แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย รามเทพ เมื่อ 2015-6-3 13:42
ครูบาอาจารย์ คือลูกจ้างของศิษย์
ครูบาอาจารย์คือผู้นำฝ่ายวิญญาณของกุลบุตรที่เติบโตขึ้นมาในโลกนี้
การที่วิญญาณจะเดินไปถูกทางหรือมีใจสูงได้นั้นเป็นสิ่งที่มีได้ยาก เป็นสิ่งที่ลี้ลับมีพิธีรีตองมากและต้องอบรมนาน
ฉะนั้น...
จึงต้องมีบุคคลขึ้นประเภทหนึ่งในโลกนี้ เพื่อรับภาระอันนี้และเราเรียกกันว่า ครูบาอาจารย์
การที่ต้องมีบุคคลประเภทนี้ขึ้นโดยเฉพาะ ก็เพราะว่าจะได้มีผู้เชี่ยวชาญเฉพาะ
หรือมีโอกาสอันเพียงพอในการทำหน้าที่ของตน แต่คนสมัยนี้มีความคิดโน้มเอียงไปในทางที่ว่า.
.
ครูบาอาจารย์เป็นลูกจ้างหรือผู้รับจ้างทำหน้าที่นั้น ๆ เพราะได้รับเงินเดือน หรือสิ่งของสำหรับบำรุงจากผู้ใดผู้หนึ่ง หรือทางใดทางหนึ่ง
ความกตัญญูในครูบาอาจารย์จึงร่อยหรอไป
จริงอยู่ที่มีระเบียบให้เงินเดือนหรือถวายปัจจัยเครื่องยังชีพแก่ครูบาอาจารย์
แต่เมื่อคิดดูแล้ว สิ่งที่ให้นั้นมีค่าเพียงเพื่อยังชีพอยู่ได้
โดยไม่ต้องไปประกอบอาชีพอื่น จนหมดเวลาที่จะอบรมสั่งสอน และเมื่อเปรียบเทียบกันดูกับสิ่งที่อาจารย์ประสิทธิ์ประสาทให้ ย่อมจะเห็นได้ว่าความสูงทางฝ่ายวิญญาณที่ได้รับจากครูบาอาจารย์นั้น มีค่ามากเกินกว่าค่าของที่ใช้เป็นค่าบูชาครูบาอาจารย์ อย่างที่จะเปรียบกันไม่ได้เลย.
ครูบาอาจารย์พ้นจากฐานะของความเป็นลูกจ้าง แต่อยู่ในฐานะของความเป็นปูชนียบุคคลก็เพราะให้สิ่งที่มีค่าสูงสุดแก่ศิษย์ยิ่งกว่าที่ศิษย์จะตอบแทนไหวนี่เอง แม้จะจากกันไปแล้วก็ยังเป็นเครื่องยึดเหนี่ยวน้ำใจศิษย์
ให้งดเว้นการทำในสิ่งที่ไม่สมควรทำได้ทุกคราวที่ระลึกได้ถึงอาจารย์ว่าได้เคยพร่ำสอน หรือขอร้อง หรือแสดงความมุ่งหมายไว้อย่างไร พืชแห่งความมีใจสูงที่อาจารย์ได้เพาะหว่านไว้ในหัวใจของศิษย์นั้น แม้หากจะไม่ออกผลในขณะนั้น ก็ยังอาจออกผลได้ในกาลภายหลังเมื่อศิษย์เองแก่ชราไปแล้ว หรือแม้เมื่อจะสิ้นลมหายใจก็ยังเป็นสิ่งที่เป็นไปได้เสมอ การที่ได้เห็น ได้ยิน ได้ฟัง ได้อบรมตัวอย่างที่ดีจากอาจารย์ในแง่ต่าง ๆ
เมื่ออยู่ในสำนัก ย่อมเป็นเชื้ออันเร้นลับฝังอยู่ในสันดานของศิษย์โดยไม่รู้สึก สำหรับจะงอกงามเป็นสติปัญญาในการก้าวหน้า หรือการกลับตัวจากในทางที่ผิดในโอกาสหลังได้เสมอไป ในกรณีปรกติ ครูบาอาจารย์ย่อมยกสถานะทางวิญญาณของศิษย์ ให้สูงต่อขึ้นไปจากที่บิดามารดาได้ยกขึ้นไว้แล้ว เพราะเป็นบุคคลที่โลกจัดไว้เพื่อการนี้โดยเฉพาะ อาจารย์ต้องอดกลั้นอดทนเป็นพิเศษ และเอาใจใส่สอดส่องเป็นพิเศษจึงจะสามารถปลูกฝังความสูงทางวิญญาณลงไปในจิตใจของศิษย์ได้สำเร็จ,
นั่นแหละ คือเมตตาของอาจารย์.
