เรื่องเล่าชาวสยาม ได้เพิ่มรูปภาพใหม่ในอัลบั้ม: ท่านคือตำนาน
อาจารย์เฮง ไพรวัลย์ เป็นคนพื้นเพ ณ ทุ่งหันตรา พระนครศรีอยุธยา ท่านเป็นบุตรของนายตำรวจผู้ตรวจการเรือนจำ ท่านเกิดในปี พ.ศ.๒๔๒๘ ในสมัยรัชกาลที่ ๔ แล้วสิ้นในปี พ.ศ.๒๕๐๒ ในสมัยรัชกาลที่ ๙ ข้อมูลบางที่บอกว่าท่านเกิดในสมัยรัชกาลที่ ๔ ซึ่งเมื่อดูจากปี พ.ศ.แล้วเป็นการสันนิษฐานผิด เพราะแผ่นดินของในหลวงรัชกาลที่ ๔ ยุติลงที่ พ.ศ.๒๔๑๑
อุปสมบท ครั้งแรก ณ วัดสุวรรณคาราราม พระนครศรีอยุธยา ได้ศึกษาตำรับตำราวิชาโบราณต่าง ๆ จากวัดประดู่โรงธรรม ซึ่งเป็นวัดที่เก็บรวบรวมตำรับตำราต่าง ๆ เอาไว้มากมาย อันเป็นแม่บทของตำราที่ว่าด้วยเวทย์มนต์คาถา และอักขระเลขยันต์เฉพาะอย่างยิ่ง ท่านได้เรียนรู้ตาม คัมภีร์รัตนมาลา อย่างแตกฉาน และเจนจบ ภายหลังท่านได้ลาสิกขาบท และกลับมาอุปสมบทอีกครั้ง ณ วัดพระญาติการาม โดยมีหลวงพ่อกลั่น ธัมมโชติ เป็นพระอุปัชฌาย์ ได้ศึกษาสรรวิชาหลายแขนงจากหลวงพ่อกลั่น และได้ลาสิกขาบทอีกครั้ง เป็นฆาราวาสจนกระทั่งถึงแก่ชีวิต ฐานะครอบครัวทางบ้านของอาจารย์เฮง นับได้ว่าเป็นตระกูลที่มีทรัพย์สินมากระดับขั้นเศรษฐีมีที่ดินที่นามากในทุ่งหันตรา คุณพ่อของอาจารย์เฮง เป็นคนที่มองการณ์ไกลได้ให้อาจารย์เฮงไปศึกษาต่อที่ต่างประเทศ คือ ปีนัง ประเทศสิงคโปร์ คนในไทยยุคนั้นหากสามารถส่งลูกไปเรียนที่ต่างประเทศได้ถือว่าไม่ธรรมดาทางด้านฐานะ อาจารย์เฮงตกลงได้เดินทางไปสิงคโปร์ตามคำของคุณพ่อทุกประการ การไปศึกษาถึงต่างประเทศทำให้อาจารย์เฮงได้พบเพื่อนใหม่ๆ มากมาย และเหล่าพ้องเพื่อนนั้นต่อมาได้รับราชการกันเกือบหมด ได้เป็นพระยา ได้เป็นคุณหลวงหลายคน อาทิ พระยาเพชรปรีชา แต่ขณะที่ศึกษาอยู่นั้นภายใต้จิตของอาจารย์เฮง จิตใจยังระลึกวันที่บวชเป็นพระอยู่แล้วเพิ่งจะลาสิกขาบทมาหมาดๆ ก่อนที่จะเดินทางไปศึกษาต่อ อาจารย์เฮงบวชครั้งแรกที่วัดสุวรรณคาราราม เหตุที่ทำให้ในใจของอาจารย์เฮงเป็นเยี่ยงนี้เพราะว่า หลวงตาชื้นในวัดสุวรรณคาราราม เล่นแร่แปรธาตุอะไรบางอย่างให้ดูด้วยคาถาอาคม จึงรู้สึกชอบและอยากจะให้ได้อย่างนั้นบ้าง ครั้นจะบวชอยู่ต่อก็ไม่ไหว เพราะพ่อเร่งรัดว่าต้องไปศึกษาต่อ จึงจำใจต้องลาสิกขาบทก่อน เพื่อเป็นการมิขัดใจต่อพ่อใครจะไปคิดได้ถึงว่าที่สุดอาจารย์เฮง