ตั้งให้เราเป็นเว็บแรกที่คุณเลือก เก็บเราไว้เป็นเว็บโปรด
สมัครสมาชิก ได้มากกว่าที่คุณคิด เข้าสู่ระบบ
ดู: 2003
ตอบกลับ: 5
สั่งพิมพ์ ก่อนหน้า ถัดไป

วิปัสสนูปกิเลส กับดักขวางการปฎิบัติ

[คัดลอกลิงก์]
วิปัสสนูปกิเลส กับดักขวางการปฎิบัติ และแนวทางแก้ไข








หลวงปู่ดูลย์ อตุโล
วัดบูรพาราม จ. สุรินทร์
ในการปฏิบัติพระกัมมัฏฐานนั้น ในบางครั้งก็มีอุปสรรคขัดข้องต่างๆ รวมทั้งเกิดการหลงผิดบ้างก็มี ซึ่งหลวงปู่ดูลย์ อตุโล แห่งวัดบูรพาราม จ.สุรินทร์ เคยอธิบายเรื่องนี้ว่า เมื่อได้ทำสมาธิจนสมาธิเกิดขึ้น และได้รับความสุขอันเกิดแต่ความสงบพอสมควรแล้ว จิตก็ค่อยๆ หยั่งลงสู่สมาธิส่วนลึก นักปฏิบัติบางคน จะพบอุปสรรคสำคัญอย่างหนึ่ง เรียกว่า วิปัสสนูปกิเลส  เกิดแก่ผู้ปฏิบัติวิปัสสนาอันต้องมีสมาธิหรือฌานเป็นบาทฐานนั่นเอง



** ข้อสำคัญ วิปัสสนูปกิเลสนี้เป็นกับดักขัดขวาง เกิดขึ้นตลอดสายของการปฏิบัติ ! **


         ตลอดเส้นทางวิปัสสนา ถึงแม้ว่าปฎิบัติวิปัสสนาอย่างถูกต้อง วิปัสสนูปกิเลสนี้ก็ยังสามารถเกิดขึ้นได้ แต่เบาบางและเป็นไปในลักษณะลดน้อยถอยลงไปทุกขณะตามภูมิรู้ภูมิญาณที่เกิดขึ้น  แต่เมื่อใดที่การปฏิบัตินั้นเป็นไปอย่างผิดๆหรือเป็นมิจฉาสมาธิ  เมื่อนั้นวิปัสสนูปกิเลสจะรุนแรงและเฟื่องฟูขึ้นตลอดเวลาในลักษณะเพิ่มพูนสะสมจนเป็นอันตรายต่อตนเองอย่างรุนแรงโดยไม่รู้ตัว เพราะการถูกครอบงำของจิต ดังคำหลวงปู่ดูลย์กล่าวว่า



"สิ่งที่เกิดขึ้นเหล่านี้ (วิปัสสนูปกิเลส) ว่าถึงประโยชน์ก็มีประโยชน์เหมือนกัน มีส่วนดีอยู่เหมือนกัน
คือจะได้เป็นบรรทัดฐานเป็นเครื่องนำสติ มิให้ตกสู่ภาวะนี้อีก
เป็นแนวทางตรงที่จะได้นำมาประกอบการปฏิบัติให้ดำเนินไปอย่างมั่นคง ในแนวทางตรงต่อไป”




*************************





รู้จักวิปัสสนูปกิเลส



วิปัสสนูปกิเลส แปลว่า อุปกิเลสแห่งวิปัสสนา, เครื่องทำให้วิปัสสนาเศร้าหมอง คือ อารมณ์ที่เกิดขึ้นแก่ผู้ปฏิบัติกรรมฐานและได้เสวยผลแห่งวิปัสสนาอ่อน ๆ ก็เกิดความเข้าใจผิดคิดว่าตนเองได้บรรลุมรรคผล จึงหลงเพลิดเพลินอยู่แล้วหยุดบำเพ็ญเพียรเสีย ทำให้ไม่ได้รับความก้าวหน้าในวิปัสสนาญาณต่อไป จัดเป็นสิ่งขัดขวางไม่ให้บรรลุธรรมชั้นสูง


วิปัสสนูปกิเลสเป็นอารมณ์ของสมถะไม่ใช่อารมณ์วิปัสสนา  มักเกิดจากการหลงเน้นปฏิบัติแต่ฝ่ายสมถะหรือสมาธิจนเสียการ โดยขาดการนำไตรลักษณ์มากำกับสภาวะที่เกิดขึ้นเท่าที่ควรเสียนั่นเอง ซึ่งเกิดได้ตลอดสายของการปฎิบัติวิปัสสนากรรมฐาน




จะเริ่มเกิดขึ้น เมื่อเข้าอุทยัพพยานุปัสสนาญาณ หรือญาณที่ 4 ใหม่ ๆ   อันเมื่อช่วงผู้ปฏิบัติวิปัสสนาสามารถยกเอารูปธรรมและนามธรรมทั้งหลาย ขึ้นมาพิจารณาเป็นหมวด ๆ ตามแนวไตรลักษณ์ที่ละอย่าง ๆ จนเริ่มมองเห็นความเกิดขึ้น และความเสื่อมไปแห่งสังขารทั้งหลายอันเป็นญาณเกี่ยวกับการเห็นการเกิดขึ้นและดับไปของขันธ์ 5 หรือสังขารในปัจจุบันจิตหรือปัจจุบันธรรม ในขณะที่เริ่มเกิดขึ้นใหม่ๆนี้ เรียกย่อยลงไปว่า ดรุณวิปัสสนา (วิปัสสนาญาณอ่อน ๆ ) ถ้ารู้เท่าทันผ่านพ้นไปได้ ไม่ไปติดไปยึดในสิ่งต่างๆที่เกิดขึ้น   
ฉะนั้นเมื่อวิปัสสนูปกิเลสเกิดขึ้นก็ให้พิจารณาให้ดีและให้มีสติ อย่าหลงอยู่ในวิปัสสนูปกิเลสเหล่านี้เป็นอันขาด เพราะจะทำให้การปฏิบัติหยุดชะงักไม่ก้าวหน้าถึงญาณเบื้องสูง


