หลังจากพระยาวชิรปราการได้รับชัยชนะที่ปากน้ำเจ้าโล้แล้ว ได้เดินทางมาทางบ้านหัวทองหลาง สะพานทอง (อำเภอพานทอง จังหวัดชลบุรี) ล่วงเข้ามาในเมืองชลบุรี บริเวณบ้านบางปลาสร้อย และเดินทัพมายังบ้านนาเกลือ แขวงเมืองบางละมุง นายกลม (หรือฉบับพระราชหัตถเลขาชื่อว่า นายกล่ำ) เป็นนายซ่องสุมไพร่พลหัวหน้า ต่อมาในวันอาทิตย์ แรม 6 ค่ำ เดือนยี่ ปีจอ อัฐศก (พ.ศ. 2309) นายกลมได้นำกำลังของพระยาวชิรปราการมาค้างแรมที่ “ทัพพระยา” (บางฉบับเรียกว่าพัทยา) รุ่งขึ้นไปที่บ้านนาจอมเทียน ทุ่งไก่เตี้ย สัตหีบ ประทับแรมหนึ่งคืน แล้วเดินทัพตามชายทะเลไปถึงตำบลหิงโขง และบ้านน้ำเก่า แขวงเมืองระยอง เมื่อถึงเมืองระยอง มีพระยาระยอง (บุญเมือง) เป็นเจ้าเมือง ไม่ยอมสวามิภักดิ์ พระยาวชิรปราการ จึงทำการตีเมืองระยองได้ และปะทะกับกลุ่มของขุนรามหมื่นซ่องที่บ้านประแส แขวงเมืองจันทบูร บ้านไร่ บ้านกล่ำเมืองแกลง จนได้รับชัยชนะ มุ่งหน้ายึดจันทบุรีซึ่งเป็นเมืองใหญ่เพื่อใช้เป็นฐานที่มั่น เจ้าเมืองจันทบุรีมิยอมสวามิภักดิ์ พระยาตาก (พระยาวชิรปราการ) จึงต้องใช้จิตวิทยาในด้านการรบมาใช้กับแม่ทัพนายกอง ฟื้นฟูขวัญกำลังใจของไพร่พล เพื่อต้องการรบให้ชนะ โดยสั่งให้ทุบ หม้อข้าวหม้อแกง พร้อมเปล่งวาจา
“เราจะตีเมืองจันทบุรีในค่ำวันนี้ เมื่อกองทัพหุงข้าวเย็นกินเสร็จแล้ว ทั้งนายไพร่ให้เททิ้งอาหารที่เหลือและต่อยหม้อเสียให้หมดหมายไปกินข้าวเช้าด้วยกันที่ในเมืองเอาพรุ่งนี้ ถ้าตีเอาเมืองไม่ได้ในค่ำวันนี้ก็จะตายเสียด้วยกันให้หมดทีเดียว”
ครั้นถึงเวลาค่ำ พระยาตากจึงได้สั่งให้ทหารไทยจีนลอบเข้าไปอยู่ ตามสถานที่ที่ได้วางแผนไว้แล้วให้คอยฟังสัญญาณเข้าตีเข้าเมืองพร้อมกัน มิให้ส่งเสียงจนกว่าจะเข้าเมืองได้ พอได้ฤกษ์เวลา 3 นาฬิกา พระเจ้าตากก็ขึ้นคอช้างพังคีรีบัญชรพร้อมยิงปืนสัญญาณ แจ้งแก่เหล่าทหารเข้าตีเมืองพร้อมกัน ทรงไสช้างเข้าพังประตูเมือง จนยึดเมืองได้สำเร็จ
ครั้นถึง พ.ศ. ๒๓๑๐ พม่าก็ยกทัพตีพระนคร นับเป็นเวลาที่พม่าล้อมค่ายอยู่ถึง ๑ ปี ๒ เดือน กรุงศรีอยุธยาจึงเสียแก่พม่า ในรัชสมัยพระเจ้าเอกทัศน์ ถือเป็นพระมหากษัตริย์องค์สุดท้ายของกรุงศรีอยุธยา
