ตั้งให้เราเป็นเว็บแรกที่คุณเลือก เก็บเราไว้เป็นเว็บโปรด
สมัครสมาชิก ได้มากกว่าที่คุณคิด เข้าสู่ระบบ
ดู: 6521
ตอบกลับ: 10
สั่งพิมพ์ ก่อนหน้า ถัดไป

“วิษณุอนันตศายิน - นารายณ์บรรทมสินธุ์” จากทั่วถิ่นเมืองไทย ...อยู่ที่ไหนบ้าง ?

[คัดลอกลิงก์]
ภาพศิลปะในคติความเชื่อของ “วัฒนธรรมเขมร – ขอม” ที่แสดงออกถึงเรื่องราวของ “พระนารายณ์บรรทมสินธุ์” (Vishnu reclining on the serpent Shesha (Ananta)in Cosmic Ocean) หรือที่เรียกให้ยากขึ้นอีกสักนิดก็คือ “วิษณุอนันตศายินปัทมนาภะ (นาภา)” (พระนารายณ์ประทับอยู่บนขนดพญาอนันตนาคราช (Ananta Shesha) มีดอกบัวผุดออกมาจากพระนาภี (สะดือ)) ที่คนไทยรู้จักกันดี ก็น่าจะเป็นภาพสลักบน “ทับหลัง” (Lintel - Linteau) (ชิ้นส่วนก้อนหินทราย ที่เป็นส่วนประกอบของปราสาทหินในวัฒนธรรมแบบเขมร วางทับอยู่ด้านบนกรอบประตูหิน เพื่อกดน้ำหนักและเป็นตัวรองรับโครงสร้างของชิ้นส่วนปราสาทหินด้านบน) ของ "ปราสาทหินเขาพนมรุ้ง (Phnom Rung Pr.)" ที่ตั้งอยู่บนปากปล่องของยอดภูเขาไฟ “วฺนำรุง” (ผู้เขาอันยิ่งใหญ่) หรือ “รมยคีรี (ภูเขาที่น่ารื่นรมย์- แก่การบำเพ็ญพรต)
.
.
ภาพถ่ายทับหลัง"นารายณ์บรรทมสินธุ์ - วิษณุอนันตศายินปัทมนาภา"
ที่ปราสาทหินเขาพนมรุ้งในปี 2503 โดยอาจารย์มานิต วัลลิโภดม
.
         เมื่อกล่าวถึงแล้ว ก็เลยขออธิบายเพิ่มเติมเกี่ยวกับเรื่องราวของ “ภูเขาไฟ” (Volcano) อันเป็นที่ตั้งของปราสาทเขาพนมรุ้งกันซักนิดนะครับ จะได้ไม่หลงไปว่าเป็นภูเขาไฟที่คุกรุ่นอยู่ในยุคไดโนเสาร์ !!!
.
         เทือกเขาพนมรุ้ง เป็นภูเขาไฟที่ดับสนิทมานานแล้วครับ มีลักษณะสัณฐานเป็นรูปกรวย (Cinder Cone) ยอดเขาบริเวณขอบปล่องภูเขาไฟยอดหนึ่ง เป็นที่ตั้งของตัวปราสาทเขาพนมรุ้ง ส่วนปล่องภูเขาไฟเดิมมีลักษณะเป็น “ทะเลสาบปากปล่องภูเขาไฟ” (Crater lake) ปัจจุบันตื้นเขินและเปลี่ยนรูปร่างไปเป็นเพียงบ่อน้ำ หินภูเขาไฟบริเวณนี้จะเป็นหินในตระกูลบะซอลต์ (Basalt Rock) เนื้อแน่นสีเทาดำ และบางส่วนจะเป็นหินที่มีรูพรุนเหมือนที่พบบริเวณเขากระโดงและเขาปลายบัด
.
         ภูเขาไฟที่เขาพนมรุ้งมีอายุประมาณ 900,000 ปี อยู่ในยุค “ควอเทอร์นารี (Quaternary period)” เกิดการระเบิดขึ้นหลังจากที่แผ่นดินอีสานยกตัวขึ้นมาเป็นที่ราบสูง ซึ่งเห็นได้จาก บริเวณ รอบ ๆ เขาพนมรุ้ง ที่จะมีชั้นหินทรายสีม่วงแดงถูกหินหลอมละลายประเภทหินบะซอลต์ไหลลงมาปิดทับอยู่ตอนบนอีกทีครับ
.
         ภาพสลักของ “นารายณ์บรรทมสินธุ์ – วิษณุอนันตศายิน” ที่งดงาม มีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักกันของคนไทยอย่างกว้างขวางที่ปราสาทเขาพนมรุ้ง ก็มาจากเหตุเรื่องราวของการหายสาบสูญ (ในปี พ.ศ. 2510 – 11) การติดตามการทวงคืน (เริ่มต้นในปี 2516) และการส่งมอบคืนสู่ประเทศไทยโดยสถาบันศิลปะแห่งชิคาโก เป็นที่โด่งดังทั่วไปประเทศในระหว่างปี 2530 – 2531 ไงครับ
.
         เรียกว่าก่อนจะได้รับคืน ในประเทศไทยก็มีกระแสการเรียกร้องและการรณรงค์กันอย่างมากมาย หนึ่งในกระแสการเรียกร้องให้ทางสหรัฐอเมริกาส่งคืนรูปสลักทับหลังนารายณ์บรรทมสินธุ์ที่เราจดจำได้กันจนถึงในทุกวันนี้ก็คือ เพลง “ทับหลัง” ของวงดนตรี “คาราบาว”
.
         ซึ่งหลายท่านก็ยังคงจำและร้องคาราโอเกะได้ ในทุกวันนี้....ใช่ไหมครับ !!!
.
         
.
2#
 เจ้าของ| โพสต์ 2015-7-13 15:26 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
หลังจากได้รับคืน ภาพสลัก “วิษณุอนันตศายิน - นารายณ์บรรทมสินธุ์” ที่เหลืออยู่ (แตกหักเป็น 2 ชิ้น) ได้ถูกนำกลับไปติดตั้งที่มุขตะวันออก ด้านหน้าของปราสาทประธาน มาจนถึงในทุกวันนี้
.
         ท่านผู้อ่านหลายคนคงเคยสงสัย “แล้วที่มีข่าวว่า ทับหลังที่ได้กลับมา เป็นของ”ปลอม” ไม่ใช่หรือ ? ก็ขอยืนยันกันตรงนี้เลยนะครับว่า
.
         ถ้าทับหลังชิ้นนี้ปลอม หินที่ก่อสร้างเป็นปราสาทพนมรุ้งที่เราเห็นในทุกวันนี้ ก็ปลอมมันทั้งหลังล่ะครับ หุ หุ !!!
.
         นอกจากรูปสลักเรื่องราวของ “พระนารายณ์ผู้กำลังบรรทมอยู่บนบัลลังก์อนันตนาคราช ณ เกษียรสมุทร “ ท่านผู้อ่านทราบไหมครับว่า รูปสลัก “นารายณ์บรรทมสินธุ์” นอกจากจะมีที่ปราสาทเขาพนมรุ้งแล้ว ยังมีรูปสลักใน “ขนบแบบแผน คติความเชื่อและศิลปะ” ในเรื่องของ “นารายณ์บรรทมสินธุ์” อยู่ที่ปราสาทแห่งอื่น ๆ อีกหลายแห่งในประเทศไทย
.
         หลายท่านก็คงอาจตั้งคำถามในใจ.... “จริงหรือ” ? จะหน้าตาเป็นอย่างไร ? อยู่ที่ไหนบ้างล่ะ ?
.
         เพื่อให้หายสงสัยและอาจเป็น “องค์ความรู้” ให้ประโยชน์แก่ผู้สนใจ เรามาติดตามหา ภาพสลัก“นารายณ์บรรทมสินธุ์” ทั่วเมืองไทย กันใน Entry นี้เลยดีกว่าครับ
.
