ตั้งให้เราเป็นเว็บแรกที่คุณเลือก เก็บเราไว้เป็นเว็บโปรด
สมัครสมาชิก ได้มากกว่าที่คุณคิด เข้าสู่ระบบ
ดู: 1738
ตอบกลับ: 1
สั่งพิมพ์ ก่อนหน้า ถัดไป

แปดริ้ว พระพิฆเนศ กวนอิม ซานตาคลอส และพุทธทาส

[คัดลอกลิงก์]
ท่องไปกับใจตน : แปดริ้ว พระพิฆเนศ กวนอิม ซานตาคลอส และพุทธทาส : โดย ... ธีรภาพ โลหิตกุล teeraparb108smile@gmail.com

                       ใน “เทพปกรณัม” หรือเรื่องเล่าขานเกี่ยวกับเทพเจ้า ตามตำนานของชาวชมพูทวีป เล่าไว้ตอนหนึ่งว่า วันหนึ่ง พระศิวะมหาเทพรับสั่งกับพระโอรสทั้งสอง คือพระขันธกุมาร กับพระพิฆเนศ ว่าระหว่างเจ้าทั้งสอง หากใครเดินรอบจักรวาล 3 รอบได้ก่อน ก็จะจัดพิธีอภิเษกกับนารีเทพผู้เลอโฉมให้อย่างยิ่งใหญ่ พระขันธกุมารผู้พี่ได้ยินดังนั้นก็ไม่รอช้า รีบออกเดินรอบจักรวาลด้วยความมุ่งมั่น ขณะที่พระพิฆเนศทำเป็นทองไม่รู้ร้อน จนพระศิวะตรัสถาม ว่าเจ้าไม่อยากเข้าพิธีอภิเษกรึ? พระพิฆเนศตอบว่า ไม่เป็นไร ให้เสด็จพี่ขันธกุมารเดินไปก่อนก็ได้ 3 รอบจักรวาลสำหรับหม่อมฉัน เดี๋ยวเดียวก็เสร็จ





                       ว่าแล้วก็เดินวนรอบพระบิดาสามครั้งจบในชั่วอึดใจ แล้วเอ่ยว่า ก็เสด็จพ่อคือมหาเทพ ผู้สถิต ณ ทิพยวิมาน อันเป็นศูนย์กลางแห่งโลกและจักรวาลอยู่แล้ว จะให้หม่อมฉันไปเดินรอบสิ่งใด (ให้เมื่อยตุ้ม) อีกเล่า?   

                       เทพปกรณัมฉากนี้ คือหนึ่งในหลายๆ เหตุผล ว่าทำไม พระพิฆเนศ เทพผู้มีเศียรเป็นช้างพระองค์นี้ จึงได้รับการสักการบูชาในฐานะ “เทพผู้ขจัดสิ้นซึ่งอุปสรรคทั้งมวล” และอาจเป็นคำตอบว่า เหตุใด ท่านจึงเป็นเทพเจ้าที่ครองใจผู้คนมายาวนาน ชนิด “เรตติ้ง” ไม่เคยตก ยิ่งมีเสียงร่ำลือว่า ยามใดที่ปุถุชนต้องผจญอุปสรรค โดยเฉพาะทรัพย์สินเงินทองของมีค่าหล่นหาย ให้จัดเครื่องเซ่นสังเวยไปบัดพลีบูชาพระพิฆเนศ  ยังไม่นับบุคคลในเครื่องแบบทหารตำรวจ และเหล่าศิลปินกับช่างฝีมือ ที่นิยมบูชาท่าน ทั้งในฐานะเทพผู้ขจัดอุปสรรคและเทพแห่งศิลปวิทยาการมาช้านานแล้ว





