ตั้งให้เราเป็นเว็บแรกที่คุณเลือก เก็บเราไว้เป็นเว็บโปรด
สมัครสมาชิก ได้มากกว่าที่คุณคิด เข้าสู่ระบบ
ดู: 2527
ตอบกลับ: 2
สั่งพิมพ์ ก่อนหน้า ถัดไป

พญานาค ในพระพทธศาสนา

[คัดลอกลิงก์]

เมื่อครั้งเจ้าชายสิทธัตถะทรงตัดสินพระทัยเลิกกระทำทุกรกิริยา และนางสุชาดานำข้าวปายาสไปถวาย หลังจากเสวยหมดแล้วได้ทรงนำถาดทองไปลอยในแม่น้ำเนรัญชรา ถาดทองได้ลอยทวนกระแสน้ำไปประมาณ ๘๐ ศอก พอถึงวนแห่งหนึ่งก็จมลงไปยังที่อยู่แห่งพญากาฬนาคราช

พญากาฬนาคราช หรือ พญากาฬภุชคินทร์ มีอายุมากจะหลับอยู่เป็นนิตย์ จะตื่นต่อเมื่อได้ยินเสียงถาดทองที่พระพุทธเจ้าแต่ละพระองค์ทรงลอยลงไปกระทบกับถาดที่มีอยู่เดิม ตามประวัติว่ามีอยู่แล้ว ๓ ถาด เป็นของพระพุทธกุกกุสันธ ๑ พระพุทธโกนาคมน์ ๑ และพระพุทธกัสสป ๑ แสดงว่าพญากาฬนาคราชได้พบพระพุทธเจ้ามาแล้ว ๓ พระองค์ มาตื่นอีกครั้งเมื่อพระพุทธเจ้าองค์ที่ ๔ และจะมีอายุยืนต่อไปจนถึงพระศรีอารยเมตไตรยมาตรัส ขณะนี้กำลังนอนหลับอยู่ เรียกว่านอนคอยพระพุทธเจ้าโดยแท้

นอกจากพญากาฬภุชคินทร์แล้วยังมีนาคสำคัญอีกตนหนึ่ง บังเกิดสระโบกขรณี (โปรกขรณี = สระบัวหรือตระพังน้ำ) ซึ่งอยู่ใกล้ต้นจิกที่ประทับของพระพุทธเจ้าคือหลังจากประทับ ณ ภายใต้ไม้อัชปาลนิโครธ (ต้นไทร) ครบ ๗ วันแล้ว ได้เสด็จไปสู่มุจลินท์ไม้จิกประทับภาคใต้ร่มไม้จิกอีก ๗ วันในระหว่างนั้นมีเมฆครื้มและมีฝนตกตลอดทั้ง ๗ วัน พญามุจลินทนาคราชทราบเหตุแปรปรวนของเมฆฝน จึงขึ้นมาจากสระก็แลเห็นบุรุษหนึ่งนั่งอยู่ใต้ต้นจิก มีลักษณะงามเปล่งปลั่งก็นึกในใจว่า

“ท่านผู้นี้มีสิริวิลาศเลิศ ชะรอยจะเป็นเทพดาพิเศษประดับด้วยฉัพพรรณรังสี”

ฉัพพรรณรังสีได้แก่รัศมี ๖ ประการ ได้แก่ ๑. นีล สีเขียวเหมือนดอกอัญชัน ๒. ปีต สีเหลืองเหมือนหรดาลทอง ๓. โลหิต สีแดงเหมือนตะวันอ่อน ๔. โอทาต สีขาวเหมือนแผ่นเงิน ๕. มัญเชฐ สีหงสบาท สีเหมือนดอกเซ่งหรือหงอนไก่ ๖. ประภัสสร สีเสื่อมพรายเหมือนแก้วผลึก