         แต่ก่อนอื่น ก็คงจะต้องขออนุญาต เล่าเรื่องความเป็นมาของต้นทาง “คติความเชื่อ” ที่ประกอบขึ้น เป็นแนวทาง ขนบแบบแผนของการสร้างสรรค์ศิลปะ “วิษณุอนันตศายิน - นารายณ์บรรทมสินธุ์” กันก่อนนะครับ
.
         เรื่องราวของ “ประติมานวิทยา” (Iconography) ที่เป็น “ศาสตร์” หรือ “แนวทาง” ในการอธิบายบริบทต่าง ๆ ของรูปแบบศิลปะที่มนุษย์ได้สร้างสรรค์ขึ้นของภาพสลัก “นารายณ์บรรทมสินธุ์” มาจากคติความเชื่อเก่าแก่ของศาสนาฮินดู ที่ส่งอิทธิพลมาจากอินเดียเข้ามาสู่อาณาจักรกัมพุชเทศโบราณครับ
.
         รูปของ “นารายณ์บรรทมสินธุ์” หรือ “วิษณุอนันตศายิน” (อำนาจที่ไม่มีที่สิ้นสุดของพระวิษณุ) จะแยกออกเป็น 2 รูปแบบใหญ่ โดยรูปแบบแรกจะเป็นตอนที่ “พระนารายณ์หรือพระวิษณุกำลังบรรทมในระหว่างกัลป์ หรือการบรรทมหลังแบบธรรมดาในระหว่างที่สามโลกกำลังดำเนินไปตามกาลเวลา”
.
.
ภาพสลักนารายณ์บรรทมสินธุ์ภายใน "ถ้ำมหิษาสุรมรรทนี" (Mahisa-Mardini Cave)
ที่ เมืองมหาบาลิปุรัม (Mahabalipuram) รัฐทมิฬนาดู ประเทศอินเดีย
อายุในราวพุทธศตวรรษที่ 12
เป็นรูปแบบในตอนพระวิษณุนารายณะกำลังบรรทมระหว่างกัลป์
.
         ส่วนรูปแบบที่สอง จะเป็นภาพมหามงคลที่ได้รับความนิยมนำมาสร้างสรรค์เป็นงานศิลปะ เป็นภาพนารายณ์บรรทมสินธุ์ตอน “พระวิษณุหรือพระนารายณ์ให้กำเนิดแก่พระพรหมผู้สร้างโลกใหม่” ซึ่งถูกกล่าวถึงในมหากาพย์ “มหาภารตะ” (The Mahabharata) มหากาพย์ที่เก่าแก่อายุกว่า 2,000 ปีของอินเดียไว้ว่า “.....โลกเมื่อถึงคราวสิ้นกัลป์ (หนึ่งกัลป์เท่ากับหนึ่งวันของพระพรหม) ทุกสรรพสิ่งถูกทำลายล้าง พื้นดินจมลงสู่ใต้มหาสมุทรพระผู้เป็นเจ้าที่ทรงพระนามว่า “นารายณ์” ผู้มีพันพระเนตรและพันพระบาท บรรทมอยู่ที่ท่ามกลางเกษียรสมุทร มีพญานาคผู้มีพันเศียรรองรับองค์พระผู้เป็นเจ้า ...เมื่อพระองค์ตื่นบรรทม และมองเห็นโลกที่ว่างเปล่า พระองค์ได้ตั้งสมาธิเพื่อการสร้างสรรค์สรรพสัตว์ขึ้นใหม่ ในขณะนั้น ได้เกิดดอกบัว(หมายถึงความบริสุทธิ์) ดอกหนึ่ง ผุดขึ้นจากพระนาภี (สะดือ)จากผลของสมาธินั้น แล้วพระพรหมผู้มีสี่พักตร์ก็ได้ปรากฏขึ้นบนดอกบัวนั้น.....”
.
         เรื่องราวการกำเนิดโลกใหม่จากพระนาภี ปรากฏในคัมภีร์ (ปุราณะ) ทางศาสนาตามคติความเชื่อของฮินดูหลากนิกาย ในหลายยุคหลายสมัยครับ อย่างเช่นคัมภีร์ “มัสยาปุราณะ มารกัณเฑยปุราณะ ภาควัตปุราณะ วิษณุปุราณะ วราหะปุราณะ ปัทมปุราณะ มารกัณเฑยะปุราณะ พราหมณะปุราณะ “ ซึ่งต่างล้วนได้เล่าเรื่องราวของการบรรทมสินธุ์ของพระวิษณุ และการเกิดของพระพรหมที่ผุดขึ้นจากพระนาภีในตอนสร้างโลกใหม่
3#
 เจ้าของ| โพสต์ 2015-7-13 15:29 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
.
ภาพสลักนารายณ์บรรทมสินธุ์ภายใน "ถ้ำอวาตาร" (Avatar Cave)
ที่ หมู่ถ้ำเลอโลร่า (Ellora Caves) รัฐมหาราษฎร์ ประเทศอินเดีย
อายุในราวพุทธศตวรรษที่ 13
เป็นรูปแบบในตอนพระวิษณุนารายณะให้กำเนิดพระพรหมจากพระนาภีในการสร้างโลกใหม่
.
         แต่ในบางคัมภีร์ อย่างเช่น “มารกัณเฑยะปุราณะ” คัมภีร์เก่าแก่ในกลุ่ม “ไวษณพนิกาย” (ผู้บูชาพระวิษณุ) กล่าวถึงเรื่องราวในช่วงการบรรทมสินธุ์เพิ่มเติมว่า ในระหว่างที่พระวิษณุกำลังบรรทมอยู่เหนือพญาอนันตนาคราช ได้มีอสูร “มธุ” และ “ไกฏภะ” ออกมาจากพระกรรณของพระวิษณุ เพื่อจะทำร้ายพระพรหมที่เสด็จออกมาจากพระนาภีเพื่อการสร้างโลกใหม่ แต่พระวิษณุก็ได้ทรงสังหารอสูรทั้งสองตน จึงทรงมีพระนามเพิ่มขึ้นมาอีกว่า “มธุสุทามะ”
.
         จากคติความเชื่อของฮินดูจากอินเดีย ที่เป็นต้นแบบสำคัญของการสร้างรูป “วิษณุอนันตศายิน - นารายณ์บรรทมสินธุ์” ทั้งสองรูปแบบใหญ่ ตอนที่นิยมถูกนำมาสร้างเป็นรูปสลักในศิลปะเขมร มักจะนิยมสร้างเป็นรูปตอน “การสร้างโลกใหม่” โดยมีภาพของพระพรหมประทับบนดอกบัวที่ผุดออกมาจากสะดือของ”พระวิษณุนารายณะ” มากกว่ารูปแบบการบรรทมระหว่างกัลป์
.
         ภาพสลักนารายณ์บรรทมสินธุ์ ถือว่าเป็นภาพมหามงคล มีความหมายถึงการกำเนิดใหม่ของโลก หรือการอวยพรให้ผู้บูชาได้เห็นถึงวัฏจักรของจักรวาลที่มีการสูญสลายและเกิดขึ้นใหม่มาโดยตลอดครับ
  .
         “....ภาพพระนารายณ์ในยามหลับใหลเหนือพญาอนันตนาคราช อาจสื่อความหมายถึง จุดจบของทุกสรรพสิ่งที่เงียบสงัด ภาพพระพรหมเกิดขึ้นจากบัวที่ผุดออกมาจากสะดือ หมายความถึงการเริ่มต้นใหม่ของโลกที่ถูกทำลายล้าง แต่ในความรู้สึกของมนุษย์ มันคือการ “อวยพร” ให้มนุษย์ผู้ศรัทธาในพระผู้เป็นเจ้าบนสรวงสวรรค์ได้เริ่มต้นชีวิตใหม่อย่างมีมงคลและสติ….
.
         การรังสรรค์ภาพสลักพระวิษณุนารายณะ -อนันตศายิน ในคติความเชื่อที่คอยกำกับรูปศิลปะของเขมรที่รับมาจากอินเดียผ่านมาทางชวานั้น มีร่องรอยมาตั้งแต่ก่อนยุคเมืองพระนครครับ
.