ก็ทำเรื่องลาออกจากโรงเรียนที่ปีนังด้วยตัวเอง เพราะการเรียนอยู่ที่นั้นรู้สึกฝืนจิตใจชอบกล อาจารย์เฮงจึงได้หารือกับเพื่อนสนิทซึ่งต่อมาได้เป็นพระยาเพชรปรีชา ว่าจะลาออกกลับเมืองไทยเพื่อศึกษาไสยเวทเพราะชอบทางนั้น ท่านพระยาเพชรปรีชาก็มิได้ทักท้วง แต่ได้แนะนำว่าของดีของขลังทางภาคใต้บ้านเราก็มีอยู่มากโดยเฉพาะที่เขาอ้อ พัทลุง ที่สุดแล้วได้เดินทางกลับประเทศไทย โดยเข้ามาอาศัยอยู่ทางภาคใต้ก่อน หลังจากที่ได้ยินคำเพื่อนแนะนำ จึงบ่ายหน้าไปที่ เขาอ้อ พัทลุง ที่มีพิธีกรรมอันศักดิ์สิทธิ์มากมาย อาทิ อาบน้ำว่าน, สักยันต์นะ ๙ เฮชาตรี ศึกษาพืชสมุนไพร
การหาสมุนไพรไม่ใช่หากันได้ง่ายๆ เมื่อเดินเข้าไปในป่าเขาลึกแล้ว เมื่อพบสมุนไพรบางตัว ตามสูตรต้องเก็บตามฤกษ์ยาม เพราะสมุนไพรบางตัวต้องเก็บยามเช้า บางตัวต้องเก็บกลางคืน เพราะสมุนไพรบางตัวจะคลายตัวยาออกมาที่ใบตอนกลางคืน พอเราไปเก็บตอนกลางวันก็คงไม่มีประโยชน์ หรือบางตัวเราต้องเก็บยามเช้าแต่พอไปเก็บยามบ่ายก็ไม่ส่งผลแต่ประการใด นับเป็นภูมิปัญญาของชาวบ้านโดยแท้ สมุนไพรที่เก็บยากมากที่สุดเห็นจะเป็นจำพวกที่ต้องไปเก็บตอนเดือนหงาย เวลาเก็บต้องกลั้นหายใจ เพราะในป่าเงียบมากพอไปถึงต้นแล้วหายใจดังจะทำให้ว่านตกใจหุบดอกหุบใบจนสิ้นก็จะไม่สามารถเก็บได้ เพราะถึงเก็บมาตัวยาของว่านก็วิ่งกลับเข้าลำต้นแล้ว ก่อนเด็ดก็ต้องว่าคาถาบัดพลีต่อเจ้าป่าเจ้าเขาในใจก่อน ไม่ใช่เจอแล้วจู่ๆ เด็ดเลย เรื่องต่างๆ เหล่านี้จึงเป็นอะไรที่ละเอียดอ่อนเป็นอย่างมาก ท่านชอบเรื่องของการสักยันต์เป็นอย่างมาก จึงพยายามศึกษาในขั้นพื้นฐานจากที่สำนักเขาอ้อ ที่สำนักเขาอ้อนี้แม้แต่นายหัวมหาเศรษฐีอย่าง ดร.ไมตรี บุญสูง ก็ได้มาศึกษาถวายตัวเป็นศิษย์และได้อาบน้ำว่านด้วย การอาบน้ำว่านนี้ทำให้ผิวหนังดี คือ หนังเหนียวฟันแทงยิงไม่เข้า อดีตนายตำรวจปราบปรามเสือร้ายอย่าง พล.ต.ต.ขุนพันธ์ฯ ก็เป็นศิษย์สายเขาอ้อนี้เช่นกัน
