ตั้งให้เราเป็นเว็บแรกที่คุณเลือก เก็บเราไว้เป็นเว็บโปรด
สมัครสมาชิก ได้มากกว่าที่คุณคิด เข้าสู่ระบบ
ดู: 3883
ตอบกลับ: 1
สั่งพิมพ์ ก่อนหน้า ถัดไป

แม่ซื้อ....คติความเชื่อของชาวสยาม

[คัดลอกลิงก์]

เรื่อง "แม่ซื้อ" นี้เป็นความเชื่อของคนไทยในสมัยโบราณ ในยุคสมัยที่การแพทย์ยังไม่เจริญก้าวหน้าดังเช่นทุกวันนี้ ทารกแรกเกิดมักมีโรคภัยไข้เจ็บต่างๆ ซึ่งส่วนใหญ่มักจะเสียชีวิตตั้งแต่เป็นทารกแรกเกิด หรือก่อนจะครบหนึ่งปีกันเสียมาก
ด้วยเหตุนี้จึงเป็นผลให้เกิดความเชื่อที่ว่า มนุษย์ที่เกิดมานั้น "ผีปั้นรูปขึ้นก่อน" แล้วจึงหาวิญญาณใส่เข้าไปในหุ่นนั้นเพื่อสิงเข้าสู่ครรภ์มารดา และเมื่อทารกตายแล้วตั้งแต่แรกคลอด ก็เป็นเพราะผีที่ปั้นหุ่นนั้นเห็นว่า "ทารกนั้นงาม" ชอบใจอยากเอาไปเลี้ยง จึงทำให้เด็กตายในที่สุด ส่วนทารกที่ไม่ชอบก็ปล่อยให้มนุษย์เลี้ยงเอง
ความเชื่อนี้เป็นผลทำให้เกิดพิธีกรรมต่างๆ เพื่อเป็นการป้องกันไม่ให้ผีนำทารกกลับคืนไป เช่น ลวงผีให้เข้าใจว่าทารกนั้นไม่น่ารักโดยติว่า "น่าเกลียดน่าชัง" หรือเรียกชื่อว่า "เหม็น" เป็นต้น
นอกจากนี้ยังมีการให้ผู้อื่น "รับซื้อเด็กไป" เพื่อให้ผีเข้าใจว่าแม้แต่แม่ยังไม่รักไม่อยากได้ไว้ ผู้ที่ซื้อเด็กจึงมีชื่อเรียกว่า "แม่ซื้อ"
"แม่ซื้อ" เป็นคำเรียก "เทวดา" หรือผีที่เชื่อว่าอยู่ประจำตัวเด็กทารกตั้งแต่แรกคลอดจากครรภ์มารดา (ทางฝรั่งก็มีความเชื่อคล้ายๆกัน เรียกว่านางฟ้าแม่ทูนหัว ) ทำหน้าที่คอยดูแลปกปักรักษา ป้องกัน หลอกหลอน หรือเย้าแหย่ ตามแต่ลักษณะของแม่ซื้อที่อยู่กับเด็กทารกในวันทั้งเจ็ด นับแต่แรกคลอดออกจากครรภ์มารดาจนถึงอายุ ๑๒ เดือน หรือ ๑ ขวบ แม่ซื้อจึงจะไปจากเด็กนั้น
แม่ซื้อทั้ง ๗ มีที่สิงสถิตอยู่ในเมืองบน (เมืองสวรรค์) เมืองล่าง (พื้นโลก หรือแผ่นดิน) และกลางหน (ระหว่างสวรรค์ กับ พื้นโลก หรือท่ามกลางอากาศ คือ ท้องฟ้า)
ในคัมภีร์ปฐมจินดา ซึ่งเป็นคัมภีร์หนึ่งในกลุ่มตำราแพทย์แผนไทย กล่าวถึงแม่ซื้อความตอนหนึ่งว่า...