         “ร่องรอย” ที่เก่าแก่ที่สุดปรากฏในข้อความจารึกภาษาสันสกฤตของ “พระนางกุลประภาวดี” อายุในราวพุทธศตวรรษที่ 11 (ราว 1,500 ปีที่แล้ว) พบที่จังหวัดตาแก้ว ได้กล่าวถึงเรื่องการบรรทมสินธุ์ของของพระนารายณ์ไว้ว่า “ ...ผู้ที่พิจารณาใคร่ครวญอย่างมีเหตุผลพักผ่อนในเกษียรสมุทร บรรทมบนแท่นที่ทำด้วยขดของพญานาคและเป็นผู้รวมเอาโลกทั้งสามไว้ในท้องและให้กำเนิดดอกบัวจากพระนาภี...”
.
         นอกจากข้อความในจารึกโบราณในยุคอาณาจักรเจนละ (Chenla) แล้ว รูปสลักนารายณ์บรรทมสินธุ์บนหินทรายที่น่าจะมีอายุ “เก่าแก่ที่สุด” ในศิลปะเขมร เป็นภาพสลักบนทับหลังประตูของอาคารหลังเล็ก”อาศรม - ครรภมณฑล” (Cella - รูปทรงกล่องสี่เหลี่ยม) ที่ “พนมหันเจย” (Phnom Han Chey Pr.) “อุคระปุระ”หรือ “ชัยคีรี” (ชื่อเก่าตามจารึกที่พบ) จังหวัดกัมปงจาม เป็นศิลปะแบบเจนละ (Chenla Style) อายุในราวพุทธศตวรรษที่ 10 – 11 แต่นักวิชาการชาวฝรั่งเศส ปาร์มังตีเออร์ (Henri Parmentier) เชื่อว่ารูปสลักนารายณ์บรรทมบนอนันตนาคราชที่ปราสาทหันเจยนี้ อาจจะมีอายุเก่าแก่ขึ้นไปจนถึงช่วงยุควัฒนธรรมฟูนัน (Funan) ซึ่งมีอายุในราวพุทธศตวรรษที่ 10 เลยทีเดียว
.
.
อาศรม (Cella) เก่าแก่ที่พนมฮันเจย จังหวัดกำปงจาม
.
         รูปสลักนารายณ์บรรทมสินธุ์ที่เขาหันเจย เป็นภาพสลักพระนารายณ์คู่ 2 องค์ ในตอนบรรทมระหว่างกัลป์ ที่อาจมีความหมายที่จะสื่อถึงความสงบเงียบของ “อาศรม” ดั่งความเงียบสงัดของเกษียรสมุทรเมื่อยามที่พระวิษณุบรรทมหลับใหล พระเศียรของรูปทั้งสองหันเข้าหาจุดกึ่งกลาง ที่มีการวางรูปของ “ดอกไม้” หรือ “ดอกบัวบาน” อันมีความหมายของความบริสุทธิ์ ความงดงามและกลิ่นหอมอบอวล ของภาพการบรรทมอันถือเป็นความศักดิ์สิทธิ์แก่ผู้ศรัทธา
.
.
.
รูปสลักเหนือประตูทางเข้าอาคารหิน
เป็นรูปของพระนารายณ์บรรทมสินธุ์คู่
ในรูปแบบการบรรทมระหว่างกัลป์ที่พนมฮันเจย
.
         ภาพสลักนารายณ์บรรทมสินธุ์ในยุคต้น ๆ ของศิลปะเขมร ยังปรากฏบนทับหลังของ “ปราสาทตวลบาเสท (Tuol Baset Pr.) จากจังหวัดพระตะบอง ปัจจุบันจัดแสดงอยู่ที่พิพิธภัณฑสถานแห่ชาติกัมพูชา ณ กรุงพนมเปญ เป็นภาพสลักในศิลปะแบบไพรกเมง (Prei Kameng Style) อายุในราวปลายพุทธศตวรรษที่ 11 เป็นภาพของพระวิษณุบรรทมอยู่บนพญาอนันตนาคราช ตะแคงตัวไปทางด้านขวา มีภาพพระพรหมประทับบนดอกบัวผุดขึ้นจากพระนาภีแสดงถึงตอนกำเนิดโลกใหม่ ด้านข้างมีทั้งสองมีรูปเทพเจ้าในท่าเหาะเหินเดินอากาศประทับบนแท่นบัลลังก์ในท่าประนมหัตถ์นมัสการ
.
.
รูปสลักพระนารายณ์บรรทมสินธุ์จากปราสาทตวลบาเสท จังหวัดพระตะบอง
จัดแสดงอยู่ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติกัมพูชา
.
         ภาพนารายณ์บรรทมสินธุ์ที่เก่าแก่อีกชิ้นหนึ่ง สลักบนทับหลังหินทรายที่ได้มาจากปราสาทร้างบนยอดเขาพนมโปรส (Phnom Pros Pr.) ริมแม่น้ำโขงที่จังหวัดกำปงจาม จัดแสดงอยู่ที่พิพิธภัณฑสถานแห่ชาติกัมพูชา ณ กรุงพนมเปญ เป็นภาพสลักในศิลปะแบบไพรกเมง (Prei Kameng Style) อายุในราวปลายพุทธศตวรรษที่ 11 เป็นภาพของพระวิษณุบรรทมอยู่บนพญาอนันตนาคราช 7 เศียร ตะแคงตัวไปทางด้านขวา มีภาพพระพรหมประทับบนดอกบัวผุดขึ้นจากพระนาภีแสดงถึงตอนกำเนิดโลกใหม่ ด้านข้างมีทั้งสองมีรูปเทพเจ้าในท่าเหาะเหินเดินอากาศประทับบนแท่นบัลลังก์ในท่าประนมหัตถ์นมัสการพระหัตถ์หนึ่งจับสายบัวที่ออกมาจากพระนาภี สวมหมวกทรงกระบอกสูง มีภาพพระพรหมประทับบนดอกบัวบาน อันเป็นความหมายภาพในตอนกำเนิดโลกใหม่
4#
 เจ้าของ| โพสต์ 2015-7-13 15:30 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
.
.
.
ซากปราสาทบนเขาพนมโปรส จังหวัดกำปงจาม
และรูปสลักพระนารายณ์บรรทมสินธุ์
จัดแสดงอยู่ในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติกัมพูชา
.
         ถึงตอนนี้ ท่านผู้อ่านก็คงจะเริ่มเข้าใจความแตกต่างระหว่างตอน “กำเนิดโลกใหม่” ที่จะมีองค์พระพรหมประทับบนดอกบัวที่ผุดออกมาจากพระนาภีประกอบอยู่เสมอ กับตอน “บรรทมในระหว่างกัลป์” ที่จะไม่มีดอกบัวผุดออกมาจากพระนาภี แล้วใช่ไหมครับ
.
         ในช่วงศตวรรษต่อมา ช่างโบราณเริ่มจะมีการดัดแปลงเรื่องราวตามคติความเชื่อดั่งเดิม มาผสมผสานกับเรื่องราวในคัมภีร์อันศักดิ์สิทธิ์ที่เปลี่ยนแปลงไปตามยุคสมัย จึงเริ่มมีการนำเอาภาพเหล่า “พระมเหสี” ของพระวิษณุนารายณะ ทั้งพระนางลักษมี (พระศรี) พระนางภูมิเทวี (พระแม่ธรณี) รวมไปทั้งพระนางสุรัสวดี(ก่อนไปเป็นมเหสีของพระพรหม)และพระนางคงคา (ก่อนจะไปเป็นมเหสีของพระอิศวร) มาประทับ ตระกรองกอดปรนนิบัติอยู่ที่บริเวณปลายพระเพลา (ขา) และพระชงฆ์ (แข้ง) เพิ่มขึ้น
.