วิปัสสนูปกิเลสจะเกิดขึ้นกับผู้ใด ? และไม่เกิดกับผู้ใดบ้าง ?


วิปัสสนูปกิเลส มิใช่สิ่งเลวร้ายแต่จะเกิดขึ้นตลอดทางเมื่อเริ่มเข้าสู่เส้นทางวิปัสสนา และจะเกิดขึ้นแก่ผู้ปฏิบัติโดยชอบ ประกอบความเพียร ผู้เริ่มต้นบำเพ็ญวิปัสสนาแล้วเท่านั้น จึงเป็นสัญญาณให้ผู้ปฎิบัติได้ทราบว่า ได้เข้าสู่หนทางสายวิปัสสนาซึ่งจะเริ่มเห็นไตรลักษณ์ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา
จึงถือว่าเป็นอุปสรรคเพื่อให้ติดความเผลอเพลิน ทำให้ไม่ได้รับความก้าวหน้าในวิปัสสนาญาณต่อไป จัดเป็นสิ่งขัดขวางไม่ให้บรรลุธรรมชั้นสูง
แต่วิปัสสนูปกิเลสจะไม่เกิดขึ้นแก่

1.พระอริยสาวก ผู้บรรลุปฏิเวธแล้ว
2 ผู้ปฏิบัติผิด (เริ่มต้นมาแต่ศีลวิบัติ)
3. ผู้ละทิ้งกรรมฐาน
4. บุคคลเกียจคร้าน (แม้ปฏิบัติถูกมาแต่เริ่มต้น) แม้จะปฏิบัติถูกต้องมาตั้งแต่เริ่มต้น เมื่อวิริยะความเพียรน้อยก็ทำให้มีกำลังสมาธิอ่อน เพราะว่าอารมณ์ในวิปัสสนูปกิเลสนั้นเกิดขึ้นจากกำลังสมาธิ

2#
 เจ้าของ| โพสต์ 2015-3-30 07:10 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
วิปัสสนูปกิเลส 10 ได้แก่ ..

     1. โอภาส - แสงหรือภาพ  เห็นแสงสว่างสุกใสหรือนิมิต  เห็นแสงต่าง ๆ ภาพต่าง ๆ เห็นแสงสว่างรอบ ๆ สิ่งหนึ่งสิ่งใด เช่น พระพุทธรูปที่เป็นกสิณ หรือเห็นเจิดจ้าสว่างไสวไปทั่ว หรือแสงออกจากร่างกายตน  รูปนิมิตต่างๆ  แล้วไปน้อมเชื่อด้วยอธิโมกข์อย่างเป็นจริงเป็นจัง ว่าเป็นจริงอย่างนั้นจริงแท้แน่นอน
  ซึ่งความจริงแล้ว สิ่งเหล่านี้ต้องเกิดขึ้นอันเป็นปกติตามธรรมชาติของจิตเมื่อเป็นฌานสมาธิโดยเฉพาะในระยะแรกๆ   แต่เมื่อผู้ปฏิบัติเข้าใจผิดไปน้อมเชื่อในความตื่นตา ตื่นใจ จึงน้อมคิดปรุงแต่งไปต่าง ๆ นานา ว่าเป็น บุญ  อิทธิปาฏิหาริย์  อันตื่นตา ตื่นใจ  ไปยึดมั่นหมายมั่นพึงพอใจหรือน้อมเชื่ออย่างรุนแรงด้วยความไม่รู้ตามความเป็นจริง ว่าโอภาสหรือนิมิตต่างๆที่เกิดขึ้นนั้นด้วยอวิชชา  จึงทําให้ติดเพลิน(นันทิ-อันคือตัณหา)
เมื่อเกิดนันทิอันคือตัณหา ย่อมเกิดอุปาทาน  ภพ(รูปภพ) ชาติ  คือการเกิดขึ้นของกองทุกข์ตามมาโดยไม่รู้ตัว และเกิดความคิดนึกปรุงแต่งต่างๆนาๆไปทางฤทธิ์ ทางเดช ทางบุญ ทางกุศลโดยไม่รู้ตัว  ทำให้เกิดอาการที่เรียกกันทั่วๆไปว่า ติดนิมิต

