ตั้งให้เราเป็นเว็บแรกที่คุณเลือก เก็บเราไว้เป็นเว็บโปรด
สมัครสมาชิก ได้มากกว่าที่คุณคิด เข้าสู่ระบบ
ดู: 3789
ตอบกลับ: 1
สั่งพิมพ์ ก่อนหน้า ถัดไป

หลวงพ่อฟุ้ง วัดสะเดา

[คัดลอกลิงก์]
หลวงพ่อฟุ้ง เป็นเกจิเก่าในสายหลวงพ่อศรี ที่ผมเคยอ่านประวัติของท่าน ที่ตีพิมพ์ในหนังสือลานโพธิ์เมื่อปี ๒๕๒๙ ซึ่งเป็นเวลาที่ผมยังเด็กเเต่เริ่มมีความสนใจพระเครื่องเเละเครื่องรางของขลัง ต่อมาหลังเลิกเรียน ผมมักไปยืนตามเเผงหนังสือ เพื่อเปิดดูหนังสือพระต่างๆ จนวันนึง ทำให้ผมได้มาพบกับคอลัมน์หลวงปู่กวย ที่เขียนโดยคุณเฒ่า สุพรรณในหนังสือนะโม เเม้กระนั้น เวลาจะผ่านมานาน เเต่ก็ยังไม่ลืมเกจิที่เก่งๆ ที่ชื่อหลวงพ่อฟุ้ง วัดสะเดาองค์นี้

นับเป็นโอกาสดีที่ศิษย์หลวงปู่กวยที่ผมรู้จักท่านนึงที่เชียงราย ยังเก็บต้นฉบับที่ลงเรื่องราวของหลวงพ่อฟุ้งไว้ ได้มีน้ำใจส่งต้นฉบับเก่า มาให้ทางเวป ได้ลงเรื่องราวเเละข้อมูลเกี่ยวกับวัตถุมงคลเเบบต่างๆของท่าน เพื่อเป็นประโยชน์ในการอนุรักษ์เเละเทิดทูน คุณครูบาอาจารย์ ศิษย์ในสายคุณพ่อศรี ต่อไปครับ



ประวัติวัดสะเดา

วัดสะเดา  ตั้งอยู่ริมฝั่งตะวันตก ของลำแม่ลาในเขตหมู่ 1 ตำบลแม่ลา อำเภอบางระจัน จังหวัดสิงห์บุรี จะสร้างขึ้นมาเมื่อ พ.ศ. เท่าไหร่ไม่ปรากฏเพียงแต่ได้รับคำบอกเล่าจากชาวบ้านในท้องถิ่นว่า  ประชาชนในท้องถิ่นนั้นเดิมเป็นคนอินเดียอพยพมาประกอบอาชีพจำนวนมาก  ส่วนใหญ่จะประกอบอาชีพทำนาและประมงในลำแม่ลา เพราะในสมัยนั้นปลาชุกชุมมาก และเป็นปลาที่มีรสดี สีสวยจึงเป็นที่ขึ้นชื่อลือชาว่าเป็นของดีเมืองสิงห์บุรีทีเดียว  
   ดังคำพังเพยว่า “ปลาแม่ลา น้ำยาบางเลา สาวงามบ้านแป้ง แตงบ้านไร่”