อาจารย์ต้องทำการศึกษาและอบรมตนเองให้มากเป็นพิเศษอยู่เสมอ จึงมีอะไรเพียงพอที่จะปลูกฝังให้แก่ศิษย์,
นั่นแหละ คือปัญญาหรือวิชชาของอาจารย์
อาจารย์จักต้องเสียสละมากอย่างนี้เสมอไป จึงไม่อยู่ในฐานะที่จะตกเป็นลูกจ้างของศิษย์ แต่กลับมีบุญคุณอยู่เหนือศีรษะของศิษย์ทุกคน
ศิษย์ที่มีความกตัญญูจึงเป็นบุคคลที่มีความถูกต้องและสมประกอบอยู่ในนิสัยสันดานของตน มีความเหมาะสมที่จะทำโลกนี้ให้ร่มเย็น ด้วยความอดกลั้น อดทน และความเฉลียวฉลาดของตนสืบไป ความระลึกถึงบุญคุณของอาจารย์ มีแต่จะให้อยากทำสิ่งที่เป็นประโยชน์แก่ประชาชนสืบไปไม่มีที่สิ้นสุดเพื่อรักษาเกียรติแห่งสำนักของอาจารย์ และอุทิศส่วนกุศลแก่อาจารย์พร้อมกันไปในตัว พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ตรัสไว้โดยตรงว่า
เมื่อระลึกถึงคุณของผู้ที่ล่วงลับไปแล้ว มีทางที่ควรทำทางเดียวเท่านั้น คือการทำความดีอันกว้างขวาง อุทิศแก่บุคคลนั้น หรือเป็นที่ระลึกถึงบุคคลนั้น
การเซ่นสรวงหรือการร้องไห้เป็นต้น ไม่มีประโยชน์อันใดแก่ผู้ที่ล่วงลับไปแล้วเลย ฉะนั้น ผู้ที่รักอาจารย์ และรู้คุณของอาจารย์ จึงตั้งหน้าตั้งตาบำเพ็ญประโยชน์แก่โลก
พระผู้มีพระภาคเจ้า ได้พระนามว่า พระบรมครู เพราะทรงสามารถยกวิญญาณของสัตว์ให้สูงขึ้นได้จนถึงที่สุด ไม่ถูกความทุกข์ท่วมทับอีกต่อไป จนทำให้บุคคลนั้น ๆ ได้นามว่าพระอริยเจ้า
พระธรรมของพระองค์ก็คือวิธีการยกวิญญาณให้ขึ้นสูงพ้นจากน้ำ คือความทุกข์โดยสิ้นเชิงได้นั่นเอง
พระสงฆ์ คือผู้ที่ได้ทำตามนั้นแล้วสืบอายุของพระธรรมมาจนถึงพวกเรา ทำพวกเราให้มีโอกาสได้รับสิ่งประเสริฐ เหมือนกับได้รับจากพระพุทธเจ้าโดยตรง พระสาวกทั้งหลายเหล่านี้ ทนรับความยากลำบากทุกประการในการสืบอายุพระศาสนา ทั้งนี้ก็เพราะความกตัญญูในพระผู้มีพระภาคเจ้า เรากล่าวได้โดยไม่ต้องกลัวผิดว่า
ศาสนาเป็นมรดกตกทอดมาถึงพวกเราในสมัยนี้ได้ ก็เพราะความกตัญญูของเหล่าพระสาวก ที่ตั้งใจทำให้ตรงตามพระพุทธประสงค์นั่นเอง
ความกตัญญูของพระสาวกทำให้พระศาสนาสืบอายุมาได้เป็นพัน ๆ ปี โลกนี้มีศาสนาเป็นร่มโพธิ์ร่มไทรก็เพราะความเสียสละด้วยอำนาจความกตัญญูของบรรดาพระสาวกทั้งหลาย โลกมีธรรมเป็นเครื่องคุ้มครอง เพราะพุทธบริษัทปักใจทำให้ตรงตามพระพุทธประสงค์เพื่อสนองพระคุณของพระพุทธองค์ เราจึงเห็นได้ว่า
ความกตัญญูเป็นธรรมที่คุ้มครองโลก
สมควรที่เราทั้งหลาย จะช่วยกันรักษาเอาไว้อย่างมั่นคง
กล่าวโดยแท้จริงแล้ว ขนบธรรมเนียมประเพณีที่ดีงามของพุทธบริษัทล้วนแต่เกิดขึ้นมาเพราะความกตัญญูกตเวที เป็นไปได้เพราะกตัญญูกตเวที และมุ่งหมายจะชุบย้อมธรรมะคือความกตัญญูกตเวทีนี้ ให้ฝังแน่นอยู่ในจิตใจของบุตรหลานอันเป็นอนุชนสืบไปอย่างมั่งคง
โลกอาจรอดได้ แม้เพราะกตัญญูกตเวที พุทธทาส อินทปัญโญ |