ฉัพพรรณรังสีนี้น้อยคนนักที่จะได้เห็น พญามุจลินทนาคราชเห็นแล้วก็ทราบชัดว่าเป็นพระพุทธเจ้ามาตรัส และที่เสด็จมาสู่นิวาสสถานแห่งตนนั้น ก็ด้วยพระมหากรุณา เป็นมหาบุญลาภอันใหญ่ยิ่ง สมควรที่ตนจะต้องช่วยปกป้องมิให้พระองค์ถูกต้องลมฝน เมื่อคิดเช่นนั้นแล้วก็เข้าไปขดขนดกายได้ ๗ รอบแวดล้อมองค์พระศาสดาจารย์ แล้วก็แผ่พังพานอันใหญ่ขึ้นป้องปกเบื้องบน เพื่อให้พ้นจากอากาศร้อนและเย็น เมื่อต้องแดดลมและฝน ทั้งยังช่วยปัดเป่ายุงและงูต่างๆ มิให้มาสัมผัสพระวรกาย

ครั้นล่วง ๗ วันไปแล้วฝนก็หยุด พญามุจลินท์จึงคลี่คลายขนดกายออก แปลงกายเป็นมนุษย์น้อมกายถวายอัญชลีเฉพาะพระพักตร์สมเด็จพระสัพพัญญู

เหตุการณ์ตอนนี้ เป็นเหตุให้เกิดพระพุทธรูปปางนาคปรก นิยมทำรูปพญานาคมี ๗ เศียร

ณ แม่น้ำเนรัญชรา มีนักบวช ๓ คนพี่น้องปลูกอาศรมเรียงรายอยู่ริมฝั่งแม่น้ำสายนี้ คนพี่ชื่ออุรุเวลกัสสป คนที่สองชื่อนทีกัสสป และคนที่สามชื่อคยากัสสป หลังจากตรัสรู้แล้ว พระพุทธเจ้าเสด็จไปยังอาศรมอุรุเวลกัสสปได้ตรัสขออนุญาตว่า

“ดูกรกัสสป ถ้าท่านไม่ลำบากใจแล้ว ตถาคตจะขออาศัยอยู่ในโรงเพลิงของท่านสักคืนหนึ่ง”

“ดูกรสมณะ เรามิได้หนักใจที่ท่านจะอยู่ แต่ทว่ามีพญานาคตนหนึ่งมีพิษร้ายกาจนัก มาอาศัยอยู่ในโรงเพลิงนั้นท่านต้องระวังให้ดี อย่าให้พญานาคทำร้ายเอาได้”

“พญานาคไม่เบียดเบียนตถาคต ท่านจงอนุญาตให้ตถาคตอาศัยในโรงเพลิงสักคืนหนึ่งเถิด”

พระพุทธเจ้าตรัสดังนั้นถึง ๒ ครั้ง ๓ ครั้ง อุรุเวลกัสสปจึงได้ตอบอนุญาตว่า “ดูกรมหาสมณะ ท่านจงอยู่โดยปรกติสุขเถิด”

พระพุทธเจ้าทรงได้รับอนุญาตเช่นนั้นแล้วืก็เสด็จเข้าไปในโรงเพลิงนั้นแล้วลาดปูซึ่งสันถัต (ผ้ารองนั่ง) ประทับนั่งขัดสมาธิ ตั้งพระกายให้ตรงดำรงพระสติเฉพาะหน้าต่อพระกัมมัฏฐาน ภาวนานุโยค

ฝ่ายพญานาคเมื่อเห็นพระพุทธเจ้าเสด็จเข้ามาสถิตในที่นั้น ก็มีจิตคิดขึ้งเคียดไม่พอใจ ได้พ่นพิษเป็นควันตลบพระพุทธเจ้าก็ทรงบันดาลให้ควันนั้นหมดไป ทำให้พญานาคโกรธพ่นพิษเป็นเพลิงพลุ่งโพลงขึ้น พระพุทธเจ้าก็ทรงบันดาลให้เป็นเพลิงออกปะทะ ทำให้เกิดแสงเพลิงโชติช่วงราวกับจะเผาพลาญโรงเพลิงนั้นให้วอดวาย บรรดาชฎิลทั้งหลายเห็นเช่นนั้นก็พากันมามุงล้อมรอบโรงเพลิงพูดกันว่า

“ดูกรชาวเรา พระมหาสมณองค์นี้ มีสิริรูปอันงามยิ่งนัก น่าเสียดายจะมาวอดวายเสียด้วยพิษแห่งนาคในครั้งนี้”