ส่วนใหญ่ของประชาชนที่อพยพ มานี้นับถือพุทธศาสนา ในสมัยที่ไม่มีวัดจะบำเพ็ญกุศล ต่างก็พากันไปบำเพ็ญกุศลในท้องถิ่นเดิมของตน เป็นเช่นนี้มาเป็นเวลานาน จึงได้ปรึกษาหารือกันเพื่อจะสร้างวัดไว้บำเพ็ญกุศลในบริเวณนี้ แต่ก็ยังไม่มีโอกาส  ต่อมามีพระภิกษุรูปหนึ่ง เดินธุดงค์มาจากที่อื่น(ไม่ทราบว่ามาจากไหน) มาถึงป่าสะเดาริมฝั่งลำแม่ลา ทิศตะวันตกและปักกลดพักแรมที่นั่น ประชาชนที่เห็นและทราบข่าวต่างก็ดีใจมาก ด้วยใจศรัทธาและนานๆ จะพบพระสักครั้งหนึ่ง  ชาวบ้านได้ปรึกษาหารือกับพระธุดงค์รูปนั้นถึงการสร้างวัด ซึ่งท่านก็ยินดีสนับสนุน จึงได้ตกลงสร้างเป็นวัดขึ้น โดยระยะแรกสร้างเป็นกุฏิเล็กๆ 1 หลังก่อน เพื่อให้พระอยู่อาศัย และสร้างเป็นศาลาเล็กๆ ไว้ประกอบการกุศล พร้อมกับอาราธนาพระธุดงค์รูปนั้นอยู่จำพรรษาเสียที่นั่น  ชาวบ้านเรียกพระธุดงค์รูปนั้นว่า “หลวงพ่อนิล” วัดที่สร้างขึ้นใหม่ให้ชื่อว่า “วัดแม่ลา” เพราะตั้งอยู่ริมฝั่งลำแม่ลา หลวงพ่อนิลเป็นพระที่ประชาชนให้ความเคารพนับถือเป็นอย่างมาก ท่านได้ร่วมมือกับชาวบ้านจัดการก่อสร้างวัดนี้ให้เจริญสืบมาจนถึงทุกวันนี้
   วัดนี้มีเจ้าอาวาส ปกครองมาแล้วหลายองค์ แต่มีรายงานปรากฏบ้างไม่ปรากฏบ้าง เรียงตามลำดับเจ้าอาวาสดังนี้
1.   หลวงพ่อนิล (ริเริ่มสร้างวัดประมาณ พ.ศ. 2415)
2.   หลวงพ่อเลี้ยง
3.   หลวงพ่อศรี
4.   หลวงพ่อจับ
5.    หลวงพ่อฟุ้ง (พระอธิการฟุ้ง อุตฺตโม)
วัดนี้มีพระจำพรรษาปีละไม่มากนัก เพราะหมู่บ้านที่อยู่ใกล้วัด และบำเพ็ญกุศลวัดนี้มีน้อย ทั้งการคมนาคมไปมาไม่สะดวกในสมัยก่อนถ้าถึงฤดูน้ำต้องอาศัยเรือพายตามลำน้ำแม่ลา หรือตัดผ่านทุ่งนาของชาวบ้าน ดูแล้งก็ต้องอาศัยลำแม่ลาเช่นกัน
ต่อมาวัดแม่ลาได้เปลี่ยนชื่อเป็น “วัดสะเดา” มีเรื่องเล่าว่ามีพระเถระผู้ใหญ่รูปหนึ่ง (เข้าใจว่าจะเป็น พระครูสิงห์ราชมุณี วัดระนาม อ.อินทร์บุรี) ได้การตรวจการคณะสงฆ์ถึงวัดนี้ และเห็นสภาพวัดมีต้นสะเดาใหญ่ (วัดโดยรอบต้น 8 เมตร สูงประมาณ 1 เส้น) และต้นเล็กอีกเป็นจำนวนมากขึ้นอยู่ในบริเวณวัด จึงได้ปรารภกับเจ้าอาวาสในสมัยนั้น (หลวงพ่อฟุ้ง) ว่าควรจะถือเอาต้นสะเดานี้เป็นสัญลักษณ์ของวัดและขนานนามวัดนี้ว่า “วัดสะเดา”
   เจ้าอาวาสและประชาชนเห็นด้วย จึงได้เปลี่ยนชื่อวัดแม่ลา มาเป็นวัดสะเดา






http://www.watkositaram.com/forum/index.php?topic=9389.0
2#
 เจ้าของ| โพสต์ 2015-3-24 17:01 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
ประวัติหลวงพ่อฟุ้ง

