ตั้งให้เราเป็นเว็บแรกที่คุณเลือก เก็บเราไว้เป็นเว็บโปรด
สมัครสมาชิก ได้มากกว่าที่คุณคิด เข้าสู่ระบบ
ดู: 2033
ตอบกลับ: 3
สั่งพิมพ์ ก่อนหน้า ถัดไป

ปริศนา ถนนราชดำเนิน อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย เส้นทางสู่ประชาธิปไตย

[คัดลอกลิงก์]




ถนนราชดำเนินและอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย เป็นสถานที่ก่อเกิดเหตุการณ์ทางการเมืองของไทยในอดีตมาจวบจนปัจจุบัน ภาพจำนวนมหาชน(นิสิต นักศึกษาและประชาชน) ล้นหลามเต็มท้องถนนราชดำเนินและภาพเหตุการณ์นองเลือด  ในเดือนตุลาคม ๒๕๑๖  บนถนนสายนี้ถูกถ่ายบันบึกไว้ทั้งเป็นภาพยนต์และภาพนิ่งเผยแพร่ไปทั่วโลก หลังจากเหตุการณ์เดือนตุลาคม ๒๕๑๖ผ่านไป  มีเหตุการณ์ชุมชุมทางการเมืองบนถนนสายนี้เกิดขึ้นตามมาอีกหลายครั้ง  จนถึงวันนี้
              เพื่อให้ทราบถึงความเป็นมาของถนนราชดำเนินและอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย  วันนี้ ผมจึงขอนำประวัติการก่อสร้างสถานที่ทั้งสองมาเสนอ  โดยอ้างอิงจาก หนังสือเรื่อง เล่าเรื่องบางกอก ฉบับสมบูรณ์ ของ ส.พลายน้อย
               ส.พลายน้อย ได้เขียนเล่าไว้ ในหนังสือของท่าน ว่า “พูดกันถึงภูมิประเทศก่อนที่จะมาเป็นถนนราชดำเนินนั้น บางแห่งก็เป็นสวน บางแห่งก็เป็นที่ลุ่มน้ำนอง ลักษณะเช่นนี้มีอยู่มากแห่งหรือเกือบจะทั่วไป แม้ในกำแพงพระนครแต่ก่อนนี้ก็เป็นเช่นนั้น  ม.ล.ยิ่งศักดิ์ อิศรเสนา ได้เขียนเล่าไว้ในหนังสือ ประวัติเจ้าคุณพ่อ ถึงพระมหานครเมื่อ ๑๐๐ ปีมาแล้ว มีข้อความตอนหนึ่งว่า
               ว่ากันทำไมมี กรุงเทพพระมหานครเวลานั้น ก็คือป่าเตี้ยปนละเมาะเราดีๆ นี่เอง มีทุ่งหญ้าแทรกแซงอยู่บ้างเป็นตอนๆ พึ่งมีมนุษย์มาหักล้างถางที่ปลูกเคหสถานอยู่กันเป็นหย่อมๆรอบพระนคร ริมกำแพงเมืองด้านในมีราษฎรซึ่งส่วนมากเป็นพวกทาสพวกเลขอาศัยปลูกเพิงสุนัขแหงนมุงจากอยู่กันเป็นระยะๆ ใช้กำแพงเมืองเป็นผนังด้านหลัง อีกสามด้านกันด้วยขัดแตะ บ้างก็เปิดด้านหน้าออกขายกล้วยแขกบ้าง ข้าวโพดคั่วอ้อยควั่นบ้างตามแต่ฤดูกาลจะอำนวยพืชผล อะไรให้มีขายก็ขายกันไปตามเพลง บนกำแพงเมืองก็ยังเป็นที่ๆราษฎรอาศัยเลี้ยงวัวได้ไม่เหมือนเดี๋ยวนี้ จึงนานๆ ก็มีวัวก้าวพลาดพลัดกำแพงมาบนหลังคาเพิงของชาวบ้าน ทำให้โกลาหลอลหม่านกันเสียทีหนึ่งพอแก้เหงา
               ที่ใหนเป็นที่ลุ่มไม่มีใครปลูกบ้านเรือนอยู่ก็เป็นป่าโสนมืดทึบ น้ำขังแค่บั้นเอว เช่นแถวบางลำพู คอกวัว ไปจนกระทั่งวัดศิริเหล่านี้ เมื่อก่อนเป็นดงโสนน้ำเฉอะไปทั้งนั้น ทั่งพระเมรุก็ยังเป็นป่าหญ้ารก หน้าน้ำน้ำเซาะเข้าขังเจิ่งเป็นที่ตกกบตกปลากินกัน  ถึงหน้าแล้งก็ใช้สร้างเมรุกันเสียที พึ่งจะมาใช้ทำนาเอาข้าวใส่บาตรในตอนหลังนี่เอง  แม้ที่ว่าการกลาโหมและยุติธรรมซึ่งอยู่หน้าพระราชวังก็ยังเป็นโรงจากพื้นดินทุบราด กวาดเตียน พอหมอบกราบกันได้เท่านั้นเอง
