พระเครื่องภูธราวดี ปี พ.ศ. ๒๕๐๖
พล.ต.ท. ประชา บูรณธนิต
พล.ต.ต. ขุนพันธรักษ์ราชเดช
พระเครื่องภูธราวดี ที่ผู้เขียนจะกล่างในบทความนี้คือพระเครื่องที่สร้างโดย พล.ต.ท.ประชา บูรณธณิต และ พล.ต.ต.ขุนพันธรักษ์ราชเดช เมื่อปีพ.ศ. 2506 อันเป็นพระเครื่องเนื้อดินผสมว่าน และผงพระพุทธคุณของท่านอาจารย์ต่างๆ มูลเหตุในการส้รางพระเครื่องครั้งนี้เพื่อเป็นของขวัญที่ระลึกในการที่ท่านนายพลทั้งสองจะเกษียณอายุราชการและท่านทั้งสองห่วงชาติ ศาสนาและพระมหากษัตริย์ จึงสร้างพระขึ้นเพื่อคุ้มครองป้องกันชาติ ศาสนาและพระมหากษัตริย์ เพื่อแจกจ่ายแก่ช้าราชการและประชาชนทั่วไปตามสมควร ดังนั้นการสร้างพระเครื่องครั้งนี้ จึงสร้างถูกต้องตามพิธีโบราณกาลและบรรจุด้วยพุทธาคมจากพลังจิตของท่านคณาจารย์ต่างๆ ที่ร่วมปลุกเสก
พล.ต.ท.ประชา บูรณธณิต เกิดเมื่อวันอาทิตย์ที่ 16 สิงหาคม พ.ศ.2446 ท่านเป็นชาวนครราชสีมาโดยกำเนิด บรรพบุรุษท่านสืบสายรับราชการทางตุลาการ ท่านคือทายาทสายตรงของเจ้าเมืองนครราชสีมาในอดีต เข้าเป็นนักเรียนนายร้อยตำรวจห้วยจรเข้ นครปฐม รุ่น 2465 จบหลักสูตรเป็นนายร้อยตำรวจปี พ.ศ.2468
พล.ต.ท.ประชา บูรณธณิต เคยดำรงตำแหน่งเป็นผู้บังคับการตำรวจกองปราบปรามและผู้บังคับการตำรวจภูธร สมัยนั้นมีเพียงกองบัญชาการเดียวดูแลพื้นที่ภูธรทั่วประเทศ ผลงานที่ส่งผลให้ท่านมีชื่อเสียงโด่งดังคือการปราบปรามเสือร้ายมากมาย เช่น เสือผาด เสือเจริญ เสือใบ ฯลฯ การปะทะกับคนร้ายหลายครั้งที่ถึงขั้นต้องวิสามัญเป็นเหตุให้ท่านถูกคนร้ายยิงด้วยปืนหลายครั้งแต่ก็ไม่เข้าเป็นเพียงเขียวช้ำ จนได้รับฉายาว่านายพลหนังเหนียว เฉพาะคดีสำคัญๆที่ถูกบันทึกไว้เป็นประวัติดีเด่นของกรมตำรวจขณะนั้นมีจำนวน 42 เรื่อง ได้รับเกียรติเป็นนายพลอัศวิน แหวนเพชร คนแรกของกรมตำรวจในสมัยของ พล.ต.อ.เผ่า ศรียานนท์ ท่านเกษียณอายุราชการในปี พ.ศ.2506 ถึงแก่อนิจกรรมด้วยโรคเส้นโลหิตหัวใจอุดตันเมื่อวันที่ 4 มกราคม พ.ศ.2529
พล.ต.ต.ขุนพันธรักษ์ราชเดชเป็นชาวจังหวัดนครราชสีมาเดิมชื่อ บุตร์ นามสกุล พันธรักษ์ ตามเอกสารราชการระบุเกิด เดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ.2446 ท่านขุนพันธรักษ์เป็นทายาทสืบเชื้อสายมาจากหมอหลวงประจำพระราชสำนักของเจ้าเมื่อนครศรีธรรมราช เข้าศึกษาในโรงเรียนนายร้อยตำรวจห้วยจรเข้ รุ่น 2468 และจบการศึกษาในปี พ.ศ. 2472 จากนั้นก็เริ่มต้นชีวิตในเครื่องแบบสีกากีอยู่ในพื้นที่ทางภาคใต้ ท่านได้ชื่อว่าเป็นนายตำรวจมือปราบ ตามประวัติมีบัญชีรายชื่อเสือร้ายที่ถูก พล.ต.ต.ขุนพันธรักษ์ราชเดชยิงเสียชีวิตจำนวน 62 รายที่ขึ้นชื่อได้แก่ เสือเมือง เสือสังข์ และกลุ่ม ขุนโจรอะแวสะดอ ผู้มีอิทธิพลแถบเทือกเขาบูโด จังหวัดนราธิวาส
พ.ศ.2489 อธิบดีกรมตำรวจได้ขอตัวท่านขึ้นมาเป็นรองผู้อำนวยการกองปราบปรามพิเศษกรมตำรวจ เพื่อปราบปรามโจรร้ายคดีสำคัญของประเทศหลายกลุ่มไม่ว่าจะเป็นกลุ่มโจรพิจิตร กำแพงเพชร และลุ่มน้ำเจ้าพระยา เรื่อยลงมาจนถึงสุพรรณบุรีจนได้รับฉายาจากซุ้มโตรต่างๆว่า ขุนพันธ์ดาบแดง ต่อมาได้ย้ายกลับสู่ภาคใต้อีกครั้งเพื่อกวาดล้างชุมโจรใหม่ กระทั่งขึ้นเป็นผู้บังคับการตำรวจภูธรเขต 8 ถึงแก่อนิจกรรมอย่างสงบด้วยโรคชรา เมื่อวันพุธที่ 5 กรกฎาคม พ.ศ.2549
สิ่งของหายากที่ต้องนำมาเป็นส่วนผสมเนื้อพระนั้นประกอบด้วย หัวว่านป่าสำคัญกว่า 400 ชนิด ดินสังเวชนียสถาน 4 แห่งจากประเทศอินเดีย และผงพุทธคุณของสมเด็จพุทธาจารย์โต ผงจากกรุพระนางตรา ผงจากพระอาจารย์ผู้ทรงคุณวุฒิต่างๆ น้ำพระพุทธมนต์ในพิธีสำคัญต่างๆ จากพระอุโบสถทั่วประเทศ ฯลฯ ส่วนแบบพิมพ์ท่านจำลองอย่างองค์พระร่วงโรจนฤทธิ์ เนื่องจากท่านทราบว่าเป็นพระประทานที่ศักดิ์สิทธิ์ที่สร้างขึ้นด้วยพระราชศรัทธาขององค์พระมหากษัตริย์และเป็นที่สักการะบูชากราบไหว้ของชาวไทยและชาวต่างประเทศ ด้านหลังมียันต์ตัว "นะ" ขึ้นยอดเป็นอุนาโลม อยู่ในกรอบรูปทรงคล้ายพระเจดีย์กดจมลึกลงไปในเนื้อพระ
|