หลวงพ่อท่านเกิด ในตระกูล นิลวัฒนา เมื่อวันอาทิตย์ แรม 12 ค่ำ เดือน 10 ปีมะโรง หรือตรงกับวันที่ 18 กันยายน 2435 โยมบิดาของท่านชื่อ หลง โยมมารดาชื่อ ฉ่ำ  ท่านเกิดที่บ้านตำบลบางกระบือ อำเภอเมือง จังหวัดสิงห์บุรี มีพี่น้องร่วมบิกามารดาเดียวกัน 5 คน ดังนี้
1.   หลวงพ่อฟุ้ง
2.   นายสุก  โตเสม
3.   นายสอน  โตเสม
4.   นายสี  โตเสม
5.   นางโต๊ะ  ยิ้มจันทร์
เมื่อเยาว์วัยได้เข้าเรียนหนังสืออยู่กับพระที่วัดบางกระบือ อ.เมือง จ.สิงห์บุรี โดยเรียนทั้งภาษาไทยและภาษาขอม มีความรู้พอแก่วิชาที่เรียนแล้วได้ออกจากวัดมาอยู่ช่วยบิดามารดาประกอบอาชีพตามตระกูลเดิมคือ ทำนา และการประมงในลำแม่ลา อันเป็นถิ่นที่มีปลาชุกชุม รสดี สีสวย ของจังหวัดสิงห์บุรี  ท่านได้ช่วยบิดา-มารดา ประกอบอาชีพทำมาหากินด้วยความอุตสาหะมานะบากบั่นเป็นอย่างดีมาจนอายุได้ 19 ปี ถูกเกณฑ์เข้ารับราชการทหารเป็นรั้วของชาติ (เป็นทหารช่างอยู่อยุธยา) อยู่ 2 ปี  ครั้นปลดประจำการแล้วบิดามารดาประสงค์จะให้บวชเรียนสืบอายุพระศาสนา ซึ่งเรื่องนี้หลวงพ่อเคยเล่าว่าตรงกับความใฝ่ฝันของท่านคืออยากบวชเป็นทุนเดินอยู่แล้ว จึงยินดีตอบรับเพื่อตอบแทนสนองคุณของพ่อแม่ด้วยความกตัญญูกตเวที