แต่เหตุการณ์หาได้เป็นไปตามที่พสกชฎิลนับพันคนคาดคิดไม่ เพราะพอรุ่งเช้าพระพุทธเจ้าก็สามารถทำให้พญานาคสิ้นฤทธิ์ บันดาลให้พญานาคขดขนดกายลงอยู่ในบาตรได้สำเร็จ เป็นการปราบพญานาคครั้งแรกของพระพุทธเจ้า

ดังได้กล่าวแล้วว่าพญานาคอาจแปลงเป็รมนุษย์ได้และเคยแปลงมาบวช มีเรื่องในพระไตรปิฎกจึงขอคัดมารวมไว้ด้วยครั้งนี้

นาคตัวหนึ่งอึดอัดระอาเกลียดกำเนิดนาค ซึ่งนาคนั้นได้มีความดำริว่าด้วยวิธีอะไรหนอ เราจึงจะพ้นจากการกำเนิดนาค และกลับได้อัตภาพเป็นมนุษย์เร็วพลัน ครั้นแล้วได้ดำริต่อไปว่า พระสมณะเชื้อสายพระศากยบุตรเหล่านี้แลเป็นผู้ประพฤติธรรม ประพฤติสงบ ประพฤติพรหมจรรย์ กล่าวแต่คำสัตย์ มีศีล มีกัลยาณธรรม หากเราจะพึงบาชในสำนักพระสมณะเชื้อสายพระศากยบุตร ด้วยวิธีเช่นนี้เราก็จะพ้นจากการกำเนิดนาค และกลับได้อัตภาพเป็นมนุษย์เร็วพลัน ครั้นแล้วนาคนั้นจึงแปลงกายเป็นชายหนุ่ม แล้วเข้าไปหาภิกษุทั้งหลายขอบรรพชา ภิกษุทั้งหลายจึงให้เขาบรรพชาอุปสมบท



ที่มา http://www.siamganesh.com/hindu/archives/346


ขออภัย! โพสต์นี้มีไฟล์แนบหรือรูปภาพที่ไม่ได้รับอนุญาตให้คุณเข้าถึง

คุณจำเป็นต้อง ลงชื่อเข้าใช้ เพื่อดาวน์โหลดหรือดูไฟล์แนบนี้ คุณยังไม่มีบัญชีใช่ไหม? ลงทะเบียน

x
2#
 เจ้าของ| โพสต์ 2015-5-9 17:42 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้

สมัยต่อมา พระนาคนั้นอาศัยอยู่ในวิหารสุดเขตกับภิกษุรูปหนึ่ว ครั้นปัจจุบันสมัยแห่งราตรี ภิกษุรูปนั้นตื่นนอนแล้ว ออกไปเดินจงกรมอยู่ในที่แจ้งครั้นภิกษุรูปนั้นออกไปแล้ว พระนาคนั้นก็วางใจจำวัด วิหารทั้งหลังก็เต็มไปด้วยงูขนดยื่นออกไปนอกหน้าต่าง ครั้นภิกษุรูปนั้นกลับมา ผลักบานประตูด้วยตั้งใจจักเข้าวิหาร ได้เห็นวิหารทั้งหลังเต็มไปด้วยงูเห็นขนดยื่นออกไปทางหน่้าต่าง ก็ตกใจจึงร้องเอะอะขึ้น

ภิกษุทั้งหลายพากันวิ่งเข้าไป แล้วถามภิกษุรูปนั้นว่า “อาวุโส” ท่านร้องเอะอะไปทำไม”

ภิกษุรูปนั้นบอกว่า “อาวุโสทั้งหลาย วิหารนี้ทั้งหลังเต็มไปด้วยงู ขนดยื่นออกไปทางหน้าต่าง”

ขณะนั้นพระนาคนั้นได้ตื่นเพราะเสียงนั้น แล้วนั่งอยู่บนอาสนะของตน

นาคตอบว่า “ผมเป็นนาคขอรับ”

ภิกษุ “อาวุโส ท่านทำเช่นนั้นเพื่อประสงค์อะไร”

พระนาคนั้นจึงแจ้งเนื้อความแก่ภิกษุทั้งหลาย เมื่อภิกษุได้ทราบจึงกราบทูลเรื่องนั้นแด่พระผู้มีพระภาค

ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาครับสั่งให้ประชุมภิกษุสงฆ์ในเหตุที่เป็นเค้ามูลนั้น และเป็นเหตุแรกเกิดได้ทรงประทานพระพุทธโอวาทแก่นาคนั้นว่า