         นอกจากภาพสลักพระนารายณ์บรรทมสินธุ์ที่มีอายุเก่าแก่ที่สุดจากอิทธิพลทางวัฒนธรรมจากอินเดียที่พบในศิลปะเขมรในยุคแรก ๆ แล้ว ยังมีภาพสลักของ “วิษณุอนันตศายิน – นารายณ์บรรทมสินธุ์” ในศิลปะเขมรยุคสมัยต่อมาที่มี ”ชื่อเสียง” เป็นที่รู้จัก มีเอกลักษณ์ที่โดดเด่นในท่ามกลางสภาพแวดล้อมที่งดงาม เป็นภาพนารายณ์บรรทมสินธุ์ศิลปะแบบบาปวนที่สลักบนโขดหินของธารน้ำตก “กบาลสเปียน” ( Kbal Spean) ที่ตั้งอยู่บริเวณใกล้กึ่งกลางของหมู่เขา “พนมกุเลน (Phnom Kulen Mountain) ทางทิศเหนือ เป็นภาพศักดิ์สิทธิ์ในตอนกำเนิดโลกใหม่ เริ่มสลักขึ้นครั้งแรกในราวกลางพุทธศตวรรษที่ 15 ในช่วงสมัยของพระเจ้าสูรยวรมันที่ 1 (Suryavarmam I)
.
.
.
ภาพสลักนารายณ์บรรทมสินธุ์บนโขดหินข้างธารน้ำที่ "กบาลสเปียน" (หัวสะพาน)
ภาพล่างเป็นภาพที่ถ่ายก่อนถูกทุบทำลายปี 2545
.
         จากเรื่องราวของภาพสลักเก่าแก่ที่สุดและภาพสลักบนธารน้ำตกที่น่าอัศจรรย์ ก็ยังมีภาพสลักนารายณ์บรรทมสินธุ์ในศิลปะเขมรที่มี “ขนาดใหญ่” ที่สุดอีกนะครับ
.
         ภาพสลักขนาดใหญ่ที่สุดของคติ “นารายณ์บรรทมสินธุ์- วิษณุอนันตศายินปัทมนาภะ” ขนาดกว้างประมาณ 5 เมตร สลักอยู่บนโขดหินทรายขนาดใหญ่บริเวณเพิงผา “ปรึงกอม-นู“ (Peung Komnou) ตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกสุดของเทือกเขาพนมกุเลน ศิลปะแบบบาปวน อายุในราวกลางพุทธศตวรรษที่ 16 สอดรับกับช่วงเวลาที่ ลัทธิ”ไวษณพนิกาย” จากอินเดีย กำลังเข้ามามีอิทธิพลทางการเมือง – ความเชื่อในอาณาจักร จนนำไปสู่การสร้างมหาปราสาทบาปวน และมหาปราสาทนครวัดในเมืองพระนครหลวง “ศรียโสธรปุระ” ในเวลาใกล้เคียงกัน
.
.
.
ภาพสลักขนาดใหญ่ที่เพิงผาแห่งภาพสลักและภาพเขียน "ปรึงกอมนู"
ใกล้หน้าผาทิศตะวันออกของเขาพนมกุเลน
.
         นอกจากรูปสลักบนหินทรายแล้ว ยังมีรูปหล่อประติมากรรม “สำริด (Bronze) ของ “พระวิษณูอนันตศายิน – นารายณ์บรรทมสินธุ์” ที่มีชื่อเสียงโด่งดัง ด้วยเพราะเป็นประติมากรรมสำริดที่หาพบได้ยาก หลงเหลือรอดจากการถูกทำลายในอดีตมาได้ไม่มากนัก เป็นรูปหล่อของนารายณ์บรรทมสินธุ์สำริด 4 กรขนาดใหญ่ จากปราสาทแม่บุญ (Mebon Pr.) ปราสาทบนเกาะกลางบารายตะวันตก (West Baray) ศิลปะแบบบาปวน อายุในราวพุทธศตวรรษที่ 16 สร้างขึ้นในสมัยของพระเจ้าอุทัยทิตยวรมันที่ 2 (Udayadityavarman II) เป็นรูปสำริดที่เคยถูกตั้งอยู่ตรงกลางของปราสาทแม่บุญกลางบาราย (สระน้ำขนาดใหญ่) ที่ถูกสมมุติให้เป็นเกษียรสมุทรของอาณาจักร
.
5#
 เจ้าของ| โพสต์ 2015-7-13 15:30 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
.
.
.
กำแพงโคปุระทิศตะวันออกปราสาทแม่บุญตะวันตก
และรูปหล่อสำริดนารายณ์บรรทมสินธุ์ขนาดใหญ่ที่พบ
จัดแสดงอยู่ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติกัมพูชา
.
            หลังยุคปลายพุทธศตวรรษที่ 16 เป็นต้นมา ภาพสลักของ “วิษณุอนันตศายินปัทมนาภะ” ในศิลปะเขมร - ขอมดั่งเดิม ก็เริ่มปรากฏอิทธิพลของศิลปะจีนที่ผ่านมาจากศิลปะจามของอาณาจักรจามปา (Champa Kingdom) อีกต่อหนึ่ง โดยรูปลักษณ์ของพญาอนันตนาคราช (Ananta Shesha) ที่เป็นแท่นบรรทมของพระนารายณ์เริ่มมีการเปลี่ยนแปลงเป็นรูปของ  “มังกร” (Dragon) แทรกเข้ามารองรับด้านล่างสุดอีกต่อหนึ่ง ซึ่งมังกรในศิลปะจีน นั้น คือเทวสัตว์ผู้เป็นเจ้าแห่งน้ำหรือมหาสมุทร สอดรับลงตัวกับความหมายของพญาอนันตนาคราชและเกษียรสมุทรแบบดั้งเดิมของคติอินเดีย - เขมร
.
        และยิ่งในช่วงหลังพุทธศตวรรษที่ 17 เป็นต้นมา รูปแบบศิลปะในการแกะสลักภาพของของพญาอนันตนาคราชเริ่มหายไปเกือบทั้งหมด คงเหลือเป็นรูปของพระวิษณุบรรทมอยู่เหนือรูปของมังกรทั้งตัว บางทีก็มีรูปพญานาคเล็ก ๆ ประกอบอยู่บริเวณหัวมังกรเพื่อยังคงรักษาความหมายเดิมตามคัมภีร์ปุราณะโบราณ แต่บางรูปสลักก็ทำเป็นรูปสัตว์ผสม ระหว่างมังกรกับสัตว์คล้ายราชสีห์ทั้งตัว หลุดออกจากคติดั้งเดิมไปเลยทีเดียวครับ
.
         จากคติความเชื่อ ขนบแบบแผน และลวดลายศิลปะของรูป “นารายณ์บรรทมสินธุ์ – วิษณุอันตศายินปัทมะนาภะ” จากประเทศกัมพูชา เรายังพบรูปสลักในแบบแผนเดียวกัน บริเวณพื้นที่ที่เคยอยู่ในอิทธิพลของอาณาจักร – จักรวรรดิกัมพุชเทศโบราณ มาตั้งแต่ราวพุทธศตวรรษที่ 15 ในดินแดนที่เป็นประเทศไทยในปัจจุบันครับ
.
         ภาพสลักของ “วิษณุอันตศายิน - นารายณ์บรรทมสินธุ์” ในประเทศไทยน่าจะเคยมีอยู่ไม่น้อยครับ แต่หลายรูปภาพที่มักสลักลงบน “ทับหลัง” หลายแห่งก็หายสาบสูญไป ดังเช่นที่ปราสาทประธาน ปราสาทหินพิมาย ปราสาทประธานของปราสาทสระกำแพงใหญ่ ที่คงเหลือแต่รูปภาพตามขนบแบบแผนการวางตำแหน่งมงคลของปราสาทหินตามคัมภีร์ปุราณะในตอน “ศิวนาฏราช” ที่บนหน้าบัน แต่ทับหลังที่ยังคงเหลืออยู่ ก็มีความงดงามและเรื่องราวทางความเชื่อไม่แตกต่างไปจากที่สูญหายไปนะครับ
.
         ไปชมกันเลยว่า นารายณ์บรรทมสินธุ์ในเมืองไทย อยู่ที่ไหนบ้าง ไล่เรียงกันตามอายุสมัยเลยนะครับ
.
.