        2. ปีติ - ความอิ่มใจ  ความอิ่มเอิบ ซาบซ่าน อันเกิดขึ้นทั้งต่อกายและใจอันได้จากการปฏิบัติสมถะหรือสมาธิ  ปีติมีอยู่ 5 แบบซึ่งก่อให้เกิดความอัศจรรย์ ความสุข ความสบาย ความพิศวง พึงพอใจ หรือลุ่มหลง แปลกใจ ทําให้หลงใหลอยู่ในเวทนาของสังขารขันธ์ชนิดนี้ว่าเป็นของดีของวิเศษ โดยลืมตัวเพราะอวิชชาความไม่รู้
    ความจริงแล้ว สิ่งเหล่านี้เป็นธรรมชาติธรรมดา ๆ อันพึงเกิดแก่ผู้ปฏิบัติถูกต้องทั่ว ๆ ไปเป็นธรรมดา เป็นเพียงแค่ทางผ่านของฌานสมาธิ แต่เพราะอวิชชาความไม่รู้ จึงเกิดการติดเพลิน ไปยึดไปอยากด้วยอธิโมกข์
   ทำให้เกิดอาการที่เรียกกันว่า ติดปีติ  กล่าวคือ มีอาการจิตส่งไปภายในตน ไปคอยจ้องเสพความอิ่มเอิบต่างๆ อยู่เนือง ๆ ทั้งโดยรู้ตัวและที่สำคัญยิ่งก็คือโดยไม่รู้ตัว
      3.ญาณ - ความรู้หรือปัญญา แต่ญาณในวิปัสสนูปกิเลสหมายถึงเป็นมิจฉาญาณนั่นเอง คือเป็นความรู้หรือความเข้าใจแบบผิด ๆ เป็นเพียงความรู้สึกว่าตนเองมีภูมิรู้ภูมิธรรมหรือความรู้ความเข้าใจสิ่งต่างๆหรือธรรมต่างๆแจ่มแจ้งดีแล้ว ถูกต้องถ่องแท้แล้ว  หรือเกิดแต่นามนิมิต (ความคิดหรือความรู้ที่ผุดแสดงขึ้นในใจ อันเกิดแต่ใจหรือสัญญาของนักปฏิบัติเป็นสำคัญ มิได้เกิดแต่ปัญญาหรือเป็นไปตามหลักเหตุผล) เสียงนิมิต(เสียงที่ผุดขึ้นได้ยินแต่นักปฏิบัติ อันเกิดแต่ใจหรือสัญญาของนักปฏิบัติเป็นสำคัญ)  แต่เกิดแต่ความเข้าไม่ถูกต้องหรือมิจฉาญาณ แล้วน้อมเชื่อด้วยอธิโมกข์  
ดังนั้นเมื่อคิดว่ามีความรู้ความเข้าใจจากมิจฉาญาณดังกล่าว จึงทำให้เข้าใจผิด หรือหยุดการพิจารณาด้วยปัญญาเสียกลางคัน ก่อนที่จะไปถึงจุดหมายด้วยคิดว่าเข้าใจดีถูกต้องแล้ว หรือคิดว่าได้มรรคผลใดแล้ว
จึงทําให้เกิดทิฏฐิ ไม่รับฟังความคิดความเห็นจากผู้รู้หรือผู้อื่นที่แนะนําข้อผิดพลาดได้ เพราะหลงคิดและเข้าใจไปว่าตนเองเข้าใจถูกต้องแล้วอย่างแรงกล้าด้วยอธิโมกข์ จึงเกิดการออกนอกลู่นอกทางเป็นโทษโดยไม่รู้ตัวด้วยอวิชชา ทำให้เกิดอาการติดผู้รู้ หรือมิจฉาญาณ คือยึดมั่นเชื่อถือในความเชื่อหรือปัญญาที่เกิดขึ้นอย่างผิดๆขาดปัญญา และเป็นอย่างงมงายถอนตัวไม่ขึ้น


        4. ปัสสัทธิ - ความสงบกายและจิต จึงเกิดอาการที่เรียกกันว่า ติดสงบ มีความรู้สึกสงบกาย สงบใจ อันเนื่องจากจิตเป็นสมาธิหรือฌาน  จิตย่อมไม่ส่งส่ายออกไปปรุงแต่งให้เกิดการผัสสะกับสิ่งต่าง ๆ นา นา ให้เกิดเวทนาต่าง ๆ ขึ้น  จึงย่อมเกิดการผ่อนคลายทั้งกายและใจ จึงไม่ทุกข์ ไม่ฟุ้งซ่าน ไม่กระวนกระวาย อันเป็นไปตามหลักเหตุและผล หรือเหตุปัจจัยอันย่อมต้องเกิดขึ้นเช่นนี้เป็นธรรมดา  แต่ไปติดอยู่ในความสงบสบายเหล่านั้นด้วยเข้าใจผิดว่าสมบูรณ์ดีแล้ว  ทําให้หยุดการปฏิบัติด้วยคิดว่า สงบกาย สงบใจดีแล้ว พอใจแล้ว พอพ้นทุกข์แล้ว หรือมีปัญญาแค่นี้ จึงจมแช่อยู่เยี่ยงนั้น  ทําให้ตัดทอนโอกาสอันดีงามในการก้าวต่อไปข้างหน้า เกิดการหยุดชงักงัน ไม่ภาวนาให้เจริญต่อไป  