                       รูปปั้น และศาลบูชาพระพิฆเนศมากมายในประเทศนี้ บอกความจริงว่า แม้พุทธศาสนานิกายเถรวาท จะเป็นศาสนาหลัก (อย่างเป็นทางการ) ของประชากรไทยส่วนใหญ่ แต่ในทางปฏิบัติ ความเป็น “พหุสังคม” ที่ผสมผสานหลากหลายความเชื่อ จากหลากหลายวัฒนธรรมเข้าด้วยกันมานานเช่นสังคมไทย จึงไม่น่าแปลกใจ ที่บ่อยครั้ง เราพบว่าในวัดพุทธเถรวาทแห่งหนึ่ง อาจมีรูปเคารพ “กวนอิม” ในคติพุทธมหายาน และเทวรูปทวยเทพในศาสนาฮินดู ประดิษฐานให้ผู้คนกราบไหว้อยู่ไม่ไกลจากพระปฏิมาประธาน





                       จังหวัดหนึ่งที่มีความหลากหลายของรูปเคารพเป็นจุดดึงดูดนักท่องเที่ยวจำนวนมาก คือ แปดริ้ว หรือ ฉะเชิงเทรา จากเดิมที่มีองค์พระพุทธโสธร วัดโสธรวรารามวรวิหาร ที่คนไทยทั่วทุกภูมิภาคเคารพสักการะ มีหลวงพ่อโต “ซำปอกง” (พระไตรรัตนนายก) แห่งวัดอุภัยภาติการาม หรือวัดซำปอกง มีพระโพธิสัตว์กวนอิมพันมือ ที่วัดจีนประชาสโมสร (วัดเล่งฮกยี่) และพระโพธิสัตว์กวนอิมลอยน้ำ ประดิษฐาน ณ สมาคมสงเคราะห์การกุศลฉะเชิงเทรา เป็นแหล่งแสวงบุญหลักในเขตอ.เมือง ส่วนที่อ.บางคล้า มีอนุสรณ์สถานสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช กับพระอุโบสถสีทองอร่ามเรือง ณ วัดปากน้ำโจ้โล้ เป็นจุดสนใจ เพราะบริเวณนี้ มีหลักฐานว่าเคยเป็นสมรภูมิรบที่พระเจ้าตากสินมีชัยชนะเหนือกองทัพพม่า





                       แต่ในระยะหลัง อ.บางคล้า ยิ่งโด่งดัง เมื่อ วัดสมานรัตนาราม จัดสร้างพระพิฆเนศปางประทับนอนเสวยสุขที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย ด้วยความสูง 16 เมตร ยาว 22 เมตร มีพระวรกายเป็นสีชมพูดูอลังการ รวมถึงเทวรูปพระพรหม หรือองค์ท้าวมหาพรหม ขนาดสูงใหญ่ที่สุดในโลก พระโพธิสัตว์กวนอิมปางประทานบุตร  พระพิฆเนศปางปาฏิหาริย์ 108 กร พระอุปคุต และพระเกจิอาจารย์อีกหลายองค์ ที่เสริมส่งให้วัดนี้กลายเป็นที่ชุมนุมเทวดาและพระโพธิสัตว์ จนต้องมีลานจอดรถขนาดมหึมา และศูนย์อาหารขนาดใหญ่ไว้รองรับนักแสวงบุญจากทั่วทุกสารทิศ





                       ล่าสุด มีพระพิฆเนศปางประทับยืน เนื้อสำริด ความสูง 39 เมตร ตระหง่านขึ้น ณ อุทยานพระพิฆเนศ บนพื้นที่ 25 ไร่ เขตอ.คลองเขื่อน ภายในยังมีเทวรูปพระศิวะและพระศรีอุมาเทวี นารีเทพผู้ให้กำเนิดพระพิฆเนศ และพระพิฆเนศปางประจำวันเกิด กับเรื่องราวรอบด้านอันเกี่ยวเนื่องกับเทพผู้มีเศียรเป็นช้างพระองค์นี้ แม้กระทั่งข้อห้ามใช้ดอกเยบีร่าบูชาพระพิฆเนศ ด้วยความเชื่อว่าเป็นดอกไม้ที่เกิดจากการแปลงร่างของอสูร บรรยากาศในอุทยานพระพิฆเนศ ชวนให้หวนคิดถึงข้อพิเคราะห์ของ ไมเคิล ไรท นักวิชาการผู้เชี่ยวชาญวัฒนธรรมอินเดีย ในหนังสือ “พระพิฆเนศ มหาเทพฮินดู ชมพูทวีป และอุษาคเนย์” ตอนหนึ่งว่า