ภาพถ่ายเก่าในราวปี 2505
แสดงภาพปราสาททามจาน ที่ยังคงมีรูปสลักพระนารายณ์บรรทมสินธุ์ติดตั้งอยู่
ในภายหลังได้ถูกโจรกรรมออกไป
.
         ภาพสลักนารายณ์บรรทมสินธุ์ที่เก่าแก่ที่สุดที่พบในประเทศไทย น่าจะเป็นรูปสลักทับหลังของ “ปราสาทตำหนักไทรหรือปราสาททามจาน (Tamnak Sai Pr.) อำเภอขุนหาญ จังหวัดศรีสะเกษ ปราสาทอิฐหลังเดี่ยวที่สร้างขึ้นทับบนฐานเดิมของอาคารอิฐที่พังทลายไปแล้วในยุคเจนละ เป็นภาพพระนารายณ์สี่กร บรรทมสินธุ์ตะแคงขวาเหนือพญาอนันตนาคราชห้าเศียร มีสายบัวผุดมาจากพระนาภีและมีรูปของพระนางลักษมีขนาดเล็กอยู่ด้านหลังพระชงฆ์ ลวดลายของทับหลังมีลักษณะเก่าแก่ ภาพของพระวิษณุยังประทับในแบบนอนราบ น่าจะมีอายุการสร้างอยู่ในช่วงสมัยศิลปะกำพงพระ – กุเลน อายุในราวพุทธศตวรรษที่ 13 - 14 ปัจจุบันเก็บรักษาไว้ที่พิพิธภัณฑสถานเเห่งชาติพิมายครับ
6#
 เจ้าของ| โพสต์ 2015-7-13 15:31 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
.
ภาพสลักนารายณ์บรรทมสินธุ์ จากปราสาทตำหนักไทร
ที่อาจมีอายุทางศิลปะเก่าแก่ที่สุดในประเทศไทย
.
.
สภาพของปราสาทตำหนักไทร ที่ทับหลังถูกโจรกรรมหายไป
ก่อนมีการขุดค้นทางโบราณคดีในปี 2554
.
         ภาพนารายณ์บรรทมสินธุ์ที่มีอายุเก่าแก่ใกล้เคียงกัน พบที่ “วัดศรีสวาย (Sri Sawai Pr.) ทางทิศใต้ของเมืองโบราณสุโขทัย เป็นทับหลังขนาดไม่ใหญ่นักสลักบนหินทรายสีแดง – ม่วง ศิลปะแบบบาแค็ง อายุในราวกลางพุทธศตวรรษที่ 15 ทับหลังชิ้นนี้ ดูเหมือนจะมีการสลักภาพของฤาษีนารทมุนี (Narada Muni) ในท่านั่ง “โยคาสนะ” แสดงการนมัสการ “เล่าเรื่อง” อยู่ทางด้านขวาสุดของภาพ
.
.
.
ภาพสลักนารายณ์บรรทมสินธุ์บนทับหลังที่วัดศรีสวาย เมืองโบราณสุโขทัย
.
         ภาพสลักนารายณ์บรรทมสินธุ์ ที่เก่าแก่อีกชิ้นหนึ่ง น่าจะเป็นภาพสลักบนทับหลังของซากอาคารที่พังทลายชื่อว่า “ปราสาทภูฝ้าย (Phu Fai Pr.) อายุในราวพุทธศตวรรษที่ 15 – 16 ที่ปัจจุบันตั้งแสดงอยู่ที่วัดสุพรรณรัตน์ อำเภอขุนหาญ จังหวัดศรีสะเกษ เป็นรูปสลักพระนารายณ์ 2 กร ประทับตะแคงขวาบนพญาอนันตนาคราชห้าเศียร มีสายบัวผุดขึ้นมาจากพระนาภีและมีพระพรหมขนาดเล็กสี่พักตร์ประทับอยู่ด้านบนดอกบัว มีรูปพระลักษมีประทับนั่งอยู่หลังพระชงฆ์ (น่อง) ในท่ากำลังนวดเฟ้น ปรนนิบัติ ถัดไปเป็นภาพบุคคลสี่รูปในท่าประนมหัตถ์ นั่งชันเข่าในท่ามหาลีลาสนะ บุคคลด้านหน้าถือ “แซ่จามร” อันเป็นสัญลักษณ์สำคัญของผู้ที่อยู่บนสรวงสรรค์
.
.
.
ภาพสลักนารายณ์บรรทมสินธุ์ จากปราสาทบนยอดเขาภูฝ้าย
ปราสาทร้างที่พังทลายลงมาทั้งหมด
.
.
ภาพจำลอง - สมมุติ ของซากกองหินบนเขาภูฝ้าย เป็นปราสาทอิฐ 3 หลัง
.
         ภาพสลักนารายณ์บรรทมสินธุ์ร่วมสมัยพุทธศตวรรษที่ 15 - 16 ยังพบที่ทับหลังบนกรอบประตูบริเวณมุขด้านหน้าของปราสาทประธาน “ปราสาทเมืองแขก (Muang Khaek Pr.) ที่จังหวัดนครราชสีมา ศิลปะแบบบันทายศรี – เกลียง เป็นรูปสลักพระนารายณ์สี่กร ประทับบรรทมตะแคงด้านขวา บนพญาอนันตนาคราชห้าเศียร มีรูปพระนางลักษมีประทับนั่งในท่ากำลังนวดเฟ้น ปรนนิบัติอยู่ที่ปลายพระบาท
.
.
.
ภาพสลักนารายณ์บรรทมสินธุ์ที่มุขด้านหน้าปราสาทประธาน
หันหน้าขึ้นไปทางทิศเหนือ
.
         ยังมีภาพสลักในช่วงยุคสมัยเดียวกัน พบที่อำเภออรัญประเทศ ที่จังหวัดสระแก้ว เป็นภาพสลักบนทับหลังในสภาพแตกหัก รูปนารายณ์บรรทมสินธุ์สี่กร ประทับบรรทมตะแคงไปด้านขวาบนพญาอนันตนาคราช มีสายบัวผุดมาจากพระนาภี มีรูปพระนางลักษมีเทวีประทับนั่งอยู่หลังพระชงฆ์ (น่อง) ในท่ากำลังนวดเฟ้น ปรนนิบัติ ที่ปลายพระบาทมีภาพครุฑยุดนาค ปัจจุบันจัดแสดงอยู่ในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติปราจีนบุรีครับ
.
7#
 เจ้าของ| โพสต์ 2015-7-13 15:32 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
.
.
ทับหลังนารายณ์บรรทมสินธุ์ ไม่ทราบที่มา
จัดแสดงอยู่ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติปราจีนบุรี
.
         ภาพนารายณ์บรรทมสินธุ์ ในช่วงยุคพุทธศตวรรษที่ 15 - 16 ยังพบที่หน้าบันโคปุระทิศตะวันออกฝั่งด้านในของ “ปราสาทสด๊กก๊อกธม (Sdok kok Thom Pr.) ที่จังหวัดสระแก้ว ศิลปะแบบเกลียง (Kleang Style) อายุในราวต้นพุทธศตวรรษที่ 16 เป็นภาพสลักของพระนารายณ์นอนบรรทมตะแคงไปทางซ้ายบนพญาอนันตนาคราชห้าเศียร มีรูปพระนางลักษมีเทวีนั่งประทับ ยกพระเพลาข้างหนึ่งมาวางไว้บนตักในท่ากำลังนวดเฟ้น ปรนนิบัติ เหนือขึ้นไปมีรูปพระพรหมประทับอยู่บนดอกบัว ด้านข้างของพระพรหมมีรูปบุคคลถือกระบอง ที่น่าจะเป็นภาพของอสูร “มธุ” และ “ไกฏภะ”ที่ออกมาจากพระกรรณของพระวิษณุ ตามคัมภีร์ “มารกัณเฑยะปุราณะ” ของไวษณพนิกาย เพื่อที่จะทำลายการสร้างโลกใหม่ของพรหมครับ
.
.
ภาพสลักนารายณ์บรรทมสินธุ์ในปาง "มทุสุทานะ"
ในระหว่างการจัดเรียงก่อนนำขึ้นไปติดตั้ง
.