หลังจากเสียกรุงศรีอยุธยาแล้ว บ้านเมืองเกิดแตกแยก หัวเมืองต่างๆ ตั้งตัวเป็นใหญ่ต่างคนต่างรวมสมัครพรรคพวกตั้งเป็นก๊กต่างๆ ได้แก่ ก๊กสุกี้พระนายกอง ก๊กพระยาพิษณุโลก ก๊กพระเจ้าฝาง ก๊กเจ้าพระยานครศรีธรรมราช และก๊กเจ้าพิมาย พระยาวชิรปราการได้จัดเตรียมกองทัพอยู่เป็นเวลา ๓ เดือน ก็ยกกองทัพเรือเข้ามาทางปากน้ำเจ้าพระยา จนตีเมืองธนบุรีแตก จับนายทองอินประหาร แล้วเลยไปตีค่ายโพธิ์สามต้น แตกยับเยิน สุกี้พระนายกองตายในที่รบ ขับไล่พม่าออกไปพ้นแผ่นดินไทยสำเร็จ ในปี พ.ศ.๒๓๑๐ ซึ่งใช้เวลากู้อิสรภาพกลับคืนจากพม่า ภายในเวลา ๗ เดือนเท่านั้น
จากนั้น พระยาตาก (พระยาวชิรปราการ) จึงยกทัพกลับมากรุงธนบุรี ทรงสถาปนากรุงธนบุรีเป็นราชธานี และปราบดาภิเษกขึ้นเป็นพระมหากษัตริย์ เมื่อวันที่ ๒๘ ธันวาคม พ.ศ. ๒๓๑๑ ทรงพระนามว่า “สมเด็จพระบรมราชาที่ ๔” แต่ประชาชนนิยมเรียกพระนามว่า “พระเจ้าตากสิน” จากนั้นทรงยกกองทัพไปปราบปรามก๊กต่างๆ จนราบคาบ ทรงใช้เวลารวบรวมอาณาเขตอยู่ ๓ ปี คือตั้งแต่ พ.ศ. ๒๓๑๑ – พ.ศ. ๒๓๑๓ จนกอบกู้เอกราช รวมเป็นพระราชอาณาจักรเดียวดังเดิม
สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ทรงครองราชย์เป็นเวลา ๑๕ ปี จึงทรงสวรรคตเมื่อ วันเสาร์ เดือน ๕ แรม ๙ ค่ำ จศ. 1144 ปีขาล ตรงกับวันที่ ๖ เมษายน พ.ศ. ๒๓๒๕ สิริพระชนมายุได้ ๔๘ พรรษา พระองค์ทรงเป็นพระมหากษัตริย์ที่ทรงพระปรีชาสามารถ กอบกู้ประเทศชาติให้เป็นเอกราชอิสรภาพตราบเท่าทุกวันนี้
ประชาราษร์ผู้สำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ ทรงยกย่องถวายพระเกียรติพระองค์ท่านว่า “มหาราช” รัฐบาล ข้าราชการ พ่อค้า ประชาชนทุกหมู่เหล่าได้พร้อมใจกันสร้างอนุสาวรีย์ บริเวณหน้า “ศาลาว่าการเมืองพัทยา” เพื่อน้อมรำลึกในพระเกียรติประวัติ เกียรติยศและเกียรติคุณให้ปรากฏกับอนุชนรุ่นหลังตราบเท่าทุกวันนี้
คาถาบูชาสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช
นะโม ตัสสะ ภะคะวะโต อะระหะโต สัมมา สัมพุทธธัสสะ (3จบ) โอมสิโน ราชาเทวะ นะมามิหัง ชะยะ ตุภะวัง สัพพะ ศัตรูวินาส สันติ(3-9จบ)
เครื่องบวงสรวงสังเวยสำคัญ
สุราขาว มะขามเปียก ไก่ต้ม
|