กลายเป็นการติดเพลินจมแช่อยู่ในความสงบ ซึ่งในบางครั้งเกิดจากการจดจ้อง จดจ่อ คือหมกมุ่นหรือแช่นิ่งอยู่กับความสงบที่เกิดขึ้นในกายหรือในจิตตน หรือก็คืออาการจิตส่งในอย่างหนึ่งนั่นเอง  จนไม่สังเกตุรู้สภาวะรอบข้างใดๆอย่างมีสติเท่าที่ควร  และทำให้ธาตุขันธ์แปรปรวน  เป็นผลของฌานสมาธิอันไม่เที่ยง ซึ่งมีการแปรปรวนเป็นธรรมดา  เกิดการครอบงําโดยไม่รู้ตัวด้วยอวิชชา  ที่คิดว่าดีแล้ว ถูกแล้วจนขาดการพิจารณา  
อาการนี้มักเป็นมากในผู้ที่ปฏิบัติไปในทางมิจฉาสมาธิต่างๆ เช่น นั่งเอาแต่ในความสงบ หรือสวดมนต์หรือบริกรรมซ้ำซ้อนยาวนานแต่อย่างเดียว แต่ขาดการเจริญปัญญา เมื่อถูกกระทบจนความสงบหวั่นไหว ก็มักมีโทสะ หรืออ่อนเปลี้ยทันทีที่จิตหวั่นไหวเลื่อนไหลหลุดออกจากความสงบ แม้ความสบาย


        5. สุข - ความสบายกายสบายจิต ทำให้เกิดอาการที่เรียกกันว่า ติดสุข เพราะมีความรู้สึกเป็นสุข ความสบาย ทั้งทางใจและทางกาย  สบายกาย สบายใจล้วนแต่เป็นผลจากสมถะอันยังให้เกิดสารคัดหลั่ง  จึงทำเกิดการติดเพลิน(นันทิ-ตัณหา)ไปยึดในความพึงพอใจในผลของสุข อันเกิดแต่ฌานและสมาธินี้ทั้งโดยรู้ตัวและไม่รู้ตัวเพราะความไม่รู้  
จึงทําให้ก่อเกิดโทษต่างๆตามมา อันเป็นผลเสียทั้งต่อกายและต่อจิตอย่างรุนแรง  ทําให้การปฏิบัติธรรมต้องหยุดชงักงัน เพราะหลงติดด้วยจิตส่งในไปเพราะความไม่รู้ไม่เข้าใจ  (ติดปิติ,สุข,อุเบกขา ในฌาน)  และย่อมเกิดอาการของจิตส่งในไปคอยเสพความสุขความสบายที่เกิดขึ้นจากอำนาจของฌานสมาธิเช่นเดียวกับปัสสัทธิ
3#
 เจ้าของ| โพสต์ 2015-3-30 07:10 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
  6. อธิโมกข์ - ความน้อมใจเชื่อ เป็นศรัทธาจึงน้อมใจไปเชื่อแต่ไม่ประกอบด้วยปัญญา กล่าวคือขาดเหตุผลหรืองมงาย ไม่มีที่มาที่ไป หรือไม่มีเหตุมีผลนั่นเอง   เนื่องจากประสบผลสําเร็จบางส่วนในการปฏิบัติ ทำให้เกิดผลบางสิ่งขึ้น หรือเกิดความเชื่อตามที่ได้ยินเขาร่ำลือกันต่อๆมา ฯลฯ. จึงทําให้เกิดศรัทธาอย่างแรงกล้า ซาบซึ้ง เลื่อมใส  จิตสว่างเจิดจ้าที่หมายถึงหมดความเศร้าหมอง จึงเกิดการหมายยึดเป็นที่พึ่งทางใจโดยไม่รู้ตัว แต่เป็นไปแบบขาดปัญญา หรืออย่างงมงายอย่างขาดเหตุผล
เกิดแต่ความเชื่อ มิได้เกิดแต่ความเข้าใจขั้นปัญญา เช่น อยากสร้างโบสถ์วิหารใหญ่เกินตัวเพื่อทดแทนพระคุณพระศาสนา  อยากสอนธรรมะผู้อื่นตามแนวทางตน, อยากให้ผู้อื่นได้ปฏิบัติบ้างเหมือนตน  อยากทําบุญทําทานต่างๆเกินฐานะ  ทําบุญสะเดาะเคราะห์กรรมต่างๆ  น้อมเชื่อในนนิมิตที่เห็นอย่างแน่นแฟ้น  น้อมเชื่อปฏิบัติตามคำสอนแต่อย่างงมงาย ซึ่งล้วนแต่เป็นไปในลักษณะของทั้งทิฏฐุปาทานและสีลัพพตุปาทาน คือ อุปาทานชนิดยึดมั่นในกิเลสเพื่อความพึงพอใจในความคิดความเชื่อของตน