“พวกเจ้านาคมีความไม่งอกงามในพระธรรมวินัยนี้เป็นธรรมดา ไปเถิดเจ้านาคจงไปรักษาอุโบสถในวันที่สิบสี่ที่สิบห้า และที่แปดแห่งปักษ์นั้นแหละด้วยวิธีนี้เจ้าจักพ้นจากกำเนิดนาค และจักกลับได้อัตภาพเป็นมนุษย์เร็วพลัน”

ครั้นนาคนั้นได้ทราบว่า ตนมีความไม่งอกงามในพระธรรมวินัยนี้เป็นธรรมดาก็เสียใจ หลั่งน้ำตาส่งเสียงดังแล้วหลีกไป

ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาครับสั่งกับภิกษุทั้งหลายว่า

“ดูกรภิกษุทั้งหลาย เหตุแห่งความปรากฏตามสภาพของนาคมีสองประการนี้คือ เวลาเสพเมถุนธรรมกับนางนาคผู้มีเชื้อชาติเสมอกันหนึ่ง เวลาวางใจนอนหลับหนึ่ง ดูกรภิกษุทั้งหลาย เหตุแห่งความปรากฏตามสภาพของนาคสองประการนี้แล

ดูกรภิกษุทั้งหลาย อนุปสัมบันคือดิรัจฉาน ภิกษุไม่พึงให้อุปสมบท ที่อุปสมบทแล้วต้องให้สึกเสียๆ”

บางทีจะเป็นด้วยเรื่องนี้เอง ที่มีผู้แต่งตำนานเสริมว่า นาคได้ฝากชื่อไว้ให้เรียกผู้ที่จะบวชว่า นาค ก็เป็นได้ และที่ต้องซักถามผู้ที่มาขอบวชว่า “มนุสโสสิ” เป็นมนุษย์หรือ ก็เพื่อให้แน่ใจว่าไม่ใช่พวกอมนุษย์แปลงตัวมาบวชนั่นเอง



3#
 เจ้าของ| โพสต์ 2015-5-9 17:43 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้

งูและนาคมีทั้งที่ดีและร้าย ประเภทดุร้ายแม้ฤษีหรือนักบวชก็เกรงกลัว อย่างอุรุเวลกัสสปยังต้องยอมให้นาคอยู่ในโรงเพลิง บางทียังยกย่องนับถือบูชาเสียอีกด้วย เช่นอัคคิทัตฤษีและบริวารนับถือพญานาคอหิฉัตตะครั้นพระพุทธเจ้าเสด็จไปโปรดอัคคิทัตฤษีก็มีปัญหากับพญานาค ต้องทรงให้พระโมคคัลลานะไปทรมานจนสิ้นพยศยอมอยู่ในอำนาจ ทำให้อัคคิทัตและบริวารเห็นเป็นอัศจรรย์ที่ปราบพญานาคผู้มีฤทธิ์ได้ จึงยอมรับเคารพบูชาพระพุทธเจ้า

ตามที่ทราบกันดีแล้วว่า ในอินเดียเต็มไปด้วยงูหรือนาค ฉะนั้นในเรื่องพระพุทธศาสนา จึงมีนาคมาเฝ้าพระพุทธเจ้าอยู่เสมอ เช่นในบทสวดมนต์มหาสมัยสูตร ได้ออกชื่อนาคหลายพวก เป็นต้นว่าในเมืองเวสาลีมีนาคอยู่ในสระชื่อ นาสภะ ตัจฉกนาคราช กัมพลนาค และ อัสตรนาค พวกนาคที่อยู่ในป่าก็มี ปายาคะ ส่วนนาคสกุล ธตรฏฐ์ อยู่ในแม่น้ำยมุนา นาคเหล่านี้พร้อมด้วยเทวดามาฟังพระธรรมเทศนากันอย่างเนืองแน่น พระพุทธเจ้าทรงแนะนำให้บรรดาสาวกได้รู้จักกับบรรดาเทวดายักษ์ และนาคทั้งหลาย ซึ่งก็คงเพียงแต่ทรงชี้ว่านั่นเทวดาองค์นั้นองค์นี้ นี่ยักษ์ นั่นนาค คงไม่ถึงกับคุ้นเคยได้พูดคุยกัน เพราะท่านเหล่านั้นเมื่อได้ฟังพระธรรมเทศนาจบแล้วก็แยกย้ายกันกลับวิมานของตน และเนื่องจากความไม่คุ้นเคยกันจึงมีเรื่องเกิดขึ้น