อาจารย์เฮงอยู่เขาอ้อได้ประมาณสามเดือนก็เดินทางกลับเข้าพระนคร (กรุงเทพฯ) จากนั้นก็เดินทางกลับบ้านเกิดที่ทุ่งหันตรา ไม่นานพ่อของท่านซึ่งป่วยอยู่ก็ได้จากไป ท่านจึงมุ่งหน้าศึกษาเรื่องไสยเวทอีกครั้งอย่างจริงจัง โดยคราวนี้ท่านได้เดินไปที่วัดประดู่โรงธรรม ซึ่งเป็นวัดที่เก็บเอกสารวิชาตำรับตำราโบราณตั้งแต่สมัยสมเด็จพระนเรศวรมหาราช มีบัญชาให้สมเด็จพระพนรัตน์ วัดป่าแก้ว พระเกจิเชื้อสายรามัญ เป็นผู้เรียบเรียงและรวบรวมขึ้น โดยเฉพาะวิชาเดินทัพพิชัยสงคราม หลักการของตำราพิชัยสงคราม สามารถแตกออกได้หลายแขนง อาทิ วิชาสมุนไพรรักษาโรคนานาชนิด, วิชาการสักยันต์และอักขระอันศักดิ์สิทธิ์, วิชาการตั้งพิธีกรรม, วิชาการตั้งค่ายกล, วิชาการตั้งทัพ, วิชาการเลือกชัยภูมิสร้างเมือง (ฮวงจุ้ย), วิชาตั้งปั้นเครื่องราง เป็นต้น อาจารย์เฮง ได้ศึกษาคัมภีร์รัตนมาลา หรือ คาถามหาพุทธาธิคุณ ซึ่งว่าด้วยบทอิติปิโสครบสูตร ในนั้นมียันต์มหาจักรพรรดิตราธิราช การศึกษาสมัยนั้นเมื่อท่องได้แล้วก็ต้องเขียนได้ เมื่อเขียนได้ก็ต้องเรียนพิธีกรรมเสริม เพราะแต่ละบทต่างก็ต้องใช้พิธีกรรมควบคู่กันไปด้วย ไม่ใช่ทำไปเรื่อยอย่างคนรุ่นหลังๆ อย่างการลบกระดานเพื่อเอาผงพุทธคุณ มือก็เขียนกระดานชนวนไปใจก็ตรึกนึกบริกรรมคาถา เขียนไปจนครบจบขบวน เวลาลบก็กลั้นใจให้คาถาอีกบทลบเอาผงเพื่อใส่ในบาตรพระ นั่นแลกว่าจะได้สักหนึ่งย่อมยากเย็นประณีตนัก เครื่องรางของขลังในยุคสมัยก่อนจึงมากไปด้วยความขลังศักดิ์สิทธิ์ มีอานุภาพจริงๆ ไม่ใช่เปิดโรงงานนั่งปั๊มกันตึงๆ ทั้งวันทั้งคืน ของคนโบราณเขาดีทั้งในทั้งนอก เนื้อหามวลสารดีแล้ว แต่กว่าจะเป็นมวลสารได้ก็ต้องว่าคาถาทุกขั้นตอน จึงไม่ต้องแปลกใจหรอกว่าทำไมพระเครื่องรางของขลังเก่าๆ จึงขลัง ผู้ใดใครมีจึงห่วงแหนนัก เพราะเป็นของที่ดีจริงๆ เลิศจริงๆ เพราะเขาไม่ได้ทำกันเล่นๆ ในการเสกเครื่องรางก็ต้องตั้งราชวัตรฉัตรธง เป็นสถานที่สำหรับเสก ต้องมีการบวงสรวงพิธีกรรมต่างๆ นานาชนิด ไม่ใช่เรื่องง่ายๆ อย่างที่คิด คนที่ขาดความละเอียดและไม่ได้ศึกษามาโดยตรงหากไปจับไปต้องคงจะทำไม่ได้ตามสูตรแน่แท้ เมื่ออาจารย์เฮงศึกษาจนแตกฉานแล้ว จากนั้นท่านคิดที่จะศึกษาเรื่องของยันต์นะครบสูตรอีกสูตรหนึ่ง ซึ่งตอนท่านอยู่ทางใต้ยังไม่ทันได้ศึกษา เพราะมีเหตุต้องกลับมาที่บ้านก่อนด้วยเรื่องของพ่อท่าน สูตรยันต์ที่ว่านี้คือ ยันต์นะ ๙ เฮชาตรี เป็นที่สุดยอดอีกหนึ่ง ผู้ที่มีความรู้เรื่องยันต์นี้เหลือน้อยเต็มที แต่บังเอิญ หลวงพ่อกลั่น ธรรมโชติ วัดพระญาติการาม พระนครศรีอยุธยา ท่านมีความรู้เจนจบในเรื่องนี้
|