ศรัทธาที่ถูกนั้นเป็นสิ่งจําเป็นในการปฏิบัติ แต่ต้องไม่เป็นไปอย่างงมงาย ประกอบด้วยเหตุผล จึงดําเนินไปด้วยปัญญา(สัมมาปัญญา)จึงจักถูกต้อง ไม่ใช่ด้วยอธิโมกข์
       7. ปัคคาหะ - ความเพียรที่พอดี แต่ในวิปัสสนูปกิเลสหมายถึง เพียรมากจนเกินพอดี เกินเหตุชนิดมุทะลุ จึงย่อมตึงเครียดต่อการปฏิบัติมักเนื่องจากปฏิบัติผิดวิธี หรือติดตรึงใจในผลความสุขความสงบความสบาย  หรือมีความเข้าใจแล้วต้องการให้บรรลุหรือสมประสงค์โดยไวด้วยความเพียร  แต่ลืมทางสายกลาง ทําให้เกินพอดี
ทําให้เกิดอาการเครียดต่างๆทั้งต่อจิต และกาย   และมักเกิดจากผลที่ดีที่บังเกิดขึ้นในระยะแรกๆจากการปฏิบัติสมถสมาธิอันเกิดแต่อำนาจขององค์ฌานหรือสมาธิ  จึงเป็นแรงขับดันให้เพียรปฏิบัติอย่างมุทะลุลืมตัว โดยไม่รู้ตัว
       8. อุปัฏฐานะ - สติชัด  แต่ที่นี้หมายถึง สติแก่กล้าเกินพอดี  สติมากเกินพอดีไปในการปฏิบัติ เช่น จดจ้อง จดจ่อ อย่างต่อเนื่อง อย่างแรงกล้าแต่เฉพาะในสิ่งที่ยึดเป็นอารมณ์ หรือเฉพาะการปฏิบัติที่ปฏิบัติอยู่แต่เท่านั้น
นั่นคื่อ ขาดสติในสิ่งที่ไม่ได้กำหนด จนไม่รู้ผิดชอบชั่วดี หรือไม่รู้ในสิ่งที่ถูกหรือผิด ควรหรือไม่ควร เป็นมิจฉาสติ  คือ ตั้งจิตอยู่กับสติตลอดเวลาในอารมณ์เดียวอย่างจดจ้องจดจ่อ (ยึดอารมณ์ หรือวิตก) แต่อย่างเดียว จนในที่สุดเป็นสังขารในปฏิจจสมุปบาทที่ประกอบด้วยอวิชชา แต่กลับขาดสติในสิ่งที่ไม่ได้กำหนด จนไม่รู้ผิดชอบชั่วดี หรือไม่รู้ในสิ่งที่ถูกหรือผิด ควรหรือไม่ควร   ทําให้สติล้าตึงเครียด  จนเกิดอาการต่างๆเพราะความตึงเครียดจากการปฏิบัติผิดมากเกินไป  
เรียกว่า สติชัดเกินไป จนขาดสัมปชัญญะ  ทั้งที่ สตินั้นก็เป็นสังขารขันธ์อย่างหนึ่ง จึงควรรู้เท่าทันถึงความไม่เที่ยงเป็นธรรมดา มีการเกิดดับๆๆเป็นธรรมดา รู้แต่สิ่งที่สติหรือจิตไปกำหนด(ยึดอารมณ์ หรือวิตก)แต่อย่างเดียวจนเป็นไปในลักษณะสมาธิควบไปด้วย จนไม่รับรู้ในสิ่งอันควรอื่นๆด้วยนั่นเอง จนในที่สุดสติอยู่แต่กับสิ่งนั้นๆที่เป็นอารมณ์จนถอนไม่ขึ้น  
       9. อุเบกขา - ความวางจิตเป็นกลาง ยังให้เกิดอาการที่เรียกกันว่า ติดอุเบกขา ติดแช่นิ่ง เพราะติดแช่นิ่งอยู่ภายในเป็นกลางวางเฉยอย่างขาดปัญญา,  เป็นกลางวางเฉยแต่อย่างงมงายผิดๆ,  วางเฉยเสียสิ้นโดยขาดปัญญา  แต่ย่อมรู้สึกสงบ ไม่ทุกข์ไม่ร้อน จึงไปเข้าใจผิดว่าดีแล้ว ถูกต้องแล้ว แต่เป็นไปในลักษณะแช่นิ่งอยู่ภายในจิต อย่างติดเพลิน  เฉื่อยชา ใจลอย ไม่ยินดียินร้าย ไม่นิ่มนวลควรแก่การใช้งาน  ขาดความเป็นผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน
เวลาจิตหวั่นไหวหลุดจากองค์ฌานก็จะโกรธได้ง่ายๆ,   แล้วไปเข้าใจผิดว่าเป็นอุเบกขาในโพชฌงค์ (ที่หมายถึงการวางเฉยหรือใจเป็นกลางอันดีงาม คือรู้เห็นตามความเป็นจริงทั้งในคุณในโทษของสภาวะธรรมนั้นๆ แล้ววางใจเป็นกลางอุเบกขา คือวางทีเฉยดูโดยการไม่เอนเอียงไม่แทรกแซงไปปรุงแต่งทั้งในด้านดีหรือด้านร้าย,ดีหรือชั่วเช่น เราดี หรือเขาชั่ว เราถูก หรือเขาผิด)
แต่กลับกลายเป็นอุเบกขาที่เกิดจากการปล่อยแช่นิ่งอยู่ในความสงบของมิจฉาสมาธิหรือฌานแบบผิดๆทั้งในสภาพที่รู้ตัวและไม่รู้ตัว หรือเกิดจากการปฏิบัติชนิดกดข่มไว้ มิได้เกิดแต่ปัญญาที่เข้าใจ  ล้วนแต่เป็นผลของการปฏิบัติสมถะสมาธิและวิปัสสนาผิดวิธีอย่างแน่นอน
        10. นิกันติ - ความพอใจ มีความพึงพอใจในการปฏิบัติต่างๆของตนที่ผ่านมา พอใจในผลขององค์ฌานหรือสมาธิ เช่น ปีติ สุข อุเบกขา อันยังให้เกิดความสุข ความเบาสบาย, หรือโอภาส-ความสว่าง แสงสีต่างๆ หรือนิมิต, หรือมิจฉาญาณที่เข้าใจผิดไปว่าได้บุญได้กุศล  ตลอดจนพอใจในนิมิตหรือปาฏิหาริย์ต่างๆที่เกิดขึ้น หรือคิดขึ้นภายใต้อํานาจของสมถะที่ปฏิบัติและสารคัดหลั่งบางตัวที่มากเกินขนาดจากการปฏิบัติไปติดจมแช่อยู่เป็นระยะเวลานานๆ จะโดยรู้ตัวก็ดี ไม่รู้ตัวก็ดี  จึงทําให้เกิดผลร้ายต่อการปฏิบัติอย่างรุนแรง ทั้งต่อกายอันจะเกิดการเจ็บป่วยได้และต่อจิต,   จึงก่อให้เกิดความพยายามปฏิบัติในสิ่งต่างๆเหล่านั้น  เพื่อให้คงอยู่  ทำให้เป็นขึ้น  อยู่ตลอดเวลา
*************************
4#
 เจ้าของ| โพสต์ 2015-3-30 07:12 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
หนทางแก้ไขวิปัสสนูปกิเลส
อุปกิเลส 10 นี้มิใช่จะเป็นโทษแก่วิปัสสนาเท่านั้น ยังสามารถทำให้เกิดวิปลาสต่างๆ จนต้องเสียผู้เสียคนไปก็ได้ แต่จริงแล้ว ไม่ได้เป็นการวิกลจริต แม้บางครั้งจะมีอาการคล้ายคลึงคนบ้าก็ตาม เป็นเพียงสติวิกล อันเนื่องจากการที่จิตตั้งมั่นอยู่กับอารมณ์ภายนอก แล้วสติตามควบคุมไม่ทัน ไม่ได้สัดไม่ได้ส่วนกันเท่านั้น
ซึ่งหากสามารถแก้ไขได้จน สติตั้งไว้ได้สัดส่วนกัน จิตก็จะสงบเป็นสมาธิลึกลงไปอีก โดยยังคงมีสิ่งอันเป็นภายนอกเป็นอารมณ์อยู่นั่นเอง