ตามเรื่องว่าสมัยหนึ่ง พระพุทธเจ้าเสด็จประทับ ณ พระเชตวันมหาวิหาร นครสาวัตถี ในครั้งนั้นพระภิกษุรูปหนึ่งถึงมรณภาพด้วยถูกงูร้ายกัดทำให้พระจำนวนมากตกใจกลัวด้วยไม่เคยเกิดเหตุเช่นนี้มาก่อน จึงได้พากันเฝ้าพระพุทธเจ้า กราบทูลเรื่องให้ทรงทราบ ได้มีรับสั่งว่า

“ภิกษุทั้งหลาย งูไม่น่าจะกัดพระ เพราะตามธรรมดาพระจะอยู่ด้วยความเมตตา บางทีพระรูปนั้นจะไม่ได้แผ่เมตตาจิตแก่พญางูทั้ง ๔ เหล่าเป็นแน่ จึงถูกงูทำร้าย ถ้าหากภิกษุจะแผ่เมตตาแก่พญางูทั้ง ๔ ตระกูลนั้นแล้ว ก็คงไม่ถูกงูทำร้ายเลย”

ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้ภิกษุแผ่เมตตาจิตแก่พญางูทั้ง ๔ เพื่อคุ้มครองตน เพื่อรักษาตัว เพื่อป้องกันตัวต่อไป”

เมื่อรับสั่งดังนี้แล้ว ได้ตรัส ขันธปริตร มนต์ป้องกันตัวประทาน จะยกมาพอเป็นตัวอย่างดังนี้

วิรูปกฺเขหิ เม เมตฺตํ
เมตฺตํ เอราปเถหิ เม
ฉพฺยาปุตฺเตหิ เม เมตฺตํ
เมตฺตํ กณฺหาโคตม เกหิ จ

แปลว่า

ความเป็นมิตรของเรา จงมีกับพญานาคทั้งหลายสกุล วิรูปักข์ ด้วย (ตระกูลสีทอง)
ความเป็นมิตรของเรา จงมีกับพญานาคทั้งหลายสกุล เอราบถ ด้วย (ตระกูลสีเขียว)
ความเป็นมิตรของเรา จงมีกับพญานาคทั้งหลายสกุล ฉัพยาบุตร ด้วย (ตระกูลสีรุ้ง)
ความเป็นมิตรของเรา จงมีกับพญานาคทั้งหลายสกุล กัณหาโคตมกะด้วย (ตระกูลสีดำ)

ตั้งแต่นั้นสืบมา ขันธปริตร ได้เป็นมนต์ภาวนาให้พ้นจากการประทุษร้ายของงู ตลอดจนภูตผีปีศาจทั้งาย สมดังคำแปลท้ายบทสวดมนต์มีความว่า

“เทพยดาและนาคทั้งหลาย ผู้มีฤทธิ์มาก ซึ่งสถิตอยู่มนอากาศก็ดีทสถิตอยู่ในภาคพื้นก็ดี เทพยดาและนาคเหล่านั้นจะตามรักษาซึ่งท่านทั้งหลาย ด้วยความเป็นผู้ไม่มีโรคด้วยความสุข”

พญาวิรูปักข์นาคราชในบทสวดมนต์นั้น เป็นที่รู้จักในคัมภีร์พระพุทธศาสนาว่าเป็นโลกบาลประจำทิศตะวันตก

นอกจากที่กล่าวมาแล้ว ในบทสวดมนต์ยังมีพญานาคอันธพาลอีกตนหนึ่ง มีชื่อว่า พญานันโทปนันทนาคราช ตามเรื่องว่าครั้งหนึ่ง ท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐีได้ถวายอภิวาทอาราธนาสมเด็จพระโลกนาถเสด็จไปฉันอาหารบิณฑบาต พร้อมด้วยพระสงฆ์สาวกทั้ง ๕๐๐ รูป ณ นิเวศน์ของตน ครั้นถึงเวลากำหนดนัด พระพุทธเจ้าก็ทรงพาพระอริยสาวกเหาะไปทางอากาศ ผ่านไปเหนือที่อยู่ของพญานันโทปนันทนาคราชๆ เห็นเช่นนั้นก็โกรธ ไม่พอใจที่มาเหาะข้ามหัวก็สำแดงฤทธิ์เหาะขึ้นสู่ท้องฟ้า เนรมิตกายให้ใหญ่ยาวเอาขนดหางพันเขาสุเมรุไว้เจ็ดรอบ แล้วแผ่พันพานบังดาวดึงส์ไว้ บันดาลให้เกิดหมอกควันมืดมัวไปทั่ว

