พระพุทธชัมภูนุทมหาบุรุษลักขณาอสีตยานุบพิตร พระประธานในพระวิหาร วัดอรุณราชวราราม พระพุทธชัมภูนุทมหาบุรุษลักขณาอสีตยานุบพิตร วัดอรุณราชวราราม ราชวรมหาวิหาร (วัดแจ้ง) กรุงเทพฯ “พระวิหาร” วัดอรุณราชวรารามราชวรมหาวิหาร (วัดแจ้ง) ถนนอรุณอมรินทร์ แขวงวัดอรุณฯ เขตบางกอกใหญ่ กรุงเทพฯ อันเป็นวัดประจำรัชกาลที่ ๒ แห่งพระบรมราชจักรีวงศ์ตั้งอยู่ระหว่างมณฑปพระพุทธบาทจำลองกับหมู่กุฏิคณะ ๑ สร้างในสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ ๒ เช่นกันเป็นพระวิหารยกพื้นสูงเช่นเดียวกับพระอุโบสถ หลังคาลด ๓ ชั้น มุงด้วยกระเบื้องเคลือบสี หน้าบันสลักด้วยไม้มีรูปเทวดาถือพระขรรค์ยืนอยู่บนแท่น ประดับด้วยลายกระหนก ลงรักปิดทองประดับกระจก มีมุขทั้งด้านหน้าและด้านหลัง ด้านหน้ามีประตูเข้า ๓ ประตู ด้านหลังมี ๒ ประตู ผนังด้านนอกประดับด้วยกระเบื้องเคลือบลายก้านแย่งกระบวนไทย เป็นกระเบื้องที่พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๓ ทรงสั่งมาจากเมืองจีนเพื่อใช้ประดับผนังด้านนอกพระอุโบสถ แต่ไม่งามพระราชหฤทัย จึงทรงโปรดให้เอามาประดับผนังด้านนอกพระวิหารนี้ ด้านนอกของประตูและหน้าต่างทั้ง ๑๔ ช่อง ทำขึ้นใหม่ เป็นลายรดน้ำรูปดอกไม้ ผนังด้านใน เดิมคงมีภาพจิตรกรรมฝาผนัง เพราะเสาสี่เหลี่ยมข้างใน และเรือนแก้วหลังพระประธานและบนบานประตูและหน้าต่างด้านใน ยังมีภาพสีปรากฏอยู่ แต่ปัจจุบันผนังได้ฉาบด้วยน้ำปูนสีเหลืองเสียหมดแล้ว ยังเห็นเป็นรอยเลือนลางได้บางแห่ง แต่น้อยเต็มที ปัจจุบันได้ใช้พระวิหารหลังนี้เป็น ศาลาการเปรียญ ของวัดด้วย พระประธานในพระวิหาร มีนามว่า “พระพุทธชัมภูนุทมหาบุรุษลักขณาอสีตยานุบพิตร” เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย หน้าตักกว้าง ๖ ศอก หล่อด้วยทองแดงปิดทอง พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๓ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้หล่อขึ้นในคราวเดียวกันกับ “พระพุทธตรีโลกเชษฐ์” พระประธานในพระอุโบสถวัดสุทัศเทพวราราม เมื่อปีพุทธศักราช ๒๔๙๖ ทางวัดได้พบพระบรมธาตุ ๔ องค์บรรจุอยู่ในโกศ ๓ ชั้น อยู่ในพระเศียร ที่ฐานชุกชีด้านหน้า พระพุทธชัมภูนุทมหาบุรุษลักขณาอสีตยานุบพิตร ได้ประดิษฐาน “พระอรุณ” หรือ “พระแจ้ง” พระพุทธรูปปางมารวิชัย หล่อด้วยสำริด ศิลปะล้านช้าง หน้าตักกว้าง ๕๐ เซนติเมตร ซึ่งองค์พระพุทธรูปและผ้าทรงครองได้หล่อด้วยทองต่างสีกัน ตามประวัติกล่าวว่า เมื่อปีพุทธศักราช ๒๔๐๑ ในสมัย รัชกาลที่ ๔ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้อัญเชิญพระอรุณหรือพระแจ้งมาจากเมืองเวียงจันทน์ โดยมีพระราชประสงค์จะอัญเชิญมาประดิษฐานในพระบรมมหาราชวัง แต่ภายหลังพระองค์ได้มีพระราชดำริที่จะย้ายพระอรุณหรือพระแจ้งมาประดิษฐาน ณ วัดอรุณราชวราราม แทน ด้วยเหตุที่นามพระพุทธรูปพ้องกับชื่อวัด ดังปรากฏหลักฐานจากพระราชหัตถเลขาในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ถึงพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว สมเด็จพระอนุชาธิราชในรัชกาลที่ ๔ เมื่อปีมะเมีย จุลศักราช ๑๒๒๐ (พุทธศักราช ๒๔๐๑) ความตอนหนึ่งว่า“...ยังมีพระที่มีชื่อเอามาแต่เมืองเวียงจันทน์อีกสองพระองค์ พระอินแปลงน่าตัก ๒ ศอกเศษ พระอรุณน่าตักศอกเศษ...พระอรุณนั้น ฉันคิดว่าจะเชิญลงมาไว้ในพระวิหารวัดอรุณ เพราะชื่อวัดกับชื่อพระต้องกัน สมควรแต่จะให้จัดแจงที่ฐานเสียให้เสร็จก่อน แล้วจึงจะเชิญลงมาต่อน่าน้ำ...” จากพระราชดำริดังกล่าว ในเวลาต่อมาจึงโปรดเกล้าฯ ให้อัญเชิญ พระอรุณหรือพระแจ้งมาประดิษฐานในพระวิหารวัดอรุณราชวราราม โดยโปรดให้ประดิษฐานอยู่บนฐานชุกชี ด้านหน้าพระพุทธชัมภูนุทฯ ซึ่งเป็นพระประธานในพระวิหาร นับแต่นั้นมาจนกระทั่งถึงปัจจุบัน ช่วงวันสงกรานต์ของทุกปี ในวันที่ ๑๒ เมษายน วัดอรุณราชวรารามจะอัญเชิญพระอรุณองค์จำลองแห่เวียน ตั้งแต่ถนนอรุณอมรินทร์ไปจนถึงถนนอิสรภาพ และในวันที่ ๑๓ เมษายน จะอัญเชิญพระอรุณองค์จำลองออกมาให้ประชาชนสรงน้ำพระเป็นประจำทุกปี |