"หากนำรกของเด็กทารกไปฝากฝังไว้ ยังที่อยู่ของแม่ซื้อ จะทำให้แม่ซื้อรักใคร่เอ็นดู ปกปักรักษา เล่นหยอกล้อด้วย หากไม่เช่นนั้นแม่ซื้อก็จะหลอกหลอนให้เด็กตกใจ ร้องไห้ โยเย เจ็บไข้บ่อยๆ "
"แม่ซื้อ" ภูตประจำทารก มีอยู่ทั้งหมด ๗ ตน คือ
๑. วันอาทิตย์ชื่อ "วิจิตรมาวรรณ" หัวเป็นสิงห์ กายสีแดง
๒. วันจันทร์ชื่อ "วรรณนงคราญ" หัวเป็นม้า กายสีขาวนวล
๓. วันอังคารชื่อ "ยักษบริสุทธิ์" หัวเป็นควายกายสีชมพู
๔. วันพุธชื่อ "สามลทัศ" หัวเป็นช้าง กายสีเขียว
๕. วันพฤหัสบดี มีชื่อว่า "กาโลทุกข์" หัวเป็นกวาง กายสีเหลืองอ่อน
๖. วันศุกร์มีชื่อว่า "ยักษ์นงเยาว์" หัวเป็นโค กายสีฟ้าอ่อน
๗. วันเสาร์ชื่อว่า "เอกาไลย์" หัวเป็นเสือ กายสีดำ
ส่วนทางภาคใต้นั้น "แม่ซื้อ"จะมีฐานะเป็นเทวดามี ๔ ตน ชื่อว่า ผุด , ผัด , พัด , ผล
ในภาคอีสาน ซึ่งได้รับอิทธิพลจากเมืองเขมรมาเสียมากนั้น "แม่ซื้อ " คือแม่ในอดีตชาติ ที่คอยเฝ้าเด็กในครรภ์จนกระทั่งคลอด แล้วก็ยังตามมาดูแลด้วยความรัก เมื่อเห็นเด็กทารกมีแม่ใหม่ก็เกิดความหวงแหน อยากได้ลูกกลับไปอยู่กับตน จึงดลบันดาลให้เด็กเกิดอาการเจ็บป่วย
จากความเชื่อที่ต่างกันนี้ทำให้พิธีเกี่ยวกับแม่ซื้อแตกต่างออกไปด้วย
กล่าวคือภาคกลาง จะทำพิธี "บัตรพลีแม่ซื้อ" โดยผู้ทำพิธีจะทำบัตรขึ้นมาใบหนึ่ง ในบัตรจะใส่ของกินต่างๆ และตุ๊กตาดินรูปผู้หญิงนั่งพับอุ้มเด็ก เมื่อทำพิธีจบก็จะหักหัวตุ๊กตา ให้ "แม่ซื้อ" เอาไปแทน แม่ซื้อก็จะไม่มารบกวนอีก
ภาคใต้ เด็กทารกเกิดใหม่จะมีพิธีชื่อว่า"เสียแม่ซื้อ" โดยเชื่อว่าพิธีดังกล่าวเป็นสิริมงคลแก่ตัวเด็ก และจะได้รับการดูแลรักษาด้วยดีจากแม่ซื้อ การทำพิธีมักจะทำในวันเกิดของเด็ก หากเป็นวันข้างขึ้นก็ให้ใช้วันคี่ ข้างแรมให้ใช้วันคู่
ภาคอีสาน จะมี "พิธีรับขวัญเด็กอ่อน"โดยการนำเด็กทารกมาใส่กระด้งร่อน แล้วกล่าวว่า...
"สามวันลูกผี สี่วันลูกคน ลูกของใคร ใครเอาไปเน้อ"
ฝ่ายพ่อแม่ก็จะรับว่า....