เมื่อผู้ปฏิบัติเป็นผู้มีสติอย่างดีเฉียบแหลม ผู้นั้นก็จะผ่านกับดักคือวิปัสสนูปกิเลสไปได้โดยการใคร่ครวญด้วยสติปัญญา  เห็นเนืองๆ ในโอภาสว่า  “โอภาสนี้มิใช่ของเรา เรามิใช่โอภาส โอภาสนี้มิใช่อัตตาของเรา” (การพิจารณา ญาณ ปีติ เป็นต้นก็เป็นไปทำนองเดียวกัน)

เมื่อผู้ปฏิบัติพิจารณาเห็นอย่างนี้อยู่เสมอเนืองๆ ก็จะสามารถผ่านพ้นวิปัสสนูปกิเลสทั้งหลายได้
นั่นคือ หากช่วงเกิดวิปัสสนูปกิเลสแล้วมีสติสัมปชัญญะมั่น จะแก้ไขได้ และจะรู้เท่าทันได้ว่า “วิปัสสนูปกิเลสไม่ใช่ทาง” ให้หมั่นรู้เท่าทัน เมื่อมันเกิดขึ้น ก็กำหนดพิจารณาด้วยปัญญาแห่งไตรลักษณ์ว่า โอภาสนี้ ญาณนี้ ฯลฯ หรือนิกันตินี้ เกิดขึ้นแล้วแก่เรา แต่มันเป็นของไม่เที่ยง เกิดจากปัจจัยปรุงแต่ง จะต้องเสื่อมสิ้นไปเป็นธรรมดา จิตจึงจะถอนออกจากอุปาทานที่ยึดอุปกิเลสนั้น แล้วกำหนดวิปัสสนาญาณที่ดำเนินถูกทาง ซึ่งจะพึงเดินต่อไป
ทางปฎิบัติ ต้องคอยระวังจิตอย่าให้จิตน้อมเข้าสู่ความสุขเอกัคคตารวมเป็นหนึ่งได้  และอย่ายึดเอาอารมณ์ใด ๆ อันเป็นความสุขภายในของใจ เปลี่ยนอิริยาบถ 4 ให้เสมอ  อย่ารวมอินทรีย์อันเป็นเหตุจะให้จิตรวม  แต่ให้มีการงานทำเพื่อให้มันลืมอารมณ์ความสุขสงบเสีย
แต่ถ้าจิตรวมลงไปจนเกิดวิปลาสขึ้นแล้ว จิตเข้าไปยึดถือจนแน่นแฟ้นจนสำคัญตัวว่าเป็นผู้วิเศษไปต่างๆ นานา  มีทิฐิถือรั้นไม่ยอมฟังเสียงใครๆ ทั้งหมด เมื่อถึงขั้นนี้แล้วก็ยากที่จะแก้ตัวเองได้ อาจารย์มักจะใช้วิธีขู่ขนาบให้กลัวหรือให้เกิดความโกรธอย่างสุดขีดเอาจนตั้งตัวไม่ติดยิ่งดี โดยมากมักใช้กับผู้ที่ติดในภาพนิมิตเพื่อให้จิตเคลื่อนออกจากจุดนั้น
*************************



5#
 เจ้าของ| โพสต์ 2015-3-30 07:13 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้