               ถนนครั้งนั้นก็คือช่องป่าที่กรุยใหม่ พึ่งฟันต้นไม้ใหญ่ลงพอหายเกะกะเท่านั้น ทางที่ใช้สัญจรกันจริงๆ ก็เพียงแนวที่เตียนราบด้วยเท้าย่ำกว้างพอตะแคงหลีกกันได้ครือๆ นอกนั้นก็รกรุงรังไปด้วยหญ้าพงแขม ผักโขมและขี้ครอกทั้งสองข้างทาง คนเดินห่างกันไม่ถึงเส้นจะมองเห็นกันก็ทั้งยาก”
              ส.พลายน้อย ได้เขียนเล่า ว่า “ถนนราชดำเนินนั้น กว่าจะสร้างเสร็จก็ได้มีการเปลี่ยนแปลงกันหลายครั้ง แรกเริ่มเดิมทีนั้นกะจะตัดทางตั้งแต่ถนนพระสุเมรุ ข้ามคลองบางลำพูที่ตำบลบ้านพานถม ตรงไปตำบลป้อมหักกำลังดัสกร ข้ามคลองผดุงกรุงเกษมไปบรรจบถนนเบญมาศ แต่เมื่อพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทอดพระเนตรเห็นแผนที่ ซึ่งเจ้าพนักงานตรวจทางนำขึ้นทูลเกล้าถวาย ก็ได้ความว่า ถ้าตัดถนนไปตำบลบ้านพานถมจะไม่เป็นถนนที่ได้แนวตรงตลอดถนนเบญมาศ จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ จะให้สร้างถนนยูรยาตรขึ้นใหม่อีกสายหนึ่ง ซึ่งจะได้ผ่านไปในตำบลบ้านพานถมให้ต้องตามกระแสพระราชดำริเดิม แลทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้ย้ายตำบลที่จะสร้างถนนเสียใหม่ กำหนดตัดที่สร้างถนนราชดำเนิน ตั้งแต่ถนนพฤฒิบาศผ่านตำบลบ้านหล่อ ไปตำบลป้อมหักกำลังดัสกร ข้ามคลองผดุงกรุงเกษมไปบรรจบถนนเบญมาศ
2#
 เจ้าของ| โพสต์ 2015-7-8 13:58 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
การที่ทรงเปลี่ยนใหม่นี้ ก็เพราะทรงมีพระราชดำริเห็นว่า ในท้องที่แนวถนนราชดำเนินที่จะตัดไปนี้ ไม่ได้ตัดผ่านเข้าไปในหมู่บ้านของประชาชนเป็นแต่ตัดผ่านเข้าไปในสวนซึ่งมีคนอยู่น้อย และส่วนมากก็เป็นที่หลวงไม่ทำให้ประชาชนต้องได้รับความเดือดร้อนแต่อย่างใด อีกประการหนึ่ง ถนนสายนี้เป็นถนนตรงแนวกับพระที่นั่งด้วย(คือที่สวนดุสิต ซึ่งกำลังสร้างอยู่ในเวลานั้น) จึงสมควรจะสร้างถนนในตำบลนี้ให้ใหญ่กว้าง ปลูกต้นไม้ตามแนวถนนให้เป็นทางร่มรื่นแก่มหาชน ที่จะเดินไปมาบนถนนนั้น ทั้งจะเป็นถนนอันงามสง่าของบางกอกด้วย จึงกำหนดความกว้างของถนนราชดำเนินไว้กว้างขวาง นับเป็นถนนที่ทันสมัย เพราะได้แบ่งออกเป็น ๕ ทาง ทางกลางสำหรับรถยนต์ รถม้า รถบรรทุก หรือที่เป็นรถขนาดใหญ่ ทางเล็กๆถัดมาอีก ๒ ข้างปูด้วยพื้นซิเมนต์สำหรับคนเดิน ถัดออกมาสองข้างทางใช้เป็นทางสำหรับรถลาก ที่ริมถนนก็ปลูกต้นไม้เป็นระยะๆ”