เป็นลูกศิษย์พระครูศรี

เมื่อตกลงที่จะบวชแล้วบิดาก็ได้นำไปฝากอยู่กับพระอาจารย์ที่วัดบางกระบือ อันเป็นวัดที่ใกล้บ้าน และได้เข้าบรรพชาอุปสมบท เมื่อวันที่..........มิถุนายน พ.ศ.2457 ณ พัทธสีมาวัดสิงห์ ต.ทับยา อ.อินทร์บุรี จ.สิงห์บุรี  โดยมีท่านพระครูศรีวิระยะโสภิต (หลวงพ่อพระครูศรี) วัดพระปรางค์ อ.บางระจัน จ.สิงห์บุรี เป็นพระอุปัชฌาย์ และมีพระใบฎีกาบัตรกับ พระอาจารย์จับ เป็นกรรมวาจาและอนุสาวจารย์ เมื่ออุปสมบทแล้วอุปัชฌาย์ใต้ตั้งนามให้ว่า   อุตฺตโม    เมื่อออกจากพระอุโบสถแล้วก็เข้าจำพรรษาอยู่ที่วัดราษฎร์บำรุง ต.ทับยา อ.อินทร์บุรี จ.สิงห์บุรี  ทั้งนี้ด้วยความประสงค์ของเจ้าอาวาสวัดมีศักดิ์เป็นปู่ของท่านซึ่งประสงค์จะให้พระหลานได้อยู่ใกล้ชิดเพื่อสะดวกแก่การอบรมสั่งสอน  ในขณะที่ท่านจำพรรษาอยู่กับหลวงปู่ ก็ยังปฏิบัติหน้าที่ของสัทธิวิหาริกที่ดีอีกพึงปฏิบัติพระอุปัชฌาย์ของตน จึงเป็นที่รักเป็นที่วางใจแก่พระอุปัชฌาย์ คือ หลวงพ่อพระครูศรี  ขณะนั้นหลวงพ่อพระครูศรีฯ ท่านเป็นเถระคณาจารย์ผู้เรืองวิทยาคม มีเวทมนตร์คาถาอาคมในเรื่องความศักดิ์สิทธิ์และวาจาสิทธิ์ของหลวงพ่อนี้มีเรื่องเล่าเอาไว้มากมาย แต่จะขอยกตัวอย่างสักเรื่องหนึ่ง คือ มีเด็กวัดซุกซนเที่ยวปีนต้นไม้เล่น หลวงพ่อเผลอปากทักไปว่า “จะปีนขึ้นไปทำไม เดี๋ยวก็ตกลงมาหรอก”  เมื่อสิ้นคำพูดของหลวงพ่อ ปรากฏว่าเด็กคนนั้นตกลงมาจริงๆ เดชะบุญที่ปีนขึ้นไปไม่สูงมากนักจึงตกลงมาไม่ได้รับบาดเจ็บ และหลังจากนั้นหลวงพ่อจะระมัดระวังไม่ทักไม่ดุเด็กอีกเลย  หลวงพ่อศรีท่านเป็นพระศักดิ์สิทธิ์ที่โด่งดังในสมัยนั้น  โดยชื่อเสียงของท่านดังไปทั่วทั้งภาคกลาง โดยเฉพาะแถบสิงห์บุรี, อ่างทอง, ชัยนาทและนครสวรรค์  เมื่อหลวงพ่อฟุ้งท่านใกล้ชิด และเป็นศิษย์ที่ท่านอุปสมบทให้ด้วยตัวของท่านเอง ย่อมเป็นโอกาสดีที่จะได้รับการถ่ายทอดวิทยาคมต่างๆ จากหลวงพ่อศรีและทราบว่า หลวงพ่อฟุ้งได้รับ การถ่ายทอดมาจนครบทุกวิชาของหลวงพ่อศรี  ศิษย์ของหลวงพ่อศรี อีกรูปหนึ่งที่ยังมีชื่อเสียงโด่งดังอยู่ขณะนี้ เมื่อเอ่ยชื่อเสียง ทุกท่านต้องรู้จักดี คือ หลวงพ่อแพ วัดพิกุลทอง  หลวงพ่อแพท่านเป็นศิษย์หลวงพ่อศรีรุ่นหลังหลวงพ่อฟุ้งมาก เพราะพรรษาต่างกันประมาณ 20 พรรษา  หลวงพ่อฟุ้ง จำพรรษาอยู่กับหลวงปู่ที่วัดราษฏร์บำรุงเป็นเวลา 5 พรรษา ต่อมาหลวงปู่ท่านมีความประสงค์จะให้ไปจำพรรณรอยู่ที่วัดแม่ลา(วัดสะเดา) ต.แม่ลา เพราะเป็นวัดที่ท่านอุปการะแต่ก่อนทั้งเป็นความประสงค์ของเจ้าอาวาสและบรรดาญาติ ๆ แถวแม่ลานั้นด้วย ด้วยเหตุนี้ท่านจึงมาอยู่วัดแม่ลา(วัดสะเดา) ในขณะที่มีหลวงพ่อ........เป็นเจ้าอาวาส  หลวงพ่อท่านเป็นพระที่ใฝ่ใจศึกษาหาความรู้พระธรรมวินัย และตั้งใจปฏิบัติสม่ำเสมอ ด้วยดีเสมอมา เป็นผู้ประกอบด้วยอินทรีย์สังวรสำรวมและมีอิริยาบถอันนิ่มนวล สงบเสงี่ยมเรียบร้อย



ในปี พ.ศ. 2467  วัดสะเดาว่างเจ้าอาวาสลงคณะสงฆ์จึงแต่งตั้งให้หลวงพ่อฟุ้งท่านดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสสืบแทน เมื่อเป็นเจ้าอาวาสแล้วหลวงพ่อท่านก็ริเริ่มดำเนินการพัฒนาวัด ด้วยการซ่อมแซมปรับปรุงเสนาสนะที่ชำรุดทรุดโทรมให้มีสภาพมั่นคงขึ้น และจัดการสร้างเสนะที่สำคัญและ.......เป็นขึ้นมาใหม่ด้วยความอุตสาหะอันแรงกล้ายอมสละกำลังกาย สติปัญญา และความสามารถทุกอย่างเพื่อความเจริญของวัด  และโดยเหตุที่ท่านมีความรู้ในทางช่างเป็นอย่างดี การก่อสร้างภายในวัดจึงจัดทำเอง โดยขอแรงชาวบ้านในท้องถิ่นบ้าง ต่างถิ่นบ้างมาช่วยกันโดยไม่ต้องเสียค่าจ้าง ท่านรับภาระหนักในการพัฒนาวัดเป็นอย่างมากแทบจะกล่าวได้ว่าวัดสะเดายิ่งใหญ่ขึ้นมาในยุคสมัยที่ท่านครองวัดเป็นเจ้าอาวาสอยู่