ตัวอย่างเกิดขึ้นจริงของวิปัสสนูปกิเลส
(ในภาพ หลวงปู่ดูลย์ อตุโล )
ในประวัติของหลวงปู่ดูลย์ อตุโล พอจะเห็นตัวอย่างของวิปัสสนูปกิเลส 2 ตัวอย่าง คือกรณีของท่านหลวงตาพวง และกรณีของท่านพระอาจารย์เสร็จ จะขอยกกรณีของหลวงตาพวงมาเล่าเพื่อประดับความรู้ต่อไป
ศิษย์ของหลวงปู่ชื่อ หลวงตาพวง ได้มาบวชตอนวัยชรา นับเป็นผู้บุกเบิกสำนักปฏิบัติธรรมบนเขาพนมรุ้ง จังหวัดบุรีรัมย์
หลวงตาพวงได้ทุ่มเทชีวิตจิตใจให้แก่การประพฤติปฏิบัติ เพราะท่านสำนึกตนว่ามาบวชเมื่อแก่ มีเวลาแห่งชีวิตเหลือน้อย จึงเร่งความเพียรตลอดวันตลอดคืน
พอเริ่มได้ผล เกิดความสงบ ก็เผชิญกับวิปัสสนูปกิเลสอย่างร้ายแรง เกิดความสำคัญผิด เชื่อมั่นอย่างสนิทว่าตนเองได้บรรลุอรหัตผล เป็นพระอรหันต์องค์หนึ่งเป็นผู้สำเร็จผู้เปี่ยมด้วยบุญญาธิการ ได้เล็งญาณ (คิดเอง) ไปจนทั่วสากลโลกเห็นว่าไม่มีใครรู้หรือเข้าถึงธรรมเสมอด้วยตนบังเกิดจิตคิดเอ็นดูสรรพสัตว์ทั้งหลาย ใคร่จะไปโปรดให้พ้นจากทุกข์โทษความโง่เขลา เล็งเห็นพระสงฆ์ทั้งหมด ตลอดจนครูบาอาจารย์ ล้วนแต่ยังไม่รู้ จึงตั้งใจจะต้องไปโปรดหลวงปู่ดูลย์ผู้เป็นพระอาจารย์เสียก่อน[size=1.1em]
ดังนั้น หลวงตาพวงจึงได้เดินทางด้วยเท้าเปล่ามาจากเขาพนมรุ้ง เดินทางข้ามจังหวัดมาไม่ต่ำกว่า ๘๐ กิโลเมตร มาจนถึงวัดบูรพาราม หวังจะแสดงธรรมให้หลวงปู่ฟัง
หลวงตาพวงมาถึงวัดบูรพาราม เวลา 6 ทุ่มกว่า กุฏิทุกหลังปิดประตูหน้าต่างหมดแล้ว พระเณรจำวัดกันหมด หลวงปู่ก็เข้าห้องไปแล้ว ท่านก็มาร้องเรียกหลวงปู่ด้วยเสียงอันดัง
ตอนนั้นท่านเจ้าคุณพระโพธินันทมุนี ยังเป็นสามเณรอยู่ ได้ยินเสียงเรียกดังลั่นว่า “หลวงพ่อ หลวงพ่อ หลวงพ่อดูลย์...” ก็จำได้ว่าเป็นเสียงของหลวงตาพวง จึงลุกไปเปิดประตูรับ
สังเกตดูอากัปกิริยาก็ไม่เห็นมีอะไรผิดแปลก เพียงแต่รู้สึกแปลกใจว่า ตามธรรมดาท่านหลวงตาพวงมีความเคารพอ่อนน้อมต่อหลวงปู่ พูดเสียงเบา ไม่บังอาจระบุชื่อของท่าน แต่คืนนี้ค่อนข้างจะพูดเสียงดังและระบุชื่อด้วยว่า
“หลวงตาดูลย์ ออกมาเดี๋ยวนี้ พระอรหันต์มาแล้ว”
ครั้นเมื่อหลวงปู่ออกมาแล้ว ตามธรรมดาหลวงตาพวงจะต้องกราบหลวงปู่แต่คราวนี้ไม่กราบ แถมยังต่อว่าเสียอีก “อ้าว! ไม่เห็นกราบ ท่านผู้สำเร็จมาแล้ว ไม่เห็นกราบ”
เข้าใจว่าหลวงปู่ท่านคงทราบโดยตลอดในทันทีนั้นว่าอะไรเป็นอะไร ท่านจึงนั่งเฉย ไม่พูดอะไรแม้แต่คำเดียว ปล่อยให้หลวงตาพวงพูดไปเรื่อยๆ
หลวงตาพวงสำทับว่า “รู้ไหมว่าเดี๋ยวนี้ผู้สำเร็จอุบัติขึ้นแล้ว ที่มานี่ก็ด้วยเมตตา ต้องการจะมาโปรด ต้องการจะมาชี้แจงแสดงธรรมปฏิบัติให้เข้าใจ"
หลวงปู่ยังคงวางเฉย ปล่อยให้ท่านพูดไปเป็นชั่วโมงทีเดียว สำหรับพวกเราพระเณรที่ไม่รู้เรื่อง ไม่เข้าใจ ก็พากันตกอกตกใจกันใหญ่ ด้วยไม่รู้ว่ามันเป็นอะไรกันแน่
ครั้นปล่อยให้หลวงตาพวงพูดนานพอสมควรแล้ว หลวงปู่ก็ซักถามเป็นเชิงคล้อยตามเอาใจว่า “ที่ว่าอย่างนั้นๆ เป็นอย่างไร และหมายความว่าอย่างไร"หลวงตาพวงก็ตอบตะกุกตะกัก ผิดๆ ถูกๆ แต่ก็อุตส่าห์ตอบ
