|
"วิธีแก้พิษว่านตอด-ว่านตอด เป็นไม้พุ่มมีพิษที่ใบ ใบหรือทรงพุ่มมองดูเผินๆ จะเหมือนต้นยอบ้าน ที่ใบว่านตอดจะมีขนเล็กๆ เวลาขนสัมผัสหรือถูกส่วนใดส่วนหนึ่งของร่างกายเราจะทำให้เจ็บปวด ทรมาน ยิ่งถูกความเย็น เช่น อาบน้ำ ไปตรวจกับหมอแผนปัจจุบันก็ไม่มีสาเหตุอะไร วิเคราะห์ไม่ได้ เพราะปกติ แต่ตัวคนป่วยจะตายภายใน 5-7 วัน ต่อไปนี้คือยาแก้ ตัวยาให้เอา ดังนี้
น้ำมะนาว ปูนขาว ยาสูบ ตำผสมกัน ใส่น้ำนิดหน่อย ใช้สำลีชุบทาตรงที่ถูกว่านตอดตำจะหายในทันที
อีกขนาน ให้เอากะปิปั้นเป็นก้อน แล้วเอามาคลึงแผลที่ถูกตอด จะถอนขนพิษว่านตอดออกได้ ขนานนี้พอบรรเทา"
เป็นตำราที่ใช้วัตถุสมุนไพรง่ายๆ ของพื้นบ้าน คือ น้ำมะนาว ปูนขาว ยาสูบ หรืออีกขนานหนึ่งใช้เพื่อการบรรเทา คือกะปิที่เราใช้ตำน้ำพริกนี่เอง ท่านผู้อ่านที่มีโอกาสจะเข้าป่าเข้าดงควรจะจดจำไว้ให้ขึ้นใจนะครับ (ถ้าเข้าป่าหลายวัน ก็ควรเตรียมใส่ย่ามไปด้วยแหละดี)
ก่อนจะจบเรื่อง "ว่านตอด" ผู้เขียนอยากจะพูดถึงความหมายของชื่อว่านไว้สักเล็กน้อย คำว่า "ตอด" นั้น ภาษาภาคกลางมีความหมายไม่รุนแรงและไม่ร้ายแรง เพราะท่านหมายความว่า "ตอด 1 ก. เอาปากงับกัดทึ้งโดยเร็ว อย่างปลาตอด, โดยปริยายหมายถึง อาการเหน็บแนม เช่น พูดตอดเล็กตอดน้อย" แต่หากเป็นภาษาลาว หรือภาษาอีสาน จะมีความหมายที่รุนแรงกว่า เพราะหมายถึงทั้งจิก ฮุบ กัด และต่อย ดังที่ว่า
"ตอด ก. จิก นกจิกบ้ง เรียก นกตอดบ้ง ฮุบ ปลาฮุบเหยื่อ เรียก ปลาตอดเหยื่อ ต่อย แตนต่อย เรียก แตนตอด งูกัด เรียก งูตอด อย่างว่า แนวนามเชื้อทำทานปล้องถี่ คัน ได้ตอดพี่น้องบ่ทันได้สั่งไผ (กลอน) เห็นว่าเหวกเหวกฮ้องอย่าฟ้าวว่าเสียงกบ ลางเทื่อเป็นทำทานตอดตายบ่มีฮู้ (กลอน) เห็นว่ากองฝอยน้อยอย่ากลอยใจฟ้าวนั่ง ลางเทื่องูอยู่ลี้ในหั้นชิตอดตาย (ย่า). to peck, swallow (like fish), sting (like bee), bite (like snake)"
ผู้เขียนนำมาจากพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตย์ และสารานุกรม ภาษาอีสาน-ไทย-อังกฤษ ของ อาจารย์ ดร.ปรีชา พิณทอง เช่นเคย ทั้งนี้ ก็เพื่อจะได้เห็นว่า ชื่อ "ว่านตอด" นั้น มิใช่เป็นเพียง "ตอดเล็กตอดน้อย" หากแต่ร้ายแรงเทียบได้กับ "พิษของงูเห่าหรืองูจงอาง" เลยทีเดียว
เรื่องราวของ ว่านตอด ก็ขอจบลงแต่เพียงแค่นี้
ไพบูลย์ แพงเงิน
|
|