"ลูกฉันเองจ๊ะ ลูกฉันๆ .....โอ๋ลูกรักของแม่ ฯลฯ "
"แม่ผี" เมื่อได้ยินเช่นนั้น ก็จะรู้ว่าทารกนั้นเป็นลูกของคนแล้วก็จะจากไป
อย่างไรก็ดีประเพณีดังกล่าว ไม่อาจเรียกได้ว่าเป็นประเพณีได้เต็มปาก เนื่องจากบางท้องถิ่นก็ไม่มีความเชื่อเกี่ยวกับ "แม่ซื้อ" แต่อย่างไร
นอกจากนี้ คำว่า "แม่ซื้อ" ยังเป็นชื่อโรคที่เกิดแก่ทารกตั้งแต่แรกคลอดจากครรภ์มารดา จนถึงอายุได้ ๑๒ เดือน ลักษณะอาการของโรคแม่ซื้อ มีชื่อเรียกและอาการของโรคแตกต่างกัน ๔ ประการ คือ

2#
 เจ้าของ| โพสต์ 2015-6-12 20:12 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
๑. ปักษี หรือ ปีศาจ อาการของโรคเกิดเป็นพิษจับไข้ แล้วมีเวลาสร่าง จำแนกได้ ๔ ชนิด คือ
- นนทปักษี ไข้จับเวลาเช้า สร้างเวลาค่ำ
- กาฬปักษี ไข้จับเวลาค่ำ สร่างเวลาเช้ามืด
- อสุนนทปักษี ไข้จับเวลาเที่ยววัน สร่างเวลาเที่ยงคืน
- เทพปักษี ไข้จับเวลาเย็น สร่างเวลาเช้าก่อนพระอาทิตย์ขึ้น
๒. ลำบองราหู อาการของโรคมีลักษณะแตกต่างกันตามอายุของเด็ก กำหนดตั้งแต่เด็กมีอายุได้ ๑ เดือน จนถึง ๑๒ เดือน อาการโรคมีต่างๆกันดังนี้
- ลำบองราหู เกิดเมื่ออายุได้ ๑ เดือน อาการเมื่อแรกจับ มีผื่นขึ้นทั้งตื่นนั้น พิษของเม็ดผื่นนั้น ทำให้เจ็บไปทุกขุมขน ขนชูชัน นอนสะดุ้ง ร้องไห้หาน้ำตามิได้ เป็นต้น
- ลำบองราหู เกิดเมื่ออายุได้ ๒ เดือน อาการเมื่อแรกจับ ทำให้เจ็บคอ อ้าปากร้อง กลืนอาหารไม่ได้ เป็นต้น
- ลำบองราหู เกิดเมื่ออายุได้ ๓ เดือน อาการเมื่อแรกจับ ทำให้ท้องขึ้น ท้องพองเหลือกำหนด อึดอัด หายใจไม่สะดวก ร้องไห้ดิ้นรนอยู่ดังจะขาดใจ เป็นต้น
- ลำบองราหู เกิดเมื่ออายุได้ ๔ เดือน อาการเมื่อแรกจับ นัยน์ตาจะเหลือง ให้กำมือเคลื่อนไหวร่างกายไม่ได้ แข็งกระด้างเกร็งไปทั้งตัว เป็นต้น
- ลำบองราหู เกิดเมื่ออายุได้ ๕ เดือน อาการเมื่อแรกจับ มีไข้ ตัวร้อน ท้องขึ้น ท้องพอง เป็นต้น
- ลำบองราหู เกิดเมื่ออายุได้ ๖ เดือน อาการเมื่อแรกจับ มือเท้าเย็น ท้องขึ้น ตาเหลือง หลังแข็ง เป็นต้น
- ลำบองราหู เกิดเมื่ออายุได้ ๗เดือน อาการเมื่อแรกจับ จะบิดตัว นัยน์ตาเหลือกขึ้นบน มือกำ เท้างอ เป็นต้น
- ลำบองราหู เกิดเมื่ออายุได้ ๘ เดือน อาการเมื่อแรกจับ มีไข้ ปากเปื่อย ยิงฟันเป็นนิจ เบื่ออาหาร เป็นต้น
- ลำบองราหู เกิดเมื่ออายุได้ ๙ เดือน อาการเมื่อแรกจับ หนาวสะท้าน หดมือ หดเท้า เป็นต้น
- ลำบองราหู เกิดเมื่ออายุได้ ๑๐ เดือน อาการเมื่อแรกจับ มีไข้ ตัวร้อนจัด นอนสะดุ้งผวา ร้องไห้ไม่หยุด เป็นต้น