แม้ว่าท่านจะเป็นนักพัฒนาทางด้านวัตถุชั้นแนวหน้า ถึงกระนั้นท่านก็สนใจในการพัฒนาทางด้านจิตใจด้วย ข้อนี้จะเห็นได้จากการที่ท่านประกอบไปด้วยคุณธรรมความดี เป็นที่ประทับใจแก่ศิษยานุศิษย์และสาธุชนทั้งหลาย คุณธรรมความดีของหลวงพ่อมีดังนี้

1.   อินทรีย์สังวร  ท่านสำรวมอินทรีย์ทั้ง 6 คือ หู ตา จมูก ลิ้น กาย ใจ ไม่ให้มีความยินดียินร้ายเพราะเห็นรูป ฟังเสียงดมกลิ่น ลิ้มรส และสัมผัสเข้าครอบงำจิตใจได้  ท่านวางใจเป็นอุเบกขาในอารมณ์ต่างๆ ที่เข้ามากระทบ ไม่ฟูขึ้นเพราะอิฏฐารมณ์ คือ อารมณ์ที่ชอบมีลาภ ยศ สุข สรรเสริญ ไม่แฟบลงเพราะ อนัฏฐารมณ์ คือ ความไม่ชอบมีความเสื่อมจากลาภ ยศ เป็นทุกข์เพราะถูกนินทา คุณธรรมพวกนี้หลวงพ่อท่านถือเคร่งครัดมากดังจะเห็นได้ว่าท่านไม่ทะเยอทะยานในเรื่องเหล่านี้เลย แม้บางครั้งศิษยานุศิษย์บางคน ปรารถนาให้ท่านมีสมณศักดิ์ เพื่อเป็นเกียรติประวัติบ้าง ได้มาปรารภกับท่าน แทนที่ท่านจะสนใจ กลับถูกท่านสั่งสอนเป็นคติเสมอว่า ลาภ ยศ อันเป็นสิ่งที่คนอื่นปรารถนานั้นล้วนเป็นต้นเหตุแห่งความทุกข์ทั้งสิ้น และเวลาตายแล้วก็เอาติดตัวไปไม่ได้ จะมีก็แต่บุญกุศล หรือคุณธรรมความดีที่เราสร้างไว้เท่านั้น
2.   เมตตาธรรม ความรัก ความเห็นใจ ความปรารถนาดี ซึ่งเป็นคุณธรรมของผู้หลักผู้ใหญ่ คุณธรรมข้อนี้หลวงพ่อมีบริบูรณ์จริง เพราะท่านมีความรัก ความปรารถนาดี ความเห็นใจแก่ศิษยานุศิษย์และคนทั่วไป ดังจะเห็นได้ว่าท่านมีอารมณ์ยิ้มแย้มแจ่มใสร่าเริงต่อบุคคลทั้งที่เป็นญาติมิตร ศิษยานุศิษย์ และคนอื่นๆ เสมอกัน มีความรู้สึกที่เป็นความปรารถนาดี ปรารถนาสงเคราะห์ต่อกัน แสดงความยินดีต่อบุคคลที่ได้ดี แสดงความเห็นอกเห็นใจเมื่อยามเดือดร้อน วางตนเป็นที่พึ่งต่อบุคคลทั่วไปเหมือนพ่อแม่เป็นที่พึ่งแก่ลูก หรือเหมือนร่มโพธิ์ ร่มไทร ให้ความร่มเย็นแก่วิหคทั้งหลาย เมตตาธรรมของท่านนั้นครอบคลุมถึงสัตว์เดรัจฉาน ดังจะเห็นได้ว่าท่านเลี้ยวแมว หมาเอาไว้มากมาย ความดีของหลวงพ่อยังมีอีกมากมายกว่านี้ ที่นำมาแจ้งแก่ท่านผู้อ่านก็เพื่อเป็นแบบอย่างแบบฉบับแก่ผู้ที่ใฝ่ดีทั้งหลาย
ขออภัย! คุณไม่ได้รับสิทธิ์ในการดำเนินการในส่วนนี้ กรุณาเลือกอย่างใดอย่างหนึ่ง ลงชื่อเข้าใช้ | ลงทะเบียน

รายละเอียดเครดิต

ตอบกระทู้ ขึ้นไปด้านบน ไปที่หน้ารายการกระทู้