" เพื่อคอย "คัดกรอง" ข้อมูลว่า สามารถปล่อยให้ข่าวสารหรือข้อมูลนั้น ๆ ผ่านหรือไม่ผ่านไปได้หรือไม่ อินเตอร์เน็ตก็จะช้าลงโดยอัตโนมัติ เพราะอุปกรณ์สื่อสารที่ใช้อยู่ในเมืองไทยทุกวันนี้ ไม่ได้มีศักยภาพที่จะเร่งความเร็วของอินเตอร์เน็ตได้อยู่แล้ว
http://www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1443419052
|