- ลำบองราหู เกิดเมื่ออายุได้ ๑๑ เดือน อาการเมื่อแรกจับ มีไข้ ตัวร้อน มีเม็ดพิษขึ้นที่ราวนม และรักแร้ ทำให้ร้องไห้ดิ้นรน กางแขนอ้ารักแร้อยู่ตลอดเวลา เป็นต้น
- ลำบองราหู เกิดเมื่ออายุได้ ๑๒ เดือน อาการเมื่อแรกจับ เป็นไข้ชัก ตัวเย็น เป็นเหน็บ ร้องไห้ไม่ออก หมดสติ เป็นต้น
๓. อัคคมุขี อาการของโรคเกิดพิษไข้ตัวร้อน ท้องขึ้น อาเจียน ชักมือกำ เท้างอ เป็นต้น
๔. สะพั้น หรือ ตะพั้น อาการของโรคเกิดพิษไข้ตัวเย็นจัด ท้องขึ้น ชักมือกำ เท้างอ เป็นต้น
อย่างไรก็ตามความเชื่อเรื่อง "แม่ซื้อ" ล้วนเป็นภูมิปัญญาของบรรพชนไทยในอดีต ที่ได้จรรโลงสร้างสรรค์เป็นมรดกทางวัฒนธรรมของชาติ ให้แก่อนุชนคนรุ่นหลังได้ศึกษาและเรียนรู้ ดังนั้นจึงเป็นหน้าที่ของคนไทยทุกคน ที่จะร่วมกันอนุรักษ์ไว้ให้คงอยู่คู่กับบ้านเมืองสืบไป
หมายเหตุ
- จากภาพคือ ประติมากรรมแม่ซื้อ สมัยรัตนโกสินทร์ จากนิทรรศการเทวสตรี : คติพุทธ พราหมณ์ และความเชื่อในประเทศไทย
ผู้สนใจสามารถเข้าชมนิทรรศการดังกล่าวได้ตั้งแต่วันที่ ๒๙ เมษายน ถึงวันที่ ๒๖ กรกฎาคม ๒๕๕๘ (ยกเว้นวันจันทร์ - วันอังคาร และวันหยุดนักขัตฤกษ์) เวลา ๐๙.๐๐ – ๑๖.๐๐ น. ณ พระที่นั่งอิศราวินิจฉัย พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร
สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมที่หมายเลขโทรศัพท์ ๐ ๒๒๒๔ ๑๓
เอกสารประกอบการเขียน/ขอบคุณ
- ศรัทธาของชาวสุวรรณภูมิ, อ.สิริเดชะกุล
- กราบขอบพระคุณภาพประกอบสวยๆ จากฝีมือของคุณ Aksorn Q Pichai
- เนื้อความบางส่วนจากบทความของคุณ ก่องแก้ว วีระประจักษ์
- หนังสือจารึกวัดโพธิ์ มรดกความทรงจำโลก
- หนังสือพิมพ์ผู้จัดการ
- นิตยสาร อสท
น้อมเกล้าน้อมกระหม่อมถวายความรู้ทั้งหลายนี้เป็นพุทธบูชาเนื่องในมหาสมัยครบรอบ ๒,๖๐๐ ปีแห่งการตรัสรู้ของสมเด็จพระบรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้า พระมหาสมณโคดม น้อมเกล้าน้อมกระหม่อมถวายเป็นพระราชกุศลแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เนื่องในพระราชพิธีศุภมงคลเฉลิมพระชนมพรรษา
ทำอย่างไรถึงจะได้รับข้อความที่ทางเพจโพสทุกครั้ง ... กดคำว่า “ถูกใจ” แล้ว ใต้ “ภาพหน้าปก” จะมีคำว่า “รับการแจ้งเตือน” ให้กดที่คำนี้ จนเห็นเครื่องหมาย ‘ถูก’ ปรากฎขึ้น เพียงเท่านี้คุณก็จะไม่พลาดข้อความดีๆอีกต่อไป
fb: นิทรรศการพลังแผ่นดิน
อัศจรรย์งานศิลป์ แผ่นดินสยาม
https://www.facebook.com/Signnagas
ขออภัย! คุณไม่ได้รับสิทธิ์ในการดำเนินการในส่วนนี้ กรุณาเลือกอย่างใดอย่างหนึ่ง ลงชื่อเข้าใช้ | ลงทะเบียน

รายละเอียดเครดิต

ตอบกระทู้ ขึ้นไปด้านบน ไปที่หน้ารายการกระทู้