เมื่อหลวงปู่เห็นว่าอาการรุนแรงมากเช่นนั้น จึงสั่งว่า “เออ เณรพาหลวงตาไปพักผ่อนที่โบสถ์ ไปโน่น ที่พระอุโบสถ”
ท่านเณร (เจ้าคุณพระโพธินันทมุนี) ก็พาหลวงตาไปที่โบสถ์ ไปเรียกพระองค์นั้นองค์นี้ที่ท่านรู้จักให้ลุกขึ้นมาฟังเทศน์ฟังธรรม รบกวนพระเณรตลอดทั้งคืน
หลวงปู่พยายามแก้ไขหลวงตาพวงด้วยอุบายวิธีต่างๆ หลอกล่อให้หลวงตานั่งสมาธิ ให้นั่งสงบแล้วย้อนจิตมาดูที่ต้นตอ มิให้จิตแล่นไปข้างหน้า จนกระทั่งสองวันก็แล้ว สามวันก็แล้ว ไม่สำเร็จ
หลวงปู่จึงใช้อีกวิธีหนึ่ง ซึ่งคงเป็นวิธีของท่านเอง ด้วยการพูดแรงให้โกรธหลายครั้งก็ไม่ได้ผล ผ่านมาอีกหลายวันก็ยังสงบลงไม่ได้ หลวงปู่เลยพูดให้โกรธด้วยการด่าว่า “เออ! สัตว์นรก สัตว์นรก ไปเดี๋ยวนี้ ออกจากกุฏิเดี๋ยวนี้”
ทำให้หลวงตาพวงโกรธอย่างแรง ลุกพรวดพราดขึ้นไปหยิบเอาบาตร จีวรและกลดของท่านลงจากกุฏิ มุ่งหน้าไปวัดป่าโยธาประสิทธิ์ ซึ่งอยู่ห่างจากวัดบูรพารามไปทางใต้ประมาณ ๓-๔ กิโลเมตร ซึ่งขณะนั้นท่านเจ้าคุณพระราชสุทธาจารย์ (โชติ คุณสมฺปนฺโน) ยังพำนักอยู่ที่นั่น
[size=1em]
ที่เข้าใจว่าหลวงตาพวงโกรธนั้น เพราะเห็นท่านมือไม้สั่น หยิบของผิดๆ ถูกๆ คว้าเอาไต้ (สำหรับจุดไฟ) ดุ้นหนึ่ง นึกว่าเป็นกลด และยังเปล่งวาจาออกมาอย่างน่าขำว่า “เออ! กูจะไปเดี๋ยวนี้ หลวงตาดูลย์ไม่ใช่แม่กู” เสร็จแล้วก็คว้าเอาบาตร จีวร และหยิบเอาไต้ดุ้นยาวขึ้นแบกไว้บนบ่า คงนึกว่าเป็นคันกลดของท่าน แถมคว้าเอาไม้กวาดไปด้ามหนึ่งด้วย ไม่รู้เอาไปทำไม
ครั้นหลวงตาพวงไปถึงวัดป่า ทันทีที่ย่างเท้าเข้าสู่บริเวณวัดป่านี่เอง อาการของจิตที่น้อมไปติดมั่นอยู่กับอารมณ์ภายนอก โดยปราศจากการควบคุมของสติที่ได้สัดส่วนกัน ก็แตกทำลายลง เพราะถูกกระแทกด้วยอานุภาพแห่งความโกรธ อันเป็นอารมณ์ที่รุนแรงกว่า ยังสติสัมปชัญญะให้บังเกิดขึ้น ระลึกย้อนกลับได้ว่า ตนเองได้ทำอะไรลงไปบ้าง ผิดถูกอย่างไร สำคัญตนผิดอย่างไร และได้พูดวาจาไม่สมควรอย่างไรออกมาบ้าง
เมื่อหลวงตาพวงได้สติสำนึกแล้ว ก็ได้เข้าพบท่านเจ้าคุณพระราชสุทธาจารย์และเล่าเรื่องต่างๆ ให้ท่านทราบ ท่านเจ้าคุณฯ ก็ได้ช่วยแนะนำและเตือนสติเพิ่มเติมอีก ทำให้หลวงตาพวงได้สติคืนมาอย่างสมบูรณ์ และบังเกิดความละอายใจเป็นอย่างยิ่ง
หลังจากได้พักผ่อนเป็นเวลาพอสมควรแล้ว ก็ย้อนกลับมาขอขมาหลวงปู่กราบเรียนว่าท่านจำคำพูดและการกระทำทุกอย่างได้หมด และรู้สึกละอายใจมากที่ตนทำอย่างนั้น
หลวงปู่ได้แนะทางปฏิบัติให้ และบอกว่า
"สิ่งที่เกิดขึ้นเหล่านี้ ว่าถึงประโยชน์ก็มีประโยชน์เหมือนกัน มีส่วนดีอยู่เหมือนกัน คือจะได้เป็นบรรทัดฐานเป็นเครื่องนำสติ มิให้ตกสู่ภาวะนี้อีก เป็นแนวทางตรงที่จะได้นำมาประกอบการปฏิบัติให้ดำเนินไปอย่างมั่นคง ในแนวทางตรงต่อไป”
***********************************************************************


สาธุครับ
ขออภัย! คุณไม่ได้รับสิทธิ์ในการดำเนินการในส่วนนี้ กรุณาเลือกอย่างใดอย่างหนึ่ง ลงชื่อเข้าใช้ | ลงทะเบียน

รายละเอียดเครดิต

ตอบกระทู้ ขึ้นไปด้านบน ไปที่หน้ารายการกระทู้