                       “พระพิฆเนศ เป็นมหาเทพฮินดูที่มีคนเคารพรักอย่างแพร่หลายที่สุด ในหมู่คนหลายชาติหลายภาษาและทุกชนชั้น... ท่านเป็นพระผู้เป็นเจ้าที่อารมณ์ดี มีเศียรเป็นช้าง ร่างกายเหมือนทารกอ้วนพีน่ารัก ขี่หนูเป็นพาหนะ ชอบร้องรำทำเพลง

                       ในระดับหนึ่ง อาจจะเทียบพระพิฆเนศกับซานตาคลอสได้สนิท เพราะซานตาคลอสก็อ้วนลงพุง มีใบหน้าเรื่อแดง ใช้อาภรณ์แดงขลิบขาว หมายถึงพระอาทิตย์ที่ลอยลงมาเหนือปุยเมฆ เพื่อนำความอบอุ่นมีชีวิตชีวามาสู่โลกเช่นกัน ในการลงสีพระพิฆเนศ ก็มักใช้พระพักตร์สีแดง กับพระวรกายสีขาว หมายถึงแสงสุริยาที่มาเหนือเมฆ และนำความอุดมสมบูรณ์มาสู่โลก”





                       กลับจากอุทยานพระพิฆเนศบ่ายวันนั้น มีคำถามจากเพื่อนร่วมทางว่า แนวคิดแข่งกันสร้างรูปเคารพเพื่อดึงศรัทธาผู้คน จะดำรงอยู่ไปอีกนานไหม? คงยากจะหาคำตอบ แต่อย่างน้อย ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นที่ฉะเชิงเทราวันนี้ อาจเป็นกรณีตัวอย่างให้เกิดกระบวนการเรียนรู้ “ความแตกต่างและหลากหลาย” ของคติความเชื่อที่มีอยู่ในสังคมไทย ซึ่งไม่ต่างไปจากคติความเชื่อใน “ประชาคมอาเซียน” ที่กำลังจะเกิดขึ้นเลย

                       คงเป็นภาระหน้าที่ของศาสนิกในทุกศาสนา ที่จะต้อง 1.เข้าถึงความหมายอันลึกซึ้งที่สุดแห่งศาสนาของตน 2.ทำความเข้าใจอันดีระหว่างศาสนา และ 3.ดึงเพื่อนมนุษย์ให้ออกมาเสียจากวัตถุนิยม ดังปณิธานในชีวิตที่ท่านพุทธทาสภิกขุ ตั้งเป็นประทีปนำทางไว้ให้เราทุกคน





------------------------

(ท่องไปกับใจตน : แปดริ้ว พระพิฆเนศ กวนอิม ซานตาคลอส และพุทธทาส : โดย ... ธีรภาพ โลหิตกุล teeraparb108smile@gmail.com)

- See more at: http://www.komchadluek.net/detai ... thash.yTgTWKS1.dpuf
ยังไม่เคยได้ไปเลยอ่า
ขออภัย! คุณไม่ได้รับสิทธิ์ในการดำเนินการในส่วนนี้ กรุณาเลือกอย่างใดอย่างหนึ่ง ลงชื่อเข้าใช้ | ลงทะเบียน

รายละเอียดเครดิต

ตอบกระทู้ ขึ้นไปด้านบน ไปที่หน้ารายการกระทู้