ไทยไม่พ้น’เทียร์3’จัดอันดับค้ามนุษย์-จับตาสหรัฐฯตัดความช่วยเหลือใน90วัน
เมื่อวันที่27 ก.ค. 58 เวลาประมาณ20.00น.ตามเวลาในไทย กระทรวงต่างประเทศสหรัฐอเมริกาได้เผยแพร่รายงานสถานการณ์การค้ามนุษย์ หรือทิปรีพอร์ต ประจำปี 2015 โดยเป็นการประเมินความพยายามของรัฐบาลต่างๆ รวม 188 ประเทศและเขตแดน ซึ่งรวมถึงไทย ในการจัดการกับปัญหาการค้ามนุษย์ ผลปรากฏว่าไทยยังคงถูกจัดอยู่ในระดับเทียร์ 3 เช่นเดิม ถือเป็นระดับที่ต่ำที่สุดในระบบ "เทียร์ ซิสเต็ม" ของสหรัฐ หมายถึงประเทศที่ยังดำเนินการไม่สอดคล้องกับมาตรฐานขั้นต่ำตามกฎหมายปกป้องเหยื่อการค้ามนุษย์ (ทีวีพีเอ) ของสหรัฐ
ทั้งนี้ ในรายงานระบุว่า ไทยยังคงเป็นแหล่งที่มา จุดหมายปลายทาง และจุดส่งผ่านการค้ามนุษย์ทั้งที่เป็นผู้ชาย ผู้หญิงและเด็กที่ตกเป็นเหยื่อของการบังคับใช้แรงงานหรือการค้ามนุษย์ทางเพศ อย่างไรก็ดี เป็นที่น่าสังเกตว่ามาเลเซียที่ปีที่แล้วถูกสหรัฐปรับลดอันดับลงมาอยู่เทียร์ 3 เช่นเดียวกับประเทศไทยและมีปัญหาการค้ามนุษย์ที่ความเกี่ยวเนื่องเชื่อมโยงกับไทย แต่ในปีนี้ได้รับการปรับอันดับขึ้นไปอยู่เทียร์ 2 วอตช์ลิสต์หรือที่ต้องจับตา
ชี้ไทยไม่ปฏิบัติมาตรฐานขั้นต่ำ
รายงานระบุอีกว่า รัฐบาลไทยยังไม่ได้ปฏิบัติตามมาตรฐานขั้นต่ำของการแก้ปัญหาการค้ามนุษย์อย่างเต็มที่ และยังไม่ได้พยายามอย่างมีนัยสำคัญในการที่จะแก้ปัญหานี้ ทางการไทยสอบสวนและดำเนินคดีกับเจ้าหน้าที่รัฐเพียงบางรายที่ทุจริตซึ่งเกี่ยวเนื่องกับการค้ามนุษย์ แต่การทุจริตติดสินบนเจ้าหน้าที่รัฐยังคงมีอยู่ต่อไป ซึ่งเป็นอุปสรรคขัดขวางต่อการแก้ปัญหาการค้ามนุษย์ รัฐบาลไทยยังมีการสอบสวน ดำเนินคดีและพิสูจน์ว่ากระทำผิดลดลง แม้รัฐบาลจะเพิ่มความพยายามในการป้องกัน ซึ่งรวมถึงการตั้งคณะทำงานต่อต้านการค้ามนุษย์ และผ่านกฎระเบียบในการเพิ่มอายุการจ้างงานในภาคการเกษตรและเรือประมง และอีกหลายมาตรการก็ตาม เช่น การผ่านร่างแก้ไขกฎหมายการค้ามนุษย์ปี 2551 ที่เพิ่มบทลงโทษผู้ลักลอบค้ามนุษย์มากขึ้น และการผ่านกฎหมายด้านประมงที่ให้มีการจดทะเบียนเรือประมงและตรวจสอบเอกสารของแรงงานในอุตสาหกรรมประมง
ในรายงานยังให้ข้อชี้แนะแก่ไทยว่า ให้ดำเนินคดีและลงโทษเจ้าหน้าที่รัฐที่ร่วมกระทำผิดในการค้ามนุษย์ เพิ่มความพยายามในการระบุตัว ดำเนินคดีและเอาผิดกับพวกค้ามนุษย์ เพิ่มความรู้ความเข้าใจให้แก่ผู้ตรวจสอบแรงงานและเจ้าหน้าที่ผู้บังคับใช้กฎหมายเกี่ยวกับการบังคับใช้แรงงาน ตั้งอัยการที่มีความเชี่ยวชาญเป็นพิเศษในคดีค้ามนุษย์ ส่งเสริมการบังคับใช้กฎหมายและกฎระเบียบต่างๆ โดยการจัดการฝึกอบรมที่มีประสิทธิผลโดยเจ้าหน้าที่ในระดับชาติและท้องถิ่น
อย่างไรก็ดี เป็นที่น่าสังเกตว่ามาเลเซียที่ปีที่แล้วถูกสหรัฐปรับลดอันดับลงมาอยู่เทียร์ 3 เช่นเดียวกับประเทศไทยและมีปัญหาการค้ามนุษย์ที่ความเกี่ยวเนื่องเชื่อมโยงกับไทย แต่ในปีนี้ได้รับการปรับอันดับขึ้นไปอยู่เทียร์ 2 ที่ต้องจับตา โดยรายงานของสหรัฐฯ ระบุว่าแม้มาเลเซียไม่ได้ปฏิบัติตามมาตรฐานขั้นต่ำเช่นเดียวกับไทย แต่ได้เพิ่มความเข้มข้นของกฎหมายปราบปรามการค้ามนุษย์ขึ้นมากเป็นเท่าตัว
สำหรับประเทศที่ถูกจัดอยู่ในเทียร์ 3 เช่นเดียวกับไทย ได้แก่ แอลจีเรีย, เบลารุส, เบลิซ, บุรุนดี สาธารณรัฐแอฟริกากลาง, เอริเทรีย, ลิเบีย, เอควิทอเรียล กินี, โคโมรอส, แกมเบีย, กินีบิสเซา, อิหร่าน, เกาหลีเหนือ, คูเวต, มาร์แชล ไอส์แลนด์, มอริทาเนีย, รัสเซีย, ซูดานใต้, ซีเรีย, เยเมน, เวเนซุเอลา และซิมบับเว
ด้าน นายวัลลภ วิตนากร รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า การที่สหรัฐยังคงระดับเทียร์ 3 เชื่อว่าจะไม่มีผลกระทบอะไร เพราะที่ผ่านมาไทยอยู่เทียร์ 3 สหรัฐก็ไม่ได้เข้ามาแทรกแซงทางการค้าของไทยอยู่แล้ว อย่างไรก็ตาม สหรัฐฯคงจะเปิดโอกาสให้ไทยได้ชี้แจงเพิ่มเติม ทำให้รายงานอาจมีการเปลี่ยนแปลงได้
อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านี้ กระทรวงพาณิชย์ เคยระบุว่า หากไทยอยู่เทียร์3ต่อ จะไม่ส่งผลกระทบต่อการตัดความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม หรือด้านที่เกี่ยวกับการค้าโดยตรง แต่จะกระทบต่อการพิจารณาช่วยเหลือในด้านอื่นๆ เช่น ด้านการศึกษาและวัฒนธรรม ซึ่งการพิจารณาตัดความช่วยเหลือนั้น จะมีผลต่อเมื่อประธานาธิบดีสหรัฐฯใช้สิทธิระงับการช่วยเหลือภายหลังประกาศผล โดยจะใช้เวลาดำเนินการ 90วัน
http://www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1438040741
|