.
ปราสาทประธาน ปรสาทสด๊กก๊อกธม ที่ถูก "สร้างขึ้นใหม่" โดยวิธีอนัสติโลซิสแบบไทย ๆ
.
.
ประตูปีกทางทิศเหนือด้านใน ของโคปุระตะวันออก ปราสาทสด๊กก๊อกธม จังหวัดสระแก้ว
จุดที่เป็นรูปสลักของนารายณ์บรรทมสินธุ์บนหน้าบัน
.
         หากจะบอกว่าในเมืองไทย ก็มีรูปสลักนารายณ์บรรทมสินธุ์ แบบที่สลักกันบนโขดหินข้างธารน้ำไหลตามธรรมชาติแบบ “พนมกุเลน – กบาลสเปียน” หลายคนก็อาจจะสงสัย แต่จริงครับ มีรูปสลัก “นารายณ์บรรทมสินธุ์” สลักบนโขดหินธรรมชาติ ที่ลำโดมใหญ่ ในเขตเทือกเขาพนมดอกเร็ก อำเภอน้ำยืน จังหวัดอุบลราชธานี อายุในราวต้นพุทธศตวรรษที่ 16 ร่วมสมัย ร่วมยุคศิลปะบาปวน อย่างที่พบบนเขาพนมกุเลนเลยครับ
.
.
รูปสลักนารายณ์บรรทมสินธุ์บนโขดหิน ที่ลำโดมน้อย
.
         ลักษณะของรูปสลักนารายณ์บรรทมสินธุ์ที่ลำโดมใหญ่ จะเป็นรูปพระวิษณุนารายณะสองกร บรรทมตะแคงขวา เหนือพระเศียรเป็นรูปพญาอนันตนาคราชสามเศียร ที่ปลายพระเพลา มีรูปพระนางลักษมีเทวี ประทับนั่งอยู่ด้านหลังในท่านวดปรนนิบัติ
.
.
การสำรวจภาพสลักของผู้บริหารองค์การบริหารส่วนจังหวัดอุบลราชธานี ที่ลำโดมใหญ่ ในปี 2553
.
         รูปนารายณ์บรรทมสินธุ์ที่ลำโดมใหญ่ สลักบนโขดหินทราย ริมธารน้ำ ในช่วงหน้าน้ำ น้ำจะหลากท่วมจนมองไม่เห็น จะเห็นรูปสลักได้ชัดเจนก็เฉพาะตอนช่วงหน้าแล้งเท่านั้นครับ
.
         ผู้แกะภาพสลักนี้ น่าจะเคยเดินทางไปยังธารน้ำกบาลสเปียน และน่าจะได้รับอิทธิพลความคิดแบบ “ไวษณพนิกาย” มาจากเมืองพระนครหลวง เมื่อเดินทางผ่านมาตามช่องเขาของเทือกเขาพนมดองเร็ก ในช่วงหน้าแล้งหนึ่ง จึงได้สลักรูปนารายณ์บรรทมสินธุ์ เพื่อ “สมมุติ” ให้สายน้ำลำโดมใหญ่ มีความ “ศักดิ์สิทธิ์” จากสายน้ำธรรมชาติกลายเป็น เกษียรสมุทร” บนสรวงสวรรค์
.
         การแกะสลักรูปที่ลำโดมใหญ่ ดูจะยังไม่เสร็จสิ้นสมบูรณ์ ช่างผู้เดินทางผ่านมาได้สลักทิ้งค้างคาไว้ เพราะต้องเดินทางต่อขึ้นไปทางเหนือ รูปสลักที่ต้นแขนด้านบนก็ยังคงร่างเป็น “ลายเส้น” รูปบัวตูมค้างไว้ มีร่องรอยของก้านดอกบัวเป็นริ้วบาง ๆ ลงมาที่พระนาภี ลายละเอียดของรูปส่วนอื่น ๆ ก็ยังคงเป็นรูปโกลน ไม่สมบูรณ์
.
         ภาพสลักนารายณ์บรรทมสินธุ์ที่น่าสนใจอีกชิ้นหนึ่ง ปรากฏบนทับหลังบนซุ้มประตูด้านในของอาคารบรรณาลัยด้านทิศเหนือ “ปราสาทสระกำแพงใหญ่ (Sra Kampaeng Yai Pr.) หรือที่ปรากฏชื่อในจารึกว่า “กมรเตงชคตศรีพฤทเธศวร" (ผู้เป็นใหญ่เหนือพงไพร) ที่จังหวัดศรีสะเกษ เป็นทับหลังศิลปะแบบบาปวน อายุในราวกลางพุทธศตวรรษที่ 16 ครับ
.
.
ปราสาทประธาน ปราสาทสระกำแพงใหญ่
.
.
มุขประตูบรรณาลัยฝั่งทิศเหนือ ปราสาทสระกำแพงใหญ่
ด้านหน้าเป็นภาพสลักบนทับหลังในตอน "พระกฤษณะประลองกำลังกับม้าเกศิน"
.
.
8#
 เจ้าของ| โพสต์ 2015-7-13 15:32 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
         ภาพสลักที่ปราสาทสระกำแพงใหญ่ เป็นภาพตอนกำเนิดโลกใหม่ พระวิษณุนารายณะสี่กร บรรทมตะแคงองค์ไปทางซ้าย ประทับเหนือพญาอนันตนาคราชห้าเศียร มีภาพบุคคลเพศหญิงอยู่ทางด้านปลายเท้าห้ารูป ด้านในสุดด้านหลังของพระชงฆ์ เป็นรูปของเทวีลักษมี ในท่าตระกรองโอบกอดปรนนิบัติ ถัดไปรูปที่สอง เป็นรูปของนางภูมิเทวี หรือพระแม่ธรณี ยกพระชงฆ์ทั้งสองข้างมาวางไว้บนตัก พระบาทของพระนารายณ์ขึ้นไปดันจนชนพระถัน
.
.
ภาพสลักนารายณ์บรรทมสินธุ์ ที่ปราสาทสระกำแพงใหญ่
.
         รูปสตรีรูปถัดมาเป็นรูปของพระนางสุรัสวดี หรืออาจเป็นรูปของพระนางคงคา ที่ภายหลังจดทะเบียนหย่า แยกทางจากพระวิษณุไปทั้งคู่ !!!
.
         รูปเทวสตรีสองรูปที่ปลายพระบาท เป็นภาพของเทพธิดานางกำนัลบนสรวงสวรรค์ ที่เฝ้าปรนนิบัติ ทั้งการใช้พัดโบก (พัดใบลาน) และอีกนางหนึ่ง ถือเครื่องหอมดอกไม้ โปรยกลิ่นหอมอบอวลไปทั่วที่บรรทมแห่งองค์เทพเจ้า
.
         ภาพสลักนารายณ์บรรทมสินธุ์ที่อยู่ในภูมิภาคเหนือสุดของประเทศไทย คือภาพสลักนารายณ์บรรทมสินธุ์บนหน้าบันฝั่งทิศใต้ ของ "ปราสาทนารายณ์เจงเวง (Narai Jeng Weng Pr.)" จังหวัดสกลนคร เป็นภาพสลักนารายณ์สี่กรแบบติดกลิ่นอายของช่าง “ท้องถิ่น” ที่อาจดูจะไม่ละเอียดลออตามขนบแบบแผนการแกะสลักของช่างหลวงมากนัก (ใบหน้าไม่สมส่วน ริมฝีปากดูอ้วนหนา) ประทับบนพญาอนันตนาคราชที่มีเพียงสองเศียร (เศียรที่สามโดนบังอยู่มั้งครับ) บรรทมแบบตะแคงขวา มีร่องรอยของสายบัวออกมาจากพระนาภี แต่ไม่มีรูปต่อไปถึงรูปของพระพรหม มีรูปของพระนางลักษมีเทวี ช้อนพระเพลาของพระวิษณุทั้งสองข้างมาวางไว้บนตัก ในท่านวดปรนนิบัติ เหนือจากตัวองค์พระวิษณุขึ้นไปเป็นภาพของกอบัวและพรรณพฤกษา มีภาพของปลาและนกเป็ดน้ำแทรกตัวอยู่ เหมือนกับช่างแกะสลักจะพยายามสื่อเป็นนัยความหมายว่า เป็นภาพของการบรรทมในน้ำ (เกษียรสมุทร) จริง ๆ นะ
.