พระรัฐบาลซึ่งร่วมเดินทางไปด้วยเห็นอากาศแปรปรวนเช่นนั้นก็แปลกใจทูลถามพระพุทธเจ้าว่า แต่ก่อนได้เคยตามเสด็จมาก็ได้เห็นยอดเขาสุเมรุงามไปด้วยแก้ว ๗ ประการ แต่เหตุไฉนวันนี้จึงมองไม่เห็น พระพทธเจ้ารับสั่งว่าที่เป็นเช่นนี้เพราะพญานันโทปนันทนาคราชดูหมิ่นตถาคตและภิกษุทั้งหลายแกล้งทำให้มืดมัวเพื่ออวดอ้างฤทธิ์อำนาจ พระรัฐบาลเมื่อทราบดังนั้นจึงพนมมือขอประทานโอกาสรับอาสาปราบพญานาค แต่พระพุทธเจ้าไม่ทรงอนุญาตแม้พระเถระอื่นๆ ก็เช่นกัน ครั้นพระโมคคัลลานะเถระเจ้าเข้ามาทูลอาสาพระพุทธเจ้าก็ทรงอนุญาตตรัสว่าเรื่องนี้เหมาะกับโมคคัลลานะด้วยมีอิทฤทธิ์พอที่จะปราบกันได้ ตรัสแล้วก็พาภิกษุสงฆ์ทั้งหลายขึ้นไปดูเหตุการณ์บนยอดภูเขา

พระโมคคัลลานะได้รับพุทธานุญาตแล้วเนรมิตกายเป็นพญานาคตัวใหญ่ยาวกว่าพญานันโทปนันท ๑ เท่าโอบรัดพญานันโทปนันทเข้ากับภูเขาสุเมรุจนไม่อาจขยับตัวได้ พญานันโทฯ หมดหนทางก็พ่นไฟเข้าใส่ แต่พระเถรเจ้ากลับเพิ่มขนาดลำตัวขึ้นอีกเท่าหนึ่ง ไฟก็ไม่อาจทำอันตรายได้ ซ้ำร้ายกลับย้อนเข้าตัวพญานันโทฯ ได้รับความร้อนจนสุดที่จะทนทาน แม้จะหันเหียนเปลี่ยนวิธีเป็นอย่างอื่นก็ถูกแก้กลับได้รับทุกขเวทนายิ่งขึ้น ท้ายที่สุดก็จำแลงกายเป็นกุมารเข้าไปกราบยอมตนเป็นศิษย์ไม่คิดสู้อีกต่อไป

สรุปว่าเมื่อพระพุทธเจ้าทรงแสดงธรรมเทศนาโปรดพญานาคนันโทปนันทนาคราชแล้ว พญานาคก็ละพยศยอมรับนับถือพระพุทธศาสนา

การปราบพญานาคตามพุทธประวัติดังกล่าวเป็นการปราบพญานาคบนบก ยังมีการปราบพญานาคที่อยู่ในน้ำอีก ๒ ตน คือในพรรษาที่ ๕ ได้เสด็จจากวิหารเชตวันไปยังนาคทวีป (เกาะนาค) เพื่อปราบพญานาคจุโฬทร และพญานาคมโหทร ก็หมดเรื่องที่เกี่ยวกับพญานาคในพุทธประวัติแต่เพียงเท่านี้


ขออภัย! คุณไม่ได้รับสิทธิ์ในการดำเนินการในส่วนนี้ กรุณาเลือกอย่างใดอย่างหนึ่ง ลงชื่อเข้าใช้ | ลงทะเบียน

รายละเอียดเครดิต

ตอบกระทู้ ขึ้นไปด้านบน ไปที่หน้ารายการกระทู้