               นี่คือสภาพถนนราชดำเนิน เมื่อสร้างเสร็จใช้ประโยชน์ครั้งแรก ต่อมา ได้มีการบูรณะถนนราชดำเนินครั้งใหญ่ เมื่อ พ.ศ. ๒๔๘๓   ถนนราชดำเนินจึงมีสภาพเช่นที่เป็นในปัจจุบันนี้
               ส่วน อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ส.พลายน้อย ได้เล่าไว้ว่า “หลวงพิบูลย์สงคราม ซึ่งเป็นนายกรัฐมนตรี ได้ทำพิธีวางศิลาฤกษ์เมื่อวันที่ ๒๔ มิถุนายน พ.ศ.๒๔๘๒ (ตอนเช้า ๙.๑๖-๙.๕๗ น.) อันเป็นปีแรกที่มีการฉลองวันชาติ การก่อสร้างได้ใช้เวลาถึง ๑ ปี คือสำเร็จเมื่อวันที่ ๒๔ มิถุนายน พ.ศ.๒๔๘๓ เวลา ๒๔.๐๐ น.และในตอนเช้าของวันที่ ๒๔ มิถุนายน ก็ทำพิธีเปิดอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ค่าใช่จ่ายในการก่อสร้างเป็นเงิน ๒๕๐,๐๐๐ บาท (บริษัทคริสเตียนนีและนิลเสนสยาม เป็นผู้รับจ้างก่อสร้าง)
3#
 เจ้าของ| โพสต์ 2015-7-8 13:59 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
ความหมายของอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย มีดังนี้
               ๑.ตัวปีกอนุสาวรีย์ทั้ง ๔ ด้าน สูงจากแท่นพื้น ๒๔ เมตรและมีรัศมีจากจุดศูนย์กลางของป้อมที่ตั้งพานรัฐธรรมนูญ ไปจนถึงขอบสุดยอดของฐานมีระยะ ๒๔ เมตร จำนวน ๒๔ มีความหมายถึง วันที่ ๒๔ มิถุนายน ซึ่งเป็นวันเปลี่ยนแปลงการปกครอง และปีกทั้ง ๔ นั้นก็มีความหมายถึงความเจริญรุ่งเรืองแห่งการปกครองระบอบประชาธิปไตยอีกด้วย
               ๒.รอบอนุสาวรีย์ที่ขอบวงเวียน  ได้ฝังปืนใหญ่โบราณไว้มีจำนวน ๗๕ กระบอก หมายความถึง พ.ศ. ๒๔๗๕ อันเป็นปีที่เปลี่ยนแปลงการปกครอง
               ๓.ภาพต่างๆ ที่ฐานใต้ปีกทั้ง ๔ แสดงถึงเหตุการณ์ที่คณะราษฎรเปลี่ยนแปลงการปกครอง
               ๔.พานรัฐธรรมนูญ สูง ๓ เมตร  หล่อด้วยโลหะหนักประมาณ ๔ ตัน ความสูงของพานหมายถึงเดือน ๓(ตามแบบไทยนับเมษายนเป็นเดือนที่ ๑) มิถุนายน อันเป็นเดือนที่เปลี่ยนแปลงการปกครอง อาจารย์จิตร บัวบุศย์ เป็นผู้ปั้นและหล่อ
               ๕.ที่ป้อมรองพานรัฐธรรมนูญ  มีประตู ๖ แห่งและแต่ละประตูมีพระขรรค์ ๑ เล่ม รวม ๖เล่ม  ซึ่งหมายถึงหลัก ๖ ประการ ซึ่งเป็นนโยบายในสมัยแรกเริ่มของคณะราษฎร.”
                ถนนราชดำเนินและอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย จึงรวมกันมีความหมายว่า เส้นทางอันยิ่งใหญ่ มุ่งไปสู่ประชาธิปไตยของปวงชนชาวไทย
ขออภัย! คุณไม่ได้รับสิทธิ์ในการดำเนินการในส่วนนี้ กรุณาเลือกอย่างใดอย่างหนึ่ง ลงชื่อเข้าใช้ | ลงทะเบียน

รายละเอียดเครดิต

ตอบกระทู้ ขึ้นไปด้านบน ไปที่หน้ารายการกระทู้