.
.
ภาพสลักนารายณ์บรรทมสินธุ์ บนหน้าบันฝั่งทิศใต้ ปราสาท "พระธาตุนารายณ์เจงเวง"
.
         อีกภาพสลักหนึ่งที่น่าสนใจ เป็นภาพสลักนารายณ์บรรทมสินธุ์บนทับหลัง ที่ถูกเคลื่อนย้ายจากปราสาทหินที่พังทลายหรือถูกรื้อถอนไปแล้วในตัวเมืองนครราชสีมา นำมาวางรวมไว้ที่ “เทวสถานพระนารายณ์” ศิลปะแบบบาปวน อายุในราวกลางพุทธศตวรรษที่ 16 เป็นภาพในลักษณะแบบแผนการวางรูปเดียวกันกับรูปนารายณ์บรรทมสินธุ์โดยทั่วไป คือมีรูปของพระวิษณุนารายณะนอนตะแคงขวา มีพญานาคราชสามเศียรเป็นแท่นบรรทม มีดอกบัวผุดขึ้นจากพระนาภีและมีพระนางลักษมีเทวีประทับตระกรองปรนนิบัติอยู่ที่ปลายพระเพลา
.
.
ภาพถ่ายเก่า แสดงภาพสลักนารายณ์บรรทมสินธุ์บนทับหลัง ที่เทวสถานพระนารายณ์
รูปสลักหลายชิ้นในภาพถูกเคลื่อนย้ายไปจัดแสดงอยู่ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติมหาวีรวงศ์
9#
 เจ้าของ| โพสต์ 2015-7-13 15:33 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
.
.
ทับหลังนารายณ์บรรทมสินธุ์ จากเทวสถานพระนารายณ์
ปัจจุบันจัดแสดงอยู่ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพิมาย
.
         ภาพสลักนารายณ์บรรทมสินธุ์ที่งดงามอีกชิ้นหนึ่ง เป็นทับหลังของปราสาทองค์กลาง ปราสาทประธานของ “กู่เปือยน้อย (Ku Pueai Noi Pr.) ที่จังหวัดขอนแก่น ศิลปะแบบกลางยุคบาปวน ราวกลางพุทธศตวรรษที่ 16 เป็นภาพพระวิษณุนารายณะสี่กร นอนบรรทมตะแคงขวาเหนือพญาอนันตนาคราชสามเศียร (ภาพสลักกะเทาะลบเลือน มองไม่ชัดครับ แต่สันนิษฐานเอาจากส่วนโคนภาพสลัก) พระหัตถ์ซ้ายบนถือ “สังข์” อันเป็นสัญลักษณ์ของการกำเนิดแห่งสรรพสิ่ง พระหัตถ์ซ้ายล่างถือ “จักร” สัญลักษณ์แทนความหมายของจิตใจที่ดีงาม พระหัตถ์ขวาบนยกขึ้นหนุนยันพระเศียร พระหัตถ์ขวาล่างถือ “คทา” สัญลักษณ์สื่อความหมายของวิชาความรู้ วางตัวทอดขนานไปกับองค์พระวิษณุ ปลายพระบาทมีรูปของพระนางลักษมีหรือพระศรีตระกรองกอดพระชงฆ์ วางไว้บนตัก ที่พระนาภีมีสายบัวผุดออกมาขึ้นไปเป็นดอกบัวบาน มีพระพรหมสี่หน้าประทับบนดอกบัว ด้านหลังของภาพองค์พระวิษณุแสดงเป็นรูปกอบัวหลายกอ อันแทนความหมายของบัวที่ขึ้นจากน้ำหรือทะเลเกษียรสมุทร ที่ปลายพระบาทเป็นรูปของบุคคลเหาะเหินเดินอากาศ ในท่าประนมหัตถ์สาธุการ ในมือข้างหนึ่งถือเครื่องสูง อันเป็นสัญลักษณ์ว่าเรื่องราวบนภาพสลักนี้คือเรื่องราวบนสรวงสวรรค์ (อย่างแน่นอน)
.
.
.
ภาพสลักนารายณ์บรรทมสินธุ์บนทับหลัง
บนประตูด้านหน้าทิศตะวันออกของปราสาทประธาน ปราสาทกู่เปือยน้อย
.
         ภาพสลักทับหลังนารายณ์บรรทมสินธุ์ในยุคร่วมสมัยกับทับหลังที่ปราสาทเปือยน้อย เป็นภาพสลักนารายณ์บรรทมสินธุ์ ด้านทิศใต้ของปราสาทบริวารทางทิศเหนือที่ “ปราสาทกู่พระโกนา” (Ku Phra Kona Pr.) จังหวัดร้อยเอ็ด เป็นภาพพระวิษณุนารายณะสองกร ประทบบรรทมอยู่บนพญาอนันตนาคราชสามเศียรในตอนกำเนิดโลกใหม่ ศิลปะแบบบาปวน อายุในราวกลางพุทธศตวรรษที่ 16 ด้านขวาและซ้ายของภาพสลักมีภาพของ “หงส์” กำลังกางปีกในท่าบิน ที่กำลังสื่อความหมายว่า ภาพเหตุการณ์การบรรทมสินธุ์ที่สาธุชนกำลังมองเห็นนี้ เกิดขึ้นในที่สูงส่งอย่างเช่นสรวงสวรรค์ (ที่ขนาดนกยังต้องบิน) ไม่ใช่เกิดขึ้นบนโลกนะจ๊ะ
.
.
.
ภาพสลักนารายณ์บรรทมสินธุ์ช่วงหินแทรกด้านบน ปราสาทกู่พระโกนา
.
         จากร้อยเอ็ด เราเดินทางมาตามชมภาพสลักมายังเมืองลพบุรี ที่มีรูปสลักนารายณ์บรรทมสินธุ์บนทับหลัง ที่ “ศาลพระกาฬ (San Phra Karn Pr.) ซากฐานอาคารที่นี่ อาจเคยเป็นปราสาทหินขนาดใหญ่มาตั้งแต่ราวปลายพุทธศตวรรษที่ 16 แต่มาภายหลังอาจพังทลายหรือถูกรื้อถอนเปลี่ยนแปลง ชิ้นส่วนประกอบสำคัญอย่างเช่นทับหลังนารายณ์บรรทมสินธุ์ จึงถูกเคลื่อนย้ายไปมา ปัจจุบันจัดแสดงอยู่ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติสมเด็จพระนารายณ์ครับ
.
.
.
ภาพถ่ายเก่าของทับหลังรูปนารายณ์บรรทมสินธุ์ เคยตั้งอยู่ในศาลพระกาฬ
ปัจจุบันถูกย้ายไปจัดแสดงอยู่ในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติสมเด็จพระนารายณ์
.
.
ทับหลังนารายณ์บรรทมสินธุ์ จากศาลพระกาฬ จังหวัดลพบุรี
ปัจจุบันจัดแสดงอยู่ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติสมเด็จพระนารายณ์
.
         มาถึงภาพสลักนารายณ์บรรทมสินธุ์ ที่มีชื่อเสียงที่สุดของประเทศไทย ก็คงไม่พ้นภาพสลักนารายณ์บรรทมสินธุ์บนทับหลัง มุขประตูด้านหน้า ทิศตะวันออกของปราสาทประธาน ปราสาทหินเขาพนมรุ้ง ที่เป็นที่รู้กันอย่างดีไงครับ
.
.
ปราสาทเขาพนมรุ้ง จากมุมมองทิศตะวันตก
.
         รายละเอียดทางประติมานวิทยาของภาพสลัก ก็คงไม่ต้องอธิบายกันมากแล้วนะครับ เอาคร่าว ๆ ก็คือ ภาพสลักอันสุดคลาสลิคที่ปราสาทเขาพนมรุ้งนี้เป็นภาพสลักในศิลปะตามขนบแบบแผน “ช่างหลวงเมืองพระนคร” ศิลปะในยุคนครวัดแท้ ๆ อายุในราวกลางพุทธศตวรรษที่ 17 ภาพของแท่นบรรทมในยุคนี้เปลี่ยนแปลงไปมากครับ คงด้วยเพราะไปรับอิทธิพลมาจากศิลปะจีน จึงมีการนำรูป “มังกร” มาผสมเข้ากับรูป “สิงห์” กลายเป็นแท่น”สิงห์มังกร” เข้ามารองรับใต้แท่นบรรทมรูปพญาอนันตนาคราชที่มีขนาดขนดตัวเล็กลงอีกทีหนึ่ง
10#
 เจ้าของ| โพสต์ 2015-7-13 15:33 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
.
.
"ทับหลังนารายณ์บรรทมสินธุ์ - วิษณุอนันตศายินปัทมนาภะ" ที่เป็นที่รู้จักกันทั่วประเทศ
.
         ในยุคที่มังกรเริ่มมามีบทบาทแทนที่พญานาค ปรากฏชัดเจนบนรูปสลักของนารายณ์บรรทมสินธุ์ที่ “ปราสาทกู่สวนแตง (Prang Ku Suan Taeng Pr.) ที่จังหวัดบุรีรัมย์ อายุในราวปลายพุทธศตวรรษที่ 17 เป็นภาพสลักบนทับหลัง ที่ติดตั้งอยู่เหนือประตูทิศตะวันออก ของปราสาทบริวารทางฝั่งทิศเหนือ (ปัจจุบันจัดแสดงอยู่ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพระนคร) ที่ปรากฏรูปของพระวิษณุนารายณะสองกร บรรทมตะแคงขวาบนบัลลังก์เทวสัตว์ผสมระหว่างมังกรกับสิงห์ ในขณะที่ภาพของพญาอนันตนาคราชที่เคยมีอยู่บ้างก็ได้หายไปทั้งหมด ที่หลังพระเพลา เป็นภาพสลักของพระมเหสีสองพระองค์ คือพระนางลักษมีเทวี และพระนางภูมิเทวี (พระแม่ธรณี) ด้านบนเป็นภาพของพระพรหมบนดอกบัวที่ผุดขึ้นจากพระนาภี มีรูปเทพยดาในท่าเหาะเหินเดินอากาศ ประนมหัตถ์สาธุการ สื่อความหมายของการแซ่ซ้องสรรเสริญของการกำเนิดโลกใหม่ไปทั่วจักรวาล
.
.
.
ภาพสลักนารายณ์บรรทมสินธุ์บนทับหลัง ปราสาท "ปรางค์กู่สวนแตง"
ปัจจุบันจัดแสดงอยู่ในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพระนคร
.
         ภาพของนารายณ์บรรทมสินธุ์ภาพสุดท้าย ที่พบในประเทศไทย เป็นภาพของรูปสลักบนทับหลังหินทราย ที่เพิ่งขุดพบจากการขุดแต่ง “ปราสาทบ้านปราสาท ปราสาทห้วยทับทันหรือปราสาทบ้านโนนธาตุ” ( Ban Prasat Pr. Huay Tap Tan Pr.– Ban None That Pr.) จังหวัดศรีสะเกษ เมื่อไม่กี่ปีที่ผ่านมา อายุในช่วงปลายพุทธศตวรรษที่ 17 สภาพเป็นทับหลังที่แตกหัก มีภาพพระวิษณุนารายณะสองกร ตะแคงขวา ตั้งพระเศียรขึ้น สภาพลบเลือน มีร่องรอยของดอกบัวออกมาจากพระนาภี ด้านบนเป็นรูปพระพรหม มีรูปของมเหสีทั้ง 4 พระองค์ ที่ปลายพระบาทเป็นรูปของนางกำนัลถือพัดโบก ? เหนือขึ้นไปเป็นภาพบุคคลหลายรูป ไม่ชัดเจนนัก ที่ปลายทับหลังฝั่งด้านขวา เป็นภาพของนางกำนัลกำลังถือเครื่องหอมดอกไม้
.
.
         ปราสาทห้วยทับทันเป็นปราสาทที่ถูกดัดแปลงหลายครั้ง อาจสร้างขึ้นครั้งแรกในราวพุทธศตวรรษที่ 16 ต่อมาถูกซ่อมแซมในช่วงยุคปลายพุทธศตวรรษที่ 17 ที่อาจมีการสลัก “ลอกเลียน” รูปของนารายณ์บรรทมสินธุ์ขึ้นทดแทนรูปสลักเก่าในยุคก่อนหน้าที่อาจหลุดร่วงพังทลายลงมา แต่พอมาถึงราวพุทธศตวรรษที่ 20 – 22 มีการดัดแปลงตัวปราสาทที่พังทลายครั้งใหญ่ โดยก่อขึ้นเป็นธาตุในศิลปะแบบ ”ลาว – ล้านช้าง” ทรงชะลูดสูงยอดแหลม ส่วนทับหลังหลายรูปที่ตกหล่นลงมาจากตัวปราสาทหรืออาจถูกแกะออก ก็ถูกนำไปฝังดินไม่ใช้งาน จนมาขุดพบในช่วงของการบูรณปฏิสังขรณ์ในปัจจุบันครับ
.
.
ปราสาทบ้านปราสาท เป็นตัวอย่างอันดีของการใช้ประโยชน์ศาสนสถานเก่าแก่ที่ร้างไปแล้ว
โดยการแปลงปราสาทใหม่ให้เป็น "ธาตุ" (เจดีย์)
ในรูปแบบศิลปะลาว - ล้านช้าง
.
         เป็นอย่างไรกันบ้างครับกับเรื่องราวมากมายของ “นารายณ์บรรทมสินธุ์ – วิษณุอนันตศายินปัทมนาภะ (นาภา)” จากทั่วถิ่นแผ่นดินไทย ที่ไม่ได้มีเพียงแค่ “ทับหลัง”ที่เราเห็นจนเป็นที่ “ชินตา” จากปราสาทเขาพนมรุ้งเท่านั้น
.
         ถึงตอนนี้ ท่านผู้อ่านคงได้เห็น ภาพสลักในขนบ แบบแผน และการรังสรรค์ศิลปะที่ตอบสนองตามคติความเชื่อศาสนาในยุคโบราณ ที่ถ่ายทอดต่อกันมายาวนานกว่า 2,000 ปี จากประเทศอินเดียผ่านอาณาจักรเขมรโบราณ มาจนถึงยุคประเทศไทยในปัจจุบัน
.
         หากท่านผู้อ่าน ได้เคยพบเห็นภาพสลักในขนบ แบบแผน “การบรรทมสินธุ์ของพระวิษณุนารายณะ” ณ ที่แห่งอื่น ๆ ในเมืองไทย แล้วยังไม่มี “ภาพ – เรื่อง” ปรากฏใน Entry นี้
.
         ก็ขอความกรุณาช่วยบอกกล่าว เติมเต็มให้เรื่องราวของภาพสลักอันเป็นภาพมหามงคลและศักดิ์สิทธิ์แห่งพระวิษณุนารายณะ ได้ครบถ้วนสมบูรณ์มากกว่านี้นะครับ
.
.
.
.
         “ นาร้ายณ์ นารายณ์ ...”
.
.          (คือคำกล่าวสรรเสริญองค์พระวิษณุเทพ โดยพระฤาษีนารทมุนี (นารอด –Narada Muni) ผู้เริ่มบรรเลง “พิณวีณา”(Veena) ให้เป็นเสียงเพลง “นมัสการอันศักดิสิทธิ์” จากสรวงสวรรค์
.
ขออภัย! คุณไม่ได้รับสิทธิ์ในการดำเนินการในส่วนนี้ กรุณาเลือกอย่างใดอย่างหนึ่ง ลงชื่อเข้าใช้ | ลงทะเบียน

รายละเอียดเครดิต

ตอบกระทู้ ขึ้นไปด้านบน ไปที่หน้ารายการกระทู้